องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร และร่วมกันปกป้องระบบอาหารที่ยั่งยืน
หากหันมามองประเทศไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ครัวโลก" อีกทั้งมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการผลักดันให้ครัวไทยสู่ครัวโลก เป็น Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องน่าประหลาดใจว่า 1 ใน 10 ของเด็กไทยมีปัญหาภาวะผอมโซ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มเปราะบางอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการ และขาดความรู้ความเข้าใจการบริโภคอาหารที่สมดุลและเหมาะสมตามช่วงวัย
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในฐานะที่มีพันธกิจจุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง บุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดี จึงต้องรณรงค์วางแผนงานอาหารเพื่อสุขภาวะ ด้วยการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ขับเคลื่อนงานทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ
ล่าสุด นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. เป็นประธานในพิธีปาฐกถาเปิดงานประชุมเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคมด้านอาหาร ประจำปี 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี โดยตอกย้ำว่า "ชีวิตคนเราผูกพันกับอาหาร ชีวิตเราจะไม่มีสุขภาวะหากไม่มีอาหาร ต้นไม้จะเจริญเติบโตได้ดีต้องมีน้ำ ปุ๋ย แสงแดด เมื่อมนุษย์รับผลผลิตเข้ามาใส่ในร่างกายมากน้อยก็มีผลต่อสุขภาวะ ถ้าน้ำมากไปรากก็จะเน่า น้ำน้อยไปรากแห้ง ต้นไม้ไม่เจริญงอกงาม มนุษย์มีส่วนสัมพันธ์กับอาหาร บางคนอ้วนเกินไป บางคนผอมเกินไปขาดสารอาหาร เพราะเด็กไม่มีอะไรจะกิน เรากินอะไรเป็นเรื่องจิตสำนึกตั้งแต่วัยเด็ก เด็กบางคนชอบกินผัก ค่านิยมของสังคมกรอกข้อมูลว่าเราควรจะกินอะไร มีโฆษณา มี Influencer ต้องการเพิ่มยอดขาย ด้วยระบบทุนนิยมเป็นตัวกำหนด ยิ่งวันนี้สังคมซับซ้อน ดังนั้นหลายภาคส่วนจะต้องช่วยกันทำงานเป็นเครือข่าย"
สสส.สานพลังภาคีจัดงานในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “บูรณาการเครือข่ายอาหาร สู่การบริโภคที่สมดุล ด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน” เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ รู้เท่าทันการบริโภค ทำงานร่วมกับเกษตรกรผลิตพืชผักที่ใช้สารอินทรีย์ปลอดภัย ปลอดสารพิษ ลดการใช้สารเคมี และขยายผลองค์ความรู้การบริโภคอาหารให้ได้คุณค่าอย่างสมดุลตามหลักโภชนาการ ให้โรงเรียนร่วมมือกับผู้ปกครองสร้างเด็กไทยแก้มใส ตั้งรับรวมกลุ่มทำเรื่องดีๆ ให้เกิดสุขภาวะที่ดีได้ พร้อมเผยแพร่นวัตกรรมการเชื่อมโยงระบบอาหารยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิต การกระจายไปสู่การบริโภค เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของระบบอาหาร สอดรับกับคำขวัญของวันอาหารโลกปี 2567 “Right to foods for a better life and a better future หรือ สิทธิในอาหาร เพื่อชีวิตที่ดี และอนาคตที่ดีกว่า” ซึ่งมีองค์กรร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันอาหารโลกกว่า 150 ประเทศ
นพ.พงศ์เทพชี้แจงว่า จากข้อมูลรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2567 โดย FAO พบประชากรเกือบ 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศ เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งหิวโหยเฉียบพลันและเข้าไม่ถึงอาหารตามหลักโภชนาการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ใน 32 ประเทศทั่วโลกขาดสารอาหาร จนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจำนวนกว่า 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย ประเทศไทยก็อยู่ในเครือข่ายที่จะต้องจัดการอาหารโลก แบ่งปันร่วมกัน สำหรับเด็กไทยมีภาวะผอม 5-10% แม้อยู่ในระดับปานกลางไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่กลับสะท้อนว่ายังมีกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการ และขาดความรู้ความเข้าใจการบริโภคอาหารที่สมดุลและเหมาะสมตามช่วงวัย
"เด็กภาคใต้ขาดสารอาหารทั้งๆ ที่มีปลาจำนวนมาก แต่ส่งออกเกือบหมด เด็กที่นั่นไม่ได้กินปลา ปัญหาทุนนิยมที่เราไม่รู้เท่าทัน ที่สำคัญคือมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามความชอบ ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่มีปัญหาในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและการยกระดับรายได้ เนื่องจากขาดต้นทุน ทรัพยากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี จึงทำให้ประชาชนยังมีอัตราการบริโภคผักผลไม้ได้น้อยกว่าปริมาณที่แนะนำขององค์การอนามัยโลก (อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน)"
สสส.เร่งบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อร่วมกันสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนในประเทศ โดยมุ่งเป้าหมายขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการผลิตอาหารปลอดภัย 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัยและการกระจายอาหารที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตอาหารขนาดเล็ก 3.สนับสนุนการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความหลากหลาย โดยเน้นให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะได้อย่างสมดุล เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ให้ได้ปริมาณที่เพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก และลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต
ภายในงานเดียวกัน ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. นำเสนอ Healthy Balance Diet และการกินอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล ขณะนี้มนุษย์เสียชีวิตด้วยโรค NCDs จำนวน 74% เพราะสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ขาดการออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่ไม่สมดุล การนอนหลับไม่เพียงพอ มลภาวะทางอากาศ ในช่วงโควิดมีปัญหาขาดแคลนอาหารในเมืองมากกว่าในชนบท เพราะคนชนบทมีผักสวนครัวริมรั้วกินได้ ในเมืองมีพื้นที่จำกัด เด็กที่ขาดสารอาหารจะตัวเตี้ยแคระแกร็น ส่วนเด็กที่ได้อาหารเกินจะอ้วนตุ้ยนุ้ย การแก้ไขปัญหาโรค NCDs ต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เมืองไทยเคยติดอันดับ 3 ของโลก แต่ปัจจุบันลดระดับลง เราแก้ไข กม.ด้วยมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะ กม.ด้านการตลาด การโฆษณา พิษภัยใช้การควบคุมกำกับ จึงเป็นเรื่องท้าทายในการทำงาน ต้องบริโภคให้ถูกหลักโภชนาการ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่
ปัญหาสารเคมีตกค้างอยู่ในผักผลไม้ ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีก็ต้องมีการควบคุม การล้างผักที่มีสารเคมีตกค้าง วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ การเลือกกินผักให้ถูกต้องตามฤดูกาล ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากการใช้สารเคมี เราเคยได้ยินเพลงเพราะรักจึงผักนำ สิงโต นำโชค ขับร้อง เพลงนี้ให้ทายว่ามีผักกี่ชนิด จะได้รับรางวัล เรื่องของโภชนาการที่ดีทำให้สารอาหารสมดุล การรณรงค์ลดหวาน ลดโรคเป็นโครงการรณรงค์สาธารณะ นับตั้งแต่มีการรณรงค์สร้างระบบลดน้ำตาล ทำให้จำนวนคนกินหวานลดลงได้มากถึง 35% การรณรงค์อ่านฉลากโภชนาการ การเลือกซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีด้วย การใช้ "ช้อนปรุงลด" ที่มีการเจาะรู นวัตกรรมง่ายๆ นี้ทำให้ สสส.รับรางวัลมาแล้วมากมาย เราต้องไม่หยุดการรณรงค์ขับเคลื่อนก่อร่างศูนย์วิชาการหลายภาคี สังคมต้องขยับตามไปด้วย การดึงให้ทุกคนรู้ร้อนรู้หนาว พลเมืองอาหารเข้าร่วมกระบวนการเพื่อพัฒนาให้มีสุขภาพดี สร้างพฤติกรรมอย่างมีพลัง
น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. (สำนัก 5) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สสส.ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ อาทิ 1.สร้างต้นแบบระบบอาหารในโรงเรียนและชุมชน การใช้นวัตกรรมโปรแกรม Thai School Lunch เพื่อการบริหารจัดการเมนูอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักโภชนาการกว่า 1,000เมนู และเชื่อมโยงผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่มาใช้เป็นวัตถุดิบในการจัดทำอาหารกลางวัน การขับเคลื่อนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการในโรงเรียน เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและการหมุนเวียนเศรษฐกิจอาหารในท้องถิ่น 2.ผลักดันนโยบายอาหารอินทรีย์ในโรงพยาบาล 780 แห่ง เพื่อจัดจำหน่ายและให้บริการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 3.ขยายผลพื้นที่การจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ที่มีคุณภาพไปในชุมชนและห้างสรรพสินค้า “ตลาดเขียว” “สถานีเกษตรแบ่งปัน” กระจายทั่วประเทศกว่า 88 แห่ง ช่วยยกระดับรายได้ให้เครือข่ายเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจอาหารในชุมชน 4.จัดสภาพแวดล้อมลดอาหาร/เครื่องดื่มลดหวาน “โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและขนมหวาน” “โรงพยาบาลอ่อนหวาน” “ร้านกาแฟหวานน้อยสั่งได้” กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
น.ส.นิรมลเปิดเผยอีกว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมส่งเสริมการเข้าถึงโภชนาการอาหาร อาทิ 1.คู่มือมาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา เพื่อยกระดับการจัดอาหารในสถานศึกษาให้มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยให้เด็กนักเรียนได้บริโภคอาหารกลางวันที่มีคุณค่าต่อร่างกาย และยังลดภาวะทุพโภชนาการของเด็กวัยเรียน โดยเผยแพร่ไปใช้ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ 2.นวัตกรรมเครื่องมือ CHEM Meter ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหารแบบพกพา 3.Daycare นมแม่และการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการดูแลพัฒนาการเด็กตามวัย รวมถึงการรณรงค์สื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ อาทิ แคมเปญ “หวานน้อยสั่งได้” “เมนู 2:1:1” “ลดหวาน มัน เค็ม” โดยมุ่งสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
อนึ่ง ขณะนี้มีตลาดเขียวนวัตกรรมสังคมเข้าไปในโรงพยาบาล โรงเรียน พัฒนาสู่การเป็นชุมชนอาหารสุขภาวะ มีความมั่นคงทางอาหารตลอดห่วงโซ่อาหาร อาทิ ตลาดเขียวโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จ.สระแก้ว มูลนิธิเอ็มโอเอไทย และตลาดเขียวกินสบายใจช็อป ห้างสุนีย์ จ.อุบลราชธานี มูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้บริโภคมีความเป็นพลเมืองอาหารที่มีความรอบรู้ด้านอาหาร ช่วยส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนชุมชนอาหารที่ปลอดภัย เป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567
ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์
ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง
โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด
เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน