ส่อง 'พรรคปฏิบัติการ' ปี 68 'ภูมิใจไทย' ถูกขวางยิ่งโต

“พรรคภูมิใจไทย” ภายใต้การนำของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ถือเป็นองค์กระกอบตัวแปรสำคัญทางการเมือง ที่ทำให้เกิดรัฐบาลไฟต์บังคับนี้ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย 

ขณะเดียวกันอีกบทบาทที่สำคัญยังช่วยประคับประคองรัฐบาลนี้ให้ยังดำรงอยู่ต่อไป ไม่ถูกล้มกระดานไปก่อนอันควร ไม่ว่าจะช่วยชะลอประเด็นร้อนๆ ทั้งในเรื่องกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราปมจริยธรรม นิรโทษกรรมไม่เอา112  กฎหมายพรบ.กลาโหม  และ นโยบายต่างๆที่สุ่มเสียงสังคมมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน  ที่พุ่งเข้ามา

สาเหตุที่ทำเช่นนี้ได้ มองกันว่านอกจากตัวเลขประมาณ 70 เสียงของพรรคสีน้ำเงิน ยังมีพลังแฝงโยงสายสัมพันธ์กับสภาฯสูงเครือข่ายสีน้ำเงิน อาจหมายถึงกลไกในองค์กรอิสระต่างๆในอนาคต ทำให้อำนาจต่อรองสูง และพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันต้องฟัง

โอกาสพูดคุย กับ “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองต่างๆในปี2568 ทั้งความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล การขับเคลื่อนงานของพรรคภูมิใจไทยในปี 2568 รวมถึงบทบาทที่ถูกมองว่าเป็น “ภูมิใจขวาง“  

“อนุทิน” ​ ปฏิเสธทันทีว่า  รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความขัดแย้ง มีแต่ความเห็นต่างๆ ที่สำคัญยังมีเสถียรภาพสูง  และก็ยังไม่เห็นปัจจัยอะไร ที่จะทำให้รัฐบาลนี้อยู่ไม่ได้​ เพราะนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร  สามารถแสดงภาวะความเป็นผู้นำได้ชัดเจน สามารถนำพารัฐบาลได้​ ความร่วมมือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นไปได้ด้วยดี ปัญหาปลีกย่อยก็เป็นเรื่องปกติ แต่ต้องมาหาวิธีแก้ไข ไม่มีเรื่องใดที่ขัดแย้งกัน​ จนหาทางกลับไม่ได้​

นายกรัฐมนตรีมีสภาวะผู้นำสูง และรัฐมนตรีคนอื่นๆ รวมทั้งผม ก็พร้อมรับคำแนะนำแนวปฏิบัติตามนโยบายของนายกฯ รวมถึงหากไม่ใช่นโยบายหลักของรัฐบาลก็ทำมาโดยตลอด และดำเนินการอย่างรวดเร็วด้วย รวมถึงความสามัคคีของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นได้ชัดก็มีรูปหมู่รวมกับนายกฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และเนคไทที่ตนใช้อยู่ในวันนี้  นายกฯ ก็มอบให้โดยมีตราทำเนียบรัฐบาลหราเต็มไปหมด ฉะนั้นหากเราไม่ชอบกัน ผมคงไม่ใส่เนคไทดังกล่าวในวันนี้

เมื่อถามว่าจากภาพที่  ”อนุทิน“​ ไปตีกอล์ฟกับ “ทักษิณ​ ชินวัตร”​ อดีตนายกรัฐมนตรี​ ต่อไปนี้พรรค ภท. จะขวางพรรคเพื่อไทย (พท.) อีกหรือไม่​

“​ยืนยันว่า​ ภท. ไม่ได้ขวาง​ แค่แสดงจุดยืนและความเห็นในเรื่องที่ ภท. เชื่อถือ​ ว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกันก็เคารพ เสียงส่วนใหญ่​ เราได้แสดงเจตนารมณ์ของเราไปแล้ว แต่เมื่อต้องใช้มติจากสภาแล้วมติออกมาไปอีกทางหนึ่ง ภท. ก็เคารพเสียงข้างมาก ก็ถือว่าจบไป​ เช่น​ ร่างพระราชบัญญัติ พ.ร.บ. ประชามติ​ ที่เราแพ้โหวต​เรื่องล็อค​ 2 ชั้น​ เราก็จบ ต่อไป 180วัน ก็พิจารณากฎหมายต่อได้”

ส่วนปัจจัยภายนอก​ ทั้งเรื่องชั้น 14 และม็อบทั้งของ “สนธิ​ ลิ้มทองกุล”​ และ “จตุพร​ พรหมพันธุ์” ​ จะมีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลในปี68 หรือไม่​ “อนุทิน”​ กล่าวว่า​ เรื่องนี้​มีคำชี้แจงของฝ่ายที่ถูกพาดพิงออกมาแล้ว อ้างอิงไปตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ​และระเบียบต่างๆ​  ส่วนใหญ่มีเหตุและผล​ แต่หากยังเป็นที่กังขา​ ไม่น่าไว้วางใจ​ ก็ยังมีสภา​ ที่เป็นเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ​ ซึ่งแต่ละคนก็ต้องไปชี้แจง​

ถามย้ำว่าแสดงว่าม็อบต่อต้าน “ทักษิณ” ไม่มีผลต่อรัฐบาลเลยใช่หรือไม่​ “อนุทิน”​ ยืนยันว่า​ ไม่เกี่ยวข้องกับใครทั้งสิ้น​ การจะเรียกร้องอะไรมีช่องทางให้เรียบร้อย​ ซึ่งเรื่องชั้น 14 ก็มีคนไปร้องเรียน​ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว​ และน่าจะมีการอภิปรายในสภาทั้งแบบลงมติและไม่ลงมติ​ คนที่เกี่ยวข้องต้องไปชี้แจง ไม่เว้นแม้แต่กระทรวงมหาดไทย​ เช่น​ เรื่องเขากระโดง​ ก็ต้องไปชี้แจงไม่มีใครโอดครวญ 

เมื่อถามถึงจุดแข็งและเป้าหมายของพรรคภท.ในปี 68 “หัวหน้าพรรคสีน้ำเงิน” ยอมรับว่า  เราเอาผลงานเข้าแลก ผ่านสโลแกน “พูดแล้วทำ” สิ่งที่ไม่ได้พูดก็ทำ เราไม่ได้ดีแต่พูด ซึ่งเป็นสิ่งที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าอย่างน้อยนี่เป็นเครดิตและความเชื่อถือที่ประชาชนจับต้องได้ และให้คะแนนเราในเรื่องของการปฏิบัติ แม้พูดไม่ค่อยเก่ง พูดไม่ค่อยเพราะ เอาใจคนไม่ค่อยเป็น แต่เวลาทำงานเราทำอย่างเต็มที่มีผลงานเป็นรูปธรรมจับต้องได้ 

สำหรับอุดมการณ์ของพรรค ภท. จะถูกโยง ต้องการให้เป็นรูปแบบระหว่างพรรคแนวประชาธิปไตย หรือ อนุรักษ์นิยม นายอนุทิน กล่าวว่า เราเป็น “พรรคปฏิบัติการ” ทำตามหน้าที่  วันนี้เราเป็นรัฐบาลก็ทำหน้าที่เป็นรัฐบาล หากวันไหนเป็นฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออยู่กับประชาชนตลอด ในพื้นที่เป็นความรับผิดชอบของ สส. ภท. ไม่ว่าจะสอบได้   หรือสอบตกก็อยู่กับประชาชน  ไม่ใช่ว่าอยู่กับประชาชนแค่ตอนเป็น สส. ในทางกลับกันหากไม่ได้รับเลือกเป็น สส. ก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น 2-3 เท่า   ซึ่งจากสถิติผู้แทนของพรรค ภท. เมื่อพลาดการเลือกตั้งครั้งเก่าการเลือกตั้งครั้งหน้าก็จะกลับมาทำงานให้ทุกคนเต็มที่แบบ 100% 

ถามว่ากลุ่มเป้าหมายของพรรค ภท. จะยังคงเป็นภาคอีสาน และภาคใต้ใช่หรือไม่  “อนุทิน” กล่าวว่า ไม่แล้ว ตอนนี้เมื่อดูสัดส่วนในภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคใต้ รวมถึงภาคอีสานไม่ทิ้งห่างกันเท่าไร เราไม่ใช่พรรคท้องถิ่นแล้ว แต่เป็นพรรคที่สามารถมีผู้แทนจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการทำงานก็ง่าย 

ส่วนพื้นที่ภาคใต้ พรรคการเมืองเจ้าของพื้นที่เดิมดูจะอ่อนแอลง พรรค ภท. จะขยายพื้นที่ด้วยหรือไม่ “หัวหน้าพรรคภท.” กล่าวว่า เราก็เป็นตัวของเราเอง ไม่ใช่ว่าคนอื่นอ่อนแอแล้วเราจะไปโฟกัสตรงนั้น เพราะเราทำงานแบบยั่งยืนและมั่นคงมาโดยตลอด นี่คือวิธีการทำงานของตนและพรรค ภท. 

ถามถึงเป้าหมายตัวเลข สส.ของพรรค ภท ในสมัยหน้า “อนุทิน” กล่าวว่า ก็คงอยากจะได้ สส. 251 เสียงอยู่แล้ว แต่จะทำได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  พร้อมย้ำว่า เท่าที่ตนทำพรรค ภท. หลักๆ มา 2 ครั้งในการเลือกตั้ง เห็นว่าพรรคก็เติบโตในระดับเกือบเท่าตัวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นระบบการเลือกตั้งใบเดียว หรือ สองใบ หากมองด้วยจิตใจที่เป็นธรรมแล้ว การเลือกตั้งในปี 2566 พรรค ภท. โตขึ้นมากและโตทุกเขต ไม่ใช่โตด้วยคะแนนถัวเฉลี่ยแบบปาร์ตี้ลิสต์เหมือนการเลือกตั้งในปี 2562 ซึ่งน่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของพรรค ภท. ที่แต่ละเขตเรามีความแข็งแรงจาก 39 ที่นั่ง ในปี 2562 มาเป็นสส. 68ที่นั่งในปี 2566 จึงมองว่าหากเติบโตในระดับเท่านี้ได้ 

การเลือกตั้งในปี 2570 เราก็น่าจะเติบโตกว่านี้ ซึ่งเราก็ต้องคิดเป็นบวกไว้ก่อน ส่วนในอนาคตคาดหวังว่าจะเป็นพรรคแกนนำหลัก ในการเป็นนายกรัฐมนตรีบ้างหรือไม่ หรือจะเป็นพรรคตัวแปร “อนุทิน” กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งการที่จะเป็นนักการเมือง เมื่อถึงการเลือกตั้งทุกพรรคก็ต้องมีการเสนอผู้ที่เหมาะสมมาเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรค ซึ่งพรรค ภท. ไทยก็เสนอหัวหน้าพรรคมาโดยตลอด และในส่วนของความเป็นพรรคการเมือง 

“เมื่อถึงการเลือกตั้งเมื่อใด ก็ต้องนึกเสมอว่าหากได้เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทยจะได้อะไรจากพรรค ภท. แต่ระหว่างกลางร่วมรัฐบาลแบบนี้ไม่ต้องมีใครมากังวล เพราะมันจบเป็นครั้ง  ถึงเวลาเลือกตั้งใหม่ เราก็มาสู้กัน ต่างคนก็ต่างทำแคมเปญ”

เมื่อถามว่า พรรค ภท. เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้มีกระบวนการอื่นๆ หรือคู่แข่งทางการเมืองพยายามมาขัดขวาง “อนุทิน” กล่าวว่า “ยิ่งถูกขวางก็จะยิ่งโต” และเดี๋ยวนี้การสื่อสารการกระจายข่าว หรือฝ่ายที่จ้องจะทำลาย ไม่ได้ทำได้อยู่ฝ่ายเดียว เดี๋ยวนี้ทุกคนเป็นเจ้าของสถานีทีวีกันหมด  สามารถชี้แจงได้เอง เพียงแต่จะทำหรือไม่ทำก็เท่านั้น ทุกคนรู้เท่าทันกันหมด  หากเรามั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และไม่ได้เป็นไปตามนั้นจริง ก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะมันพิสูจน์ได้ด้วยหลักฐาน และการกระทำเพราะสำคัญกว่าคำพูด  หรือ “Actions speak louder than words” แต่ถ้าใครทำผิดก็เตรียมตัวตาย หากทำอะไรที่ไม่ถูกต้องแล้วคนออกมาตีแผ่ให้เห็นชัดเจน ทำอย่างไรก็ไม่รอด เพราะฉะนั้นพรรค ภท. ยึดอยู่อย่างเดียวว่าหากใครไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัว   แต่ใครทำผิดก็ตัวใครตัวมัน ไม่ต้องมาขอให้ช่วย แม้แต่คนในพรรคเองทุกคนก็ต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

เมื่อถามว่า ปี 2568 มีอะไรต้องเร่งดำเนินการหรือไม่ “หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย” ในส่วนกระทรวงมหาดไทย ก็มีงานมากทั้งการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ผู้ค้ายาเสพติด การอำนวยความสะดวกดูแลประชาชน การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น การพัฒนาท่องเที่ยวภูมิภาค การพัฒนาประปาและน้ำดื่มสะอาด ไฟฟ้าต้องเข้าถึงทุกพื้นที่ รวมถึงภารกิจป้องกันภัยต่างๆ ต้องเร่งเดินหน้ามิติการป้องกันให้เพิ่มมากขึ้น เพราะช่วงหลังใช้งบในเรื่องการบรรเทาสูงเพราะปีนี้เฉพาะงบเยียวยาก็ 1 หมื่นกว่าล้านบาทแล้วเพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขในระยะยาว และต้องทำให้เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสังคายนาระบบหน่วยงานต่างๆ ทั้งหมด

