หลังจากที่รัฐบาลได้ออกกฎกระทรวงขยายเวลาเปิดสถานบริการผับสถานบันเทิงในจังหวัดนำร่อง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ตามมาด้วยนโยบายต่างๆ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ล่าสุด ตัวแทนผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวตอกย้ำว่า ยังคงมีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคและไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00 – 17.00 น. ซึ่งผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการดังกล่าวอย่างเร็ว เพื่อตอบรับกับนโยบายหลักของรัฐบาลชุดใหม่ที่มีแนวทางในการลงทุนกับเมกะโปรเจคเพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก โดยการยกเลิกมาตราการดังกล่าว รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันที ไม่มีต้นทุน ในขณะที่สามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลไหลเข้าประเทศให้แก่ภาคเศรษฐกิจและยกระดับการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวไทยกับประเทศอื่นๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ปี 2567 นี้ประเทศไทยตั้งเป้าตั้งเป้าหมายด้านรายได้จากการท่องเที่ยวไว้ที่ 3 ล้านล้านบาทจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน ส่วนเป้าหมายของปี 2568 นั้นคือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้จะนำรายได้มาสู่ประเทศไทย อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวได้สะท้อนว่ามีอุปสรรคในการหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผู้ประกอบการเห็นร่วมกันว่ามาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่าง 14.00 – 17.00 น. นั้นควรถูกยกเลิกได้แล้ว
“นักท่องเที่ยวนั้นมีพฤติกรรมการบริโภคหลายรูปแบบ โดยนักท่องเที่ยวที่เราเจอส่วนใหญ่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับอาหาร และในภาคการท่องเที่ยวนั้น เราเน้นไปที่นักท่องเที่ยวคุณภาพสูงที่มีกำลังซื้อหรือนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยม ทั้งนี้ มีงานศึกษาจากออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจชั้นนำระดับโลก เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวที่คุณภาพสูงที่มีกำลังซื้อหรือนักท่องเที่ยวพรีเมี่ยม ที่เข้ามาในประเทศอาเซียนนั้น ยินดีที่จะเพิ่มงบประมาณสำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพเพิ่มอีกประมาณ 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน จากข้อมูลนี้จะเห็นว่าหากเราสามารถให้ทางเลือกในการใช้จ่ายกับพวกเขาได้ ก็จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น” นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว
นายเทียนประสิทธิ์กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้นรัฐบาลพยายามดำเนินนโยบายและทำแคมเปญต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ยังมีกฎหมายและมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันอีกหลายประการ นอกจากมาตรการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น. ที่ควรยกเลิกแล้ว สิ่งที่ผู้ประกอบการเสนอแนะมาโดยตลอดก็คือ การยกเลิกการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเชิงพื้นที่ (Zoning) ที่มีลักษณะเหมารวม การปรับปรุงมาตรการจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจน รวมทั้งการอนุญาตให้มีการขาย การให้บริการ และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติได้ตลอดเวลา เพื่อทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกับกับนานาชาติ โดยผลักดันให้ส่งเสริมวัฒนธรรมการดื่มไม่ขับ
“สำหรับโรงแรมนั้น เราอยากให้โรงแรมเป็นพื้นที่ผ่อนปรนที่นักท่องเที่ยวสามารถดื่มได้ตลอดเวลา เพราะว่าเขาไม่ต้องขับรถ ดื่มเสร็จก็เข้าห้องพัก ในหลายประเทศที่เคร่งครัดเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็ยังผ่อนปรนให้พื้นที่ในโรงแรมสามารถทำได้ เราก็น่าจะทำได้ และเราเชื่อว่าผู้ประกอบการไทยนั้นสามารถดูแลแขกของโรงแรมได้ ส่วนคนไทยนั้น เราต้องสร้างวัฒนธรรมดื่มไม่ขับในทุกเทศกาล คุณดื่มได้นะ แต่ดื่มไม่ขับ คุณมีทางเลือกตั้งแต่การใช้รถสาธารณะ ใช้รถแท็กซี่ หรือขับมาเองแล้วใช้บริการเรียกคนมาขับแทนเพื่อกลับบ้าน คุณควรจะใช้บริการเหล่านี้แทนที่จะขับรถระหว่างเมา” นายเทียนประสิทธิ์ กล่าว
ด้าน นายกวี สระกวี นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย กล่าวว่า สนามบินนานาชาติทั่วไปนั้นเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวสามารถบริโภคแอลกอฮอล์ได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา 14.00-17.00 น. หากมองโรงแรมเป็นพื้นที่ให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน ก็ควรที่จะใช้มาตรฐานคล้ายๆ กันได้ เรื่องเวลาห้ามขายนั้น มีการจำกัดเวลาซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายประเทศ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีลักษณะฟันหลอแบบประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศไทยนั้นมีการห้ามซื้อขายเวลา 14.00 – 17.00 น. ทำให้นักท่องเที่ยวซึ่งไม่คุ้นเคยกับกฎหมายแบบนี้สับสน ต่างจากคนไทยซึ่งคุ้นชินและปรับตัวได้แล้ว แต่สำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึง อาจไม่เข้าใจบริบท สาเหตุ และสับสน และอาจทำให้มีประสบการณ์การพักผ่อนในประเทศไทยไม่ได้อย่างตั้งใจไว้
“ที่มาที่ไปของกฎหมายนี้คือประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 พ.ศ.2515 ตั้งแต่ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร จุดเริ่มต้นคือไม่ต้องการให้ข้าราชการออกมาซื้อและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาทำงาน ซึ่งจะเห็นว่าเวลาห้ามจบลงที่ 5 โมงเย็นซึ่งเป็นเวลาเลิกงานราชการ ขณะนี้บริบทของประเทศเปลี่ยนไปมาก เมื่อ 50 ปีที่แล้วเราอาจจะไม่ได้มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงไม่ได้มีผลกระทบมาถึงภาคอุตสาหกรรม แต่ทุกวันนี้เรามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากและมีผลกระทบที่เห็นได้ชัด จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะมาทบทวนกัน จริงๆ สมัยนี้ต่อให้คุณไม่ควบคุมเวลาขายก็มีมาตรการอื่นที่ใช้สำหรับข้าราชการอยู่แล้ว กฎหมายควบคุมการขายบ่าย 2 ถึง 5 โมงเย็นจึงไม่จำเป็น” นายกวี กล่าว
นายกวีกล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาเมาแล้วขับซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมห่วงกังวลนั้น ตนมองว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทั้งนี้เรื่อง “ดื่มไม่ขับ” นั้นเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนเห็นตรงกัน โดยฝั่งผู้ประกอบการนั้นก็อยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ตนก็หวังว่าทุกภาคส่วนจะสามารถทำงานร่วมกันมากขึ้นเพื่อให้เกิดการ “ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ” ด้วย หากประเทศไทยสามารถสร้างวัฒนธรรมการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบบวกกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพได้ ก็จะลดปัญหาอย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่าแค่การออกกฎหมายให้เข้มแต่บังคับใช้ได้ไม่มีประสิทธิภาพ
“อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นสร้างรายได้จากการขายให้กับเศรษฐกิจไทยประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี และภาครัฐมีรายได้จากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 1.5 แสนล้านบาท แต่เราก็รู้ว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็สร้างต้นทุนทางสังคมและมีประเด็นที่หลายคนเป็นกังวล อย่างเช่น เรื่องที่ห่วงว่าจะมีเยาวชนมาเป็นนักดื่มไหม นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราเห็นตรงกัน ผมไม่รู้จักใครเลยในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ตั้งเป้าว่าจะทำยังไงให้เด็กมาดื่ม ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เราเห็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ เจ้าของร้าน ผับ บาร์ ต่างๆ ที่ทำงานร่วมด้วย เขาเคร่งเรื่องการตรวจอายุของคนเที่ยวมากจริงๆ แต่แน่นอนว่าอุตสาหกรรมนี้กว้างและมีผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบอยู่จริง ซึ่งในกรณีเช่นนี้ต้องอาศัยตำรวจจัดการเรื่องการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ทุกวันนี้ภาคธุรกิจทำทุกอย่างเท่าที่พอจะทำได้แล้ว ถ้าต้องการให้มีการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้หรือร่วมกันทำงานมากกว่านี้ ภาคธุรกิจก็พร้อมที่จะทำเท่าที่ทำได้” นายกวีกล่าว