ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว

"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น ยังส่งผลดีต่อสุขภาพ  การพัฒนาตนเอง และเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นในระยะเวลา 90 วัน

เพื่อพิสูจน์ทราบถึงผลดีผลได้จากการรณรงค์ "งดเหล้าเข้าพรรษา" ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สานพลังเครือข่ายหมออนามัย ลงพื้นที่ อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช เคาะประตูบ้านชวนนักดื่ม “หันมาตรวจตับ-เลิกจับขวด” ลดพฤติกรรมนักดื่มชอบซดเหล้าทุกเย็น หวั่นไขมันพอกตับ คืนความสุขสู่ครอบครัว พร้อมชูนโยบาย "ดึงคนเลิกเหล้าเข้ามาเป็นแกนนำ ชวนเพื่อนวงเหล้าหันมาตรวจตับและเลิกจับขวด เพื่ออายุยืนในวันข้างหน้า"

การลงพื้นที่ครั้งนี้ นำโดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. พร้อมด้วย น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) สสส. และเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ รศ. ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ม.ทักษิณ, ดร.บุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยมีการเจาะเลือดตรวจหาค่าเอนไซม์ตับ เสริมพลังและสร้างความรอบรู้แก่ผู้ดื่ม ให้ลด ละ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องในวันออกพรรษา เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสี่แยกสวนป่า อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช พร้อมมอบข้อความให้กำลังใจ “ส่งกำลังใจถึงหมออนามัยสร้างชุมชนสุขภาพดี”

นพ.พงศ์เทพกล่าวชื่นชม ม.ทักษิณ ที่นำงานวิจัยมาประยุกต์แก้จนให้ชุมชน มีภารกิจสำคัญทำให้ชุมชนมีสุขภาพดี เศรษฐกิจดี ด้วยการดักทางไม่ให้มีตับแข็ง ไม่ต้องรอให้ป่วยแล้วซ่อม เราต้องหยุดสารที่จะทำลายสุขภาพ ลด ละ เลิก ดื่มเหล้าสูบบุหรี่

ข้อมูลสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบคนไทยไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 5.73 ล้านคน เคยดื่มหนักใน 12 เดือนที่ผ่านมา  หรือคิดเป็น 10.05% เป็นเพศชาย 5.05 ล้านคน และเพศหญิง 0.68 ล้านคน นักดื่มหนักส่วนใหญ่ 4.36 ล้านคน  หรือ 7.65% ดื่มหนักเป็นครั้งคราวเท่านั้น (ดื่มน้อยกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์) โดยภาคเหนือมีนักดื่มหนักสูงที่สุดคือ  13.01% แบ่งเป็นนักดื่มหนักประจำ 2.51% และนักดื่มหนักเป็นครั้งคราว 10.50% ขณะที่ภาคใต้มีนักดื่มหนักต่ำที่สุดคือ 4.62%

อย่างไรก็ตาม ทุกภาคมีแนวโน้มมีนักดื่มหน้าใหม่ที่เริ่มดื่มอายุน้อยลงใกล้เคียงกันเฉลี่ยอายุ 20.32 ปี โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เฉลี่ยคนละ 1,677.23 บาทต่อเดือน โดยภาคใต้มีค่าใช้จ่ายในการดื่มมากที่สุดคือ 1,557.39 บาทต่อเดือน รองลงมาคือ ภาคกลาง (ไม่รวมกรุงเทพฯ) 1,418.34 บาทต่อเดือน กรุงเทพฯ 1,256.93 บาทต่อเดือน ภาคเหนือ 886.55 บาทต่อเดือน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 824.68 บาทต่อเดือน

“เราไม่อยากให้ใครตายระหว่างทางเพราะความประมาท เหล้าบุหรี่เป็นความสุขเทียม สสส.ได้บูรณาการองค์ความรู้ด้านปัจจัยเสี่ยงหลัก และระบบบริการสุขภาพ  โดยริเริ่ม 'โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยเพื่อพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน' ในปี 2566 ควบคู่กับการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2567 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยมุ่งเน้นการตรวจเลือดเพื่อหาค่าเอนไซม์ตับ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสะท้อนข้อมูลสุขภาพของนักดื่ม  และให้ความรู้อันตรายของการดื่มให้แก่นักดื่มและประชาชนทั่วไป เพื่อส่งเสริมให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ  นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน” ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าว

ดร.บุญเรือง ขาวนวล รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและภารกิจพัฒนานิสิต คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ และนายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัยฯ เปิดเผยว่า โครงการมีการประเมินและคัดกรองพฤติกรรมผู้ดื่มด้วยแบบประเมินปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (AUDIT Score) ทุกพื้นที่ รวม 14,161 คน พบเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการดื่มอยู่ในกลุ่มผู้ดื่มแบบเสี่ยง (Hazardous Drinker) 4,515 คน คิดเป็น 31.88% ซึ่งมีความเสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบ และได้เชิญชวนกลุ่มเสี่ยงให้ตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ โดยมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 3,875 คน คิดเป็น 85.83%

จากการตรวจเลือดครั้งที่ 1 มีค่าเอนไซม์ตับผิดปกติ  คือมีค่าเอนไซม์ตับเกิน 35 ยูนิต/ลิตร จำนวน 867 คน คิดเป็น 22.37% การตรวจเลือดครั้งที่ 2 ในช่วงก่อนเข้าพรรษา ซึ่งห่างจากครั้งแรก 3 เดือน มีผลผิดปกติลดลงเหลือ 628 คน คิดเป็น 17.34% ผลจากตรวจค่าเอนไซม์ตับและกระบวนการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพ ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จากการประเมิน AUDIT Score พบว่าส่วนใหญ่ลด ละการดื่ม โดยผู้ดื่มแบบติด (Alcohol depend) ลดลงจาก 16.31% เหลือ 13.83% และสามารถเลิกดื่มได้มากถึง 10% ซึ่งเครือข่ายหมออนามัยและ สสส.รู้สึกภูมิใจ และดีใจที่สามารถช่วยเหลือให้ประชาชนเลิกดื่มได้สำเร็จ

“ทุกคนที่เข้าร่วมโครงการจะผ่านกระบวนการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ด้วยกระบวนการและนวัตกรรมที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่ โดยทีมหมออนามัยและเครือข่าย ในบางรายที่ผิดปกติมากจะปรึกษาและส่งพบแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวของโรงพยาบาลในเครือข่ายบริการสุขภาพ เพื่อดูแลและรักษา โดยมีทีมสหวิชาชีพสุขภาพและ อสม.ติดตามเสริมพลังและเยี่ยมบ้าน ดูแลอย่างใกล้ชิด 'ใกล้บ้านใกล้ใจ ห่วงใยสุขภาพ' เพื่อการลด ละ เลิกดื่มเหล้า ทั้งนี้จะมีการตรวจค่าเอนไซม์ตับและพฤติกรรมการดื่มอีกครั้งเมื่อครบ 3 เดือน” ดร.บุญเรืองกล่าว

นายธีระวัฒน์ แดงกะเปา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสี่แยกสวนป่า เปิดเผยว่า "พื้นที่นี้เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขเล็กที่สุด ที่นี่เป็นของจริงล้วนๆ ที่ ม.ทักษิณให้โอกาสชุมชน ผมสวมบทบาทผ่าตัดความไม่รู้ด้านสุขภาพของคนในชุมชน ให้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพ เอาตัวรอดจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นภารกิจสำคัญที่เรามีทีมวิชาชีพ 6 คน ทำงานกับทุกกลุ่มวัย คนจำนวน 4,095 คนจากพันหลังคาเรือน ไม่มีคนไหนที่หลุดรอดจากการดูแล ล้วนผ่านการสแกนสุขภาพ เรารักษาคนด้วยความรู้มากกว่ารักษาด้วยยา ให้ครั้งเดียวเป็นภูมิคุ้มกันทั้งชีวิต ระบบสุขภาพต้นทุนต่ำภาคประชาชน อาคารนี้เป็นอาคาร อสม.แห่งแรกเป็นปีที่ 21 ที่นี่เรามีฐานเรียนรู้ 9 ฐาน ชุมชนสร้างกันเองอยู่ในสวนไผ่"

นายอานนท์ ไหมจุ้ย แพทย์แผนไทย รพ.สต.บ้านสี่แยกสวนป่า กล่าวว่า จ.นครศรีธรรมราชมีสถิติการดื่มในปี 2564 อยู่ที่ 21.40% ของประชากรในจังหวัด สำหรับพื้นที่ อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช พบการดื่มในกลุ่มวัยทำงาน และผู้นำชุมชน ส่วนใหญ่ดื่มเหล้า เบียร์ ยาดอง มักดื่มในช่วงเย็นหลังเลิกงาน ดื่มเฉลี่ย 3 วันต่อสัปดาห์ ในช่วงปี 2565-2566 ในกลุ่มกลุ่มวัยทำงานและผู้นำชุมชน พบอัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น ผู้ป่วยได้รับผลกระทบเกิดความพิการ ติดบ้านติดเตียง เครือข่ายหมออนามัยและ สสส.จึงได้ริเริ่มโครงการตรวจคัดกรองค่าตับในกลุ่มของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ โดยครั้งแรกมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 50 คน พบผู้เสี่ยงสูง 1 คน วัดค่าตับได้ 108 ยูนิต/ลิตร และมีผู้ตัดสินใจเลิกดื่มจริงจัง 2 คน ส่วนการตรวจครั้งที่ 2 มีผู้เข้าร่วมโครงการ 43 คน ซึ่งส่วนใหญ่ตัวเลขค่าเอนไซม์ตับลดลง

นายอนันตชัย วัฒนพันธ์ อายุ 32 ปี ชุมชนบ้านสี่แยกสวนป่า ต.วังหิน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพกรีดยาง ชอบดื่มสังสรรค์กับเพื่อนตั้งแต่เริ่มทำงานอายุ 20 ปี ดื่มบ่อย 4-5 ครั้งต่อเดือน ดื่มตั้งแต่หัวค่ำยันเช้าทุกรอบ ด้วยเป็นคนน้ำหนักตัว 118 กก. จึงแจ้ง อสม.ขอเข้าร่วมโครงการเอนไซม์ตับ พบค่าเอนไซม์ตับพุ่งสูงถึง 108 ยูนิต/ลิตร อยู่ในกลุ่มสีแดง เสี่ยงที่จะเป็นตับอักเสบ รู้สึกตกใจมาก และถูกส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลทุ่งสงเพื่อเอกซเรย์ตับและปอด พบว่าเป็นไขมันพอกตับ  จึงเลิกดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ผลการตรวจครั้งที่ 2 ลดลงเหลือ 61 ยูนิต/ลิตร ถือว่าเกินเกณฑ์ และเริ่มหันมาวิ่งออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน คุมอาหาร และตั้งใจเลิกดื่มตลอดชีวิตเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก ขอบคุณโครงการนี้ทำให้ตนกลับมามีสุขภาพดี มีความสุขกับลูก สมัยก่อนไม่มีเวลาให้ลูก กลับบ้านก็เหนื่อย แต่ก่อนกลัวเข็มฉีดยา กลัวการตรวจสุขภาพ ตอนนี้สุขภาพแข็งแรงมีความสุขขึ้นเมื่อเลิกเหล้าได้

นางสาวปัทมา หมื่นศรี อายุ 28 ปี ชุมชนบ้านสี่แยกสวนป่า ต.วังหิน อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า  ก่อนเข้าร่วมโครงการตนดื่มหนักเกือบทุกวัน เนื่องจากที่บ้านทำธุรกิจรับเหมาตัดไม้ยางพารา หลังเลิกงานทุกเย็นคนงานก็จะตั้งวงดื่มเหล้า เริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 17 ปี แล้วมาดื่มหนักๆ ช่วงปี 2565-2566 เมื่อ อสม.เข้าไปเชิญชวนให้เลิกเหล้า ตัดสินใจเข้าตรวจหาค่าเอนไซม์ตับด้วยตัวเอง ครั้งแรกตรวจพบว่าค่าไอนไซม์ตับ 40 ยูนิต/ลิตร เจ้าหน้าที่ รพ.สต.แนะนำให้ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ยอมรับว่าค่อนข้างตกใจที่เสี่ยงเป็นโรคตับอักเสบ และกลัวว่าจะเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา จึงตัดสินใจเลิกดื่มทันที ลดน้ำหนักจาก 85 กก. เหลือ 72 กก. ลดรายจ่ายค่าดื่มวันละ 400บาท/วัน เพื่อนชวนไปสังสรรค์ก็ไม่ไป หลังเลิกดื่มร่างกายรู้สึกดีมากขึ้น ไม่มีอาการปวดหัวหรือเวียนหัวเลย ปัจจุบันตรวจซ้ำครั้งที่ 2 ค่าเอนไซม์ตับลดเหลือ 23 ยูนิต/ลิตร โดยตนได้ไปชักชวนเพื่อนๆ แถวบ้านให้มาร่วมโครงการด้วย เพราะถ้าดูแค่ภายนอกเราอาจดูแข็งแรงปกติ แต่ข้างในเราไม่รู้หรอกว่ามันมีโรคอื่นแฝงอยู่ที่มาจากพฤติกรรมการดื่ม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร

สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”

น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567

ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์

ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง