จุฬาฯ ปักธงยุทธศาสตร์ปี 68 ดันสยาม-บรรทัดทอง สู่พื้นที่สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน

ถ้าใครมีโอกาสแวะมาเดิน Siam Square ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ อาจจะแปลกใจ  ที่สยามสแควร์ไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่สำหรับนักช็อป หรือวัยรุ่นที่มาเปิดหมวกร้องเพลงเท่านั้น แต่พื้นที่นี้กลับเป็นพื้นที่ที่ให้คนพิการมาเปิดเวทีแสดงความสามารถ ให้คนไทยมาเล่นกีฬาพาราลิมปิก ให้นิสิต นักศึกษามาออกร้านขายของทำกิจกรรมร่วมกัน และยังเป็นพื้นที่ให้คนไทยในเมืองได้ประสบการณ์ใหม่ของการผสมผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีกับศิลปวัฒนธรรมไทยได้อย่างไม่เคยปรากฏที่ใจกลางสยามสแควร์มาก่อน เช่น ประเพณีลอยกระทงที่รังสรรค์สระน้ำด้วยเทคโนโลยี LED  ครั้งแรกของประเทศไทยที่มีความยาวกว่า 30 เมตร ให้ทุกคนได้ลอยกระทง และได้ทำบุญ เล่นเกมงานวัดนำเงินไปทำสาธารณประโยชน์ หรือหลายคนอาจยังจำได้กับภาพการเปลี่ยนสี่แยกบรรทัดทองให้กลายสี่แยกศิลปะ ความสุข ความสนุกสนาน ในแบบฉบับคนไทยที่มีความโดดเด่นจนได้ชื่อว่าชิบูย่าสไตล์ไทยแลนด์ ที่ทำให้คนเมืองได้ลงมาเดินถนน ซึ่งไม่ใช่แค่มากินข้าว แต่ได้มาปั่นจักรยาน ดูโชว์จากศิลปินเปิดหมวกและทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน นี่คือส่วนหนึ่งจากการเริ่มต้นการผลักดันยุทธศาสตร์ ด้านการบริหารจัดการพื้นที่ของจุฬาฯ จากทีมบริหารชุดใหม่  นำโดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร  อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย  ที่กำลังจะนำไปสู่ภาพของการบริหารพื้นที่บนแนวคิดใหม่ของจุฬาฯ ที่อยากสร้าง Power of Togetherness คือ การเชื่อมโยงจุฬาฯกับสังคมไทยให้มากขึ้น  โดยนำทรัพยากร เทคโนโลยี องค์ความรู้ต่างๆ มาเสริมสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพื้นที่รอบๆ มหาวิทยาลัยที่บริหารจัดการโดย PMCU (Property Management of Chulalongkorn University) หรือ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ เป็นอีกแพลตฟอร์มสำคัญในการสร้าง Power of Togetherness ระหว่างจุฬาฯ หน่วยงานต่างๆ และสังคมไทยให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

Siam Square Walking Street For All จากเวทีแจ้งเกิดของวงดนตรีวัยรุ่น สู่ถนนแห่งโอกาสสำหรับคนไทยทุกคน หลังจากที่ PMCU ได้สร้างสรรค์ถนนคนเดินขึ้นใจกลางสยามสแควร์ ที่เปลี่ยนภาพพื้นที่แห่งนี้จากแหล่งช็อปปิ้งใหญ่ใจกลางเมือง สู่ Walking Street ที่วัยรุ่น และคนรุ่นใหม่มาโชว์ความสามารถ และไลฟ์สไตล์ที่เป็นตัวเอง จนมีคลิปไวรัลและช่องยูทูป  tiktok  มากมาย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพของสยามสแควร์ ที่เป็นศูนย์กลางของแหล่งรวมเยาวชนไทย ดังนั้นการสร้างสรรค์พื้นที่แห่งนี้ ให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ จากประสบการณ์จริง จึงเป็นอีกเป้าหมายใหม่ของจุฬาฯ ที่เชื่อว่าความรู้ที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นแค่จาก “การจำ” เท่านั้น แต่ต้องเกิดจาก “ความทรงจำ” ที่เกิดจากการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิด การสร้าง และการได้สนุกไปด้วยกัน ในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ การจัดสรรพื้นที่ของสยามสแควร์ จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการผนึกกำลังกับภาคเอกชนและแบรนด์ชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือเยาวชนไทย ที่จะร่วมกันพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ให้กับคนไทยทุกคนให้เกิดความทรงจำที่ดีและเป็นประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

ยิ่งไปกว่านั้น อธิการบดี จุฬาฯ ยังมีนโยบายที่เน้นให้สยามสแควร์แห่งนี้ควรเป็นพื้นที่ ที่เปิดกว้างให้กับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่มได้มาใช้พื้นที่นี้ ทั้งเกษตรกร ชาวไร่ ควรได้มีโอกาสเอาสินค้ามาขาย, กลุ่ม LGBTQIA+ ควรได้ใช้เป็นพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งความหลากหลายและโดดเด่น ศิลปินเปิดหมวก นักดนตรีอิสระควรได้มีเวทีในการปล่อยของ เหมือนกับที่ศิลปินและดาราดังๆ  ได้มาเฉิดฉายผ่านงานอีเว้นท์มากมาย

บรรทัดทอง จากยุคทองของผู้ประกอบการรุ่นใหม่  สู่โมเดลการพัฒนาเมืองแห่งความยั่งยืน “บรรทัดทองเป็นพื้นที่ ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดกลายเป็นถนนที่คึกคัก” รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน รองอธิการบดี ด้านการจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พร้อมชี้ให้เห็นถึงภาพที่กว้างขึ้นว่าบรรทัดทองที่ทุกคนนึกถึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่บรรทัดทองที่จุฬาฯ ดูแลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วพื้นที่บรรทัดทองนี้ เริ่มตั้งแต่บรรทัดทอง ไล่ไปถึงสวนหลวงและสามย่าน ซึ่งพื้นที่นี้มีลักษณะของ “เมือง” ที่ประกอบไปด้วยคนหลายกลุ่ม หลากหลาย Generations จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 50 มหาวิทยาลัยของโลกที่ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน (Times Higher Education Impact Rankings 2024) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการนำแนวทางของ SDGs มาใช้ในการพัฒนาพื้นที่ย่านนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืน โดยมีนิสิตและบุคลากรของจุฬาฯ เข้าไปเป็นกลไกและกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน

SDGs City of Togetherness เมืองที่ทุกคน อยู่ร่วมกัน และเติบโตไปด้วยกัน จากแนวคิดการสร้างเมืองต้นแบบ SDGs City ผสานกับแนวคิด Power of togetherness จุฬาฯ จึงวางแผนที่จะพัฒนาย่านบรรทัดทอง-สวนหลวง-สามย่าน ให้เป็นต้นแบบเมืองที่ทุกๆ คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข โดยแผนการพัฒนาพื้นที่ได้เริ่มดำเนินไปบางส่วนแล้ว ตั้งแต่การศึกษาโมเดลพัฒนาทางเท้าย่านบรรทัดทอง, การนำสายเคเบิลบางส่วนลงใต้ดิน, การปรับพื้นถนน เพิ่มแสงสว่างตามซอยต่างๆ โดยในปีหน้าจุฬาฯ เตรียมเดินหน้าพัฒนา 4 จุดสำคัญได้แก่

  1. บรรทัดทอง-สวนหลวง ถนนคนเดินที่รวบรวมของกิน ร้านค้าและกิจกรรมออกร้านมากมายตลอดทั้งปี
  2. อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ พื้นที่สีเขียวสำหรับคนเมือง ที่นำเสนอกิจกรรมกลางแจ้งดีๆ ให้คนเมืองได้ออกมาใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของการใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
  3. สามย่าน-U Center คอมมูนิตี้นิสิตและพนักงานออฟฟิศ ที่จะเป็นแหล่งรวมนิทรรศการศิลปะที่ใครก็อยากเสพ และงานออกร้านดีๆ ที่จะฮีลใจทุกคน ให้ใจฟูได้แม้วันที่แสนเหนื่อยล้า
  4. Block 28 Chula-Creative Playground พื้นที่รวมตัวเพื่อต่อยอด สร้างสรรค์ไอเดียธุรกิจใหม่ ที่นิสิต คนรุ่นใหม่ที่จะได้มาเจอกับครีเอทีฟและผู้ประกอบการเก่งๆ ได้มาร่วมกันทำโปรเจกต์สนุกๆ ร่วมกัน

ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวปิดท้ายว่า “วันนี้จุฬาฯ ไม่ใช่แค่เจ้าของ หรือผู้ให้เช่าพื้นที่ แต่เราจะเป็นคนที่เชื่อมโยงทุกๆ คนในพื้นที่เข้ามาหากัน และสรรค์สร้างสิ่งดีดีร่วมกัน ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ที่คำว่ากำไรของเราวันนี้ ไม่ใช่แค่ในรูปของตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่เราอยากวัดกำไรกันที่ความสุขและการเติบโตของคนที่อยู่ร่วมกันกับเรา วันนี้ไม่ใช่แค่ Revenue Share แต่เรายังอยากได้ Mind Share คือ ถ้าคนนึกถึงความสุข ความยั่งยืน ต้องนึกถึงพื้นที่ของเราและในที่สุดนำไปถึง Heart Share คือ จุฬาฯ จะเป็นสถาบันที่เข้าไปอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคนครับ”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนภัยคนใช้รถ จับ 2 โจรแดนมังกร ตระเวนลักทรัพย์ตามลานจอด

พล.ต.ท.สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.กัมปนาท อรุณคีรีโรจน์ ผบก.น.7

จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand