นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) หรือ (EA) หนึ่งในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของไทย ล่าสุดเมื่อวานนี้ (7 มกราคม 2568) ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากผู้ถือหุ้นในการระดมทุนประมาณ 7,400 ล้านบาท ผ่านการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งบริษัทคาดว่าจะใช้ในการเสริมสร้างการฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากการปรับโครงสร้างอย่างเข้มข้นภายในกลุ่มบริษัทในระยะเวลา 5 เดือน ที่ผ่านมา
ทั้งนี้การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และรวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้า เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า
“เรารู้สึกยินดีที่ได้จัดการธุรกิจจนสถานการณ์เริ่มนิ่งแล้ว ผ่านการตัดสินใจที่ยากลำบากบางอย่าง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง เป็นบวก และการสร้างกำไรอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่มีกำไรและปรับโครงสร้างธุรกิจที่ขาดทุน”นายฉัตรพล กล่าว
นายฉัตรพล กล่าวว่า "เรามีธุรกิจที่ทำกำไรจากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีผลประกอบการเป็นบวก ธุรกิจเหล่านี้รวมกันคิดเป็น 60% ของรายได้ EA และเกือบทั้งหมดของกำไรของเรา เราเริ่มต้นธุรกิจเหล่านี้แทบจะก่อนใครในประเทศไทย และการตัดสินใจที่มีวิสัยทัศน์นั้นกำลังให้ผลตอบแทนอย่างงดงาม ด้วยกระแสรายได้ที่มั่นคงและอัตรากำไรที่นำหน้าในอุตสาหกรรม"
"อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของธุรกิจเหล่านี้ได้ถูกหักล้างด้วยธุรกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจการผลิตแบตเตอรี่ของเรา ซึ่งกำลังขาดทุนและดูดซับเงินสดของเราไป หลักๆ แล้วสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ ดังนั้น ในส่วนของการปรับโครงสร้าง เราจึงหยุดธุรกิจการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าชั่วคราว และปรับลดขนาดธุรกิจแบตเตอรี่ และการตัดสินใจทั้งสองอย่างนี้ได้ช่วยหยุดการไหลออกของเงินสดของเราได้สำเร็จ"
นายฉัตรพล กล่าวว่า "เรามองเห็นศักยภาพในการเติบโตและการทำกำไรอย่างมหาศาลสำหรับ EA ทั้งในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และธุรกิจแบตเตอรี่ แต่เพื่อที่จะฉวยโอกาสเหล่านี้ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของเรา ก่อนอื่นเราต้องสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับผู้เล่นขนาดใหญ่ในตลาดโลกในภาคธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยให้เรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นและสามารถขยายตลาดไปยังนอกประเทศไทยได้ และประการที่สอง เราจำเป็นต้องใช้เงินทุนของเราให้น้อยลง ในภาคธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีเวลาจำกัดในการคืนทุน เราได้ลงมือเดินหน้าขับเคลื่อนตามกลยุทธ์นี้แล้ว ซึ่งจะทำให้เรามีความคล่องตัวและฟื้นกลับมารับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น"
นายฉัตรพลรายงานว่า ตอนนี้ EA กำลังจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตยานยนต์ประเภทพิเศษรายใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ในการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษ โดยบริษัทร่วมทุนนี้คือ Chengli Special Automobile Co., Ltd. ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถประเภทพิเศษมากกว่า 30,000 คัน ไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยในบันทึกข้อตกลงที่ได้ลงนามร่วมกับ EA ในเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาได้ตกลงกันว่า ยานยนต์จะถูกประกอบในโรงงานประกอบของ EA ที่มีพื้นที่ขนาด 65,000 ตารางเมตร (80 ไร่) ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยความสามารถในการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 3,000 - 9,000 คันต่อปี ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของยานยนต์ประเภทพิเศษที่ผลิต โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตในเดือนเมษายน 2568 โดยยานยนต์ไฟฟ้าที่โรงงานเราจะประกอบมีทั้ง รถพยาบาล รถขยะ และรถกระเช้า ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทพิเศษเหล่านี้จะถูกประกอบขึ้นในประเทศไทยในระดับอุตสาหกรรม การร่วมทุนนี้คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท สำหรับรายได้ปีแรกของการดำเนินการเต็มรูปแบบในปี 2569
นอกจากนี้EA ยังได้รายงานการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อจัดตั้งการร่วมทุนกับหนึ่งในผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับแนวหน้าของประเทศจีน ซึ่งมีฐานลูกค้าสำคัญอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยการร่วมทุนนี้จะเป็นการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และจะเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่แรกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แบตเตอรี่เหล่านี้จะถูกใช้งานหลักๆ ในด้านระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ การผลิตจะดำเนินการที่พื้นที่ผลิตแบตเตอรี่ของ EA ขนาด 80,000 ตารางเมตร (91 ไร่) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และจะขยายกำลังการผลิตจาก 2 กิกะวัตต์ในปัจจุบันไปเป็น 4 กิกะวัตต์ การลงนามข้อตกลงการร่วมทุนคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยจะเริ่มการจัดเตรียมสถานที่และเครื่องจักรการผลิตในปี 2568
นายฉัตรพลกล่าวเพิ่มเติมว่า "เรามีความยินดีที่ได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นในแผนธุรกิจที่นำเสนอ โดยได้รับการโหวตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น ถึง 99.9% ในการประชุมผู้ถือหุ้นเมื่อวานนี้ ผมขอขอบคุณผู้ถือหุ้นทุกท่านที่เชื่อมั่นในการเดินหน้าตามแผนเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่”
“เงินทุนใหม่ที่ได้รับจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการเงินของ EA และช่วยให้เราสามารถคว้าโอกาสที่น่าสนใจต่างๆ ในอนาคตได้ เมื่อเราเดินหน้าเข้าสู่ก้าวของการฟื้นตัว” นายฉัตรพลกล่าว
นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จํากัด (มหาชน) (EA) กล่าวว่า “เงินทุนที่จะได้จากการเพิ่มทุนที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น ในวันที่ 7 มกราคม หลักๆ จะถูกนำไปใช้ในการชำระคืนเงินกู้ธนาคารและใช้ในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด เราหวังว่าจะลดหนี้สินจาก 58,664 ล้านบาท ลงเหลือ 52,004 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยรายปีลงได้ประมาณ 300 ล้านบาทแล้ว จะช่วยปรับปรุงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ดีขึ้นด้วย และเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพทางการเงินและความน่าเชื่อถือของบริษัท รวมทั้งจะช่วยในส่วนของเงินกู้ให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้นส่งผลให้เราประหยัดดอกเบี้ยมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามระยะเวลาในการสมัครเข้าร่วมการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน คือระหว่างวันที่ 17 - 23 มกราคม 2568
จากรายงานล่าสุดของ EA เปิดเผยว่า กระแสเงินสดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เป็นบวกดีมากอยู่ที่ 5,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกระแสเงินสดที่เดิมติดลบ 1,726 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงกว่าเกือบสามเท่าจากปีก่อนหน้านี้ กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 1,852 ล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 6,183 ล้านบาท จากรายได้ 14,397 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มูลนิธิพลังงานสะอาดแจงข้อเท็จจริง สาดโคลนตัดคะแนนเสียงเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.
จากกกรณีสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งได้มีการเผยแพร่ข่าว “มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ” อ้างชื่อสภาอุตสาหกรรม ของบประมาณหน่วยงานรัฐทำวิจัย พร้อมโยงว่าอาจเข้าข่ายผลประโยชนทับซ้อน – ขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่?