กลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงาม จ.ชัยนาท ต่อยอด “แพะเงินล้าน” สร้างนวัตกรรมชุมชน ผลิตปุ๋ยอินทรีย์มูลแพะ-ชุดผักพร้อมปลูก

‘แพะเงินล้าน’ ที่ อ.สรรคบุรี  จ.ชัยนาท

กลุ่มอาชีพตำบลโพงามผลิตปุ๋ยมูลแพะ-ชุดผักพร้อมปลูก

ในยุคที่ข้าวของแพง-ค่าแรงต่ำ  หมู  ไก่  ไข่  และอาหารอื่นๆ พากันขยับราคา  ทำให้เดือดร้อนกันทั้งคนซื้อและคนขาย  แต่ยังมีสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งคือ ‘แพะ’ ที่ยังซื้อง่ายขายคล่อง  เพราะตลาดยังมีความต้องการสูง  และส่วนใหญ่จะส่งไปขายที่ประเทศเพื่อนบ้าน  รวมทั้งพี่น้องมุสลิมที่นิยมรับประทานเนื้อแพะ  เช่น  ข้าวหมกแพะ  แกงแพะ  ซุปแพะ  หรือแพะตุ๋นน้ำแดงแบบอาหารจีน  ฯลฯ  ราคาขายหน้าฟาร์ม (แพะเป็นทั้งตัว) ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 105-120 บาท !! 

จังหวัดชัยนาทเป็นจังหวัดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงแพะเนื้อ  เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย  ต้นทุนการเลี้ยงไม่สูง  สามารถเลี้ยงแบบปล่อย  ให้แพะหาหญ้ากินเอง  หรือเลี้ยงแบบปิดในโรงเรือนเพื่อความสะดวกในการดูแล  ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 4 เดือนก็ขายได้ 

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท ระบุว่าในปี 2563  มีเกษตรกรในจังหวัดเลี้ยงแพะ  778 ราย รวม  30,883 ตัว  อำเภอที่เลี้ยงแพะมากที่สุด  คือ  สรรคบุรีและสรรพยา  แต่ปัจจุบันตัวเลขน่าจะสูงขึ้น  เนื่องจากมีเกษตรกรรายใหม่ๆ สนใจหันมาเลี้ยงแพะกันมาก

แพะเงินล้าน

วิรักษ์  แตงงาม  เจ้าของฟาร์มแพะ วรัญญาฟาร์ม  ตำบลโพงาม  อ.สรรคบุรี  จ.ชัยนาท  เล่าว่า  เมื่อ 30 ปีก่อนตนและภรรยามีอาชีพรับจ้างแบกข้าวเปลือกขึ้นรถบรรทุก  ทำงานหนัก  ร่างกายจึงทรุดโทรม  แต่มีรายได้เพียงเดือนละ 6,000 บาท  ต่อมาได้รับบาดเจ็บจากการแบกข้าวเปลือก  จึงมองหาอาชีพใหม่  เห็นเพื่อนทำอาชีพเลี้ยงแพะเนื้อมีรายได้ดี  ตนจึงมาศึกษาเรียนรู้  แล้วหากู้เงินมาลงทุนประมาณ 150,000 บาท  นำมาสร้างโรงเลี้ยง  ซื้อแพะรุ่นแรกมาเลี้ยงประมาณ 40 ตัว  จากนั้นแพะก็ออกลูกออกหลาน  เพิ่มจำนวนมากขึ้น  ใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงปลดหนี้ที่กู้ยืมมาเลี้ยงแพะได้หมด

ผมว่าเลี้ยงแพะดีกว่าเลี้ยงหมู  เพราะลงทุนต่ำกว่า  ค่าอาหารถูกกว่า   อาจจะมีต้นทุนค่าโรงเรือนถ้าเลี้ยงระบบปิด  แต่ก็จะดีกว่าการเลี้ยงแบบเปิด  หรือเลี้ยงแบบไล่ต้อนให้แพะไปหากินหญ้าเอง  เพราะเลี้ยงระบบปิดจะได้แพะที่มีคุณภาพ  ควบคุมการเลี้ยงได้  ส่วนแพะที่ผมเลี้ยงเป็นพันธุ์บอร์  สายพันธุ์มาจากแอฟริกา  จุดเด่นคือ  เนื้อเยอะ  โตเร็ว  4 เดือนก็จับขายได้  น้ำหนักประมาณตัวละ 30-35  กิโลฯ พ่อค้าจะมารับซื้อเอง  ราคาขายหน้าฟาร์มตอนนี้ประมาณกิโลฯ ละ 105 บาท  หรือตัวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท   วิรักษ์บอก  และว่าตอนนี้มีโรงเรือนเลี้ยงแพะอยู่ 3 โรง  เคยเลี้ยงสูงสุดประมาณ 400 ตัว  พ่อค้าจะมารับซื้อแล้วส่งไปขายที่ประเทศเวียดนาม  ลาว

เจ้าของวรัญญาฟาร์ม             

แพะยิ้ม

ตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา  วรัญญาฟาร์มเลี้ยงแพะไปแล้วนับร้อยรุ่น  หากนับจำนวนคงอยู่ในระดับหมื่นตัว มูลค่าหลายสิบล้านบาท วิรักษ์จะสั่งพ่อพันธุ์แพะพันธุ์บอร์ (Boer) มาจากต่างประเทศ  ราคาตัวหนึ่งประมาณ 240,000 บาท  นำมาผสมกับแม่แพะสายพันธุ์ดี   แม่แพะปีหนึ่งจะตั้งท้องได้ 2 ครั้งๆ หนึ่งจะให้ลูกประมาณ 2 ตัว   ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 11-12  เดือน  แพะก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์  ออกลูกออกหลานอีก  แพะที่มีลักษณะดี  แข็งแรง  สมบูรณ์  จะขายเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ราคาตัวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท

ส่วนอาหารหลักของแพะคือกระถินและหญ้าแห้งสับผสมกัน   ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง  เสริมด้วยอาหารอื่น  เช่น  อาหารผสมสำเร็จรูป  ข้าวโพดหมัก  หญ้าแองโกล่า  ถ้ามีพื้นที่ปลูกเองก็จะลดต้นทุนได้อีก  นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้  คือมูลแพะ  เอาไปผสมทำปุ๋ยอินทรีย์  จะมีคนมารับซื้อกระสอบละ 20 บาท  กระสอบหนึ่งหนักประมาณ 15-20  กิโลฯ  เดือนหนึ่งจะได้มูลแพะประมาณ 1 พันกระสอบ  วิรักษ์บอกถึงผลพลอยได้

โรงเลี้ยงแพะจะยกพื้นสูง  เว้นระยะพื้นร่องเพื่อให้อากาศถ่ายเท  และกวาดมูลแพะลงมาได้ง่าย  เมื่อมูลแพะมีจำนวนมากจะขายเพื่อทำปุ๋ย

กลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงามต่อยอดผลิตปุ๋ยมูลแพะ

พงศ์รัตน์   ยันบัวเงิน  ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงาม  บอกว่า  ชาวบ้านตำบลโพงามส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  อาชีพรองคือการเลี้ยงแพะ  และมีอาชีพเสริม  เช่น  ทำไม้กวาด  ในปี 2563  มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เข้ามาจัดทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน  โดยสนับสนุนให้ชุมชนสำรวจข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา  เพราะตำบลโพงามถือว่าเป็นตำบลที่ชาวบ้านมีปัญหาความยากจนมากที่สุดในอำเภอสรรคบุรี

เราเอาข้อมูลที่สำรวจมาวิเคราะห์  พบว่าชาวบ้านในตำบลโพงามส่วนใหญ่ทำนา  แต่มีรายได้น้อย  มีต้นทุนค่าปุ๋ยเคมี  ขณะที่ในตำบลมีการเลี้ยงแพะกันมาก  มีปัญหาเรื่องกลิ่นจากมูลแพะ  เราจึงคุยกันเรื่องจะเอามูลแพะมาทำปุ๋ยใส่ในไร่นา  ใส่แปลงผักสวนครัว  รวมทั้งทำปุ๋ยขายเพื่อเป็นอาชีพด้วย  ประธานกลุ่มบอกถึงจุดเริ่มต้น

จากนั้นในช่วงกลางปี 2564 จึงเริ่มต้นทำปุ๋ยจากมูลแพะ  โดยไปพูดคุยกับ วิรักษ์  แตงงาม เจ้าของฟาร์แพะ วรัญญาฟาร์มเพื่อติดต่อขอซื้อมูลแพะ  วิรักษ์เมื่อรู้วัตถุประสงค์ของกลุ่มวิสาหกิจฯ จึงขายมูลแพะให้ในราคาพิเศษ  จากปกติที่ขายทั่วไปราคากระสอบละ 20 บาท (15-20 กิโลกรัม) เป็นกระสอบละ  8 บาท  โดยกลุ่มฯ จะมาเก็บมูลแพะใส่กระสอบเอง 

แพะ 1 ตัวจะถ่ายมูลออกมาประมาณวันละ 4 กิโลฯ   หากฟาร์มไหนเลี้ยงแพะ 100 ตัว  วันหนึ่งๆ จะได้มูลแพะประมาณ 400 กิโลฯ  ในอำเภอสรรคบุรีมีคนเลี้ยงแพะกว่า 100 ราย  มีทั้งรายเล็กรายใหญ่  เลี้ยงแบบฟาร์มและไล่ต้อน  แต่มูลแพะที่เอามาทำปุ๋ยจะเอามาจากฟาร์มปิด  เพราะเก็บได้ง่าย  เอามาทำปุ๋ยได้ตลอดปี ประธานกลุ่มฯ บอกถึงวัตถุดิบที่ไม่มีวันหมด

มูลแพะที่ไม่มีวันหมด  กลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงามสามารถรวบรวมนำมาทำปุ๋ยเดือนหนึ่งได้ประมาณ 10 ตัน

ส่วนวิธีการผลิตปุ๋ยมูลแพะนั้น  กลุ่มได้รับความรู้มาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  จังหวัดเชียงใหม่  เป็นสูตรปุ๋ยหมักไม่กลับกอง  หรือ วิศวกรรมแม่โจ้ 1’  อัตราส่วน  1 ต่อ 4  ส่วน  (มูลแพะ 1  เข่ง  ฟางก้อน  4 เข่ง)   โดยกลุ่มจะผลิตครั้งหนึ่งจำนวนมาก  โดยนำมูลแพะจำนวน 1,500 กิโลกรัมมาหมักกับฟาง 500 ก้อน  

วิธีการ  คือ  นำฟางมาวางเรียงบนลานกว้างประมาณ 2.5 เมตร  ความยาวไม่จำกัด  เรียงฟางให้มีความหนาประมาณ 10 เซนติเมตร  จากนั้นนำมูลแพะมาเทเกลี่ยให้ทั่วกองฟาง  รดน้ำ  แล้วนำฟางมาคลุม  ใส่มูลแพะ  รดน้ำ  ทำสลับแบบนี้จนได้กองปุ๋ยหนา 12 ชั้น  (กองเป็นรูปสามเหลี่ยม  สูงประมาณ 1.5 เมตร) 

จากนั้นต้องรดน้ำภายนอกทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง  และรดน้ำภายในทุกๆ 10 วัน  โดยเจาะกองปุ๋ยให้เป็นรูทั่วทั้งกอง  ห่างกันรูละ 40 เซนติเมตร  แล้วรดน้ำลงไปในรู  เสร็จแล้วปิดรู   ทำแบบนี้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน  มูลแพะและฟางภายในกองจะย่อยสลาย  จากนั้นจึงนำปุ๋ยมากองให้แห้ง  แล้วนำมาร่อนเพื่อเอาสิ่งเจือปนออก  ขั้นตอนสุดท้ายคือนำมาบรรจุถุงหรือนำมาทำเป็นปุ๋ยอัดเม็ดนำไปใช้หรือจำหน่ายได้

กลุ่มของเรามีสมาชิก 112 คน  สมาชิกจะต้องลงหุ้นๆ ละ 100 บาท   คนหนึ่งไม่เกิน 10 หุ้น  เพื่อเอามาเป็นทุนในการผลิตปุ๋ย  ตอนนี้มีเงินกองทุนประมาณ 1 แสนบาท   เวลาจะทำปุ๋ยเราก็จะนัดให้สมาชิกมาช่วยกัน  ใครมีเวลาว่างก็จะมาช่วยกันทำ  เราให้ค่าแรงเพื่อให้สมาชิกมีรายได้วันละ 200-300 บาทตามสภาพงาน  เช่น  รวบรวมมูลแพะจากฟาร์ม  ทำกองปุ๋ย  รดน้ำปุ๋ย  ร่อนปุ๋ย  บรรจุปุ๋ยใส่ถุง  เวลาทำปุ๋ยครั้งหนึ่งจะมีสมาชิกมาช่วยกันประมาณ 10 คน  ประธานกลุ่มบอก

สมาชิกกลุ่มช่วยกันบรรจุปุ๋ยที่แห้งและร่อนเอาสิ่งเจือปนออกแล้ว

ชี้ช่องทางสร้างเศรษฐกิจชุมชน

ด้านการผลิตและจำหน่ายนั้น  พงศ์รัตน์   ยันบัวเงิน ประธานกลุ่มบอกว่า  ขณะนี้ถือว่ากลุ่มยังอยู่ในระยะเริ่มต้น  มีผลิตภัณฑ์หลัก  คือ 1.วัสดุปรับปรุงคุณภาพดินคุณภาพสูง  สูตรแม่โจ้ 1 (ปุ๋ยมูลแพะ)  สำหรับปลูกผัก  ต้นไม้  ทำให้ดินร่วน  รากเดินดี  พืชเจริญเติบโตไว  บรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม  ราคา 79 บาท  จำหน่ายในเฟสบุคส์  และห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ   2.ชุดพร้อมปลูก  ประกอบด้วย  เมล็ดพันธุ์ผัก  ปุ๋ยมูลแพะผสมดิน  กระถางใยมะพร้าว  ราคาชุดละ 129 บาท  และ 3.มูลแพะบรรจุถุง  ราคากิโลกรัมละ 30 บาท  จำหน่ายให้แก่สมาชิก  เกษตรกรทั่วไป   ชาวไร่  ชาวนา  เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี

นำมูลแพะบรรจุถุงและชุดพร้อมปลูกไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าที่กรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์จากมูลแพะคือ  ช่วยบำรุงให้พืชโตไว  โดยเฉพาะพืชผักจะมีใบเขียวสวย  ไม่มีสารเคมีตกค้าง  และราคาถูกกว่าปุ๋ยเคมีประมาณกิโลฯ ละ 10 บาท  และนอกจากจะผลิตปุ๋ยจากมูลแพะแล้ว  กลุ่มของเรายังมีแผนจะปลูกผักอินทรีย์จำหน่าย  โดยใช้ปุ๋ยมูลแพะของเราที่มีอยู่แล้ว  จะทำให้ลดต้นทุนการปลูกได้อีก ประธานกลุ่มบอกถึงแผนงานต่อไป

ขณะที่ วิรักษ์  แตงงาม เจ้าของฟาร์มแพะบอกว่า  ยินดีให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงแพะแบบฟาร์มปิด  สามารถมาศึกษาหาความรู้ได้ที่ฟาร์มวรัญญา  หากเริ่มต้นเลี้ยงจะมีต้นทุนประมาณ 1 แสนบาทเศษ  เช่น  ค่าก่อสร้างโรงเรือนแบบยกพื้น (ประมาณ 7 x 10 ตารางเมตร) 35,000 บาท  ค่าพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ 5 คู่ ๆ ละ 15,000 บาท

หากเริ่มเลี้ยงครั้งแรก  จะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8-12  เดือนก็สามารถขายแพะรุ่นแรกได้  ตลาดนิยมแพะเนื้อที่มีอายุประมาณ 4 เดือน  น้ำหนักประมาณ 16-20  กิโลฯ  เพราะเป็นแพะหนุ่มสาว  เนื้อมีความนุ่ม  ราคาหน้าฟาร์ม (แพะเป็นทั้งตัว) กิโลฯ ละ 105-120 บาท ส่วนพ่อพันธุ์-แม่พันธ์ุจะเลี้ยงใช้งานได้ไม่ต่ำกว่า 7-8 ปี  แม่แพะปีหนึ่งจะออกลูกได้ 2 ครั้ง  โรคก็ไม่ค่อยมี  อาหารหลักคือกระถินกับหญ้าสับ  ต้นทุนไม่สูง  แพะจึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่าส่งเสริม” เจ้าของฟาร์มวรัญญาบอก

ดร.จรรยา  กลัดล้อม  ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดชัยนาท  กล่าวว่า  การผลิตปุ๋ยของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงามถือเป็นนวัตกรรมของชุมชนที่น่าสนใจ  เพราะสามารถนำเอาฟางข้าวที่เหลือจากการทำนาและมูลแพะที่มีปัญหาส่งกลิ่นรบกวนชาวบ้านมาสร้างมูลค่า  โดยนำมาผลิตเป็นปุ๋ยมูลแพะ  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่สมาชิก

“จังหวัดชัยนาทมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเพื่อช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตายครบทุกอำเภอ  ครบทุกตำบลแล้ว  หากมีการเชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการกับกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้มีการเลี้ยงแพะ  นำมูลแพะมาใช้ประโยชน์  เพื่อลดต้นทุนในการทำนา  และสร้างรายได้จากมูลแพะ  ก็จะทำให้กองทุนสวัสดิการฯ และกลุ่มอาชีพเติบโตขึ้น  สามารถช่วยเหลือสมาชิกได้มากขึ้นด้วย”  ดร.จรรยาบอกทิ้งท้าย

(เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  ติดต่อฟาร์มวรัญญา facebook.com/ววรัญญา-ฟาร์ม   และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพตำบลโพงาม facebook.com/PHO-G-โพธิ์-จี-)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

'เขื่อนเจ้าพระยา' ลดระบายน้ำต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่มต่ำ 4 จ. ท่วมน้อยลง

แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี มีปริมาณลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

เขื่อนเจ้าพระยา ปรับลดระบายน้ำ ลดผลกระทบพื้นที่น้ำท่วม น้ำทะเลหนุนสูงช่วง 13 ต.ค.นี้

นายวัชระ ไกรสัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2. จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณทรงตัว ประกอบกับ แม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี

ระทึก! รถนักเรียนประถม เกิดเหตุคลัชไหม้ กลิ่นควันคลุ้ง เด็ก 21 คนปลอดภัย

ตำรวจ สภ.เมืองชัยนาท ได้รับแจ้งเหตุ ไฟไหม้รถโรงเรียน บริเวณถนนทางหลวง 311 ฝายน้ำล้น ต.บ้านกล้วย อ.เมืองชัยนาท จึงรีบแจ้งรถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าช่วยเหลือ