“ช้างป่า”เจ้าถิ่นแห่งเขาอ่างฤาไน
กลางผืนป่ากว้างใหญ่แห่งภาคตะวันออกของไทย ที่ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติยังคงดำรงอยู่ ผืนป่าที่ทอดยาวครอบคลุมหลายจังหวัดคือแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะ “ช้างป่า” สัตว์คู่บ้านคู่เมืองที่เคยมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย แต่ปัจจุบัน กลับต้องเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อพื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตรและขยายชุมชน ทำให้คนและช้างต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน
ตำบลทุ่งพระยา อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคนกับช้างป่ามากที่สุด ชุมชนที่นี่ต้องเผชิญกับความเสียหายจากช้างป่าที่ออกมาหากินในพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน พื้นที่ที่เต็มไปด้วยไร่เกษตรกรรม ป่ายางพารา ทั้งพืชผลเสียหาย บ้านเรือนพัง และบางครั้งก็เกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ เช่น การสร้างรั้วกั้น การลาดตระเวน หรือการไล่ต้อนช้างกลับเข้าป่า แต่ปัญหายังคงเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด บริบทของพื้นที่ซึ่งเชื่อมติดกับเขาอ่างฤาไน มีเรื่องราวของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าโดยเฉพาะ "ช้างป่า" ที่สะท้อนถึงความท้าทายและความพยายามในการหาทางออกร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ
ท่ามกลางความขัดแย้งและความหวาดกลัว ชุมชนตำบลทุ่งพระยาได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยแนวคิด “สร้างบ้าน สร้างคน อยู่ร่วมกับช้างป่า” โดยพยายามหาทางออกที่สมดุลให้ทั้งคนและช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ผืนป่าทุ่งพระยาพื้นที่รอยต่อเขาอ่างฤาไน
เมื่อป่าถูกแบ่ง คนกับช้างต้องหาทางอยู่ร่วมกัน
แต่เดิม ผืนป่าทุ่งพระยาเป็นส่วนหนึ่งของป่าพนมสารคาม ซึ่งเป็นป่าที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ช้างป่าจำนวนมากเคยใช้ชีวิตอย่างอิสระภายในป่า แต่เมื่อการขยายตัวของชุมชน การสร้างถนนและไร่เกษตรเชิงเดี่ยวเข้ามาแทนที่ ทำให้แหล่งอาหารของช้างลดลง พวกมันจึงเริ่มออกจากป่ามาหาอาหารในหมู่บ้านและพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน
การบุกรุกของช้างไม่ใช่เพราะพวกมันต้องการทำร้ายคน แต่เป็นเพราะความจำเป็นในการดำรงชีวิต ช้างบางตัวคุ้นชินกับพืชผลทางการเกษตร เช่น สับปะรด อ้อย และข้าวโพด ซึ่งมีรสชาติหวานและให้พลังงานสูงกว่าพืชอาหารในป่า อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่ทำให้พืชอาหารธรรมชาติลดลง ยิ่งผลักดันให้ช้างป่าหันมาหาอาหารจากพื้นที่เกษตรของชาวบ้านมากขึ้น
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ต่อคนที่ต้องสูญเสียผลผลิตและทรัพย์สิน แต่ช้างป่าเองก็ต้องเผชิญกับอันตรายจากการถูกรถชน ถูกยิง หรือแม้กระทั่งตกบ่อร้าง จึงเกิดความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาแนวทางจัดการเพื่อให้ทั้งคนและช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
โครงการบ้านมั่นคงชนบท: จุดเริ่มต้นของการสร้างชุมชนที่มั่นคง
สภาพที่อยู่อาศัยตำบลทุ่งพระยาที่ยังไม่ได้รับการปรับปรุง
ตำบลทุ่งพระยามีประชากรราว 16,244 คน ในจำนวนนี้มีหลายครัวเรือนที่เผชิญปัญหาความยากจนและขาดที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ปี 2561 โครงการ “บ้านมั่นคงชนบท” ได้เข้ามาเป็นแสงแห่งความหวังให้กับชาวบ้าน โดยเริ่มจากการสำรวจครัวเรือนที่เดือดร้อน พบว่ามี 17 หมู่บ้านจาก 19 หมู่บ้าน ที่ต้องการความช่วยเหลือ
สภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งพระยา ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. และองค์กรท้องถิ่นเพื่อจัดหางบประมาณมาช่วยเหลือผู้เดือดร้อน โดยมีหลักเกณฑ์การสนับสนุน เช่น ต้องเป็นผู้อยู่อาศัยในตำบลไม่น้อยกว่า 3 ปี และต้องเข้าร่วมออมเงินเพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาชุมชน
งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน โครงการบ้านมั่นคงชนบท จำนวน 248 หลังคาเรือน โดยดำเนินการซ่อมแซมหรือสร้างบ้านใหม่ตามความเร่งด่วนของปัญหา ผ่านระบบกองทุนหมุนเวียนที่ให้สมาชิกส่งคืนเดือนละ 300-500 บาท ซึ่งช่วยให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือกันเองในระยะยาว ปัจจุบันมีกองทุนหมุนเวียนกองทุนซ่อมแซมหรือสร้างบ้าน กว่า 8 แสนบาท
บ้านมั่นคงชนบทตำบลทุ่งพระยา
จากบ้านมั่นคง สู่การอยู่ร่วมกันกับช้างป่า
นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชนตำบลทุ่งพระยายังเผชิญกับปัญหาการบุกรุกของช้างป่า ด้วยแนวคิด “สร้างบ้าน สร้างคน อยู่ร่วมกับช้างป่า” ชุมชนจึงได้ร่วมกันหาแนวทางจัดการปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของทั้งคนและสัตว์ป่า
แนวคิด “สร้างบ้าน สร้างคน อยู่ร่วมกับช้างป่า” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของชาวบ้าน นักวิจัย นักอนุรักษ์ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ไม่ใช่แค่การป้องกันหรือผลักไสช้างกลับเข้าป่า แต่เป็นการออกแบบระบบที่ทำให้ทั้งคนและช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้
- ฟื้นฟูป่ารอบชุมชน คืนแหล่งอาหารให้ช้าง
หนึ่งในแนวทางสำคัญคือการปลูกพืชอาหารช้าง เช่น ไผ่ป่า กล้วย และพืชที่เป็นแหล่งอาหารธรรมชาติของช้าง เพื่อให้ช้างสามารถหาอาหารได้ในป่า ลดแรงจูงใจในการเข้ามาหากินในพื้นที่เกษตรกรรม
- สร้างแนวกันชนธรรมชาติและรั้วคอนกรีต
ชุมชนเลือกใช้ “แนวกันชนธรรมชาติ” โดยปลูกต้นไม้ที่ช้างไม่ชอบกิน เช่น ยูคาลิปตัสและสะเดา ควบคู่ไปกับการติดตั้งรั้วคอนกรีตที่ไม่เป็นอันตรายต่อช้าง
- 3. ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย
คณะทำงานในพื้นที่ได้จัดตั้งทีมลาดตระเวนและระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อให้ชุมชนสามารถเตรียมรับมือกับการเคลื่อนที่ของช้างป่าได้ล่วงหน้า ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
จากปัญหาสู่ทางออก คนอยู่กับป่า ช้างอยู่กับคน และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน”
ไสว แก้วพาปราบ ประธานบ้านมั่นคงชนบททุ่งพระยา ผู้นำชุมชนที่เป็นแกนหลักในการหาทางออกให้กับปัญหาที่ดินและการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับช้างป่า ได้กล่าวถึง ในพื้นที่ห่างไกลของตำบลทุ่งพระยา ว่า ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยเป็นความท้าทายที่ดำเนินมายาวนาน สำหรับชาวบ้านที่นี่ นอกจากจะต้องต่อสู้กับความยากลำบากในการครอบครองที่ดินทำกินแล้ว พวกเขายังต้องเผชิญกับช้างป่าที่บุกรุกไร่นา ทำลายพืชผลทางการเกษตร สร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง
“ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากการเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง” ไสว กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น เขาเล่าให้ฟังว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัยของตำบลทุ่งพระยาเริ่มจากการ สำรวจข้อมูล ของชุมชน วิเคราะห์สภาพที่ดิน ที่อยู่อาศัย และความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น โดยพบว่าปัญหาหลักมีอยู่สองประเด็นใหญ่ ๆ คือ ปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตร และ ปัญหาที่อยู่อาศัยไม่เพียงพอ
“ปัญหาช้างป่าบุกรุกถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะทำลายทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม และข้าวของชาวบ้าน ทำให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียรายได้ และบางครั้งถึงกับต้องเผชิญหน้ากับช้างป่าโดยตรง ซึ่งอันตรายมาก”
เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ ทางชุมชนจึงจัด การอบรมวิธีเอาตัวรอดจากช้างป่า ให้กับชาวบ้าน เพื่อให้พวกเขาสามารถรับมือได้เมื่อเผชิญหน้ากับช้างป่าในระยะประชิด
พัฒนาที่อยู่อาศัย สร้างความมั่นคงในชีวิต
แม้ปัญหาช้างป่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ปัญหาที่อยู่อาศัยก็สำคัญไม่แพ้กัน บ้านเรือนหลายหลังมีสภาพทรุดโทรม ไม่สามารถรองรับสมาชิกครอบครัวที่เพิ่มขึ้นได้ ทางชุมชนจึงประสานกับ พอช. เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณใน 4 ด้าน ได้แก่
- สร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม เพื่อให้ครอบครัวที่ขยายตัวสามารถมีที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ
- ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านที่ทรุดโทรม ให้มั่นคงและปลอดภัย
- ส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน เพื่อลดการพึ่งพาเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว และเพิ่มรายได้ในครัวเรือน
- แก้ไขปัญหาช้างป่า ด้วยการสร้าง หอเฝ้าระวังช้าง จำนวน 2 จุด เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของช้างและแจ้งเตือนชุมชนได้ทันเวลา
“เราไม่ได้แค่สร้างบ้านให้คนอยู่ แต่เรากำลังสร้างชีวิตที่มั่นคงให้กับทุกคนในชุมชน” ไสว เน้นย้ำ
ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน
ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จุดเปลี่ยนที่สำคัญของตำบลทุ่งพระยา
ไสว เล่าต่อ หลังจากโครงการบ้านมั่นคงชนบทได้รับการสนับสนุน ก็มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น กรมป่าไม้ ที่เข้ามาจัดหาที่ดินเสื่อมโทรมจำนวน 200 ไร่ ให้กับ 50 ครัวเรือนนำร่อง เพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำกิน
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานด้าน การจัดการน้ำ ที่เข้ามาวางระบบน้ำเพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด และสนับสนุนโครงการฟื้นฟูป่าเพื่อเป็นแหล่งอาหารของช้างป่า ลดแรงกดดันให้ช้างต้องออกจากป่ามาหากินในพื้นที่ชุมชน
พลังของชุมชน: เมื่อทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง
“สิ่งที่ผมเห็นชัดที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือการที่ชุมชนตื่นตัวและรวมพลังกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ไสว กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ แต่เดิมผู้นำชุมชนอาจไม่เข้มแข็งพอที่จะนำการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเห็นผลลัพธ์จากโครงการบ้านมั่นคงและการแก้ไขปัญหาช้างป่า ทำให้ทุกคนเริ่มตระหนักว่า พวกเขามีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงชุมชนของตัวเอง
“ชุมชนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งในการวางแผน จัดการทรัพยากร และช่วยเหลือกันเอง ทุกคนเริ่มรู้สึกว่าที่นี่เป็นบ้านของพวกเขาจริง ๆ ไม่ใช่แค่ที่พักอาศัย”
สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความร่วมมือที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อพัฒนาหมู่บ้าน การร่วมมือกันเฝ้าระวังช้างป่า หรือแม้แต่การสนับสนุนกันในเรื่องอาชีพและการทำมาหากิน จากตำบลที่เคยเผชิญปัญหาที่ดินเรื้อรังและภัยจากช้างป่า วันนี้ตำบลทุ่งพระยากลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาวิธีการรุนแรงในการจัดการช้างป่า
“เราไม่ได้แค่แก้ปัญหาที่ดิน หรือป้องกันช้างป่า แต่มันคือการสร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติและชุมชน คนอยู่กับป่า ช้างอยู่กับคน เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ การเปลี่ยนแปลงด้วยพลังของชุมชน พลังของคนตัวเล็ก ๆ ที่ร่วมกันขับเคลื่อนชุมชน จากความขัดแย้งสู่การพัฒนา จากปัญหาที่ดินสู่โครงการบ้านมั่นคง และจากความหวาดกลัวช้างป่าสู่แนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากความร่วมมือของทุกคน นี่คือสิ่งที่ตำบลทุ่งพระยาพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ หากชุมชนลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง” ไสว กล่าวทิ้งท้าย
