เรื่องเล่าในตลาดเก่า...ริมเจ้าพระยา และการรวมพลังท้องถิ่นสู่หมุดหมาย “พยุหะ...เมืองต้องแวะ”

แม่น้ำเจ้าพระยาไหลโค้งดังมังกรเลื้อย  จากจุดชมวิวเขาแก้ว   อ.พยุหะคีรี  จ.นครสวรรค์

การแสดงของชุมชนบริเวณโบถส์มอญสร้างในสมัยอยุธยา (ภาพจาก face book พยุหะเมืองต้องแวะ)  

นานโพ้นแล้วที่น้ำปิง  วัง  ยม  น่าน  ไหลมารวมกันที่ปากน้ำโพ  จังหวัดนครสวรรค์  และก่อเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา  สายเลือดใหญ่ของคนราบลุ่มภาคกลาง  นอกจากจะหล่อเลี้ยงไร่นาและผู้คนทั้งสองฝั่งแล้ว  สายน้ำนี้ยังเป็นเส้นทางคมนาคม  เส้นทางค้าขาย  ล่องไม้ซุง  ล่องข้าวเปลือก-ข้าวสารลงไปยังกรุงเทพฯ  และส่งออกไปค้าขายกับต่างประเทศ

แต่เมื่อมีการสร้างถนนพหลโยธินจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปภาคกลางและขยายขึ้นไปภาคเหนือ  รวมทั้งเมื่อเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทสร้างเสร็จในปี 2500 แล้ว  การคมนาคมทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาจึงค่อยๆ ลดความสำคัญลง  เพราะผู้คนหันไปเดินทางและขนส่งทางรถยนต์ที่สะดวกและรวดเร็วกว่า

เรื่องเล่าจากตลาดริมน้ำพยุหะอายุกว่า 130 ปี

เมื่อก่อนครอบครัวของยายเปิดบ้านเป็นร้านขายของโชห่วย  ขายของใช้ในบ้านทุกอย่าง  พ่อกับแม่จะนั่งเรือสองชั้นจากนครสวรรค์ลงไปซื้อของที่กรุงเทพฯ มาขาย  ส่วนใหญ่ก็จะไปซื้อของที่ตลาดท่าเตียน  ไป-กลับครั้งหนึ่งก็เกือบอาทิตย์  ส่วนในแม่น้ำก็จะมีเรือแล่นไปมาตลอดทั้งวัน 

มีทั้งเรือโยง  เรือพ่วง  บรรทุกสินค้า  บรรทุกข้าวเปลือก  เรือโปงขายกล้วยมาจากโกรกพระ  บางเดื่อ  มาเทียบท่าที่พยุหะ  มีเรือต๊อกๆ รับ-ส่งผู้โดยสาร  สมัยก่อนการค้าขายทางน้ำที่พยุหะคึกคักมาก ในตลาดเคยมีโรงแรมด้วย” คุณยายวิรัตน์  กลิ่นเจริญ  วัย 77 ปี  ผู้อาวุโสแห่งตลาดริมน้ำพยุหะขยับปากฉายภาพในอดีต

ทางเข้าตลาดริมน้ำพยุหะ  มีลักษณเป็นตรอกเล็กๆ  เรือนแถวด้านซ้ายติดแม่น้ำเจ้าพระยา  ด้านขวาเป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้นยาวขนานกันไป

ถ้อยคำจากปากของคุณยายหากถอดรหัสออกมาจะเห็นร่องรอยในอดีตมากมาย  เช่น  เรือเมล์  เป็นเรือสองชั้นที่เคยวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา  จากนครสวรรค์-อุทัยธานี-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-อยุธยา-ปทุมธานี-นนทบุรี  แล้วมาจอดเทียบท่าที่ตลาดท่าเตียน  กรุงเทพฯ  (นอกจากนี้ยังมีเรือเมล์จากท่าเตียนวิ่งไปสุพรรณบุรี) 

ตลาดท่าเตียน เป็นตลาดใหญ่มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์  มีของกิน  ของใช้  เสื้อผ้า  ฯลฯ  มีเรือสินค้าจากจีนและประเทศต่างๆ ที่ล่องเข้ามาค้าขายกับบางกอกเข้ามาเทียบท่า  และหากสืบสาวขึ้นไปก็คงจะยาวนานถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา

เรือเมล์สองชั้นรอรับผู้โดยสารที่ท่าเรือท่าเตียน (ไม่ทราบปีที่ถ่าย  คาดว่าหลังปี 2500) บรรทุกผู้โดยสารได้นับร้อยคน  เรือเมล์เหล่านี้เลิกกิจการไปหลังปี 2510 เมื่อการคมนาคมทางบกสะดวกขึ้น

ตลาดริมน้ำพยุหะตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  อำเภอพยุหะคีรี  จังหวัดนครสวรรค์  มีอายุเก่าแก่อายุประมาณ 135 ปี  หรือเปิดมาตั้งแต่ปี  2430  (สมัยรัชกาลที่ 5)  ในอดีตคงจะเฟื่องฟูน่าดู  เพราะเป็นชุมทางค้าขายทางน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในย่านนั้น   มีท่าเรือขนถ่ายควายเพื่อนำมาซื้อขาย  คนเก่าๆ จะเรียกย่านนี้ว่า ท่ากระบือ” 

แต่หลังจากการคมนาคมทางน้ำค่อย ๆ ลดความสำคัญลง  เพราะมีการตัดถนนพหลโยธินขึ้นไปนครสวรรค์และภาคเหนือ  ผู้คนหันไปเดินทางโดยรถยนต์   ตลาดริมน้ำแห่งนี้จึงพลอยซบเซาไปด้วย  โรงแรม รัตนโกศล ที่พักแห่งเดียวที่เคยเปิดบริการรองรับผู้คนที่สัญจรไปมาทางน้ำที่ตลาดพยุหะปิดตัวลงเมื่อหลายสิบปีก่อน  สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

แต่ยังมีลมหายใจแผ่วๆ ที่ทำให้เห็นว่าตลาดริมน้ำแห่งนี้ยังไม่ตาย..นั่นคือ รัตนโอสถ  ร้านขายยาแผนโบราณอายุราวหนึ่งศตวรรษที่ยังเปิดบริการอยู่ในตลาดริมน้ำพยุหะ  !!

คุณยายสังวาลย์  ทายาทร้านรัตนโอสถ

คุณยายสังวาลย์  หาญลำยวง  วัย 74 ปี  เจ้าของร้านขายยารัตนโอสถคนปัจจุบัน  บอกว่า  คุณพ่อของตนสมัยหนุ่มเคยบวชเป็นพระ  นอกจากการศึกษาทางธรรมแล้ว  ท่านยังสนใจตำรับยาไทยโบราณ  เพราะในสมัยก่อนวัดจะเป็นแหล่งสะสมความรู้  มีตำรายาต่างๆ  บันทึกในสมุดข่อยหรือในใบลาน  นอกจากนี้คุณพ่อยังศึกษาเรียนรู้จากหมอแผนโบราณที่มีทั้งพระและฆราวาส  เมื่อสึกออกมา  พ่อจึงเปิดร้านขายยานี้ขึ้นมา  ชาวบ้านเรียกพ่อว่า “หมอสวัสดิ์”

สมัยยายยังสาวอายุประมาณ 20 ปี  ได้ช่วยงานคุณพ่อหั่นสมุนไพร  และบดสมุนไพรชนิดต่างๆ  ใส่กระป๋องเก็บเอาไว้  เวลามีคนมาซื้อคุณพ่อก็จะผสมยาตามตำรารักษาโรคต่างๆ  เพราะส่วนใหญ่ยาแผนไทยจะเป็นยาผสม  เอาตัวยาที่มีสรรพคุณต่างๆ มาผสมเข้าด้วยกัน  จะมีคนหาสมุนไพรจากป่ามาขาย  บางครั้งก็สั่งซื้อมาจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ถ้ามีคนสั่ง  แต่สมุนไพรบางตัวก็หาไม่ได้แล้ว  ไม่มีคนเอามาขาย”  คุณยายสังวาลย์บอก  แล้วชี้ไปที่กระป๋องสังกะสีเก่าคร่ำอายุคงจะพอกับร้านที่วางเรียงอยู่เหนือตู้ติดผนัง 

ภายในร้านขนาด 2 คูหา  เป็นห้องแถวไม้ 2 ชั้น  หอมอวลไปด้วยสมุนไพรนานาชนิด  มุมร้านด้านหนึ่งเป็นที่ตั้งของเครื่องหั่นสมุนไพรและเครื่องบดสมุนไพรแบบโบราณ   มีตู้ยาขนาดใหญ่ 4 ตู้  อัดแน่นด้วยกระป๋องใส่สมุนไพร  มีทั้งใบเล็กใบใหญ่นับร้อยกระป๋อง  ขนาดเท่ากระป๋องใส่ลูกอมและขนมปังปี๊บ  มีสมุนไพรชื่อแปลกและหายาก  เช่น  สิงหโมรา  ขี้คลั่ง (ครั่ง)  ใบสมี  ใบระงับพิษ  กระทืบยอด  มดยอบ  กระดูกหมาใน  ฯลฯ 

เครื่องบดยาโบราณ

ส่วนขวดโหลพลาสติกด้านล่างมีสมุนไพรที่รู้จักกันดี  เช่น  ฟ้าทะลายโจร  ขมิ้นชัน  กวาวเครือแดง  กราวเครือขาว  มะรุม   ฯลฯ  มีสรรพคุณต่างกันไป  คุณยายจะนำสมุนไพรเหล่านี้มาหั่นด้วยเครื่องมือโบราณ  จากนั้นจึงนำเข้าเครื่องบดหน้าตาเหมือนกลองสัมฤทธิ์ขนาดเท่าโอ่งมังกร   เมื่อละเอียดดีแล้วจึงบรรจุลงแคปซูล  ใส่ถุงพลาสติกซองละ 50 แคปซูล  ราคาขายซองละ 50 บาท  ข้างซองบอกสรรพคุณและวิธีใช้

ช่วงโควิดระบาด  ฟ้าทะลายโจรขายดีมาก  วันละ 200-300 ซอง  บางคนซื้อไปแจก  บางคนเอาไปขายต่อ  ยายทำแทบไม่ทัน  แต่ที่ยังขายได้เรื่อยๆ ก็พวกยาลม  ยาหอม  และยาแก้อัมพฤกษ์  ใครเป็นใหม่ๆ มีอาการปากเบี้ยว  กินยานี้เพียงอาทิตย์เดียวก็เห็นผล คุณยายสังวาลย์ทายาทร้านรัตนโอสถอวดสรรพคุณ

ตลาดริมน้ำเจ้าพระยา  ในอดีตจะมีเรือเมล์เดินขึ้นล่องถึง 5 โมงเย็น  ปัจจุบันเงียบเหงา

ร้านรัตนโอสถและบ้านของคุณยายวิรัตน์ตั้งอยู่ในตลาดริมน้ำพยุหะเหมือนกัน  ห่างกันไม่ถึง 100 เมตร  ฟากหนึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  หันหลังบ้านลงสู่แม่น้ำ  หน้าบ้านมีถนนเล็ก ๆ มีลักษณะเป็น ‘ตรอก’ กว้างประมาณ 3 เมตรผ่ากลาง   ปัจจุบันใช้เป็นทางเดิน  จักรยาน  มอเตอร์ไซค์  รถซาเล้งแล่นผ่านได้  อีกฟากหนึ่งเป็นเรือนแถวไม้ 2 ชั้น  ปลูกขนานกันไป  รวมแล้วกว่าหนึ่งร้อยห้อง  เมื่อก่อนจะใช้หน้าบ้านเป็นที่ค้าขาย  เป็นตลาดริมน้ำ 

แต่ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่หลังที่ยังเปิดค้าขาย  คือร้านรัตนโอสถและบ้านของคุณยายวิรัตน์ที่เคยเป็นร้านโชห่วยสมัยตลาดยังเฟื่องฟู  แต่ทุกวันนี้คุณยายใช้หน้าบ้านวางเตาขายกล้วยปิ้งและขนมเล็กๆ น้อย...เป็นลมหายใจแผ่วๆ ของตลาดริมน้ำที่ยังเหลืออยู่ !!    

พลังท้องถิ่น-สภาองค์กรชุมชนฟื้นคุณค่าแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

นอกจากตำนานตลาดริมน้ำพยุหะและเรื่องเล่าจากปากผู้อาวุโสแล้ว  ตำบลพยุหะและพื้นที่ใกล้เคียงในอำเภอพยุหะคีรียังมีสิ่งตกทอดทางศิลปะ  วัฒนธรรม  ประเพณีต่างๆ อีกมากมาย  แต่เนื่องจากตำบลพยุหะอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองนครสวรรค์ (ประมาณ 27 กิโลเมตร)  มีถนนพหลโยธินตัดผ่าน   พยุหะจึงมีฐานะเป็นทางผ่านไปสู่ตัวเมืองนครสวรรค์และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือ   ทำให้พยุหะถูกมองข้ามหรือถูกด้อยค่าไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุนี้แกนนำในท้องถิ่นจึงพยายามรื้อฟื้นความสำคัญและคุณค่าของเมืองขึ้นมา  โดยเทศบาลตำบลพยุหะร่วมกับ ททท.จึงกิจกรรมท่องเที่ยวขึ้นมาในปี 2556 มีแคมเปญว่า พยุหะ...น่าแวะ’  แต่จัดได้ครั้งเดียวก็เงียบไป 

สติกเกอร์โฆษณาตั้งแต่ปี 2556 ที่ยังหลงเหลืออยู่

ต่อมาในปี 2560 – 2561 ทีมคนหัวใจสิงห์ และกลุ่มคนหัวแด่นรักษ์บ้านเกิด  (‘หัวแด่น’ เป็นชื่อเก่าของพยุหะ) ได้สำรวจข้อมูลของดีเมืองพยุหะ  และจัดกิจกรรมฟื้นฟูธรรมชาติป่าเขาแก้ว   ปลูกต้นไม้  สำรวจพรรณไม้  และศักยภาพของเมือง  รวบรวมรูปภาพเก่าๆ ของเมือง  เพื่อให้คนพยุหะได้เห็นที่มาของเมือง   ปลุกจิตสำนึกให้ตระหนักรักบ้านเกิดและภูมิใจในบ้านเกิดของตนเอง

ในปี 2562-2563  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์   คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ลงพื้นที่หนุนเสริมชุมชน  นำนักศึกษาลงเก็บข้อมูลศักยภาพเมืองพยุหะ  และร่วมกับทีมคนหัวใจสิงห์  กลุ่มคนหัวแด่นรักษ์บ้านเกิด เทศบาลพยุหะ  องค์การบริหารส่วนตำบลพยุหะ  สภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ   ฯลฯ  วางแนวทางการพัฒนาพยุหะให้เป็น เมืองต้องแวะมีการจัดงาน  แสง  สี  เสียง  แสดงของดี  ภาพเก่า  แสดงกลองยาว  เปิงมาง  อาหารอร่อยพยุหะ  ที่วัดเขาแก้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ใช้หนังสติ๊กยิงเมล็ดพันธุ์พืชขยายพันธุ์บนเขาแก้ว

พ.ต.สมบูรณ์  พึ่งกัน  ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ  บอกว่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะได้จัดทำโครงการพัฒนาและเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจชุมชนตำบลพยุหะ  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (องค์การมหาชน)  ในปี 2563 เพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เกิดเป็นรูปธรรม   เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่น

ในปี 2564 สภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะได้เชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์  โดยนำข้อมูลศักยภาพตำบลมาจัดทำเป็นโครงการ ‘1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย’  โดยใช้ข้อมูลทุกมิติ  ทั้งด้านสังคม  เศรษฐกิจ  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  นำมาวางแผนเพื่อฟื้นฟูคุณค่าท้องถิ่น  ส่งเสริมของดีของเด่นให้เมืองพยุหะเป็นที่รู้จัก  เป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวและคนที่เดินทางผ่านมา ‘ต้องแวะ’

 เช่น  ส่งเสริม  ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น   ประเพณีแห่ธงแดงขึ้นเขาแก้ว  จัดอบรมนักเรียน 4 โรงเรียนให้เป็น ‘มัคคุเทศก์น้อย’  พัฒนากลุ่มสัมมาชีพในตำบลเพื่อเพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ของฝาก  พัฒนาบรรจุภัณฑ์  การออกแบบ  ฯลฯ

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา  ได้จัดงาน ‘ตลาดชุมชน  ถนนวัฒนธรรม  พยุหะต้องแวะ’  ที่ลานวัดอินทราราม  มีการแสดงทางวัฒนธรรม   มรดกชุมชน  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  อาหาร  ขนม  ของฝาก  ฯลฯ

การจัดงานที่โบสถ์มอญ  ในวัดอินทราราม

ขึ้นเขาแก้วชมโค้งน้ำมังกรเจ้าพระยา-ชิมอาหารอร่อย

ผู้ใหญ่นิพนธ์ บำรุงศรี  รองประธานสภาฯ  บอกว่า  จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า  ตำบลพยุหะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปะ  วัฒนธรรมมากมาย   สภาองค์กรชุมชนฯ จึงร่วมกับท้องถิ่นจัดโปรแกรมท่องเที่ยว  ‘One  Day  Trip’ ไหว้พระ  ขึ้นเขา  ล่องแม่น้ำเจ้าพระยา

เช่น  ไหว้พระ  ไหว้รอยพระพุทธบาทจำลองสมัยทวาราวดีที่วัดเขาแก้ว   ชมอุทยานธรรม   รูปปั้นปูนสดบอกเล่าเรื่องราวประวัติของประพุทธเจ้า   ตั้งแต่ประสูติจนถึงนิพพานในเส้นทางเดินแบบเขาวงกต   กุฏิไม้สักเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี  โบสถ์มอญสมัยอยุธยา  รูปปั้นช้างแม่ปทุมกับลูก  ช้างคู่บ้านเมืองคู่เมืองพยุหะ  ฯลฯ

“ที่ไม่ควรพลาดคือ  การเดินขึ้นเขาแก้วเพื่อไปชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านพยุหะ  จะเห็นทิวทัศน์รอบเมืองพยุหะ   เห็นแม่น้ำคดโค้งเหมือนมังกรที่กำลังเลื้อย  ยิ่งเป็นช่วงพระอาทิตย์ใกล้ตกดินยิ่งสวย  เพราะแสงอาทิตย์จะกระทบกับแม่น้ำเป็นสีทอง  ส่องประกายระยิบระยับ  ถือเป็น Unseen ของนครสวรรค์  และในวันที่ 14  เมษายนของทุกปี  ชาวบ้านจะมีประเพณีแห่ธงแดงขึ้นเขาแก้ว  เพื่อสักการะพ่อเขาสูงบนยอดเขาแก้ว  ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักสิทธิ์  จึงมีประเพณีสืบทอดมายาวนาน”  ผู้ใหญ่นิพนธ์บอก

ทิวทัศน์บนเขาแก้ว

เขาบอกด้วยว่า  พยุหะยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกมากมาย   เช่น  ถนนวัตถุมงคล ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายวัตถุมงคลต่างๆ  นับร้อยร้านตั้งเรียงรายกันไป  นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวมช่างศิลปะ  ช่างแกะสลัก ช่างหล่อ  ช่างปั้น  รูปเหมือนพระ  ธรรมจักร  เจ้าแม่กวนอิม  ฤาษี  ฯลฯ  ช่างตีมีด  ตอกมีด  ช่างทำแหวนและสร้อยจากโป่งข่าม  จากกะลา  ไม้มงคล

เมื่อเที่ยวชมจนอิ่มอาหารตาแล้วก็ต้องหาอาหารใส่ท้อง  ผู้ใหญ่บอกว่า  พยุหะและนครสวรรค์ในอดีตมีคนจีนและคนญวนที่อพยพเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์   จึงมีอาหารเหล่านี้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  และที่ยังทำขายอยู่  เช่น  ‘ขนมโบ๋’  หรือขนมถ้วยจีน  หรือ ‘จุ้ยก้วย’  รูปร่างคล้ายขนมถ้วย 

ขนมโบ๋

ขนมโบ๋ทำจากแป้งข้าวเจ้าและแป้งมัน  ใช้สีเขียวจากใบเตย  หรือสีเหลืองธรรมชาติ  นำไปนึ่งให้สุก  มีรสจืด  จึงต้องกินกับเครื่องปรุงหลากรส  มีพริกน้ำส้ม  น้ำตาลเคี่ยว  หัวไชโป๊วสับ  และโรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว  มีครบทุกรสชาติ  คือความนุ่มของแป้ง  รสเปรี้ยว  หวาน  มัน  เค็ม  กินเป็นอาหารว่าง  หรือแกล้มกับกาแฟตอนเช้าก็เข้าท่า

‘ขนมต้มญวน’  รูปร่างหน้าตาคล้ายกับขนมบัวลอย  แต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย  มีไส้ถั่วและมะพร้าวอยู่ข้างใน   รสชาติหวานมัน  มีกลิ่นหอมของกะทิ  แต่เมื่อเคี้ยวไส้ในจะมีรสชาติคล้ายขนมโคทางภาคใต้  ในตลาดพยุหะยังเหลือคนทำขายอยู่  2-3 ราย

“นอกจากนี้เรายังสำรวจร้านอาหารและร้านขนมอร่อยในพยุหะ  พบว่ามีกว่า 50 ร้าน  เช่น  ก๋วยเตี๋ยวไก่ลุงหนอม  ข้าวแกงร้อยหม้อป้าหยิก น้ำพริกป้าเรือน หมู่ 6  ปลาแดดเดียว หมูแดดเดียว หมูเค็ม หมู่ 1 หมู่ 2  หมูสะเต๊ะป้าน้อย  ห่อหมกปลาสามแยกริมน้ำ  ปลาแม่น้ำครัวโบราณ  ขาหมูทอดสี่แยกใน   กุ้ยช่ายเจ้สุ (เจ้าเดียวของพยุหะ) ขนมหวานหน้าเซเว่น   ขนมถาดยายเตียง  น้ำแข็งไสวงเวียนงาช้าง กระยาสารท  ขนมกวน  ข้าวเหนียวแดงป้าสมใจ-ป้าสมจิต  ผู้ใหญ่นิพนธ์ยกตัวอย่างของอร่อยที่น่าชวน ‘หม่อมถนัดแดก’ มาชิม 

เส้นทางสู่หมุดหมาย ‘พยุพะ..เมืองต้องแวะ’

พัชรินทร์  เกษสุวรรณ  เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะ  หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคนหนึ่งในการพลิกฟื้นคุณค่าความสำคัญของท้องถิ่น   บอกว่า  ในปี 2565 นี้  สภาองค์กรชุมชนตำบลพยุหะยังมีแผนงานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์อย่างต่อเนื่อง  เพื่อผลักดันไปสู่หมุดหมาย ‘พยุหะ...เมืองต้องแวะ’ โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ  ตลอดทั้งปี

เช่น  ตลาดต้นไม้ หมายมงคล มีเป้าหมายเพื่อเป็นลานกิจกรรมเล็กๆ  ให้คนพยุหะได้มาพบปะพูดคุยกัน  เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาตำบลพยุหะ  โดยใช้ตลาดต้นไม้ฟอกอากาศเป็นเครื่องมือให้คนมาเจอกันทุกวันเสาร์และอาทิตย์  ช่วงเวลา 16.00-20.00 น.

ตลาดชุมชนถนนวัฒนธรรม  ณ อุโบสถมอญ  วัดอินทาราม   เป้าหมายเพื่อให้เกิดตลาดที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน    มีเวทีเล็กๆ เพื่อให้คนในชุมชนได้มีลานวัฒนธรรม  แสดงความสามารถ  เช่น  เวทีเสวนา  แสดงความคิดเห็น  เล่นกีต้าร์ร้องเพลง  รำไทย   work shop งานศิลปะต่างๆ   ทำอาหาร-ขนมพื้นบ้าน  ฯลฯ  โดยจัดตลาดชุมชนถนนวัฒนธรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา  และได้รับการตอบรับจากชุมชนเป็นอย่างดี   ในปี 2565 จึงมีแผนจัดตลาดชุมชนทุกวันศุกร์ปลายเดือนของทุกเดือน

นอกจากนี้ยังจัดทำลานกิจกรรมบริเวณกอไผ่ยักษ์  เป็นลานกว้างติดแม่น้ำเจ้าพระยา  มีลานกางเต๊นท์   ล่องเรือชมแม่น้ำเจ้าพระยา  สามารถให้อาหารปลา  ตกปลา  ทำอาหารจากปลา   ฯลฯ

จุดสูงสุดบนเขาแก้ว  ทุกวันที่ 14 เมษายน  ชาวบ้านจะร่วมกันแห่ธงแดงนำขึ้นไปปัก (บริเวณธงชาติ)

พัชรินทร์บอกด้วยว่า  ในช่วงที่ผ่านมา  สภาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดทำคลิปชวนเที่ยวพยุหะเมืองต้องแวะ  โดยให้คนในชุมชนเป็นนักแสดงนำ  เล่าเรื่องราวของดีพยุหะเมืองต้องแวะ   จัดทำแผนผังเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนแบบ 1 วัน และพักค้างคืน  เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือกตามความสะดวก  และจัดทำ face book ‘พยุหะเมืองต้องแวะ เพื่อเป็นช่องทางสื่อสาร  แหล่งท่องเที่ยว  ตลอดจนสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตำบล

“นอกจากนี้  ในปีนี้เราจะจัดทำแผนงานโครงการการส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนตำบลพยุหะ  เสนอต่อท้องถิ่น  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ระดับตำบล  อำเภอ  และจังหวัด  เพื่อผลักดันให้ ‘พยุหะ...เป็นเมืองต้องแวะ’ ต่อไป  พัชรินทร์บอกทิ้งท้าย

ขณะที่คุณยายสังวาลย์ ทายาทร้านขายยาโบราณรัตนโอสถ บอกว่า "ถ้าช่วยกันฟื้นฟูตลาดริมน้ำได้ก็ดี จะได้มีคนมาเที่ยว ตลาดก็จะไม่เงียบเหงา เพราะตอนนี้คนรุ่นใหม่ๆ ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นเกือบหมด ถ้ามีนักท่องเที่ยว มีตลาดริมน้ำ ตลาดจะได้กลับมาคักคัก"

(เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  face book ‘พยุหะเมืองต้องแวะ’)  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“คลองเปรมประชากร…บ้านสวย น้ำใส” ด้วยน้ำพระทัยจากในหลวง ร.10

คลองเปรมประชากรเป็นหนึ่งในคลองสำคัญของกรุงเทพมหานครที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของเมือง

“บ้านน้ำเชี่ยว 2 ศาสนา3 วัฒนธรรม” สานพหุวัฒนธรรม นำสู่การจัดการจัดการตนเอง (2)

พวกเราได้รู้จักบ้านน้ำเชี่ยวจังหวัดตราดไปแล้ว ต้องบอกว่าเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทั้งในด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัย 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ผนึกพลังทุกภาคส่วนสร้างบ้านเพื่อทุกคน เสนอรัฐหนุนเสริมบ้านโดยชุมชน ปลดล๊อกสิทธิที่ดินและระบบการเงิน สู่ความยั่งยืนมั่นคง

กทม. : วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนจาก 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ร่วมเสนอแนวทางการการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน เปิดวงแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

วันที่ 2-3 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง