โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ดอยดำ ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี 2545 โดยคัดเลือกราษฎรยากจนที่ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ขยัน และไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่ โดยสร้างบ้านพัก จัดสรรที่ดินทำกินแบบหมุนเวียนพันธุ์พืช เพื่อลดการทำไร่เลื่อนลอยตามความถนัดแบบดั้งเดิม พัฒนาคุณภาพชีวิต และมอบหมายให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำ พร้อมทั้งเป็นเสมือนยามเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนด้วย
นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยในระหว่างติดตามนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการ
อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ ดอยดำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันก่อนว่า ในพื้นที่โครงการฯ มีราษฎร 4 ชาติพันธุ์ ประกอบด้วย อาข่า มูเซอ ลีซอ ปกาเกอะญอ อยู่ในโครงการร่วมกัน ได้รับการดูแลด้านอาชีพจากส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และจากการลดพื้นที่ทำกินในรูปแบบไร่เลื่อนลอย เป็นผลให้สภาพป่าไม้ในปัจจุบันฟื้นคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ มีการร่วมกันปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่าไม้ จำนวนกว่า 4,200 ไร่ มีการจัดสร้างฝายต้นน้ำลำธาร และปลูกหญ้าแฝกในพื้นที่ลาดชันและริมทางน้ำตามธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
“ทางมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ส่งเสริมการผลิตข้าว ซึ่งร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง และสถานีพัฒนาที่ดินเชียงใหม่ ส่งเสริมให้ปลูกข้าวพันธุ์ขะสอ 62 ทำให้ในทุกวันนี้ราษฎรมีข้าวกินอย่างเพียงพอทั้งปี นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชผักในระบบโรงเรือน เช่น กะหล่ำปลีหัวใจ ผักกาดขาวปลี คะน้าฮ่องกง ผักชี ขึ้นฉ่าย มีการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น เช่น มะละกอ มะนาว อะโวคาโด รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพ ต่าง ๆ อาทิ การตีมีด การทอผ้า เครื่องเงิน การปลูกผักปลอดสารพิษ การผลิตปุ๋ยใช้เอง เพื่อลดการใช้สารเคมี และลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ผ่านโครงการส่งเสริมให้ราษฎรปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จำนวนมาก และในปี 2568 จะมีการพัฒนาเป็นกาแฟแปรรูปดอยดำ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้ดำเนินการสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี 2548 โดยการศึกษาหาแนวทางเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน เพื่อขยายผลสร้างอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศบนพื้นที่สูงที่มีอากาศหนาวเย็นทั้งปี เนื่องจากปลาชนิดนี้เจริญเติบโต ในน้ำที่มีอุณหภูมิประมาณ 12 - 24 องศาเซลเซียส การดำเนินงานประสบความสำเร็จด้วยดี ปัจจุบันสามารถผลิตพ่อแม่พันธุ์ได้เพิ่มขึ้นและผลิตไข่ปลาคาเวียร์ ส่งจำหน่ายผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ” นางสุพร ตรีนรินทร์ กล่าว
สำหรับปลาสเตอร์เจียน เป็นปลากระดูกแข็งขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายปลาฉลาม มีหนามแหลมสั้น ๆ บริเวณหลัง หัว และเส้นข้างลำตัวเพื่อป้องกันตัว มีหนวด 2 คู่อยู่บริเวณปลายจมูก หากินตามพื้นน้ำกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ในธรรมชาติพบมากทางซีกโลกเหนือ ซึ่งเป็นเขตหนาวอาศัยได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล เมื่อยังเล็กจะอยู่ในแหล่งน้ำจืด โตขึ้นจะว่ายลงสู่ทะเล และเมื่อถึงฤดูวางไข่จะกลับมาวางไข่ในแหล่งน้ำจืดพื้นที่ต้นน้ำ เป็นปลาที่มนุษย์ใช้เป็นอาหาร โดยเฉพาะส่วนของไข่ปลา ที่เรียกว่า ไข่ปลาคาเวียร์ ซึ่งเป็นอาหารราคาแพงชนิดหนึ่งของโลก
นางศิรประภา ปะฟู ราษฎรชนเผ่ามูเซอ ที่อยู่ในโครงการฯ เผยว่า ทุกวันนี้มีอาชีพทอผ้าทั้งไว้ใช้เองและส่งให้ร้านศิลปาชีพจำหน่าย ส่วนด้านการเกษตรได้ปลูกพืชผักและไม้ผลเมืองหนาว ปลูกกาแฟ ทำสวน ทำไร่ นอกจากนี้ยังเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ สร้างรายได้อีกด้วย
“ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นมาเที่ยวดอยดำมากขึ้น ทำให้ขายของได้มากกว่าเมื่อก่อนมาก ซึ่งนอกจากพืชผักและผ้าทอตามแบบของเผ่ามูเซอแล้วก็ยังมีน้ำผึ้งในป่าดอยดำที่นักท่องเที่ยวชอบซื้อ เมื่อมีป่าไม้เยอะขึ้นและมีความสมบูรณ์ ผึ้งป่าก็จะมาทำรังมากขึ้น จึงได้ไปเก็บน้ำผึ้งมาขายทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โครงการฯ ดอยดำเป็นโครงการที่ดี ให้ความรู้หลายอย่าง รวมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านต่าง ๆ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นางศิรประภา ปะฟู กล่าว
ทั้งนี้ส่วนประสานงานโครงการพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการน้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันมีราษฎรในโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ ดอยดำ มีจำนวน 49 คน เป็นสมาชิกที่อยู่กันโครงการมาตั้งแต่เริ่มต้นจำนวน 35 คน และเป็นสมาชิกรุ่นที่ 2 จำนวน 14 คน ซึ่งเป็นบุตรหลานของรุ่นที่ 1 และมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและพ่อแม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอจากการประกอบอาชีพที่ได้รับการพัฒนาจากโครงการฯ ส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือภายในเมืองเชียงใหม่ เมื่อจบแล้วก็กลับมายังบ้านเกิดด้วยความรักในธรรมชาติ และมีอาชีพรองรับ มีรายได้ที่แน่นอน พร้อมนำความรู้จากการเล่าเรียนมาพัฒนาพื้นที่ต่อไป โดยทางโครงการฯ มีแผนงานในการร่วมมือกับราษฎรทั้ง 2 รุ่น จัดทำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศดอยดำ เปิดรับนักท่องเที่ยวชาวเมืองเดินทางสู่
ดอยดำ ดินแดนแห่งอารยธรรมต่างเผ่าที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดียวกันภายในปี 2568 นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกต.พร้อมเลือกตั้ง ส.อบจ.-นายก อบจ.เชียงใหม่ ยังไร้การร้องเรียน
จังหวัดเชียงใหม่ นายมงคล สุกใส ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรม “คณะ
ในหลวง พระราชินี ถวายสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ประจำปีพระบรมราชสมภพ วัดพระสิงห์
ในหลวง พระราชินี ทรงถวายสักการะพระมหาธาตุเจดีย์ประจำปีพระบรมราชสมภพ ทรงประกอบพิธีสมโภชพระอัฏฐารสและพระอัครสาวก ชาวเชียงใหม่ปลื้มปีติ
ต้นปี 'ดอกประทัดดอย' บานสะพรั่งบนดอยภาคเหนือ
กรมอุทยานฯ ชวนนักท่องเที่ยว สัมผัสความงดงามดอกประทัดดอย บานสะพรั่งรับต้นปี ที่จะพบได้บนดอยพื้นที่ภาคเหนือเท่านั้น
โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่