รณรงค์ "กินให้หมดจาน" 50ร้านต้นแบบช่วยลดขยะ

รู้หรือไม่?!?.....

มีสถิติระบุว่า ขยะอาหารโลกพุ่งกว่า 1 พันล้านตัน

ภาพขยะกองสูงเป็นภูเขาที่รอฝังกลบ กว่าครึ่งคือขยะอาหาร 

คนไทยเพียงคนเดียวผลิตขยะสูงลิ่ว 146 กก./คน/ปี

"เราจะทำอย่างไรกับขยะที่เพิ่มพูนขึ้นทุกวันบนโลกของเรา?” นับว่าเป็นคำถามที่เราในฐานะผู้บริโภคสมควรต้องช่วยกันหาคำตอบ เพราะการจัดการขยะกำลังเป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่อาจมองข้ามได้อีกต่อไป

ฉะนั้น...เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้สานพลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ภาคีเครือข่าย จับมือครีเอเตอร์สายอาหาร จัดพิธีแสดงเจตนารมณ์เปิดตัวโครงการพัฒนาศักยภาพร้านอาหารสู่ต้นแบบการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Restaurant Makeover) เพื่อลดขยะอาหารจากต้นทาง สร้างการรับรู้ เข้าถึงประชาชน กระตุ้นให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งในการลดปริมาณขยะอาหารในประเทศไทย ที่ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ TK Park

ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า เรื่องขยะอาหารเป็นงานสำคัญของ สสส.ขับเคลื่อนเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครึ่งหนึ่งของขยะอาหารเกิดจากการเลือกกิน เพื่อลดการสูญเสียให้เหลือแต่ขยะที่จำเป็นจริงๆ หวังว่ากลไกการทำงานครั้งนี้จะเพิ่มศักยภาพร้านอาหาร เปลี่ยนกระบวนการเพื่อลด Foodwaste ให้มากที่สุด ข้อมูลจากรายงาน Food Waste Index 2024 ของ UNEP ระบุว่า ในปี 2565 ขยะอาหารทั่วโลกมีปริมาณมากกว่า 1 พันล้านตัน โดยค่าเฉลี่ยขยะอาหารของโลกอยู่ที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่า คนไทยสร้างขยะอาหารถึง 9.68 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ยเป็น 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึงเกือบสองเท่า

ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว สสส.ได้เร่งผลักดันเชิงนโยบายให้เกิดแผนปฏิบัติการจัดการขยะอาหารของประเทศ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ประกอบอาหารและผู้บริโภค ในการป้องกันการเกิด การลด การนำกลับมาใช้ประโยชน์และการกำจัดขยะอาหาร ทั้งนี้ การคัดแยกขยะแบ่งเป็น 1.น้ำและน้ำแข็ง 2.เศษอาหาร (Food Waste) 3.วัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้ 4.วัสดุที่รีไซเคิลได้

“โครงการพัฒนาศักยภาพร้านอาหาร สู่ต้นแบบการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Restaurant Makeover) ถือเป็นการนำร่องร้านอาหารขนาดย่อม SMEs ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 50 แห่ง ที่จะดำเนินการต่อเนื่องตลอดทั้งปี เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2567 ถึงเดือนสิงหาคม ปี 2568 คัดเลือกร้านอาหารจากความสมัครใจและความพร้อม โดยร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุน ด้านการฝึกอบรมระบบการจัดการขยะอาหารเบื้องต้น และได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการขยะอาหาร เพื่อพัฒนาศักยภาพร้านอาหารสู่ต้นแบบการจัดการขยะอาหารอย่างยั่งยืน ลดมลพิษสิ่งแวดล้อม และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาวะที่ดีได้อีกด้วย” ดร. นพ.ไพโรจน์กล่าว

รศ. ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า ขยะเสมือนหนึ่งช้างตัวใหญ่ในบ้านเรา ทุกวันนี้ กทม.มีขยะหมื่นตัน/วัน ต้องใช้เงิน 7,000 ล้านบาทเพื่อกำจัดขยะทั้งๆ ที่เงินก้อนนี้ควรจะเป็นรายได้ของ กทม. พนักงานเก็บกวาดขยะ 7,000 คน คนกวาดถนนหมื่นกว่าคน การคัดแยกขยะจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะขยะอินทรีย์จากเศษอาหารทำให้ขยะเหม็นเน่า น้ำแกงเพียงถุงเดียวทำให้ขยะเละทั้งหมด ถ้าคน กทม.ร่วมมือกันคัดแยกขยะ เศษอาหาร บางส่วนนำมารีไซเคิลให้เป็นอาหารปลา  ปีหนึ่งๆ จะลดค่าใช้จ่ายได้ถึงร้อยล้านบาท หรือ 10%

 ร้านอาหารดีที่สุดก็คือไม่มี Food Waste เป้าหมายของโครงการ Restaurant Makeover คือการพัฒนาศักยภาพร้านอาหาร ให้บริหารจัดการขยะได้อย่างเป็นระบบ สามารถนำขยะอาหารไปเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ได้  เช่น นำไปเลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ น้ำหมักจุลินทรีย์  เพื่อให้ปริมาณขยะอาหารเหลือไปถึงหลุมฝังกลบให้น้อยที่สุด มุ่งสู่การลดขยะอาหารจากร้านอาหารเป็น 0% เพราะขยะอาหารที่ไม่ได้มีการจัดการอย่างเหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา กทม.มีโครงการ “ไม่เทรวม” ช่วยแยกขยะเศษอาหารเฉลี่ยได้ถึง 184 ตันต่อวัน ลดการปล่อยคาร์บอนได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 600,000 ต้น

กทม.โดยสำนักงานเขต ขอความร่วมมือร้านสะดวกซื้อ ร้านโลตัสที่ติดสติกเกอร์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คิดถึงโลก  ทางสำนักงานเขตจะนำอาหารที่ใกล้หมดอายุ 4 แสนตัน ส่งตรงจากซูเปอร์และร้านสะดวกซื้อ เพื่อนำไปแจกกลุ่มเปราะบางในชุมชนแต่ละเขต สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่ต้องขอความร่วมมือ พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอย รถเข็นอยู่ริมถนนให้รักษาความสะอาดทุกวัน ทุกวันนี้ กทม.เก็บค่าบริการขยะ 20 บาท/เดือน/ครัวเรือน ปีหน้าออก กม.ใหม่เพิ่มค่าเก็บขยะเป็น 40 บาท/เดือน/ครัวเรือน ถ้าไม่แยกขยะจะเรียกเก็บ 60 บาท/เดือน/ครัวเรือน ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการปรับราคาค่าเก็บขยะ

นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ผู้บริหารด้านความยั่งยืน กทม. ชี้แจงเรื่อง Food bank มี 2 โมเดล อาหารสด ขนมปัง จำนวน 4-6 แสน กก.เป็นเบเกอรี่ในร้านสะดวกซื้อ สำนักงานเขตจะรับจากร้านเพื่อส่งต่อเข้าไปในชุมชนแต่ละพื้นที่ครบทุกเขต อีกโมเดลเป็นของแห้ง น้ำตาล น้ำมัน น้ำเปล่าบริจาค และของสังฆทาน หรือในกรณีที่มีการสอบถามลูกค้าที่ต้องการบริจาค ก็นำขึ้น shelf เป็นมินิมาร์ต ทำเสมือนเป็นถุงยังชีพใส่อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง ไปแจกจ่ายกลุ่มเปราะบาง เพราะที่ผ่านมาเขตจะรู้แหล่งที่อยู่กลุ่มเปราะบาง สามารถแจกได้ทุกคนตามเป้าหมาย 

นางสาวพิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม aRoundP เปิดเผยว่า อยากให้คนไทยเป็น Change Maker และเอนจอยที่จะกินหมดจาน โครงการกินหมดจานเกิดขึ้นเมื่อปี 2566 เป็นเวลา 15 วัน ด้วยเป้าหมายให้เกิดการตื่นรู้เพื่อลดปริมาณขยะในอาหาร มีผู้เข้าชม 96 ล้านวิว ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่จัดกิจกรรมกินหมดจาน ด้วยความร่วมมือจากภาคีทุกภาคส่วน กรมควบคุมมลพิษ  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สสส. ผู้ประกอบการร้านค้า 50 ร้าน เพื่อจะสื่อสารถึงผู้บริโภค เป็นงานท้าทาย แคมเปญกินให้หมดจาน จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ ร่วมกันสร้างระบบการจัดการขยะอาหาร จัดทำกิจกรรมกินหมดจาน Guide Book ร้านอาหารอร่อย และจัดการภาคีเครือข่ายในวันที่ 15 ต.ค. ทั้งนี้วันที่ 17 ธ.ค.จะนำข้อมูลร้านอาหารทั้ง 50 แห่งลงใน Google Book

“ไม่อยากให้เรากลัวการคัดแยกขยะ เราต้องตั้งเป้าหมายสูงสุดในการทำงานกันด้วยความสนุกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกคนมีหน้าที่เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมที่ดี ขยะอาหารไม่ใช่แค่ปัญหาท้องถิ่น  แต่เป็นปัญหาระดับโลก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ” น.ส.พิมพ์ลดาชี้แจง ดังนั้น ความตั้งใจในการทำแพลตฟอร์ม aRoundP ขึ้นมา ภายใต้โครงการ Restaurant  Makeover เพื่อเป็นสื่อหลักในการนำเสนอข้อมูลร้านอาหารทั้ง 50 ร้าน ที่เป็นจานเด็ดจากเหล่าคนดัง คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ทั้งสายกิน สายกรีน และสายสุขภาพ เช่น ร้านชู้ลาวชู้รส ร้านยี่สับหลก ร้านหม้อหอม ร้านเฮียด่วน  ร้านข้าวมันไก่เจ็กเม้ง และอื่นๆ อีกมากมาย มาร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมชวนตามไปกินจานเด็ด ที่รับรองว่าอร่อยจนต้องกินหมดจาน ไม่ก่อให้เกิดขยะอาหาร พร้อมทั้งส่งเสริมผู้บริโภคให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดโครงการและข้อมูลร้านเด็ดของเหล่าคนดังได้ที่ www.aroundp.co

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งเดินหน้าคุมเข้มลดเจ็บ-ตายปีใหม่ เฝ้าระวัง “นักซิ่งเยาวชน” หลังพบดื่มแล้วขับ “เจ็บ-ตาย” เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน เล็งเชื่อมข้อมูลทำระบบ “ใบสั่งออนไลน์”

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร

สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”

น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567

ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์

ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)