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชนตำบลทุ่งพระยา
ต้นแบบของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติ
ตำบลทุ่งพระยาไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ “โครงการบ้านมั่นคงชนบท” แต่ยังกลายเป็นชุมชนต้นแบบของการอยู่ร่วมกับสัตว์ป่า ชาวบ้านที่เคยหวาดกลัวและใช้วิธีผลักดันช้างให้ออกไป เริ่มเรียนรู้ที่จะปรับตัวและหาทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่สร้างสรรค์
จากที่เคยเป็นชุมชนที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอก ปัจจุบันชาวบ้านมีระบบกองทุนที่สามารถช่วยเหลือกันเอง มีแนวทางเกษตรที่ลดความขัดแย้งกับช้างป่า และยังเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักวิจัยให้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกับช้างป่าอย่างเป็นระบบ ซึ่งนำไปสู่การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
"การอยู่ร่วมกับช้างป่า ไม่ใช่แค่การผลักไส แต่คือการสร้างสมดุล"
เจริญ คงสวัสดิ
มีปัญหาหนึ่งที่ท้าทายชุมชนมาอย่างยาวนาน นั่นคือ "ช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรม" ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน แต่บางครั้งยังนำไปสู่การเผชิญหน้าที่อันตรายระหว่างคนกับช้าง
เจริญ คงสวัสดิ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลทุ่งพระยา กล่าวถึง การหาทางออกให้กับปัญหานี้ ด้วยแนวคิดที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่การป้องกันช้างออกจากพื้นที่ชุมชน แต่เป็นการ สร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์
ด้วยการจำกัดประชากรช้างควบคุมเพื่อความยั่งยืน "เราไม่ได้มองว่าช้างเป็นปัญหา แต่ปัญหาคือเราปล่อยให้จำนวนช้างเพิ่มขึ้น โดยไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม" ในอดีต ป่าที่อุดมสมบูรณ์สามารถรองรับประชากรช้างได้อย่างสมดุล แต่เมื่อเวลาผ่านไป พื้นที่ป่าถูกบุกรุกเพื่อใช้ในการเกษตรและพัฒนาเมือง ขณะที่ประชากรช้างยังคงเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติ ส่งผลให้แหล่งอาหารในป่าไม่เพียงพอ เมื่ออาหารไม่พอ ช้างก็ต้องออกมาหากิน และที่ที่ใกล้ที่สุดก็คือไร่ของชาวบ้าน แนวคิดของเขาคือ การจำกัดจำนวนประชากรช้างให้เหมาะสมกับพื้นที่ป่า ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการควบคุมการขยายพันธุ์ของช้าง เพื่อให้แน่ใจว่าทรัพยากรที่มีอยู่สามารถรองรับจำนวนช้างได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการสร้างแหล่งอาหารในป่า ลดแรงกดดันให้ช้างออกจากพื้นที่ชุมชน
ชุดผลักดันช้างตำบลทุ่งพระยา
เจริญมอง เล่าต่อไปอีกว่า หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาคือ "การสร้างแหล่งอาหารให้เพียงพอสำหรับช้างป่า"
"เราเคยเข้าไปดูพื้นที่ป่าช่วงหน้าแล้ง อาหารแทบไม่มีเลย ต้นไม้แห้งเหี่ยว แหล่งน้ำลดลงจนแทบไม่เหลือ" เขากล่าวพร้อมเล่าถึงสภาพป่าที่เสื่อมโทรม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ช้างป่าออกจากพื้นที่เพื่อหาอาหาร
การสร้างแหล่งอาหารในป่าจึงเป็นสิ่งที่ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ "เราควรปลูกพืชที่เป็นอาหารของช้างในป่าให้มากขึ้น เช่น กล้วยป่า ไผ่ หรือพืชที่ให้พลังงานสูงและสามารถเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ" นอกจากนี้ การฟื้นฟู แหล่งน้ำในป่า ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เพราะช้างต้องการน้ำปริมาณมากในการดำรงชีวิต หากในป่ามีแหล่งน้ำที่เพียงพอ ก็จะช่วยลดแรงจูงใจที่ทำให้ช้างต้องออกมาหาน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชน
"เราต้องเปลี่ยนจากการคิดว่าเรากำลังสู้กับช้าง มาเป็นการหาวิธีอยู่ร่วมกันกับช้างให้ได้ ถ้าป่ามีอาหารเพียงพอ ถ้าช้างได้รับการดูแลที่ดี และถ้าชุมชนมีเครื่องมือป้องกันที่เหมาะสม เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง สิ่งที่กลุ่มคนกับช้างทุ่งพระยากำลังทำอยู่ ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เป็นการสร้าง ต้นแบบของการจัดการช้างป่าอย่างยั่งยืน ช้างก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าเราจัดสมดุลได้ เราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข" เจริญ สรุปในตอนท้าย
แนวทางที่เขาเสนอ ไม่ใช่แค่การป้องกันปัญหาในระยะสั้น แต่เป็นการสร้างระบบที่ทำให้ช้างป่าสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในป่าโดยไม่ต้องออกมาหากินในชุมชน
หอดูช้างตำบลทุ่งพระยา
บทสรุป: คน ป่า และช้าง… ทางรอดที่เป็นไปได้
ตำบลทุ่งพระยาได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ไม่ใช่แค่การป้องกันหรือไล่ต้อนช้างกลับป่า แต่คือการสร้างสมดุลที่ทั้งคนและสัตว์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน การสร้างบ้านให้มั่นคง การสร้างคนให้มีความรู้ และการสร้างระบบที่รองรับการอยู่ร่วมกันกับช้างป่า คือแนวทางแห่งอนาคตที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่เผชิญปัญหาเดียวกัน
“ป่าคือบ้านของช้าง…แต่บ้านของเราก็ต้องอยู่ร่วมกับป่าได้เช่นกัน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
3 จว.ชายแดนใต้ สัมมนาองค์กรผู้ใช้สินเชื่อ เสริมพลังชุมชนขับเคลื่อนความมั่นคงด้านที่ดินที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือพอช. ได้จัด การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการองค์กรผู้ใช้สินเชื่อภาคใต้ การสัมมนาครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพขององค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหา และแนวทางการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน
บ้านท่ามะเฟือง: เสน่ห์เกษตรสร้างสรรค์ พลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชน สู่การท่องเที่ยวยั่งยืน
ท่ามกลางธรรมชาติอันเขียวขจีของ จังหวัดนครนายก มีชุมชนเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางแปลงผักและสวนผลไม้ “บ้านท่ามะเฟือง” แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงหมู่บ้านเกษตรกรรมทั่วไป
"ฅนกับช้าง ทุ่งพระยา" วิถีชีวิต วิถีป่า เส้นทางสู่การอยู่ร่วมอย่างยั่งยืน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์กลายเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแนวเขตติดกับป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านที่อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าวต้องเผชิญกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ
"บ้านเปลี่ยนป่า" : บ้านมั่นคงน้ำไผ่ สร้างบ้าน สร้างคน สร้างชุมชนที่ยั่งยืน
ท่ามกลางพื้นที่ขุนเขาสูงชัน รอยต่อระหว่างจังหวัดอุตรดิตถ์กับพิษณุโลก การเดินทางเข้าสู่ตำบลน้ำไผ่ อำเภอน้ำปาด ไม่ใช่เรื่องง่าย เส้นทางคดเคี้ยว แคบ และสูงชัน
เครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค รวมพลังทุกภาคส่วน เดินหน้าสร้างชุมชนเข้มแข็ง มุ่งสู่ความยั่งยืน
การเสริมสร้างบทบาทขององค์กรชุมชนให้มีพลังในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชน ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และองค์กรชุมชน
"ปลูก เปลี่ยน เมือง" : เปลี่ยนพื้นที่ว่างให้เป็นสวนผัก เปลี่ยนชีวิตให้มั่นคงและยั่งยืน เมื่อการปลูกผัก…ไม่ใช่แค่เรื่องของอาหาร แต่เป็นก้าวสำคัญในการสร้างชีวิต ความมั่นคง และเศรษฐกิจของชุมชน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้จัดเวทีสัมมนา "ปลูก เปลี่ยน เมือง" เพื่อแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพในการพัฒนาคุณภาพชีวิต