พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
เชียงราย/วันนี้ (1 ธ.ค. 67) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย จัดพิธี มอบงบประมาณในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงราย โดยมี พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป้นประธานในพิธี พร้อมด้วย พ.อ. จักรวีร์ เสนีย์วรยุทธ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเขียงราย ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน นายอภิรักษ์ อินต๊ะวัง นายกเทศมนตรีตำบลแม่ยาว นายปรัตถกร การเร็ว ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว ส่วนราชการ ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย และตัวแทนชุมชนตำบลแม่ยาว เข้าร่วมเวทีกว่า 400 คน ณ โรงเรียนบ้านรวมมิตร หมู่ 2 ตำบลแม่ยาว อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย
พอช.สนับสนุนงบประมาณ 30,110,831.39 บาท โครงการบ้านมั่นคงภัยพิบัติ ซ่อม สร้าง บ้านผู้ประสบอุทกภัย จังหวัดเชียงราย 6 ตำบล 875 ครัวเรือน
พอช. ได้ร่วมกับ ขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดเชียงราย เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติภาคเหนือ ดำเนินการการจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการจัดการภัยพิบัติ เพื่อดำเนินการ โดยมีหลักคิดในการสนับสนุนการ “จัดการทรัพยากร คน งาน เงิน เพื่อนำไปสู่การพัฒนา ฟื้นฟู พื้นที่หลังจากภัยพิบัติ โดยใช้กระบวนการของขบวนองค์กรชุมชน” ดำเนินงานบริหารศูนย์หลักครบวงจรเชื่อมโยงจุดปฏิบัติการเชิงพื้นที่ มีภารกิจคือ 1. ปฏิบัติการการช่วยเหลือกรณีเร่งด่วนเรื่องของครัวกลาง และการช่วยเหลือเบื้องต้นเรื่องถุงยังชีพ 2. วางแผนการปฏิบัติการ ซ่อมสร้าง การจัดระบบ การช่วยเหลือ การประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคี 3. การสำรวจครัวเรือนผู้ได้รับผลกระทบและความเสียหายจากภัยพิบัติหลังน้ำลด และรวบรวมข้อมูลเข้าฐาน ข้อมูลให้กับศูนย์อำนวยการ ระดับภาค
พอช. ได้สนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านมั่นคงภัยพิบัติ จังหวัดเชียงราย 6 ตำบล 875 ครัวเรือน งบประมาณ 30,110,831.39 บาท โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1. เทศบาลตำบลแม่สายมิตรภาพ อำเภอแม่สาย 47 ครัวเรือน จำนวน 1,772,197 บาท 2. เทศบาลตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย 275 ครัวเรือน จำนวน 3,270,652 บาท 3. เทศบาลตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย 116 ครัวเรือน 4,060,000 บาท 4. เทศบาลตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง 238 ครัวเรือน จำนวน 11,493,049.39 บาท 5. ตำบลป่างิ้ว อำเภอเวียงป่าเป้า 159 ครัวเรือน จำนวน 7,704,065 บาท 6. ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า 40 ครัวเรือน จำนวน 1,810,868 บาท
‘แม่ยาวโมเดล’ ชุมชนนำร่องในการจัดการภัยพิบัติโดยภาคประชาชนจังหวัดเชียงราย
ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เกิดเหตุอุทกภัย น้ำแม่กก และแม่น้ำห้วยแม่ซ้าย พุ่งทะลักเข้าท่วมพื้นที่ส่งผลให้น้ำทะลักท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำ และเอ่อเข้าท่วมภายในชุมชน ทำให้มีบ้านเรือนในพื้นที่ตำบลแม่ยาวเกิดความเสียหายโดยรวม 2,000 ครัวเรือน 11 หมู่บ้าน ความเสียหายต่อตัวบ้านประมาณ 665 ครัวเรือน
สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว ภายใต้การสนับสนุนจาก พอช. ได้ร่วมกับ เทศบาลตำบลแม่ยาว จัดทำแผนภาพรวมฟื้นฟูการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ประสบภัยพิบัติ 11 ชุมชน และกำหนดข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่เป้าหมายต้นแบบจัดการภัยพิบัติ สร้างความมั่นคงที่ดิน ที่อยู่อาศัย การพัฒนาความมั่นคงด้านสังคมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจยั่งยืน โดยมีตัวแทนประชาชนผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม – ดินโคลนถล่ม ใน ต.แม่ยาว เข้าร่วมนำเสนอปัญหาและข้อเสนอเชิงนโยบาย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สำนักงานภาคเหนือ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลแม่ยาว ได้จัดกระบวนการสำรวจข้อมูลครัวเรือนผู้ที่ไดรับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม ทั้งตำบลพบว่า มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 665 ครัวเรือน 11 หมู่บ้าน ในเบื้องต้นครัวเรือนดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือ แต่ยังไม่เพียงพอและยังขาดความช่วยเหลือ อีกจำนวนหนึ่ง จึงได้คัดกรองกลุ่มเป้าหมาย และรับรองร่วมกันกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องรับการช่วยเหลือ จำนวน 238 ครัวเรือน ได้เสนอแผนงานโครงการ “บ้านมั่นคงภัยพิบัติ” ต่อคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 โดยทางคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทได้เห็นชอบกรอบงบประมาณ ตามแผนงาน การนำเสนอของพื้นที่ตำบล งบประมาณรวม 11,493,049 บาท แบ่งเป็น 1. งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 8,000,000 บาท 2. งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค 1,789,719 บาท 3. งบพัฒนาด้านเศรษฐกิจ 384,870 บาท 4. งบพัฒนาด้านสังคม 818,460 บาท 5. งบพัฒนากระบวนการ 500,000 บาท
Kick Off การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวาระคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ประชุมครม.สัญจร นอกสถานที่ครั้งนี้ เป็นการตรวจราชการและติดตามการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เรื่องการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยและภัยพิบัติ การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม และการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในระยะยาว พบว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยหลายพื้นที่จังหวัดเชียงรายเข้าสู่สภาวะปกติแล้วมาตรการระยะเร่งด่วน คือ การฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา สัญญาณโทรศัพท์ การซ่อมแซมบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชนและกลุ่มเปราะบาง
พลเอก นิพัทธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับทุกภาคส่วน ที่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันสร้าง ไปพร้อมกับรัฐบาล เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ผมทราบว่า ส่วนราชการต่างๆ มีการบูรณาการร่วมกันเป็นอย่างดี ทั้ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ขบวนองค์กรชุมชน เครือข่าย และหน่วยงานภาคี ท้องที่ ท้องถิ่นในพื้นที่ ร่วมกันสำรวจผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบและความเสียหาย เพื่อให้เกิดรูปธรรมพื้นที่การจัดการภัยพิบัติ เกิดแผนจัดการระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ใช้พื้นที่ “แม่ยาว Model” เป็นแผนการฟื้นฟูชุมชนที่เกิดการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วม และบูรณาการแผนงานสอดคล้องกับปัญหาความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
ส่วนปัญหาที่ดินของบ้านรวมมิตรและบ้านอื่นๆในตำบลแม่ยาวนั้น รัฐบาลใส่ใจและให้ความสำคัญในการทำเรื่องความมั่นคงที่อยู่อาศัย ขณะนี้ ผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากผู้เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้วและอยู่ในช่วงที่กรมป่าไม้กำลังพิจารณาอนุญาตให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นผู้ใช้ประโยชน์ ก่อนที่ท่านผู้ว่าจะได้มอบให้ชุมชนต่อไป ซึ่งผมจะเร่งประสานผู้เกี่ยวข้องให้อนุญาตได้โดยด่วน เพื่อให้เกิดความมั่นคงทั้งในที่ดินที่อยู่อาศัยบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนในอนาคตตามนโยบายของรัฐบาล และในกรณีที่ การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติโดยภาคชุมชนร่วมกับรัฐบาลตามข้อเสนอนั้น ผมจะได้นำเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายภูมิธรรม เวชยชัย เพื่อสร้างกลไกร่วมกันทำงานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายต่อไป พลเอก นิพัทธ์ กล่าวในตอนท้าย
พ.อ. จักรวีร์ เสนีย์วรยุทธ์ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เชียงรายเป็นจังหวัดที่ประสบปัญหาจากภัยพิบัติเป็นอย่างหนัก อย่างน้อย 14 อำเภอ ฝนตกหนักตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม 67 เกิดอุทกภัยและดินถล่ม ตำบลแม่ยาวก็เป็นอีกชุมชนที่ได้ประสบกับภัยพิบัติครั้งนี้ ทั้งชีวิตทรัพย์สิน บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำการเกษตร เส้นทางคมนาคม ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟู และพัฒนาในพื้นที่ชุมชนหลังน้ำลด ในการฟื้นฟูชุมชนผู้ประสบภัยในตำบลแม่ยาว เป็นการบูรณาการความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เป็ยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งการป้องกัน การออกแบบแผนงานการจัดการภัยพิบัติ การฟื้นฟูครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ โดยขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงราย จากการดำเนินงานร่วมกันของชุมชน ท้องถิ่น และภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน ที่เข้ามาร่วมดูแลและช่วยเหลือทั้งการฟื้นฟู การซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัย ให้พี่น้องผู้ประสบภัย สามารถเข้าอยู่อาศัย ได้อย่างอบอุ่น และปลอดภัย
นายปรัตถกร การเร็ว ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว ได้กล่าวถึง สถานการณ์การเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เกิดเหตุอุทกภัยน้ำแม่กกและแม่น้ำห้วยแม่ซ้าย พุ่งทะลักเข้าท่วมพื้นที่ส่งผลให้น้ำทะลักท่วมบ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำ และเอ่อเข้าท่วมภายในชุมชน ทำให้มีบ้านเรือนในพื้นที่ตำบลแม่ยาวเกิดความเสียหาย ในเบื้องต้นครัวเรือนดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือ แต่ยังไม่เพียงพอและยังขาดความช่วยเหลืออีกจำนวนหนึ่ง ในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเบื้องต้น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว ได้ร่วมกับ ทางท้องที่ ท้องถิ่น ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาภาพรวมในพื้นที่ โดยมีกรอบเนื้อหาที่จะดำนินการในพื้นที่ตำบลแม่ยาวภายใต้แนวทางสำคัญ คือ การสร้างความมั่นคงในที่ดิน ตามนโยบาย คทช. การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การพัฒนาความมั่นคงด้านสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิต การฟื้นฟูระบบทุนชุมชน/กองทุนสวัสดิการชุมชน
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า การซ่อมแซมที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัยในพื้นที่ตำบลแม่ยาว เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ พบว่าเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี ในจังหวัดเชียงรายเกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั่วจังหวัด สถานการณ์ในปัจจุบันน้ำลดลงแล้ว แต่สภาพบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของพี่น้องยังคงน่าเป็นห่วง หน่วยงาน One Home จังหวัดเชียงราย และ พอช. ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การสร้างสังคมชุมชนเข้มแข็งอันเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญ และเกิดความยั่งยืนในสังคม จากสถานการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้การทำงานของ พม.หนึ่งเดียว สนับสนุนงาน ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด วางแผนเรื่องของฟื้นฟูเยียวยา อันเป็นบทบาทสำคัญหลัก เช่น เรื่องอาชีพ การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
นายกฤษดา กล่าวต่อ ในส่วนของ พอช. ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ เดือน สิงหาคม ถึง เดือน พฤศจิกายน 67 ได้สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือกรณีเร่งด่วน ในพื้นที่ ที่ประสบภัยพิบัติ ภาคเหนือ จำนวน 17จังหวัด ทั้งนี้มีการเปิดศูนย์อำนวยการฟื้นฟูภัยพิบัติ โดยขบวนองค์กรชุมชน ณ บ้านสันกอง ตำบลแม่ไร่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการประสานงานในระยะยาว นำไปสู่การพัฒนา ฟื้นฟูหลังประสบภัยพิบัติ โดยใช้กระบวนการ การมีส่วนร่วมของขบวนองค์กรชุมชน และ การจัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย การป้องกันภัย ร่วมกับหน่วยงานภาคีความร่วมมือ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในส่วนของการช่วยเหลือ พื้นที่จังหวัดเชียงราย สถาบันฯ ได้สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย สนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภค และ อุปกรณ์ทำความสะอาด สนับสนุนช่างชุมชน ในเบื้องต้น และในพื้นที่ตำบลแม่ยาว พอช. ได้สนับสนุนงบประมาณ โครงการบ้านมั่นคงภัยพิบัติ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย จำนวน 238 ครัวเรือน งบประมาณ 11,493,049 บาท
ทั้งนี้ตัวแทนชาวบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ใน 11 ชุมชน ต.แม่ยาว ร่วมกันระดมข้อเสนอเชิงนโยบายตำบลแม่ยาว ใน 4 ด้าน มีข้อสรุปดังนี้
ด้านที่ดิน
- เร่งรัด การอนุมัติ/อนุญาตที่ดินคทช. ในระดับจังหวัด ซึ่งได้มีการนำส่งข้อมูลไปยังคณะอนุฯ1 ด้านที่ดินแล้ว (ลุ่มน้ำ 3 4 5) เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนพัฒนาสาธารณูปโภคได้
- การขอขึ้นทะเบียนป่าชุมชนให้ครอบคลุมทั้งตำบล
- ขอให้ชุมชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายหลังจากออป.หมดสัญญา
- การจัดหาที่ดินรองรับให้กับกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย
- ผลักดันการสร้างความมั่นคงและความชัดเจนในที่ดิน ในการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
- ยกเลิกการประกาศพื้นที่ตำบลให้เป็นเขตอุทยาน
- ให้ยกเว้นค่าดำเนินการในการปรับปรุง ฟื้นฟู พื้นที่ในการรองรับที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัย
การจัดการภัยพิบัติ
- จัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ปลดล็อคข้อจำกัดด้านกฎหมายของหน่วยงานเจ้าของที่ดิน ในการสนับสนุน ช่วยเหลือ พื้นที่ประสบภัย
- การปรับภูมิทัศน์ เช่น การขุดลอกคลอง ภายใต้กฎหมายที่
- สนับสนุนให้มีระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติที่มีมาตรฐาน ทั่วถึง ทันท่วงที และมีช่องทางที่หลากหลาย
- มีแผนเตรียมการรับมือ วิธีการรับมือ การซักซ้อม
- ให้อำนาจหน้าที่หน่วยงานท้องถิ่นสามารถดำเนินการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติและสามารถบริหารจัดการเองในชุมชนได้
- ขอให้ปลดล็อคหรือผ่อนปรนข้อกฎหมายในการซ่อมแซมปรับปรุงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่
วัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม
- การอนุญาติให้ดำเนินการปลูกป่าเพื่อสร้างแนวกันชนภัยพิบัติธรรมชาติ (Buffer Zone)
- การจัดการปัญหาหมอกควัน ไฟป่า
- การจัดการขยะที่เป็นระบบ แบบครบวงจร (คัด แยก ขาย รีไซเคิล)
- งบประมาณสนับสนุนในการฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่น
เศรษฐกิจ
- สนับสนุนตลาดรองรับสินค้าและบริการของชุมชน
- มีการกำหนดการประกันราคาสินค้าเกษตร
- ผลักดันให้มีผังด้านการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิตและเชิงอนุรักษ์
- บรรจุจุดท่องเที่ยวชุมชนตำบลแม่ยาวเข้าสู่แผนการพัฒนาท่องเที่ยวจังหวัด และภาคเอกชน
นอกจากนี้ พลเอก นิพัทธ์ ผช.รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 597 บ้านรวมมิตร หมู่ 2 ตำบลแม่ยาว ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และ มอบถุงกำลังใจ ให้กับ นายยูเซ็ต พะอึ เพื่อเป็นการ Kick Off การซ่อมสร้างบ้านของตำบลแม่ยาว จำนวน665 ครัวเรือน 11 หมู่บ้าน ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งตำบลภายในเดือนธันวาคมนี้
นายยูเซ็ต พะอึ ได้กล่าวความรู้สึกว่า ยืนมองสภาพบ้านหลังจากโดนน้ำท่วมถึงกับร้องไห้ มันพังไปหมดทั้งตัวบ้านและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนมาซ่อมแซม ทำให้กลับมาในสภาพเดิมที่พออยู่ได้ จนมี สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ได้มาสำรวจครอบครัวผู้ได้รับเดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม บ้านของตนได้ถูกเสนอให้มีการซ่อมสร้างบ้าน โดยการช่วยเหลือและสนับสนุนจาก พอช. และหลายหน่วยงาน
“ผมรู้สึกดีใจที่ได้บ้านหลังใหม่ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาช่วยกันหางบมาให้ ขอบคุณคนที่มาช่วยสร้างบ้านด้วย เพราะลำพังผมเองก็ไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาสร้างใหม่ เพราะมีรายได้พอกินไปวันๆ เท่านั้น” นายยูเซ็ต บอกเล่าถึงความรู้สึก
ลงเสาเอกสร้างบ้านมั่นคงภัยพิบัติตำบลบ้านโป่ง
เมื่อวันศุกร์ที่ 29 พ.ย ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อม นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้ลงติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาประชาชนที่รับอุทกภัยในคราวการประชุมครมสัญจร และได้เป็นประธานในพิธียกเสาเอก บ้านมั่นคงภัยพิบัติ ให้กับพี่น้องในชุมชนบ้านห้วยหินลาด ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลจากอุทกภัย เมื่อกันยายน ซึ่งประสบน้ำป่าไหลหลากทำให้บ้านพังทั้งหลัง โดยเป็น 1ใน8 หลังคาเรือนที่ได้รับผลกระทบ และ ทาง พอช.ได้สนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมที่อาศัยในครั้งนี้ สำหรับตำบลบ้านโป่งได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อการซ่อมแซมที่อาศัยจากอุทกภัยจำนวน 40 หลังคาเรือน วงเงิน 1,810,868 บาท ณ บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
“จัดการภัยพิบัติภาคประชาชนอย่างยั่งยืน” ข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
ในการจัดเวทีในครั้งนี้ทางเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชนภาคเหนือ โดย เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ ได้มีการระดมข้อเสนอนโยบาย “จัดการภัยพิบัติภาคประชาชนอย่างยั่งยืน” ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล โดยมีรายละเอียดดังนี้
ภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อชุมชนในหลายมิติทั้งด้านที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจปากท้อง สุขภาพและสุขภาวะทางกายและใจ และมีแนวโน้มที่สถานการณ์ภัยพิบัติจะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อความเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ดังนั้นการออกแบบการจัดการภัยพิบัติจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วม ทางเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือจึงมีข้อเสนอต่อการจัดการเชิงนโยบาย ต่อการจัดการภัยพิบัติ คือ
- กระจายอำนาจการจัดการภัยพิบัติสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยการแต่งตั้งกลไกคณะทำงานการจัดการภัยพิบัติในระดับ ชาติ ระดับจังหวัด และระดับชุมชนท้องถิ่น
1.1 โดยมีองค์ประกอบ ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชน และสถาบันการศึกษา ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ในทุกระดับ
1.2 โดยคณะกรรมการฯ มีบทบาทหน้าที่ ดังนี้
- สนับสนุนให้มีการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ปัญหา ข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนาอย่างบูรณาการ
- สนับสนุนให้เกิดการใช้กระบวนการนวัตกรรมมาออกแบบการจัดทำแผนแม่บท ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านการจัดการภัยพิบัติ ที่ดินที่อยู่อาศัย สุขภาวะ ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
- จัดทำแผนปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชน ในระยะป้องกัน ระยะเผชิญน้ำท่วม และระยะเยี่ยวยาฟื้นฟู
- ทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการภัยพิบัติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ชุมชน
- ศึกษาและปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อใหองคกรปกครองสวนทองถิ่นและชุมชนสามารถมีสวนร่วม ในการกำหนดหรือออกแบบผังการพัฒนาพื้นที่ใหสามารถรองรับผลกระทบจากภัยพิบัติได้
- ทบทวนข้อกฏหมาย ให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถประกาศพื้นที่ภัยพิบัติได้ เพื่อให้สอดคล้องและทันต่อเหตุการณ์
- สนับสนุนให้เกิดกองทุนจัดการภัยพิบัติ ในระดับชุมชนท้องถิ่น ที่ช่วยเหลือการจัดการภัยพิบัติในทุกมิติ ภายใต้แผนการจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่
- พัฒนาระบบกองทุนและสมทบกองทุนการจัดการภัยพิบัติของชุมชนท้องถิ่น โดยใช้กองทุนเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วม และสร้างระบบการช่วยเหลือตนเองในระยะยาว
- จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร (data center) ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้และถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน
- ใช้กระบวนการนวัตกรรมสนับสนุนพื้นที่ปฏิบัติการในด้านต่างๆ เช่น ด้านเทคโนโลยี ด้านกระบวนการออกแบบนโยบาย และสนับสนุนผู้ประกอบการเชิงนโยบาย ผ่านกระบวนการ SOCIAL LAB อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี
- พัฒนาทรัพยากรบุคคลและพัฒนาศักยภาพชุมชนในการใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการข้อมูล การจัดทำแผน และการบริหารแผนการจัดการภัยพิบัติ
- พัฒนาระบบแจ้งเตือนและการซ้อมการเตือนภัย รวมถึงสนับสนุนความรู้ในการใช้เครื่องมือการเตือนภัยในระดับชุมชน
- สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (SAND BOX) ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ในเชิงภูมินิเวศน์ที่รองรับการจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อวิเคราะห์พื้นที่ความเสี่ยงการเกิดภัยพิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อจัดระบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสม
- พัฒนาแผนและผังจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นทุกมิติ เช่น การสร้างความมั่นคงที่ดินที่อยู่อาศัย การจัดการฐานทรัพยากรอย่างเหมาะสม การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและวิถีการผลิตที่สัมพันธ์กับบริบทพื้นที่ และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเพื่อป้องกันและลดปัญหาภัยพิบัติ โดยใช้ฐานองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับหลักวิชาการ
- สนับสนุนให้แผนการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เป็นข้อบัญญัติของท้องถิ่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต