คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาในวาระฉลองครบรอบ 70 ปี นำเสนองานวิจัยระดับปริญญาเอก เพื่อต่อยอดสู่การนำไปใช้จริงในหัวข้อ “MEDIAVERSE : สื่อมัลติแพลตฟอร์มไทยอยู่รอด-สังคมไทยอยู่ดี”รับมือภูมิทัศน์สื่อทีวีที่เปลี่ยนไป บีบสนามการแข่งขันธุรกิจทีวีดิจิทัลไทยเข้าสู่วงล้อมจากสื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามชาติ แนะถึงเวลารื้อเกณฑ์วัดเรตติ้งต้องสะท้อนความต่างของบุคคล ตัวแทนผู้ชมต้องปรับ ผลงานวิจัยชี้ ปัจจัยด้านจิตวิทยา เทคโนโลยี มีอิทธิพลต่อการเปิดรับสื่อและเนื้อหาคุณภาพจากมุมมองผู้ชมต่างกันคาดหวัง กสทช. ผู้ประกอบการสื่อ และมีเดีย เอเยนซี่ ใช้เป็นไอเดียปรับ-เปลี่ยน มั่นใจจะเป็นตัวแปรสำคัญหนุนศักยภาพสื่อมัลติแพลตฟอร์มไทยพร้อมแข่งขันธุรกิจโฆษณากับสื่อข้ามชาติ
ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บทบาทของคณะฯ มุ่งสร้างบัณฑิตคุณภาพและผลักดันความเป็นมืออาชีพด้านสื่อและการสื่อสาร การจัดงาน JC PhD Research Forum ครั้งที่ 1 เพื่อเปิดโอกาสให้ว่าที่บัณฑิตปริญญาเอกได้นำผลงานวิจัยนำเสนอสู่สาธารณชน และสามารถต่อยอดเป็นแนวทางการพัฒนาสื่อของไทย
นางสาวสุวัฒนา นริศรานุกูล นักศึกษาปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์ฯ และเป็นผู้ทำงานด้านการวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์สื่อ มากว่า 20 ปีกล่าวถึง“ทีวีเรตติ้ง” ว่าเป็นประเด็นปัญหาเรื้อรังรายการคุณภาพ ส่วนใหญ่มักไม่มีเรตติ้ง จึงมักถูกถอดออกจากผังผู้ประกอบการสื่อ จึงเน้นผลิตรายการที่คาดว่าจะได้ เรตติ้งสูง นั่นก็คือ รายการบันเทิงตามกระแส จึงเกิดคำถามว่า การที่รายการให้คุณค่าที่แตกต่างแต่ไม่มีเรตติ้งนั้น เพราะไม่มีคนดู หรือเป็นเพราะตัวแทนผู้ชมที่วัดผลการชมนั้น ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายรายการ จึงได้ตั้งคำถามต่อ “หลักเกณฑ์การเลือกตัวแทนผู้ชม” ที่จะสะท้อนผู้ชมที่ต้องการคุณค่าที่แตกต่างได้อย่างไร
ทั้งนี้ จากการทำวิจัยเรื่อง “ปัจจัยเทคโนโลยี จิตวิทยา ที่มีอิทธิพลต่อความคาดหวังต่อสไตล์รายการคุณภาพและการเปิดรับสื่อโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์ม” จึงได้ทำการศึกษาและทดสอบความเป็นไปได้ในการนำปัจจัยด้านจิตวิทยาได้แก่ ลักษณะพื้นอารมณ์ หรือ The 4 Temperaments (Keirsey and Bates,1984)) และแนวคิดทางด้านการตลาดรูปแบบการตัดสินใจบริโภค และใช้ปัจจัยเทคโนโลยีมาใช้เป็นหลักเกณฑ์การคัดเลือกตัวแทนและขยายผลไปสู่การเก็บข้อมูลการชมรายการแบบเรียลไทม์จริง โดยหลักเกณฑ์การเลือกตัวแทนที่ดี ที่เหมาะสม จะเป็นการสนับสนุนสื่อ สามารถผลิตรายการหรือคัดสรรรายการที่ให้คุณค่าที่แตกต่าง อาจจะนำผู้ชมจากการชมบนแพลตฟอร์มอื่น กลับคืนสู่สื่อแพลตฟอร์มของไทย
ปัจจุบัน สื่อโทรทัศน์ ขยายสู่การเป็นสื่อโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์ม”โดยได้เริ่มให้มีการวัดผลการชมข้ามแพลตฟอร์มบนสื่อทีวีออนไลน์แบบชมสด แต่ผลของค่า “ทีวีเรตติ้ง” ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเดิมแต่อย่างใด อาจจะเป็นเพราะการใช้แหล่งข้อมูลการวัดบนสื่อออนไลน์ เป็นกลุ่มเดียวกันกับตัวแทนผู้ชมที่วัดผลบนสื่อทีวีดิจิทัล (Single source) ผลที่ได้จึงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เรตติ้งที่ได้จากผู้ชมบนทีวีออนไลน์ ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ การที่วัดแบบข้ามแพลตฟอร์มโดยใช้กลุ่มตัวแทนเดิม ปัญหาจึงยังคงเป็นประเด็นคำถามเดียวกันนั่นคือ “หลักเกณฑ์การเลือกตัวแทนผู้ชม” มีความเหมาะสมแล้วหรือไม่การวัดผลระดับครัวเรือน และการจัดกลุ่มผู้ชมด้วยคุณลักษณะทางกายภาพเท่านั้น อาจจะไม่เพียงพอ
ก้าวต่อไป หลังจากสิ้นสุดใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลในปี 2572 การพิจารณาเลือกแพลตฟอร์มเผยแพร่ไม่ว่าจะเป็นผสมผสานระบบบรอดแคสต์กับแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ละแพลตฟอร์มล้วนมีข้อดี ข้อเสีย เนื่องจากระบบบรอดแคสต์ ยังถือว่าเป็นสื่อสำหรับการเข้าถึงประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะรากหญ้า คนชายขอบ ที่จะได้โอกาสรับชมรายการ รับข่าวสารได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อเนื่องจากค่าอินเตอร์เน็ต รวมถึงการที่ไม่มีระบบบรอดแคสต์ สื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ของไทยจะสามารถแข่งขันกับสื่อแพลตฟอร์มข้ามชาติได้มากน้อยเพียงไร จะคุ้มค่าต่อการลงทุนผลิตเนื้อหาได้หรือไม่
ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ควรเร่งทบทวน และปรับแก้ไขหลักเกณฑ์การวัดเรตติ้ง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน ยกระดับประสิทธิภาพการวัดเรตติ้ง และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับสื่อโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์มของไทย โดยเสนอแนวคิดในการพิจารณาปรับเปลี่ยน ใน 3 ประเด็นหลักต่อไปนี้
ประเด็นแรก หลักเกณฑ์ตัวแทนผู้ชมรายการ จากระดับครัวเรือน เป็นการวัดระดับบุคคล เพื่อการจัดกลุ่มคุณลักษณะที่ควรจะสะท้อนความแตกต่างของบุคคลได้ เช่นเดียวกับสื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างชาติ ล้วนให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ผู้ชมในเชิงลึก อาทิ ความสนใจ กิจกรรมหรือพฤติกรรม จากการติดตามวัดการเปิดรับเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของผู้ใช้สื่อ
ประเด็นที่ 2 การวัดผลข้ามแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์โดยใช้กลุ่มตัวอย่างหรือตัวแทนผู้ชมถือเป็นการลดขีดความสามารถของสื่อทีวีออนไลน์ ที่สามารถวัดแบบ Census คือ ทุกหน่วยที่มีการเปิดรับชมอยู่แล้ว จึงต้องพิจารณาต่อตัวชี้วัดใหม่ แทนที่จะวัดประเมินผลด้วย “ค่าเรตติ้ง” บนออนไลน์ เพียงเพื่อต้องการรวม“ค่าเรตติ้ง” จากสื่อโทรทัศน์ระบบบรอดแคสต์นั้น เป็นวิธีการที่เหมาะสมหรือไม่ ?
“ในฐานะผู้วิจัยมีความเห็นว่า แทนที่จะใช้ค่า “ทีวีเรตติ้ง” ควรแยกเป็น ยอดวิวทีวีระบบบรอดแคสต์ (จากการอ้างอิงทางสถิติ) กับ ยอดวิวออนไลน์ (เป็นแบบ Census) นำมาวิเคราะห์ผลร่วมกันได้ จะเกิดความคุ้มค่าต่อ Media ROI ที่ผู้ลงทุนใช้งบโฆษณาต้องการประเมิน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสื่อสามารถดำเนินธุรกิจสื่อต่อไป ทั้งยังสามารถสนับสนุนผลิตรายการให้คุณค่าที่แตกต่างได้มากขึ้น”
ประเด็นที่ 3 การนิยามตัวชี้วัดสำหรับการวัดประเมินผลของสื่อโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์มของไทย ต้องพิจารณาใหม่ให้เหมาะสมกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของสื่อในยุคสังคมดิจิทัล อาทิ การคำนวณฐานคิด “ค่าทีวีเรตติ้ง” ไม่ควรจะเทียบจากประชากร เนื่องจากการบริโภคสื่อ มีแพลตฟอร์มต่างๆ มากมาย ทำให้การเข้าถึงผู้ชม (Media Penetration) สัดส่วนคนดูทีวีออฟไลน์ ลดลงจาก 63% เหลือ 53%
“ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสื่อทีวีของประเทศไทย ต้องคิดนอกกรอบจากวิธีการวัดเรตติ้งที่ทำมายาวนานหลายสิบปี และรื้อโครงสร้าง (reconstruct) หลักเกณฑ์การวัดเรตติ้งใหม่ ให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ใหม่ของสื่อยุคสังคมดิจิทัล เพราะถ้าดูจากพฤติกรรมเสพสื่อบันเทิงของคนไทย รายการทีวี ก็ยังอยู่ในอันดับแรกๆ รายการผลิตที่มีคุณภาพของไทยหลายงาน ได้รับการยอมรับบนสื่อสตรีมมิ่งทั่วโลก แต่พอหันไปมองเรตติ้งที่ไม่ได้ใช้การเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเป้าหมายตัวจริง กลายเป็นว่ามีเรตติ้งน้อย ได้รับความนิยมน้อย คนซื้อสื่อก็เลยไม่ซื้อโฆษณา ส่งผลกระทบต่อรายได้ และรายการคุณภาพดีๆ ต้องถูกถอดออกจากผัง ขณะเดียวกัน คนไทยก็เสียโอกาสในการได้รับชมคอนเทนต์ที่หลากหลายตามความสนใจ ขณะที่ แพลตฟอร์มอื่นๆ ที่นำรายการของช่องทีวีต่างๆ หรือจากผู้ผลิตไปให้บริการโดยไม่มีต้นทุนการผลิต กลับสามารถแสดงผลยอดผู้ชมตามจริงได้ และคิดค่าโฆษณาได้ถูกกว่า จึงดูดเม็ดเงินโฆษณาไปได้ ที่สำคัญแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง หรือ OTT ส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการต่างชาติ”
ทั้งนี้ จากผลการวิจัย พบว่า ผู้ชมใช้สื่อสังคมออนไลน์เปิดชมรายการสไตล์บันเทิงตามกระแสอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นสนามแข่งขันดุเดือดของแพลตฟอร์มต่างชาติ เนื่องจากไม่มีต้นทุนการผลิตเนื้อหา ทำให้สื่อแพลตฟอร์มต่างชาติสามารถตั้งราคาค่าโฆษณาถูกกว่าสื่อแพลตฟอร์มของไทยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผลวิจัย ยังได้ค้นพบว่า การจัดกลุ่มผู้ชมตามลักษณะจิตวิทยา-พื้นอารมณ์ ในกลุ่มที่มีลักษณะแบบผู้แสวงหาภูมิปัญญา เป็นกลุ่มที่ต้องการชมสไตล์รายการที่ให้ความรู้และให้คุณค่าเชิงศิลป์ ด้วยศักยภาพผู้ผลิตของไทยในปัจจุบัน สามารถสร้างสรรค์งานจนได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้น การสร้างจุดแข็งด้วยการวางตำแหน่งให้กับสื่อโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์มของไทย คือ “สื่อที่ให้คุณค่า (ระดับพรีเมียม) ต่อมวลชน” หรือ “Premium Mass” การรักษาเนื้อหาที่เป็นสมบัติของช่อง ถือเป็น Exclusive ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นผู้ให้ข้อมูล หลายท่านมองว่า เนื้อหาของรายการเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ผู้ชมส่วนใหญ่ ยังชื่นชอบเนื้อหา เรื่องราววิถีชีวิตของคนไทย เนื้อหาที่ดีมีคุณภาพตอบสนองต่อผู้ชม จะดึงให้การเปิดรับชมกลับมาอยู่บนแพลตฟอร์มของไทยได้ ทั้งนี้ การจะสร้างมาตรฐานระดับ “Premium Mass” การวัดผลผู้ชมจำเป็นต้องสะท้อนความต้องการคุณค่าแตกต่างที่หลากหลาย เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการประเมินผลการรับชมของแต่ละกลุ่ม และคาดว่าการวัดผลตรงกลุ่ม น่าจะสามารถเพิ่มค่าทีวีเรตติ้งสำหรับรายการที่ให้คุณค่าดังกล่าวได้มากขึ้น
นางสาวสุวัฒนา ได้สรุปไว้ว่า “รายการเนื้อหาดี ผลิตดีแค่ไหน ถ้าการวัดผลผู้ชมไม่สามารถสะท้อนผู้ชมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายรายการ การวัดข้ามแพลตฟอร์มด้วยวิธีการไม่ตอบโจทย์ ไม่เพียงทำลายคุณภาพการผลิตรายการของไทย ยังอาจจะทำให้สื่อหลักของไทย ไม่สามรถอยู่รอดต่อไปในอนาคต ดังนั้นหลักเกณฑ์การคัดเลือกกลุ่มตัวแทนวัดผล การจัดสรรสัดส่วนของแต่ละกลุ่มอย่างมีหลักการ-เหตุผล และวิธีการวัดประเมินผลที่มีประสิทธิภาพสำหรับสื่อโทรทัศน์มัลติแพลตฟอร์มได้อย่างแท้จริง เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องหันมาพิจารณา คิดใหม่ และเปิดใจกับการต้องเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์จากระบบที่กำหนดนิยามมาช้านาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
JMA จัดงาน GENBA Management Conference & Award 2024 in THAILAND เพื่อเสริมแกร่งและยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตไทย
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น (JAPAN MANAGEMENT ASSOCIATION) หรือ JMA ประกาศความสำเร็จของการจัดงานประชุมและมอบรางวัล
TMA เดินหน้าผลักดันองค์กรไทยสู่ความเป็นเลิศ มอบรางวัล Excellence Awards 2024 เชิดชูองค์กรที่มีความเป็นเลิศ
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน TMA Excellence Awards ประจำปี 2024 เพื่อประกาศผลและมอบรางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี Thailand Corporate Excellence Awards 2024 และรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2024 พร้อมด้วยรางวัล Thailand Digital Excellence Awards 2024 เชิดชู 37 องค์กรธุรกิจที่มีความเป็นเลิศในการบริหารองค์กรในด้านต่างๆ
'ชัยวุฒิ' ยิ้มขีดความสามารถแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยเพิ่มขึ้น
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมมือกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา Thailand Digital Competitiveness 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก “Transformation for Citizen Centric Economy” มีผู้ร่วมงานสัมมนาออนไลน์กว่า 500 คน