ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยภารกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนทั่วประเทศ
เริ่มดําเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2543
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนทั่วประเทศ พอช.ไม่เพียงแค่ส่งเสริมที่อยู่อาศัย แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติของชีวิตและชุมชนอย่างครอบคลุม
ยุทธศาสตร์แห่งความเข้มแข็ง: ชุมชนเป็นศูนย์กลาง พื้นที่เป็นตัวตั้ง
พอช.ขับเคลื่อนการทำงานด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่ “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สู่การจัดการตนเอง” โดยมีโครงการหลากหลายที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน ตั้งแต่การพัฒนาที่อยู่อาศัย การยกระดับคุณภาพชีวิต ไปจนถึงการจัดการทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืน
พลังผู้นำเปลี่ยนสู่การสร้างความเข้มเข็งของชุมชนและสังคม
มิติสำคัญแห่งการพัฒนาในปี 2567
1.การพัฒนาที่อยู่อาศัย: สร้างความมั่นคงในทุกมิติ
พอช.ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้แผนแม่บท 20 ปี (2560–2579) ที่มุ่งให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว พร้อมคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการสำคัญ ได้แก่:
บ้านมั่นคง
โครงการบ้านมั่นคง: เป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด ที่ไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ทั้งในเมืองและชนบท โดยชาวชุมชนเป็นแกนหลัก ตั้งแต่การสํารวจข้อมูล จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ออกแบบ วางผัง และก่อสร้างบ้านพัฒนากลุ่มสหกรณ์ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มากกว่าบ้าน อาทิ การจัดสวัสดิการชุมชน ส่งเสริมอาชีพ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม และสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งในปี 2567 สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน 4,087 ครัวเรือน 144 ชุมชน ใน 30 จังหวัด
บ้านพอเพียง
โครงการบ้านพอเพียง: ซ่อมแซมปรับปรุง หรือสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับผู้มีรายได้น้อย และด้อยโอกาส ส่งผลให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งในปี 2567 มีการซ่อมแซมปรับปรุง สร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับผู้มีรายได้น้อย และด้อยโอกาส จำนวน 26,572 ครัวเรือน 3,148 ตำบลใน 77 จังหวัด
การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง คลอลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร: รองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนริมคลอง ที่ต้องรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ํา ป้องกันน้ําท่วม ดําเนินการนําร่องในพื้นที่คลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร ปัจจุบันดําเนินการแล้ว 7851 ครัวเรือน
การพัฒนาคุณภาพชีวิต
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท: เป็นการต่อยอดการพัฒนาในพื้นที่ที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน” โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มีระบบการช่วยเหลือทางสังคมร่วมกันดูแลสมาชิกและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ก่อให้เกิดรูปธรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการและบริบทของพื้นที่ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ในชุมชนดำเนินการในพื้นที่ 484 ตำบล/เมือง 77 จังหวัด
กองทุนสวัสดิการชุมชน
กองทุนสวัสดิการชุมชน: หลักประกันชีวิตของทุกคน: เป็นการจัดสวัสดิการเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคง ของคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งหนุนเสริม ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ตามสภาพปัญหาของแต่ละท้องถิ่น โดยสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน เพื่อให้การสนับสนุนปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชน จํานวน 5,977 กองทุน สมาชิก 6,969,825 ราย โดยมีการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับสมาชิกครอบคลุมตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในมิติต่าง ๆกว่า 13 ประเภท มีผู้รับสวัสดิการตรงสะสมรวม 8,633,755 ราย เงินจ่ายสวัสดิการรวม 8,260,272,427.96 บาท
สภาองค์กรชุมชนตำบล:
สภาองค์กรชุมชนตำบล: เสริมพลังการจัดการตนเอง: เป็นการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พุทธศักราช 2551 ในการเป็นเวทีกลางเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีการจดแจ้ง จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตําบลแล้ว 7,785 แห่ง กลุ่มหรือองค์กรที่ได้รับรองสถานะ 156,497 องค์กร รวมทั้งสนับสนุนการดําเนินงานและพัฒนาคุณภาพสภาองค์กรชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตําบลอย่างเป็นรูปธรรม 866 ตําบล
การต่อต้านการทุจริตโดยภาคประชาชน
การต่อต้านการทุจริต: พลังประชาชนเพื่อความโปร่งใส: ดำเนินการใน 132 ตำบล/เมือง 6 จังหวัด ส่งผลให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริต สร้างวัฒนธรรมสุจริตควบคู่กับการต่อต้านการทุจริต สร้างการรับรู้และจิตสำนึกประชาชนในพื้นที่ ทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีโอกาสและช่องทางรับรู้ข้อมูล แสดงความเห็น และร่วมติดตามตรวจสอบ และเกิดรูปธรรมปฏิบัติการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ตำบลต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง
ตำบลต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง: ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ: เป็นการยกระดับพื้นที่ปฏิบัติการเป็นพื้นที่ต้นแบบสู่ชุมชนเข้มแข็ง ในการจัดการตนเอง โดยมีประเด็นสําคัญที่บ่งชี้ความเข้มแข็งของชุมชนใน4 มิติ คือ คนมีคุณภาพ องค์กรชุมชนเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และชุมชนมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนได้ จำนวน 1,628 ตำบล ใน 77 จังหวัด โดยกระบวนการมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ สามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม
พอช.: พลังสร้างอนาคตชุมชนไทย
พอช.ไม่เพียงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน แต่ยังเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยอย่างแท้จริง ด้วยการทำงานร่วมกับชุมชน ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานต่างๆ โครงการต่างๆ ของพอช.ได้พิสูจน์ว่า ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ เมื่อได้รับการสนับสนุนและโอกาสที่เหมาะสม
“พอช. พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง เพื่อชุมชนไทยที่มั่นคงและยั่งยืน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา