รำลึก 3 ปี 'หมอกระต่าย' ยื่น 3 ข้อเสนอ ลดอุบัติเหตุ'...ทางม้าลายปลอดภัย-บังคับใช้กฎหมายความเร็ว 50 กม./ชม.ในเขตเมือง/ชุมชน-ลดค่าใช้จ่ายของเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม ชูลดความเร็ว เพิ่มความปลอดภัย

เวลา 10.00 น. วันที่ 21 ม.ค. 2568 ที่ โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุ เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน มูลนิธิเมาไม่ขับ กทม. และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม 21 มกราคม “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ทางม้าลายปลอดเหตุ ทั่วประเทศปลอดภัย โดยกลุ่มเครือข่ายผู้สูญเสียได้ยื่นข้อเสนอแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุต่อรัฐสภา พร้อมร่วมกันไว้อาลัย จุดเทียนวางดอกไม้ บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ จุดทางม้าลายที่เกิดอุบัติเหตุหมอกระต่าย พร้อมแสดงสัญลักษณ์ เปิดไฟหน้ารถ หรือเปิดไฟฉายที่โทรศัพท์มือถือ เป็นเวลา 1 นาที

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุในประเทศไทยยังคงอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 17,498 ราย เฉลี่ยวันละ 48 ราย และยังมีผู้ที่กลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิตเฉลี่ยปีละ 10,000 คน กิจกรรมในวันนี้เป็นการรำลึกถึงการจากไปครบรอบ 3 ปี ของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “หมอกระต่าย” ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลาย

“คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ วุฒิสภา สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. 2565 – 21 ม.ค. 2566 ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปี เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมูลนิธิเมาไม่ขับ สอจร. ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และภาคีเครือข่ายกว่า 100 องค์กร รัฐบาลจึงได้กำหนดให้วันที่ 21 มกราคม ของทุกปีเป็น วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ไม่เพียงแต่กรณีของหมอกระต่าย แต่ยังเป็นการรำลึกถึงเหยื่ออุบัติเหตุทางถนน และเตือนใจประชาชนให้ร่วมมือกันสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนทุกเพศ ทุกวัย และผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทอย่างจริงจัง” นายสุรชัย กล่าว

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ สำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย 12 จุดในกทม.ปี 2565 พบว่า หยุดรถ ลดความเร็วบริเวณทางม้าลาย 11% ใช้ความเร็วบนทางม้าลายเกิน 30กม./ชม. มากถึง 79% ก่อนถึงทางม้าลาย เป็นรถจักรยานยนต์ถึง 90% รองลงมาคือรถยนต์ และ รถโดยสารสาธารณะ ในกลุ่มผู้ขับขี่ Food Deliveryพบว่า 56% จอดล้ำเส้นทางม้าลาย ขับรถด้วยมือข้างเดียว ในขณะที่มืออีกข้างถือโทรศัพท์ ซึ่ง “ความเร็ว” เป็นปัจจัยสำคัญของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 70% องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า การใช้ความเร็วระหว่าง 30 กม./ชั่วโมง ในพื้นที่ชุมชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด หรือสถานที่ราชการ จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ถึง 90% การควบคุมความเร็วในพื้นที่เหล่านี้จึงไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ แต่ยังเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องชีวิตผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ซึ่งสสส.และเครือข่าย จะร่วมกันทำงานในประเด็นความเร็วเน้นในเขตชุมชน เพื่อช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุต่อไป

“ความปลอดภัยทางถนนเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง การกำหนดวันที่ 21 มกราคม ของทุกปีให้เป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงความปลอดภัยและลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการสร้างวัฒนธรรมการใช้ถนนอย่างปลอดภัย และยั่งยืน” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว

นางเบญจมาภรณ์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลอุบัติเหตุ คือพื้นฐานสำคัญในการลดความสูญเสีย การเก็บข้อมูลอุบัติเหตุอย่างเป็นระบบ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้สามารถวิเคราะห์ วางแผน และกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย สสส. ได้ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค และกองป้องกันการบาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุข ในการบูรณาการข้อมูลการเสียชีวิตจาก 3 ฐานข้อมูลหลัก ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ระบบข้อมูลนี้พัฒนาให้ทันสมัย สามารถแสดงผลในรูปแบบ Dashboard ที่ใช้งานง่าย ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก พร้อมสนับสนุนการกำหนดนโยบายหรือมาตรการลดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล คุณแม่ของคุณหมอกระต่าย ในฐานะประธานเครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน กล่าวว่า ในโอกาส “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน ภาคีเครือข่ายพลังผู้สูญเสียฯ และได้มีข้อเสนอนโยบาย 3 ข้อต่อรัฐสภาและหน่วยงาน ดังนี้ 1. สร้างทางม้าลายปลอดภัย และปรับปรุงพื้นที่ทางม้าลายให้เห็นชัดเจน มีสัญญาณป้ายไฟบอกตำแหน่งทางม้าลาย หรือสัญญาณป้ายไฟ ป้ายเตือนลดใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ป้ายตำแหน่งทางข้าม ป้ายระวังคนข้ามถนน หรือตีเส้นซิกแซกสีขาวบนถนน เป็นเครื่องหมายเตือนให้ผู้ขับขี่ระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะช่วง 15 เมตร ก่อนถึงทางข้ามหรือทางม้าลาย เพื่อให้รถลดความเร็ว และควรปรับปรุงทางม้าลายที่อยู่จุดเสี่ยง เช่น หน้าโรงเรียน โรงพยาบาล หน้าสถานที่ราชการ ตลาด 2. การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และกำหนดการใช้ความเร็วในเขตเมืองไม่เกิน 50 กม./ชม.สำหรับรถทุกประเภท และ 3. ลดค่าใช้จ่ายเมื่อต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ผู้สูญเสียสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค

“แม้สถิติการบาดเจ็บจะลดลง แต่การตายและความพิการยังสูง อุบัติเหตุทำให้เครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุฯ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี นอกจากความสูญเสีย ยังได้รับผลกระทบทางจิตใจ สุขภาพ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิต ขาดผู้นำ สูญเสียอนาคตของครอบครัว อุบัติเหตุที่เกิดกับหมอกระต่ายนั้นสร้างความเจ็บปวดแก่ครอบครัว เช่นเดียวกับครอบครัวอื่น ๆ ที่ในแต่ละปีที่มีคนอันเป็นที่รักต้องจากไปอย่างไม่มีวันกลับ” นางรัชนี กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. สานพลัง สกร. ดึง บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” 30 แห่ง พร้อมครูศูนย์การเรียนรู้ ร่วมสร้างพื้นที่เติมสุข(ภาวะ) ในชุมชน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 23 เม.ย. 2568 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กระทรวงศึกษาธิการ

สสส. สานพลัง สคล.-มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม ดีเดย์ รณรงค์เทศกาลสงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า 2568

สสส. สานพลัง สคล.-มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม ดีเดย์ รณรงค์เทศกาลสงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า 2568 ผลสำรวจชี้ไม่ดื่มช่วยลดอุบัติเหตุ-ลดเสี่ยง-ลดทะเลาะวิวาท-ล่วงละเมิดได้ ประชาชน 91.4% เห็นด้วยจัดสงกรานต์ปลอดเหล้าลดอุบัติเหตุ อีก 75% ชอบสงกรานต์แบบไร้แอลกอฮอล์ พร้อมชวนลด 6 พฤติกรรมเสี่ยง Call out ไม่เอาน้ำเมา

'ยกระดับ ไม่ยกเว้น' สสส. สานพลังภาคี ชวนมองชุมชนไม่ขึ้นทะเบียน ไร้โอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดี กระทบเศรษฐกิจ-สุขภาพ ชู โครงการ 'ชุมชนยกกำลังดี' สร้างพื้นที่สร้างสรรค์-อาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต 48 ชุมชนไม่ขึ้นทะเบียนทั่วกรุงฯ พร้อมเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งร่วมขับเคลื่อนเมืองสุขภาวะ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) และภาคีเครือข่าย จัดงาน Commune Can Do Face รวมเพื่อน เชื่อมคน ชุมชนยกกำลังดี ภายใต้โครงการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนไม่ขึ้นทะเบียนกรุงเทพมหานคร “ชุมชนยกกำลังดี” เปิดพื้นที่กระจายโอกาสให้คนในชุมชนที่ไม่ขึ้นทะเบียนทั่วกรุงเทพฯ สะท้อนคุณค่าและตัวตนของคนในชุมชน

หวั่น! แผ่นดินไหวกระทบสุขภาพจิต สสส.-กรมสุขภาพจิต ชวนเช็คความเสี่ยง-วิธีรับมือความวิตกกังวล เผยอาการเวียนหัวอาจเป็น“โรคสมองเมาแผ่นดินไหว” พร้อมชี้ช่องทางเข้าถึงการดูแลจิตใจ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ทำลายอาคารบ้านเรือนพังเสียหายเป็นวงกว้าง แต่ผู้ประสบภัยจำนวนมากยังคงอยู่กับความหวาดกลัว วิตกกังวล จนอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