คมนาคมเสนอ ครม.ชู ‘บ้านมั่นคงหาดเล็ก จ.ตราด’ ต้นแบบการ MoU. แก้ปัญหาชุมชนสร้างบ้านรุกลำน้ำ

ชุมชนชาวประมงบ้านหาดเล็ก  อ.คลองใหญ่  จ.ตราด

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ/ กระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ  โดยออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาตกว่า 9,800  ราย  พร้อมทั้งส่งเสริมให้ชุมชน  ท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ร่วมแก้ไขปัญหา  โดยยกตัวอย่าง MoU. ระหว่างกรมเจ้าท่า  พอช. กระทรวง พม. และ อปท. แก้ไขปัญหาชุมชนรุกล้ำลำน้ำตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงในพื้นที่กรมเจ้าท่า’ ที่บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด กว่า 500 ครัวเรือน  ขณะที่ พอช.ขยายผลไปยัง 6 จังหวัดอันดามัน เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิต

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  เมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา  โดยมีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน   ครม.ได้รับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอความคืบหน้าผลการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งรุกล้ำลำน้ำ  โดยกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการตามแนวทางต่างๆ   เช่น  การสำรวจจัดทำแผนที่และรายละเอียดสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำทั่วประเทศ  ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ  ดำเนินคดีกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า   โดยกรมเจ้าท่าได้ออกคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต 9,892 ราย   อยู่ระหว่างอุทธรณ์และพิจารณา 5,387 ราย  ฯลฯ

ชูบ้านมั่นคงหาดเล็ก  ต้นแบบ MoU. แก้ไขปัญหาร่วมกัน

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมยังรายงานต่อที่ประชุม ครม.  เรื่องการรณรงค์ประชาสัมพันธ์  สร้างความเข้าใจ  และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนชน  ท้องถิ่น  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาสิ่งรุกล้ำลำน้ำ  โดยการจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MoU.) เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งรุกล้ำลำน้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนตามโครงการ บ้านมั่นคงในพื้นที่กรมเจ้าท่า’ ระหว่างกรมเจ้าท่า  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เทศบาลตำบลหาดเล็ก  องค์กรชุมชนจังหวัดตราด  และจังหวัดตราด  เมื่อวันที่ 11  ตุลาคม  2561   ที่บ้านหาดเล็ก    อ.คลองใหญ่  จ.ตราด

พิธีลงนามความร่วมมือที่บ้านหาดเล็กเมื่อ 11 ตุลาคม 2561

การลงนามบันทึกความร่วมมือของ 5 หน่วยงานดังกล่าว  เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาชุมชนปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำ  เนื่องจากที่ผ่านมามีประชาชน  ชุมชน  ปลูกสร้างบ้านเรือน  สิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำที่กรมเจ้าท่าดูแลอยู่ทั่วประเทศ  เช่น  ที่ดินริมทะเล  ชายฝั่ง  แม่น้ำ  ฯลฯ  ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  การทำลายป่าชายเลน  น้ำเสีย  ขยะจากชุมชน   สิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางเดินน้ำ  ฯลฯ 

ขณะเดียวกันประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยก็ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  การซ่อมแซมบ้านเรือนหรือปรับปรุงสาธารณูปโภคต้องได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า  หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับและจำคุก  สภาพที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมในชุมชนทรุดโทรม   ไม่ถูกสุขลักษณะ

การลงนามดังกล่าวมีสาระสำคัญ  เช่น  กรมเจ้าท่า อนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลำน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่า  และควบคุมการอนุญาตให้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักอาศัยของพนักงานท้องถิ่นให้อยู่ภายในขอบเขตและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า  ควบคุมดูแลการพัฒนาชุมชน  การปรับปรุงซ่อมแซมที่พักอาศัย  รวมถึงการจัดสาธารณูปโภคในชุมชนมิให้กระทบต่อสภาพแวดล้อมทางน้ำหรือประโยชน์สาธารณะ

ผู้แทนกระทรวงคมนาคมมอบใบอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำให้ชาวหาดเล็กเมื่อ 11 ตุลาคม 2561

พอช. สนับสนุนการจัดทำข้อมูล  ออกแบบ  วางผัง  วางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยระบบสาธารณูปโภค  สภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน  ฯลฯ  อนุมัติงบสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนและสาธารณูปโภคจำนวน 60 ครัวเรือน งบประมาณไม่เกินครัวเรือนละ 50,000 บาท 

เทศบาลและชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรมเจ้าท่า  ร่วมกันสำรวจข้อมูลผู้อยู่อาศัย  จัดกลุ่มตั้งกลุ่มออมทรัพย์  อนุญาตให้ผู้อยู่อาศัยปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักอาศัยในพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารภายในขอบเขตและเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า  จัดระบบป้องกันการขยายพื้นที่เพิ่ม  จัดการขยะ  น้ำเสีย  พัฒนาสภาพแวดล้อมในชุมชน   โดยเทศบาลร่วมสนับสนุนบุคลากรและงบประมาณตามแผนพัฒนาท้องถิ่น  ฯลฯ

เทศบาลหาดเล็กเดินหน้าพัฒนาชุมชน

นางสาวกิจปภา  ประสิทธิเวช  นายกเทศบาลตำบลหาดเล็ก  กล่าวว่า  พื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลหาดเล็กเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาแคบๆ  ยาวขนานไปกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพประมงพื้นบ้าน  จึงปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมชายฝั่ง  บางส่วนปลูกสร้างลงในน้ำ  ส่วนใหญ่มีสภาพทรุดโทรมเพราะปลูกสร้างมานาน  เสาเรือนแช่น้ำทะเล  นานปีก็ผุพัง  เมื่อได้รับอนุญาตสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำจากกรมเจ้าท่าตามโครงการ บ้านมั่นคงในพื้นที่กรมเจ้าท่า’  ชาวบ้านจึงเริ่มซ่อมแซมบ้านในช่วงปลายปี 2561  เฟสแรกจำนวน 60 หลัง  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณ 

“ตอนนี้ 60 หลังแรกซ่อมสร้างเสร็จแล้ว  กำลังจะดำเนินการต่ออีกประมาณ 500 หลัง  แต่มาติดปัญหาโควิดในช่วงปี 2563-2564  จึงหยุดเอาไว้ก่อน  และจะเริ่มซ่อมสร้างต่อในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้  เพราะเป็นช่วงหน้าแล้ง  น้ำทะเลจะลด  ทำให้รื้อถอนซ่อมแซมเสาเรือนได้ง่าย  แต่จะทยอยทำประมาณ 150-200 หลัง  จนกว่าจะแล้วเสร็จ”  นางสาวกิจปภาบอกแผนงาน

ชาวหาดเล็กช่วยกันซ่อมแซมบ้าน

เธอบอกว่ารู้สึกดีใจ  เมื่อทราบข่าวว่ากรมเจ้าท่าได้รายงานคณะรัฐมนตรีเรื่องการลงนามแก้ปัญหาบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำที่บ้านหาดเล็กซึ่งถือเป็นต้นแบบในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาระหว่างหน่วยงานต่างๆ  ทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยในที่ดินกรมเจ้าท่ามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  นอกจากนี้ตำบลอื่นๆ  ก็ใช้แนวทางของบ้านหาดเล็กไปแก้ไขเรื่องบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำ  เช่น  ตำบลไม้รูด  อำเภอคลองใหญ่  ตำบลแหลมกลัด  อำเภอเมือง

“ดีใจที่เทศบาลและชุมชนได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยจนได้รับการยอมรับ  เพราะที่ผ่านมาต้องฝ่าฟันอุปสรรรคและปัญหาต่างๆ มามาก  ส่วนการซ่อมสร้างเฟสใหม่  เทศบาลจะสนับสนุนเรื่องการถอดแบบว่าหลังไหนจะซ่อมอะไร  ใช้วัสดุอะไรบ้าง  โดยใช้งบจาก พอช.หลังหนึ่งไม่เกิน 25,000 บาท  และงบสาธารณูปโภคส่วนกลางหลังละ 25,000 บาท  เช่น  ทางเดิน  สะพาน  ใช้ช่างชุมชน  ใช้ทหารมาช่วยเพื่อประหยัดงบ  นอกจากนี้เทศบาลมีแผนสนับสนุนเรื่องการสร้างพื้นที่ส่วนกลาง  ปลูกต้นโกงกาง  ดูแลป่าชายเลน  จัดการขยะ  น้ำเสีย  ปรับปรุงสภาพแวดล้อม  ทำให้ชุมชนน่าอยู่  และหลังโควิดก็จะทำเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนต่อไป”  นายกเทศบาลตำบลหาดเล็กกล่าว

พอช.ต่อยอดแก้ปัญหาชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการแก้ไขปัญหาชุมชนรุกล้ำลำน้ำในพื้นที่กรมเจ้าท่าที่บ้านหาดเล็ก จ.ตราด  ดังกล่าวแล้ว   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.ยังมีแผนงานการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน

นายธีรพล  สุวรรณรุ่งเรือง  ผู้อำนวยการ ‘โครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดพื้นที่อันดามัน 6 จังหวัด’  กล่าวว่า  พื้นที่อันดามันภาคใต้ 6 จังหวัด  คือ  ระนอง  พังงา  กระบี่  ภูเก็ต  ตรัง  กระบี่  และสตูล  รวม 29 อำเภอ  139 ตำบล  มีชุมชนผู้มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินทั้งในเมืองและชนบทเป็นจำนวนมาก  และมีชุมชนที่อาศัยและกินในเขตอุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า  เขตห้ามล่า  ป่าชายเลน  กรมเจ้าท่า  ที่ดินรัฐ  และเอกชนประเภทอื่น ๆ อีกมากมาย 

ที่ผ่านมารัฐหรือหน่วยงานที่ดินในเขตป่า  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการหาแนวทางการแก้ไขและผ่อนปรนการอยู่อาศัยและทำกินของประชาชน  เกิดแนวทางและรูปธรรมการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยของประชาชนในหลายพื้นที่  เช่น  การอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกิน   พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน   ควบคู่กับการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง  ฟื้นฟูระบบนิเวศน์  ดิน   น้ำ  ป่า  สอดคล้องกับวิถีชุมชนดั้งเดิม  แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณจำนวนที่ได้ดำเนินการ  พบว่ายังมีพื้นที่ที่มีปัญหาอีกจำนวนมาก  พอช.จึงจัดทำแผนงานเพื่อร่วมมือกับองค์กรชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ประชาสังคม  ภาคเอกชน  ภาคีต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อจะร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ชุมชนชายฝั่งอันดามันสู่ความยั่งยืนทุกมิติ  นายธีรพลกล่าว 

ชุมชนชาวประมง 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันปลูกสร้างบ้านในที่ดินป่าชายเลน  บางชุมชนอยู่ในที่ดินกรมเจ้าท่า

เขาบอกว่า  ขณะนี้ทั้ง 6 จังหวัดอันดามันกำลังเริ่มต้นโครงการ  เริ่มจากการจัดเวทีประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน  จัดอบรมการสำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือนที่เดือดร้อน  การใช้เครื่องมือ GPS จับพิกัดพื้นที่ชุมชน  การจัดทำแผนที่  ฯลฯ  นำข้อมูลมาวางแผนแก้ไขปัญหา  โดยในปีนี้จะเริ่มต้นสร้างพื้นที่รูปธรรมในการแก้ไขปัญหาจังหวัดละ 2 ตำบล  รวม 6 จังหวัด 12 ตำบล  เพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนดำเนินงานระยะ 3 ปี  เริ่มในปี 2566-2568

“ตามแผนงานเราจะเริ่มต้นจากชุมชนชาวประมงหรือชายฝั่งทะเลก่อน  เพราะสภาพพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามันมีชุมชนชายฝั่ง  ชุมชนในพื้นที่ของกรมเจ้าท่า  และชุมชนในเขตป่าชายเลนจำนวนมาก  โดยมีพื้นที่ตัวอย่างที่มีการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว  เช่น  ชุมชนชาวประมงในเขตเทศบาลตำบลทรายขาว  อ.คลองท่อม  จ.กระบี่  ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายรัฐบาลที่มีการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ท้องถิ่นจัดการ   โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  หน่วยงานเจ้าของที่ดิน  สามารถอนุญาตให้ชุมชนในเขตป่าไม้  ป่าชายเลน  ชายฝั่ง  กรมเจ้าท่า  เข้าอยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้อง  และช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้  ขณะที่ พอช.ก็สามารถเข้าไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนได้” นายธีรพลยกตัวอย่าง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต