พลังแห่งการเล่น..พาเด็กก้าวข้ามวิกฤต ไทยเปิดตัว"สมาคมการเล่นนานาชาติ"

การเล่นเพื่อเปลี่ยนโลก!! เชื่อว่าผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ มีปุจฉา และต้องการวิสัชนาว่า ทำไม?!? เรื่องเล่นๆ ถึงจะมาเปลี่ยนโลกได้  และท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ จนถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ อันส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนส่วนหนึ่งนั้น เหตุใด "องค์กรนานาชาติ" ยังคงเดินหน้ารณรงค์ขับเคลื่อนให้เห็นความสำคัญของการเล่น ที่ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าปัจจัยสี่ อันได้แก่ อาหาร ยา ที่อยู่อาศัย และเครื่องนุ่งห่ม

ข้อมูลจากงานประชุม International Play Association (IPA) Thailand Panel Discussion “เล่น ฟื้น คืน พลัง - พาเด็กก้าวข้ามวิกฤต: Play More, Play Now" พร้อมเปิดตัวสมาคมการเล่นนานาชาติ สาขาประเทศไทย (International Play Association Thailand: IPA Thailand) เพื่อเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการเล่นอิสระระหว่างนานาชาติและประเทศไทย สร้างโอกาสการเล่นให้แก่เด็กทุกคน ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกจัดขึ้นเมื่้อเร็วๆ นี้ นับเป็นข้อพิสูจน์สำคัญว่า หากผู้ใหญ่ในวันนี้มองข้ามความสำคัญในการเล่นของเด็กๆ ปัญหาวิกฤตในสังคมจะเกิดขึ้น และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติและประชาชนในอนาคต

จากผลสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 503,884 ราย โดยกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 2565 - 14 ต.ค. 2567 พบเด็กเสี่ยงทำร้ายตนเอง 87,718 ราย คิดเป็น 17.4% เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 51,789 ราย หรือ 10.28% 

"การเล่นเพื่อบำบัด จึงเป็นแนวทางที่ควรจะศึกษาและผลักดัน เพราะจะส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็ก และความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือระหว่างบุคคลอีกด้วย” น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าว

เรื่องเล่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เล่น จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องหันมาศึกษา สนใจ และลงมือทำ ซึ่ง น.ส.ประสพสุข โบราณมูล และนายพงศ์ปณต ดีคง ผู้แทนสมาคมการเล่นนานาชาติ สาขาประเทศไทย (IPA Thailand) เปิดเผยว่า IPA Thailand เป็นแห่งที่ 19 ของโลก เป็นสาขาล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 จากทั้งหมด 52 ประเทศทั่วโลก ขณะนี้มีสมาชิกทั้งบุคคลและองค์กรมากกว่าพันคนแล้ว มีการประชุมนานาชาติ IPA ทุก 3 ปี ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ทั้งนี้ปี 2026 จัดประชุมที่ประเทศนิวซีแลนด์  IPA Thailand เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เกิดขึ้นจากการผลักดันของ สสส.และเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก เป็นองค์กรที่ทำงานส่งเสริมเด็กให้ได้รับโอกาสในการเล่นอย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนแพง แต่ใช้เพียงมุมใดมุมหนึ่งของบ้านให้เด็กเล่น สร้างพื้นที่ต้นแบบในครอบครัว มีการจัดทำ Magazine Play แปลข้อมูลดีๆ เพื่อเผยแพร่การเล่นเป็นการเยียวยา เล่นสร้างสุขด้วยการเยียวยาบาดแผลทางใจ 

เป้าหมายสำคัญคือ การส่งเสริมให้เด็กทุกคนเข้าถึงโอกาสในการเล่นอิสระ ผ่านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างศักยภาพผู้เกี่ยวข้องให้มีความสามารถในการสนับสนุนและส่งเสริมการเล่นอิสระ 2.ปลุกพลังครอบครัวและชุมชนในการส่งเสริมการเล่นอิสระ 3.สื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการส่งเสริมการเล่นอิสระ และสิทธิในการเข้าถึงโอกาสการเล่น ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 เรื่องการมีส่วนร่วมของเด็กผ่านการเล่น

ทั้งนี้ IPA Thailand จะเดินหน้าเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องการเล่นอิสระระหว่างนานาชาติและไทย ส่งเสริมงานด้านผู้อำนวยการเล่น (Play Worker) ให้มีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น และรวมพลังเครือข่ายทุกภาคส่วนสื่อสาร ขับเคลื่อน สร้างโอกาสการเล่นอย่างธรรมชาติให้เด็กทุกคน ทั้งยังเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อปี 1989 บทความที่ 31 แต่ละประเทศจึงได้ร่วมกันจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การพัฒนาสร้างสิ่งแวดล้อมเอื้อให้เด็กเพื่อการขับเคลื่อนตามอนุสัญญา

การสร้างอาชีพใหม่ด้วยการจัดอบรม Play Worker เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น เป็นการทำงานเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ มศว ประสานมิตร เพื่อสร้างอาชีพใหม่ มีการมอบเกียรติบัตรเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ เมื่อศึกษาจากฮ่องกงเจาะเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้เด็กรุ่นใหม่เป็น Play Worker เพื่อกลับไปสอนพ่อแม่ในการนำถุงพลาสติกมาเป็นเครื่องเล่นกับลูกๆ ขณะนี้การสร้างเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกมากกว่า 40 พื้นที่ โดยเฉพาะการสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อนจากองค์กรต่างๆ ทุกภาคของประเทศ ร่วมกับครูในเขต กทม. อบต. OKMD Plan Toy เป็นงานที่ท้าทายในการบริหารจัดการ

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. (สำนัก 4) เปิดเผยว่า สสส.มีความเชื่อมั่นในการเล่น ยิ่งสถานการณ์เมืองไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย เด็กเกิดน้อย คนตายเยอะ ส่งผลให้จำนวนประชากรลดลง เด็กเกิดในครอบครัวที่ยากจนหาเช้ากินค่ำ 70% เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อได้รับโอกาสที่ดีทางการศึกษา มีการคำนวณว่าอีก 10 ปีประชากรจะลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 30 ล้านคน เป็นปัญหาความมั่นคงของประเทศ สสส.จึงมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิด IPA Thailand เป็นสาขาที่ 19 ของโลก

มีหมุดหมายสำคัญคือ การสานพลังภาคีร่วมผลักดันให้เกิดหลักสูตรและมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ผู้อำนวยการเล่น หรือ Play worker ผู้ที่จะทำให้เด็กได้เข้าถึงโอกาสการเล่นอย่างแท้จริง ผ่านการถอดบทเรียนและวิธีการในระดับสากล ควบคู่กับบทเรียนจากพื้นที่ปฏิบัติทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนให้บุคลากรท้องถิ่น เช่น อบต., อบจ. และเทศบาล ซึ่งมีบุคลากรมากกว่า 7,000 คน มีทักษะผู้อำนวยการเล่น เพื่อสนับสนุนเด็กในพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนขับเคลื่อนให้มีลานเล่นอิสระในชุมชนเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างให้ครูหรือผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาเด็ก (ศพด.) กว่า 17,000 แห่ง มีความรู้และทักษะ Play worker เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมต่อไป

“สสส.ร่วมกับภาคีที่ดำเนินการงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ขับเคลื่อนงานส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางกายวันละไม่น้อยกว่า 60 นาที และสนับสนุนให้เกิดการเล่นอิสระอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นรูปแบบการเล่นที่ทำได้ง่ายและเป็นพื้นฐานของการสร้างพัฒนาการทุกด้านในตัวเด็ก ยกตัวอย่างเช่น โครงการเล่นอิสระที่ จ.หนองบัวลำภู  ที่ใช้การเล่นในการเยียวยาเด็กและครอบครัวที่ได้รับความรุนแรงจากเหตุการณ์ภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่ง พบว่าเด็กและผู้ใหญ่เครียดน้อยลง หลับดีขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น จากรายงานผลการดำเนินงานการทำงานส่งเสริมการเล่นอิสระปี 2565-2566 โดยเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก พบเด็กปฐมวัยและวัยประถมศึกษามีความสุขเพิ่มขึ้น มีพัฒนาการตามวัย มีทักษะชีวิต และลดเวลาการใช้หน้าจอ 21,000 คน” น.ส.ณัฐยากล่าว

น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการ สสย. ชี้แจงว่า สมาคมการเล่นนานาชาติ หรือ International Play Association: IPA World ได้นิยามวิกฤตว่ามี 3 รูปแบบ  ได้แก่ 1.วิกฤตที่เกิดจากธรรมชาติ 2.วิกฤตที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ 3.วิกฤตที่ซับซ้อนเกิดจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมีหลายระดับ จากรายงานวิจัยเรื่อง Access to Play for Children  in Situations of Crisis: Synthesis of Research in Six Countries ปี 2560 โดย IPA World พบว่า การช่วยเหลือเด็กในสภาวะวิกฤตต่างๆ จะเน้นไปที่การช่วยเหลือโดยการสนับสนุนอาหาร ที่อยู่อาศัย แต่ "การเล่น" ไม่ได้ถูกให้การสนับสนุนมากนัก ในปี 2563 IPA World จึงสร้างแนวคิด IPA Play in Crisis Support for Parents and Carers ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเล่นในภาวะวิกฤตให้แก่ผู้ปกครองหรือผู้ที่ใกล้ชิดเด็ก ซึ่งสำคัญไม่แพ้กับการสนับสนุนอาหารหรือที่อยู่อาศัย ประเทศที่เผชิญกับภัยธรรมชาติอย่างเนปาลแผ่นดินไหว ญี่ปุ่นพายุสึนามิ ปัญหาโควิดที่เผชิญทั่วโลก  เด็กถูกปิดกั้นโอกาสที่จะออกมาเล่นนอกบ้าน มีผลกระทบต่อเด็ก และยังมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน

น.ส.ปรัชทิพา หวังร่วมกลาง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) เปิดเผยว่า เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ กทม.มีการอพยพผู้คนไปอยู่ศูนย์ราชการฯ ผู้ประสบภัยเกิดความเครียดปริวิตกโดยเฉพาะเด็กได้รับแรงกดดันอย่างสูง อีกทั้งปัญหาการกราดยิงที่ห้าง Terminal 21 โคราช ส่งผลให้ผู้ใหญ่และเด็กซึมเศร้า ไม่กล้าออกนอกบ้านอยู่พักใหญ่เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เด็กทั้งโลกถูกกักตัวไม่ได้ออกจากบ้าน ไม่เข้าใจสถานการณ์ ต้องใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมือถือตลอดทั้งวัน ทั้งยังต้องเผชิญกับสภาวะอารมณ์เครียด เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย  พ่อแม่มีบทบาทอำนวยให้เกิดการเล่นที่บ้าน กลุ่มไม้ขีดไฟทำกิจกรรมคลายความเครียดให้เกิดการผ่อนคลาย ฟื้นฟูจิตใจให้มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น กิจกรรม Box of Toys หนองบัวลำภู

มยพ.จึงต้องสนับสนุนของเล่นไปให้เด็กๆ ถึงหน้าบ้าน รวมถึงการทำกล่องของเล่นยืมคืน และทำความเข้าใจเรื่องการเป็น Play Worker ให้ผู้ปกครองสามารถอำนวยการเล่นกับลูกได้ ทำให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น ลดการติดหน้าจอ นอกจากนี้จากสถานการณ์ความรุนแรง กรณีเหตุกราดยิงที่โคราช มยพ.ได้ร่วมกับ สสส.และภาคี จัดงานที่เทศกาลกลางเมือง เปิดพื้นที่เล่นอิสระให้เด็กและผู้ปกครองได้ใช้เวลาร่วมกัน เยียวยาจิตใจ รวมถึงเหตุความรุนแรงกับเด็กเล็กหนองบัวลำภู ใช้เล่นอิสระ ฟื้นฟูความสุข ช่วยให้เด็กได้กลับสู่ภาวะปกติ มีสภาพจิตใจที่พร้อมใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข การดำเนินงานที่ผ่านมาจึงสะท้อนให้เห็นว่า “การเล่น” สามารถทำให้เด็กก้าวข้ามความรุนแรงและวิกฤตที่เจอได้จริง รวมถึงยังส่งผลดีต่อครอบครัวและชุมชนด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวเชียงใหม่อุ่นใจ สสส.-มช. เดินหน้าโครงการ "Chiang Mai Greentopia" ช่วยลดสารเคมีตกค้างในเลือดได้สูง ภายใน 2 ปี ลดเหลือ 66% จาก 90%

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 ม.ค. 2568 ที่สวนผักฮักร้องขุ้ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ตัวแทนเกษตรกร ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ติดตามการดำเนินงานโครงการ Chiang Mai Greentopia : ต้นแบบการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

สสส. สานพลัง พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)-Mappa-กสศ.-กทม. จัดเทศกาล 'Relearn Festival 2025' ชูแนวคิด 'Intergeneration ลดช่องว่างระหว่างวัย สร้างความเข้าใจระหว่างกัน' วันที่ 11 ม.ค.-9 ก.พ.68 นี้

เปิดพื้นที่ชวนครอบครัวเปลี่ยนมุมมอง-สร้างทักษะการเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่ ลดช่องว่างระหว่างวัยของเด็ก-ผู้ใหญ่ หลังพบเด็ก 25.6% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงขึ้น 2 เท่า ในรอบ 7 ปี

เด็กไทยป่วยซึมเศร้าทะลุ 2,200 คน ต่อประชากรแสนคน เสี่ยงทำร้ายตัวเอง 17.4% ซ้ำเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต

ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรม “ดูแลวัยเด็กด้วยศิลปะด้านใน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568” ภายใต้โครงการโมเดลวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในเชิงลึกเพื่อขยายชุมชนการเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะเด็กก่อนวัยรุ่น เปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน พ่อแม่

กรมกิจการเด็กและเยาวชน จับมือ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว-สสส. จัดเสวนาสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 68 เสริมแกร่งความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเด็ก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมแมนดาริน กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ชี้คนไทย"พร่อง"กิจกรรมทางกาย สสส.รณรงค์สร้างสุขกระฉับกระเฉง

โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เฉลี่ย 3 แสนคนต่อปี คิดเป็น 75% ของสาเหตุการตายทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูง

รณรงค์ "กินให้หมดจาน" 50ร้านต้นแบบช่วยลดขยะ

รู้หรือไม่?!?..... มีสถิติระบุว่า ขยะอาหารโลกพุ่งกว่า 1 พันล้านตัน ภาพขยะกองสูงเป็นภูเขาที่รอฝังกลบ กว่าครึ่งคือขยะอาหาร คนไทยเพียงคนเดียวผลิตขยะสูงลิ่ว 146 กก./คน/ปี