เมื่อถามย้ำถึงการสลายขั้วอำนาจเก่าในกระทรวงมหาดไทยได้ทำแล้วหรือไม่   “รมว.มหาดไทย”  ย้อนถามกลับว่าอำนาจเก่าคืออะไร สื่อจึงตอบกลับว่า อำนาจเก่า คนเก่า นโยบายเก่า ที่วางไว้ นายอนุทิน  ได้ยกตัวอย่างถึง  “อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์” ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมต่างๆ ในขณะนี้ ก็เป็นคนเก่าในกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด  เพียงแต่ว่าต่อให้เป็นปลัดเก่าหรือปลัดใหม่  ถ้าตนสั่งการ หรือมีนโยบายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ไม่ต้องทำ แต่ถ้าชอบด้วยกฎหมายที่เป็นประโยชน์ ก็ต้องทำ ใครไม่ทำก็ต้องมีความผิด

เมื่อถามว่า ในยุคต่อไปจะไม่เกิดเหตุการณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานแบบเกียร์ว่าง อย่างเช่นยุคที่แล้วหรือไม่   “มท. หนู”  ตอบกลับทันทีว่า  “ตอนนี้ เข้าเกียร์ 5 คว้าเกียร์ 6 ยกเกียร์ 7 เสร็จเกียร์ 8  เกียร์ 9 เข้าเกียร์ 10 ทุกอย่างมีความชัดเจน”

เวลาที่ผ่านไปทุกคนพิสูจน์ให้สังคมเห็น ว่าเข้ามาร่วมกันทำงานให้กับประชาชนและประเทศชาติ ไม่มีตรงไหนที่ทำให้ตัวเอง ความเชื่อถือ การยอมรับ ความผูกพัน ที่สร้างขึ้นมา ทุกๆ วันออกมาในเรื่องของการทำงาน คือผลของการทำงานที่ดี วันนี้เราครบหมดแล้ว ทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเมื่อเสนอมา ตนก็เห็นว่าเหมาะสม มีคละเคล้ากันไปทั้งอาวุโสและความสามารถ มีเวลาในการทำงาน ถ้าจะกำหนดเป็นค่า KPI ก็กำหนดได้ ไม่มีปัญหา.

/_/_/_

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ควง 'เนวิน' ทำพิธียกยอดฉัตร วงเวียนรัชกาลที่ 1 เสริมมงคลรับปีใหม่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นประธานในพิธียกยอดฉัตรตามโครงการปิดทองเบิกฟ้า สักการบูชา มหาราช รัชกาลที่ 1 ที่บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช(รัชกาลที่ 1)

'อนุทิน' ลั่น! อุดมการณ์ 'พรรคปฎิบัติการ' พูดแล้วทำ มั่นใจถูกขวางยิ่งโต

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงจุดแข็งแล

'มท.หนู' ลั่นมหาดไทยยุคนี้ ไร้อำนาจเก่าไม่แตกแถว ผู้ว่าฯ ทำงานเกียร์ 10

'มท.หนู' ลั่นมหาดไทยยุคนี้ไม่แตกแถว ไร้ปัญหาฝ่ายการเมืองปะทะขรก.ประจำ ยันผู้ว่าฯ เข้าเกียร์ 10 ชี้ใครไม่สนองงานชาวบ้าน มีวิธีจัดการร้อยแปดพันเก้า

‘อนุทิน’ ยันไม่ประเมินผลงานนายกอิ๊งค์ ย้ำสามัคคีทำงานดี 

“อนุทิน” ยัน รัฐบาลแพทองธาร สามัคคีทำงานได้ดี  - ออกตัวไม่ขอประเมินผลงาน “นายกฯอิ๊งค์” แต่ยกภาวะผู้นำสูง  ย้ำปรับ ครม.เป็นอำนาจผู้นำปท.แต่ ”ภูมิใจไทย“ ยืนยันโควตาเดิม ลั่นปีหน้าพร้อมผลักดันภารกิจกระทรวงมหาดไทย  ปราบผู้มีอิทธิพล - แก้ยาเสพติด-  เพิ่มมิติป้องกันภัยพิบัติหลังลดงบเยียวยาพุ่งสูง

“สิริพงศ์” รับเรื่องร้องเรียนจากศูนย์สิทธิผู้บริโภค โซนกรุงเทพฯ เหนือ ยัน 3 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค - พ.ร.บ.อาหาร - พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า รอฝ่าย กม.พรรค ภท.พิจารณา

ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รับหนังสือร้องเรียนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) นำโดยนางกนกวรรณ ด้วงเงิน ประธานโซนกรุงเทพฯ เหนือ พร้อมคณะศูนย์สิทธิผู้บริโภค จากเขตหลักสี่ จตุจักร ดอนเมือง สายไหม บางเขน และลาดพร้าว ได้ยื่นหนังสือ 3 ฉบับ อาทิ