ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความยั่งยืนของการพัฒนาลุ่มน้ำเลย

ลุ่มน้ำเลย เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ  มีแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่มีต้นน้ำอมาจากอำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงลาดชัน จากนั้นจะไหลลงสู่พื้นที่ต่ำตอนกลางผ่านที่ราบเชิงเขาในเขต อำเภอวังสะพุง และที่ราบในเขต อำเภอเมือง ก่อนจะไหลคดเคี้ยวตามสภาพธรรมชาติของลำน้ำลงสู่แม่น้ำโขงที่ อำเภอเชียงคาน รวมความยาว 230 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำ 3,560 ตารางกิโลเมตร และมีปริมาณน้ำท่ามากถึง 1,130 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

ในช่วงฤดูฝนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ปีใดที่เกิดฝนตกหนักทางพื้นที่ต้นน้ำ ระดับน้ำแม่น้ำเลยจะยกตัวสูงขึ้น และหากในช่วงเวลาดังกล่าวมีน้ำโขงหนุน ก็จะทำให้น้ำในแม่น้ำเลยไม่สามารถระบายลงน้ำโขงได้  ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเขต อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง และ อำเภอเชียงคาน   ส่วนในฤดูแล้ง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีความลาดชันและมีแหล่งเก็บกักน้ำน้อย ที่สำคัญท้องแม่น้ำมีลักษณะเป็นทราย ไม่อุ้มน้ำ  จึงเป็นสาเหตุทำให้น้ำในแม่น้ำเลยเหือดแห้งอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซากเกือบทุกปี

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบตร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่9 ทรงห่วงใยในปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำเลยอย่างมาก   โดย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2520  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้อธิบดีกรมชลประทานในขณะนั้น พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชลประ ทานเข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ และได้มีพระราชดำรัสในการแก้ปัญหาลุ่มน้ำเลยความตอนหนึ่งว่า

“...ควรพิจารณาวางโครงการชลประทานลุ่มน้ำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรพิจารณาสร้างฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำ ตามความเหมาะสมในลําน้ำเลยตอนล่าง เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลย ในเขตอําเภอเชียงคาน โดยระบายน้ำจากเขื่อนเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนบน มาเสริมปริมาณน้ำธรรมชาติที่ฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตอนล่างเพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำเลยใช้ทำการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี...”

กรมชลประทานได้น้อมนำแนวพระราชดำรัสดังกล่าว มาได้ดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในหลายขนาดและประเภท ในลุ่มน้ำเลยอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กรวม 59 แห่ง ฝายทดน้ำและอาคารบังคับน้ำในลำน้ำเลยและลำน้ำสาขารวม 65 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 86 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น เพียงแค่ 8เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำท่าลุ่มน้ำเลยเท่านั้น  ด้วยเหตุนี้การแก้ปัญหาน้ำในลุ่มน้ำเลยจึงยังไม่สัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนล่างในเขต อำเภอเชียงคานทำให้ ราษฎรยังประสบปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งอยู่

“เพื่อแก้ปัญหาของลุ่มน้ำเลยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินงานโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บริเวณลุ่มน้ำเลยตอนล่าง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ระยะเวลาดำเนินการปี 2560-2567 และขอขยายระยะเวลาถึงปี 2570”  นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 กรมชลประทาน กล่าวชี้แจง

ครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอเนกประสงค์ ที่ช่วยบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำหลากและน้ำแล้ง ประกอบด้วยงาน4 งานหลักสำคัญดังต่อไปนี้

1.ปตร.ศรีสองรักเป็นประตูระบายน้ำหลัก สร้างปิดกั้นคลองลัดตัดใหม่รของแม่น้ำเลย เชื่อมต่อลงแม่น้ำโขง บานประตูเป็นประเภทบานตรง กว้าง 15.00 เมตร สูง 13.20 เมตร จำนวน 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที   ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์  ล่าช้ากว่าแผนซึ่งเนื่องจากติดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิท ทั้งนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568   2.ปตร.ลำน้ำเลยเป็นประตูระบายน้ำสร้างปิดกั้นแม่น้ำเลย เป็นประตูระบายน้ำแบบบานตรง กว้าง 10.00 เมตร สูง 12.50 เมตร จำนวน 2 ช่อง สามาระระบาย 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที    พร้อมก่อสร้างประตูเรือสัญจรแบบ NAVIGATION LOCK กว้าง 10 เมตร ยาว 77 เมตร   เพื่อรักษาระบบนิเวศและเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว   3.พนังกั้นน้ำฝั่งซ้ายขวาในจุดลุ่มต่ำ ความยาวรวม 37 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 10 กิโลเมตร   และ 4. สถานีสูบน้ำฝั่งซ้าย  2 แห่ง ฝั่งขวา 2 แห่ง พร้อมระบบส่งน้ำความยาวรวม 99 กม. ปัจจุบันสถานีสูบน้ำฝั่งขวา พร้อมระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ 1 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างการออกแบบและเตรียมความพร้อมสำรวจแนวท่อส่งน้ำเพื่อพื้นที่การเกษตร และจะดำเนินการก่อสร้างในปีถัดไป

เมื่อโครงการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์จะสามารถเปิดพื้นที่ชลประทานได้ทั้งสองฝั่งลำน้ำเลยตอนล่างทั้งในช่วงฤดูฝน 72,500 ไร่ ฤดูแล้ง 18,100 ไร่ รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคสำรับราษฎรรวม 44 หมู่บ้านในตำบลเชียงคาน  ตำบลนาซ่าว ตำบลเขาแก้ว  ตำบลปากตม  ตำบลธาตุ  ตำบลจอมศรี และตำบลหาดทรายขาว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย

อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะยังอยู่ระว่างการก่อสร้าง แต่ในช่วงฤดูฝนปี 2567 ที่ผ่านมาสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดจากแม่น้ำโขงหนุนสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม

ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5  กล่าวว่า  จากสาเหตุที่ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาน้ำในลำน้ำโขงสูงกว่าปกติ ซึ่งปกติอัตราการไหลของลำน้ำโขงตอนบนในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปีจะอยู่ที่ประมาณ 11,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  แต่ในปีนี้เพิ่มสูงเป็น 23,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้ระดับน้ำโขงบริเวณ อำเภอชียงคาน สูงกว่าระดับน้ำในลำน้ำเลยเป็นเวลานานถึง 1 สัปดาห์ ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ได้ทำหน้าที่ปิดกั้นน้ำจากแม่น้ำโขงไม่ให้หนุนข้ามาสมทบกับน้ำฝนในพื้นที่ สามารถลดปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเลยตอนล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อระดับน้ำโขงลดลง ก็ได้ทำการเปิดบานประตูเพื่อระบายน้ำในแม่น้ำเลยให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ในช่วงปลายฤดู กรมชลประทานยังได้ดำเนินการเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำจนเต็มศักยภาพ จำนวน 6 ล้านลูกบาศก์เมตรตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   ซึ่งจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรทางฝั่งขวาของแม่น้ำเลยได้ประมาณ 1,500 ไร่ ในฤดูแล้งปีนี้

นอกจากนี้กรมชลประทานยังจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมปศุสัตว์ เป็นต้น นำผลงานการวิจัยเรื่องความเหมาะสมระหว่างพืชที่ปลูกกับสภาพแวดล้อมถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน ลดการสูญเสีย อีกทั้งยังได้ผลผลิตคุณภาพและมีมูลค่าสูงขึ้น  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการทำเกษตรกรรมได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำประมง ปศุสัตว์ เพาะปลูกพืชสวน พืชไร่ ตลอดจนอาชีพอื่นๆ

โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   ไม่เพียงแต่จะสามารถจัดหาน้ำให้ราษฎรในลุ่มน้ำเลยใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง รวมทั้งมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปีสมตามพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่9เท่านั้น แต่ยังมีส่วนสนับสนุนยุทธศาสตร์จังหวัดเลยในด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย  โดยได้มีการออกแบบก่อสร้างให้สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นสัญญาลักษณ์ประจำจังหวัดเลย ด้วยการนำหัวผีตาโขนมาประดับตกแต่งไว้ที่ต่อม่อประตุระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   พร้อมประดับไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัยและความงดงามแห่งทัศนียภาพในยามราตรี โดยได้มีการก่อสร้างหอชมทัศนียภาพขนาดความสูง 28 เมตร รวม 6แห่ง 

ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ นอกจากจะนับเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดเลยที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมทัศนียภาพลำน้ำและแม่น้ำโขงแล้ว  ยังเป็นการสนับสนุนให้ราษฎรในพื้นที่มีรายได้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง มีร้านอาหาร และมีกิจกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกและความรื่นรมย์ให้กับผู้มาเยือน อันจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเลยให้เจริญเติบโตได้อย่างมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนตลอดไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตอนบนของประเทศ ฝนลดลง ชป.เดินหน้าเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน สำรองไว้ใช้แล้งหน้าให้มากที่สุด

เมื่อวันนี้ 15 ต.ค. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ผศ.ดร.สิตางศ์ พิสัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา

'เขื่อนเจ้าพระยา' ลดระบายน้ำต่อเนื่อง พื้นที่ลุ่มต่ำ 4 จ. ท่วมน้อยลง

แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ และแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี มีปริมาณลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

สั่งปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯ ลดผลกระทบลุ่มเจ้าพระยา

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์น้ำท่าที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักฯ