ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน การร่างกฎหมาย และการพิจารณาเรื่องที่ราษฎรร้องทุกข์เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็น “กรมร่างกฎหมาย” และมาเป็น “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ในปัจจุบัน โดยได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช ๒๔๗๖ ขึ้น เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ และได้มีการปรับปรุงเป็นพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยได้กำหนดบทบาทและภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้มีหน้าที่และอำนาจในการตรวจพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมาย การให้ความเห็นทางกฎหมาย การพัฒนากฎหมาย การพัฒนาหลักกฎหมายมหาชน การพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ และงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากพิจารณาในสถานการณ์ปัจจุบัน บทบาทและภารกิจที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง คือ การพัฒนากฎหมาย เพื่อให้มีกฎหมายที่ดีมีคุณภาพ มีการวางโครงสร้างและกลไกที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป มุ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ อันจะส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามวิสัยทัศน์ “Better Regulation for Better Life” ของสำนักงานฯ
บทบาทและภารกิจของสำนักงานฯ นอกจากที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีบทบาทและภารกิจที่สำคัญซึ่งจะมีส่วนทำให้กฎหมายที่ออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายที่ดีมีคุณภาพ นั่นคือการพัฒนาบุคลากรด้านกฎหมายภาครัฐ ทั้งในส่วนของนักกฎหมายกฤษฎีกาของสำนักงานฯ และนิติกรจากส่วนราชการต่าง ๆ โดยการฝึกอบรมให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางกฎหมายให้มีความคิดวิเคราะห์และพัฒนาระบบงานกฎหมายด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ อันจะส่งผลให้การปฏิบัติงานและระบบกฎหมายของประเทศได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่สอดคล้องและมีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการจัดทำกฎหมายที่ดีมีคุณภาพ
ตลอดระยะเวลา ๙๑ ปี ที่ผ่านมา วิวัฒนาการด้านกฎหมายได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจและบทบาทของสำนักงานฯ ซึ่งสำนักงานฯ ได้มีการพัฒนาและปรับบทบาทขององค์กรให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ เปลี่ยนวิธีคิดในการวางโครงสร้างและกลไกของกฎหมายที่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และยังต้องมองไปยังสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพื่อให้กฎหมายสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด นอกจากการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำงานภายในองค์กรแล้ว การอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน โดยผลงานด้านกฎหมายที่สำคัญในเรื่องนี้ ได้แก่ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๖๕ เพื่อให้สามารถปฏิบัติราชการได้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
เพื่อให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศทางธุรกิจให้มีการร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในประเทศไทย มีกฎเกณฑ์ที่เป็นธรรมชัดเจนและโปร่งใส เพื่อดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ควบคู่ไปกับแนวนโยบายของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้มีกฎหมายที่มีความทันสมัยและก้าวทันโลกในเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน
ในบทบาทการพัฒนากฎหมาย สำนักงานฯ มุ่งเน้นการพัฒนากฎหมายที่ดีเพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน เป็นกฎหมายที่มีคุณภาพและมีเท่าที่จำเป็น ไม่สร้างภาระแก่ประชาชน ลดความซ้ำซ้อนและยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย เนื่องจากกฎหมายมีความสำคัญโดยเป็นเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์ของสังคมไทย เมื่อกฎหมายที่ได้บังคับใช้ไปนาน ๆ จากกฎหมายที่เคยเป็นกฎหมายที่ดี ก็อาจกลายเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๒ ขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกผลงานสำคัญของสำนักงานฯ ในการกำกับดูแลกระบวนการในการจัดทำกฎหมายทั้งระบบทั้งก่อนออกกฎหมายและเมื่อออกกฎหมายแล้ว รวมถึงระบบกลางทางกฎหมาย (law.go.th) เพื่อเป็นช่องทางในการให้หน่วยงานของรัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และเป็นศูนย์กลางข้อมูลทางกฎหมายของประเทศ
ด้านการต่างประเทศ สำนักงานฯ ได้ร่วมกับนานาประเทศ เพื่อให้มีการจัดทำบทประเมินคุณภาพกฎหมายไทย (Regulatory Policy Review) ร่วมกับ OECD ควบคู่ไปกับมาตรฐานของประเทศสมาชิก OECD โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและ OECD (Country Programme) มีการปรับปรุงแก้ไขแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย (หรือรายงาน RIA (Regulatory Impact Assessment)) เพื่อลดภาระของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เสนอกฎหมาย โดยมีการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายให้สอดคล้องต่อประชาชนและสังคมในวงกว้างอย่างเข้มข้น โดยเป็นภารกิจสำคัญที่มีในปี พ.ศ. ๒๕๖๗
นอกจากนี้ ได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลกฎหมายและคำแปลกฎหมายได้อย่างสะดวกทั่วถึง เพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพและการดำเนินการต่าง ๆ สร้างความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ปฏิบัติงานภาครัฐเกี่ยวกับบริบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ การจัดทำฐานข้อมูลกฎหมายต่างประเทศและบทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ Law for ASEAN ฐานข้อมูลคำแปลกฎหมายไทยเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KIPA) สถาบัน National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) และอีกหลายหน่วยงาน เพื่อพัฒนาบุคลากรและการดำเนินการในภารกิจของสำนักงานฯ
รวมทั้งได้พัฒนากฎหมายที่จะช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทักษะ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งบทบาทสำคัญนี้ส่งผลให้สำนักงานฯ ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย รางวัล “The Policy Advocate Friends of Makers Awards” และโล่ประกาศเกียรติคุณจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วย
ตลอดระยะเวลา ๙๑ ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน และยังคงมุ่งมั่นเพื่อพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และพร้อมเดินหน้าควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยเป้าหมาย คือ กฎหมายที่ดีมีคุณภาพจะเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17
Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย
ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ
บทบาทภารกิจของกองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กองกฎหมายต่างประเทศเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดำเนินภารกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Better Regulation for Better Life
ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น
กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม
นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