เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน ประชากรที่ขาดสารอาหาร 2 ใน 3 อยู่ในเอเชีย น่าเป็นห่วง 1 ใน 10 ของเด็กไทยผอมโซทั้งๆ ที่เมืองไทยเป็นครัวโลก
วันอาหารโลก (World Food Day) สำหรับปี 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคี เปิดเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคมด้านอาหาร มุ่งวางแผนสร้างความมั่นคงทางอาหารตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดผลกระทบวิกฤตด้านอาหารในระยะยาว ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. ระบุว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้มีวันอาหารโลก เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร และร่วมกันปกป้องระบบอาหารที่ยั่งยืน สำหรับ สสส.สานพลังภาคีจัดงานในครั้งนี้ภายใต้แนวคิด “บูรณาการเครือข่ายอาหาร สู่การบริโภคที่สมดุล ด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน” เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ รู้เท่าทันการบริโภค ทำงานร่วมกับเกษตรกรผลิตพืชผักที่ใช้สารอินทรีย์ปลอดภัย ปลอดสารพิษ ลดการใช้สารเคมี และขยายผลองค์ความรู้การบริโภคอาหารให้ได้คุณค่าอย่างสมดุลตามหลักโภชนาการ ให้โรงเรียนร่วมมือกับผู้ปกครองสร้างเด็กไทยแก้มใส ตั้งรับรวมกลุ่มทำเรื่องดีๆ ให้เกิดสุขภาวะที่ดีได้ พร้อมเผยแพร่นวัตกรรมการเชื่อมโยงระบบอาหารยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่การผลิต การกระจายไปสู่การบริโภค เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของระบบอาหาร สอดรับกับคำขวัญของวันอาหารโลกปี 2567 ที่ว่า “Right to foods for a better life and a better future หรือ สิทธิในอาหาร เพื่อชีวิตที่ดี และอนาคตที่ดีกว่า”
นพ.พงศ์เทพชี้แจงว่า จากข้อมูลรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลกปี 2567 โดย FAO พบประชากรเกือบ 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศ เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งหิวโหยเฉียบพลันและเข้าไม่ถึงอาหารตามหลักโภชนาการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ใน 32 ประเทศทั่วโลกขาดสารอาหาร จนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจำนวนกว่า 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย
"ประเทศไทยก็อยู่ในเครือข่ายที่จะต้องจัดการอาหารโลก แบ่งปันร่วมกัน สำหรับเด็กไทยมีภาวะผอม 5-10% แม้อยู่ในระดับปานกลางไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่กลับสะท้อนว่ายังมีกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการ และขาดความรู้ ความเข้าใจการบริโภคอาหารที่สมดุลและเหมาะสมตามช่วงวัย เด็กภาคใต้ขาดสารอาหารทั้งๆ ที่มีปลาจำนวนมาก แต่ส่งออกเกือบหมด เด็กที่นั่นไม่ได้กินปลา ปัญหาทุนนิยมที่เราไม่รู้เท่าทัน ที่สำคัญคือ มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามความชอบ ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่มีปัญหาในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและการยกระดับรายได้ เนื่องจากขาดต้นทุน ทรัพยากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี จึงทำให้ประชาชนยังมีอัตราการบริโภคผักผลไม้ได้น้อยกว่าปริมาณที่แนะนำขององค์การอนามัยโลก นั่นคืออย่างน้อยควรจะได้ 400 กรัมต่อวัน" ผู้จัดการ สสส.กล่าว
สำหรับมาตรการเพื่อร่วมกันสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนในประเทศ สสส.และภาคีเครือข่ายทั้งในภาครัฐและเอกชน มุ่งเป้าหมายขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการผลิตอาหารปลอดภัย 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัยและการกระจายอาหารที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตอาหารขนาดเล็ก 3.สนับสนุนการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความหลากหลาย โดยเน้นให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะได้อย่างสมดุล เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ให้ได้ปริมาณที่เพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก และลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต
ผู้จัดการ สสส.ย้ำว่า สสส.มีเจ้าหน้าที่ 200 คน มีภาคีเครือข่ายทำงานทั่วประเทศ กระตุ้นประชาชนให้เป็นกำลังสำคัญในการรบ การสร้างกองทัพภาคประชาชน ทัพหลวงรบกับสงครามสุขภาพ ทุกคนต้องช่วยกันปกป้องร่วมกับแนวรบในสงคราม กินอาหารให้ครบหมู่ สูตร 2:1:1 ผัก 2 ข้าว 1 โปรตีน 1 ข้าวเปลือกทำให้อิ่มนาน ถ้ากินข้าวขาวให้เพิ่มผัก ไม่ต้องกินของหวาน น้ำหวาน
ในเวทีเดียวกัน ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. นำเสนอ Healthy Balance Diet และการกินอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล โดยเปิดเผยว่า ขณะนี้มนุษย์เสียชีวิตด้วยโรค NCDs จำนวน 74% เพราะสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ขาดการออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่ไม่สมดุล การนอนหลับไม่เพียงพอ มลภาวะทางอากาศ ในช่วงโควิดมีปัญหาขาดแคลนอาหารในเมืองมากกว่าในชนบท เพราะคนชนบทมีผักสวนครัวริมรั้วกินได้ ในเมืองมีพื้นที่จำกัด เด็กที่ขาดสารอาหารจะตัวเตี้ยแคระแกร็น ส่วนเด็กที่ได้อาหารเกินจะอ้วนตุ้ยนุ้ย การแก้ไขปัญหาโรค NCDs ต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง
"ปัญหาสารเคมีตกค้างอยู่ในผักผลไม้ ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีก็ต้องมีการควบคุม การล้างผักที่มีสารเคมีตกค้าง วิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือการเลือกกินผักให้ถูกต้องตามฤดูกาล ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากการใช้สารเคมี การรณรงค์ลดหวาน ลดโรค เป็นโครงการรณรงค์สาธารณะ นับตั้งแต่มีการรณรงค์สร้างระบบลดน้ำตาล ทำให้จำนวนคนกินหวานลดลงได้มากถึง 35% การรณรงค์อ่านฉลากโภชนาการ การเลือกซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพ ช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีด้วย การใช้ช้อนปรุง-ลดที่มีการเจาะรู นวัตกรรมง่ายๆ นี้ทำให้สสส.รับรางวัลมาแล้วมากมาย เราต้องไม่หยุดการรณรงค์ขับเคลื่อนก่อร่างศูนย์วิชาการหลายภาคี สังคมต้องขยับตามไปด้วย การดึงให้ทุกคนรู้ร้อนรู้หนาว พลเมืองอาหารเข้าร่วมกระบวนการเพื่อพัฒนาให้มีสุขภาพดี สร้างพฤติกรรมอย่างมีพลัง"
น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. (สำนัก 5) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ อาทิ 1.สร้างต้นแบบระบบอาหารในโรงเรียนและชุมชน การใช้นวัตกรรมโปรแกรม Thai School Lunch เพื่อการบริหารจัดการเมนูอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักโภชนาการกว่า 1,000เมนู และเชื่อมโยงผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่มาใช้เป็นวัตถุดิบในการจัดทำอาหารกลางวัน การขับเคลื่อนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการในโรงเรียน เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและการหมุนเวียนเศรษฐกิจอาหารในท้องถิ่น 2.ผลักดันนโยบายอาหารอินทรีย์ในโรงพยาบาล 780 แห่ง เพื่อจัดจำหน่ายและให้บริการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 3.ขยายผลพื้นที่การจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพไปในชุมชนและห้างสรรพสินค้า “ตลาดเขียว” “สถานีเกษตรแบ่งปัน” กระจายทั่วประเทศกว่า 88 แห่ง ช่วยยกระดับรายได้ให้เครือข่ายเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจอาหารในชุมชน 4.จัดสภาพแวดล้อมลดอาหาร/เครื่องดื่มลดหวาน “โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและขนมหวาน” “โรงพยาบาลอ่อนหวาน” “ร้านกาแฟหวานน้อยสั่งได้” กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ
น.ส.นิรมลเปิดเผยอีกว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมส่งเสริมการเข้าถึงโภชนาการอาหาร อาทิ 1.คู่มือมาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา เพื่อยกระดับการจัดอาหารในสถานศึกษาให้มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยให้เด็กนักเรียนได้บริโภคอาหารกลางวันที่มีคุณค่าต่อร่างกาย และยังลดภาวะทุพโภชนาการของเด็กวัยเรียน โดยเผยแพร่ไปใช้ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ 2.นวัตกรรมเครื่องมือ ChemMeter ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหารแบบพกพา 3.Daycare นมแม่และการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการดูแลพัฒนาการเด็กตามวัย รวมถึงการรณรงค์สื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ อาทิ แคมเปญ “หวานน้อยสั่งได้”, “เมนู 2:1:1”, “ลดหวาน มัน เค็ม” โดยมุ่งสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด
เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน
'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน
‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ
จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง
รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น
ตัดวงจรความรุนแรง เลิกให้โอกาสที่ 2
เรื่องราวของจีจี้ - นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งถูกคู่รักทำร้ายหลายครั้ง แต่จีจี้ยื่นโอกาสให้กับฝ่ายชาย สุดท้ายเธอต้องจากไปด้วยน้ำมือของคนที่รัก ก่อนแฟนหนุ่มจบชีวิตตัวเองตาม ถูกหยิบยกนำมาเป็นบทเรียนราคาแพงเตือนสติคนในสังคมออกจากความสัมพันธ์
ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว
"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น