จับตาการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของภาคอีสานตอนบน

ลุ่มน้ำสงคราม สาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ประมาณ 12,700 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7.94 ล้านไร่ ครอบคลุม 28 อำเภอ ของ 5 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม  โดยมีแม่น้ำสงคราม เป็นลำน้ำหลักของลุ่มน้ำ มีความยาวประมาณ 465 กิโลเมตร ไหลจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ ประกอบด้วยลำน้ำสาขาที่สำคัญคือ น้ำอูน น้ำยาม ห้วยโนด ห้วยชาง ห้วยสามยอด ห้วยคอง ห้วยฮี้ และน้ำเมา ซึ่งลำน้ำสาขาเหล่านี้จะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสงครามตามจุดต่าง ๆ ทำให้ลำน้ำใหญ่ขึ้น แต่ค่อนข้างคดเคี้ยว มีตลิ่งสูงชัน  

ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำสงคราม ด้านทิศใต้มีพื้นที่เป็นภูเขาสูงและเป็นแหล่งต้นน้ำ  ทิศตะวันตกอยู่ติดกับลุ่มน้ำห้วยหลวง  ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดกับพื้นที่ของลุ่มน้ำสาขาเล็ก ๆ ของแม่น้ำโขง  พื้นที่ราบจะอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำสงครามและแม่น้ำสาขา  ส่วนลักษณะภูมิอากาศ ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ   นอกจากนี้ในช่วงฤดูฝนยังได้รับอิทธิพลจากพายุดีเปรสชั่นจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิค ทำให้ฝนตกชุกมีปริมาณฝนตกทั้งปีเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

อย่างไรก็ตามด้วยพื้นที่ตามแนวสองฝั่งแม่น้ำสงครามและลำน้ำสาขาเป็นที่ราบมีการทำการเกษตรกว้างขวาง และเป็นที่อยู่อาศัยของราษฎรในพื้นที่  พอถึงฤดูน้ำหลากหรือช่วงที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงกว่าระดับน้ำในแม่น้ำสงคราม สองฝั่งของแม่น้ำสงครามจะถูกน้ำท่วมทุกปี  ในขณะที่ลักษณะภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยให้สามารถสร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำได้ ประชาชนจึงต้องอาศัยน้ำจากลำน้ำสงครามเพียงอย่างเดียว หากระดับน้ำแม่น้ำโขงต่ำกว่าแม่น้ำสงครามมวลน้ำจากแม่น้ำสงครามจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว เหลือน้ำในลำน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการ ทั้งการเกษตร อุปโภคบริโภค และด้านอื่น ๆ  ปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สินราษฎรในพื้นที่เรื่อยมา

การแก้ไขปัญหาของลุ่มน้ำสงครามนั้น  เมื่อปี 2533 กรมชลประทานได้ทำการศึกษาวางโครงการเบื้องต้น  โดยมีแนวความคิดที่จะใช้พื้นที่น้ำท่วมเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้ใช้ในฤดูแล้ง  และสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณที่อยู่ตอนบนของลุ่มน้ำเพื่อบรรเทาน้ำท่วม  และสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากแม่น้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่ไหลเข้าออกลงสู่แม่น้ำโขง  แต่ขาดงบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้างจึงไม่ได้ดำเนินงานตามแนวทางการศึกษาดังกล่าว

ต่อมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานได้ทำการศึกษาการแก้ปัญหาของลุ่มน้ำสงคราม  ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งลุ่มน้ำสงคราม พร้อมทั้งได้ศึกษาความเหมาะสมในการสร้างประตูระบายน้ำกลางแม่น้ำสงคราม  ในส่วนของกรมชลประทานนั้นได้ดำเนินการศึกษาวางโครงการประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม

นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน เปิดเผยว่า  การศึกษาวางโครงการประตูระบายน้ำ(ปตร.)บ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำดังกล่าว  เพื่อให้ประตูระบายน้ำทำหน้าที่ควบคุมการระบายน้ำเข้า-ออกสู่แม่น้ำโขง บรรเทาภัยน้ำท่วม พร้อมเก็บกักน้ำต้นทุนไว้ในลำน้ำ สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20ปี(พ.ศ.2561-2580)  ในด้านที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) และด้านที่  3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย  โดยได้ศึกษาแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2555

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้กรมชลประทานดำเนินโครงการปตร.บ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี  และมีการขยายกรอบระยะเวลาดำเนินการออกไป 3 ปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โครงการปตร.บ้านก่อ สร้างปิดกั้นลำน้ำยามซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่สำคัญของแม่น้ำสงคราม ตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำสงคราม 52 กิโลเมตร มีหัวงานตั้งอยู่ที่บ้านก่อ ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นประตูระบายน้ำแบบบานระบายตรง  ขนาดช่องกว้าง 8 เมตร สูง 8.3 เมตร จำนวน 4 ช่อง อัตราการระบายน้ำสูงสุด 400 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที สามารถกักเก็บน้ำได้ 3 ล้านลบ.ม. และพนังกั้นน้ำความยาว 2.4 กม. ปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

“ในช่่วงฤดูฝนที่ผ่านมาได้ทำการเปิดใช้งาน ปตร.บ้านก่อ  โดยใช้เป็นเคร่ื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการน้ำร่วมกับโครงการชลประทานสกลนคร  สามารถช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำได้เร็ว บรรเทาปัญหาอุทกภัยให้อำเภอวานรนิวาส และอำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ได้เป็นอย่างดี และในฤดูแล้งนี้ได้ทำการเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำเพื่อเป็นน้ำต้นทุนในการอุปโภค บริโภค ให้ราษฎรทั้ง 2 อำเภอดังกล่าวมากกว่า 1,000 ครัวเรือน  รวมทั้งยังได้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์อีกด้วย” นายสุนทร กล่าว

อย่างไรก็ตามขณะนี้ โครงการปตร.บ้านก่อ ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการ ยังเหลือระบบส่งน้ำและอาคารประกอบทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง   โดยในฝั่งซ้ายระบบส่งน้ำมีความยาว 30 กิโลเมตร มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 5,000 ไร่ครอบคลุมพื้นที่บ้านหนองวัวแดง ตำบลป่าอำนวย อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และฝั่งขวา ระบบส่่งน้ำยาว 30 กิโลเมตร  มีพื้นที่ได้รับประโยชน์  5,000 ไร่เช่นกัน ครอบคลุมพื้นที่บ้านก่อ ตำบลหนองสนม อำเภอวานรนิวาศ จังหวัดสกลนคร คาดว่าระบบส่งน้ำและอาคารประกอบจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2570

เมื่อโครงการปตร.บ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จสมบูรณ์ นอกจากช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง เป็นแหล่งน้ำต้นทุนช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรจำนวน 1,067 ครัวเรือน เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 10,000 ไร่ บรรเทาอุทกภัยให้ 2 อำเภอในจังหวัดสกลนครแล้ว  ราษฎรในพื้นที่ยังจะมีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น ไม่ว่าจะเป็นการทำปศุสัตว์ การทำประมงพื้นบ้าน หรือการปลูกพืชมูลค่าสูง เช่น มันฝรั่ง อ้อย  และเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สนับสนุนเปลี่ยนแปลงพื้นที่ราบน้ำท่วมในสองอำเภอให้กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของ จ.สกลนคร อีกแห่งหนึ่งอีกด้วย

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม   ไม่ได้หยุดแค่การก่อสร้างปตร.บ้านก่อพร้อมระบบส่งน้ำเท่านั้น หน่วยงานด้านน้ำยังบูรณาการเดินหน้าพัฒนาลุ่มน้ำสงครามต่อไป  ซึ่งขณะนี้สทนช.ได้ทำการศึกษาโครงการประตูระบายน้ำ(ปตร.)กลางแม่น้ำสงคราม  โดยมีกรมชลประทานดำเนินการลงพื้นที่ศึกษา ออกแบบรายละเอียด  เมื่อแล้วเสร็จจะได้เสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาเห็นชอบดำเนินโครงการต่อไป

ปตร.กลางแม่น้ำสงคราม จะใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ที่สามารถกักเก็บน้ำในลำน้ำได้ถึง 74 ล้านลูกบาศก์เมตร  ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรมากถึง 400,000ไร่  ซึ่งจะทำให้ลุ่มแม่น้ำสงคราม เป็นชุมชนแห่งการอยู่กับน้ำหลากได้ ด้วยการเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และเก็บกักน้ำไว้ในแม่น้ำสงคราม โดยยกระดับและผันน้ำจากหน้าประตูระบายน้ำเข้าไปเติมในแก้มลิงธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำที่อยู่ริมสองฝั่งลำน้ำให้มีน้ำตลอดปี  ขณะเดียวกัน ยังสามารถสูบน้ำจากแม่น้ำโขงในช่วงฤดูแล้งเข้ามาใช้ในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างได้ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำหลาก ได้แล้ว เท่ากับเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในบริเวณพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

เมื่อโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสงครามแล้วเสร็จสมบูรณ์  จะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำสงคราม กลายเป็น”อู่ข้าวอู่น้ำ”แห่งภาคอีสานตอนบนอย่างแน่นอน....

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความยั่งยืนของการพัฒนาลุ่มน้ำเลย

ลุ่มน้ำเลย เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่มีต้นน้ำอมาจากอำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงลาดชัน

ตอนบนของประเทศ ฝนลดลง ชป.เดินหน้าเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน สำรองไว้ใช้แล้งหน้าให้มากที่สุด

เมื่อวันนี้ 15 ต.ค. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ผศ.ดร.สิตางศ์ พิสัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา

'เขื่อนเจ้าพระยา' ลดระบายน้ำต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่มต่ำ 4 จ. ท่วมน้อยลง

แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี มีปริมาณลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

สั่งปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯ ลดผลกระทบลุ่มเจ้าพระยา

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์น้ำท่าที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักฯ