เจียระไนเพชร 3 องค์กรต้นแบบ สร้างเสริมสุขภาวะในที่ทำงาน

"ในอดีตเรารบกับเชื้อโรค มีการโจมตีด้วยเทคโนโลยี  แต่วันนี้เรากำลังสู้กับกิเลสของมนุษย์ โรค NCDs เกิดขึ้นจากเราสร้างสุขเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตัวเอง เติมรสหวาน มัน เค็ม สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า คนเรามีความอ่อนแอ เราต้องรวมกลุ่มเพื่อสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างสุขภาวะในชุมชน" ...เป็นคำกล่าวของ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในงานเสวนาเจาะลึก “เครื่องมือสร้างเสริมสุขภาวะของคนในองค์กร” เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยมหิดล

นับเป็นสิ่งสะท้อนตอกย้ำว่า การสร้างเสริมสุขภาวะเป็นสิ่งที่จำเป็น และต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง เหนือสิ่งอื่นใดคือ ต้องมีการร่วมมือร่วมใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในทุกบริบทของสังคม

"ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ เดินหน้าพัฒนาองค์กรสุขภาวะและเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาวะของคนในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของพนักงาน ภายใต้บริบทการทำงานปัจจุบันและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่ยังพบข้อจำกัดการวัดผลการมีสุขภาวะที่ดีของคนทำงานในองค์กร และการประเมินผลที่ความรวดเร็ว"

ด้วยเหตุนี้ “สสส." จึงได้ร่วมกับคณะวิทยาลัยการจัดการ  มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาเครื่องมือสร้างเสริมสุขภาวะของคนในองค์กร ภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรอย่างยั่งยืน ในรูปแบบสำรวจออนไลน์ที่ได้ตามมาตรฐานสากล ใช้สำรวจสุขภาวะของคนทำงาน ครอบคลุมประเด็นเรื่อง Happy Workplace ตามแนวทางความสุข 8 ประการ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาสุขภาวะองค์กรให้เกิดความยั่งยืน นำร่องสำรวจสุขภาวะคนทำงาน 1,089 คน จากองค์กรภาคธุรกิจ 83 แห่ง ในปี 2567 และพบว่าคนทำงาน 50% ให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมสุขภาวะในมิติทางสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือมิติทางกาย มิติทางปัญญา และมิติทางใจ สสส.จึงเดินหน้าเชิญชวนองค์กรภาคธุรกิจทั่วประเทศ ใช้เครื่องมือวัดสุขภาวะองค์กร สำหรับผลประเมินสุขภาวะของคนทำงานทุกมิติ เป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้ข้อมูลแก่องค์กร เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการเป็นองค์กรแห่งสุขภาวะอย่างยั่งยืน” นพ.พงศ์เทพกล่าว

รศ. ดร.พลิศา รุ่งเรือง รักษาการแทนรองคณบดีงานบริหาร และรักษาการแทนรองคณบดีงานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้พนักงานลาออก ส่วนใหญ่มาจากความเครียดและความกดดันจากการทำงาน บรรยากาศโดยรวมขององค์กรที่ไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาทักษะใหม่ๆ สวัสดิการขาดความยืดหยุ่น ไม่สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตและสภาวะเศรษฐกิจ ผู้บริหารยุคใหม่จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ Well-being  ในการบริหารจัดการสุขภาวะที่ดีในที่ทำงาน พัฒนาทักษะความสามารถของพนักงาน พร้อมกับปรับวัฒนธรรมองค์กรเพื่อดึงดูดพนักงานหน้าใหม่

ทั้งนี้ ระบบดิจิทัลสำรวจสุขภาวะในองค์กร จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้องค์กรภาคธุรกิจใช้สำรวจสุขภาวะของพนักงานใน 4 มิติ คือ มิติทางกาย มิติทางใจ มิติทางปัญญา และมิติทางสังคมสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดความผูกพันต่อองค์กร  และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDG) และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (Environment, Social, Governance : ESG) และบริหารจัดการองค์กรให้มีสุขภาวะที่ดี ส่งเสริมสุขภาพคนทำงานให้สมดุลและยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ชาติและ สสส.ต่อไป

รศ. ดร.สุภรักษ์ สุริยันเกียรติแก้ว หัวหน้าทีมวิจัยโครงการพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรอย่างยั่งยืน ชี้แจงว่า ทีมวิจัยได้นำเครื่องมือวัดสุขภาวะองค์กรไปประยุกต์ใช้จริงในองค์กรต้นแบบ 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด เป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัล มีกว่า 100 สาขา พนักงานกว่าหมื่นคน 2.บริษัท แสงไทยเมตัลดรัม จำกัด อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวลโกล จ.ฉะเชิงเทรา ผลิตถังโลหะใส่น้ำมันและสารเคมี 3.บริษัท เงินมาธุรกิจ จำกัด ผลิตยาแนววัสดุตกแต่งภายในอาคาร

โดยการสำรวจสุขภาวะคนทำงานในองค์กร ประเมินผล พัฒนานโยบายและกิจกรรมส่งเสริมการเป็นองค์กรสุขภาวะที่ดี เกิดผลลัพธ์ขององค์กรสุขภาวะที่เป็นเลิศตรงกันใน 4 มิติ  คือ 1.มิติความผูกพันขององค์กร 2.มิติผลผลิตของพนักงาน 3.มิติความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4.มิติภาพลักษณ์ของตราสินค้า เป็นการตอกย้ำว่าการที่องค์กรส่งเสริมสุขภาวะให้คนทำงาน จะสามารถช่วยให้องค์กรมีผลผลิตที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียงที่ดี ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่สุดสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนขององค์กรต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อใช้งานระบบแบบสอบถามออนไลน์เพื่อสำรวจสุขภาวะในองค์กรได้ที่ wellbeingsurvey.th@gmail.com

“ขณะนี้เครื่องมือนี้นำร่องในองค์กรภาคเอกชนมีความถูกต้องแม่นยำ 99% ต่อไปจะมีแผนปรับในภาคราชการ  รัฐสภา เราให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วน ทั้งนี้มีบริบทที่แตกต่างกัน รายได้ภาคราชการและเอกชนแตกต่างกัน ในขณะที่ราชการมีความมั่นคงหลังเกษียณอายุแล้ว ข้อมูลจากการตอบแบบสอบถาม 15 นาทีจะมีการวิเคราะห์องค์กรและส่งคืนกลับไปให้องค์กรสร้าง innovation งานวิจัยนี้จะมีการตีพิมพ์ในระดับโลกเพื่อนำเสนองานของเมืองไทย เป็นตัวอย่างที่บ้านเรามีของดีมากมาย งานวิจัยจึงมีความสำคัญมาก เป็นตัวชี้วัด สสส.สนับสนุนเครื่องมือนี้ เพราะฉะนั้นองค์กรใดสนใจสามารถโหลดเครื่องมือนี้ไปได้ฟรี เพื่อการสร้างสุขภาวะของคนในองค์กร”


ต้นแบบ Best Practice ..สร้างสุขในองค์กร

น.ส.จิรัชญา สิงห์มณี ผู้จัดการฝ่ายระบบคุณภาพ บริษัท เงินมาธุรกิจ จำกัด เป็นบริษัทขนาดเล็ก (S) ได้รับเลือกให้เป็นธุรกิจ SME ต้นแบบ Best Practice เปิดเผยว่า บริษัทก่อตั้งมาแล้ว 30 ปี พนักงานอายุเฉลี่ย 35-45 ปี  บุคลากรทุกระดับจะรับประทานอาหารเช้าด้วยกัน องค์กรสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยากมาทำงานทุกวัน มีความสุขในทุกมิติ แม้งานจะยากแต่ก็ท้าทายและมีความสนุกที่จะทำงานให้สำเร็จ ความร่วมมือในการสร้างมาตรฐานให้เป็น Green  Office การนำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิล บริษัท Trading ซื้อมาขายไปใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ปีก่อนทำได้เกินมาตรฐาน ปีนี้ต้องทำเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดไม่ย่ำอยู่กับที่  พัฒนาควบคู่กันไป ขณะเดียวกันเจาะลึกคะแนนที่ได้น้อยจะปรับแก้ไขเพื่อให้ได้คะแนนสูงขึ้นกว่าเดิม

นางอัมพร ปัญญาดิลก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด  บริษัทในเครือเซ็นทรัล จำกัด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือหลักองค์กรใหญ่มีคนเป็นหมื่นเดินไปด้วยกันแบบมีสุขภาวะ มีเงินมีใจในการขับเคลื่อนสุขภาวะองค์กร ทำอย่างไรให้พนักงานมีใจรักอยากมาทำงานทุกวัน  เราต้องสร้างแพชชันให้พนักงานด้วย I care รถที่นำมาใช้ขนส่งเป็นรถ EV ไม่ใช้น้ำมันเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ไทวัสดุทุกสาขาใช้ Solar Roof Top เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้เป็นล้านๆ ต้น/ปี ฝาขวดน้ำบริษัทในเครือทั้งหมดนำมาผลิตเป็นโต๊ะเพื่อบริจาคตามโรงเรียนในชนบท เป็นกิจกรรม CSR เรายังสะสมธนาคารความดี พนักงานสะสมหัวใจแลกเป็นเงินได้ ด้วยโครงการรวมหัวใจที่บ้านเกิด เมื่อบริจาคหัวใจเป็นเงิน 1 แสนบาท CEO ร่วมสมทบให้อีก 3 เท่า เป็นการทำ CSR ร่วมกับพนักงาน ส่งโครงการที่ดีไปยังบ้านเกิดของตัวเอง เน้น รพ.สต. สถานีอนามัยที่มีอยู่ในชนบท เป็นการรวมหัวใจให้บ้านเกิดสัญจร ทำทุกสาขาทุกเดือน

นางสุทธาสินี ตัวแทนบริษัท แสงไทยเมตัลดรัม  จำกัด เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นองค์กรขนาดกลางได้รับเลือกให้เป็นองค์กรแห่งความสุข ด้วยการเจาะลึกความสุขในทุกมิติ เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม โรงงานผลิตถังโลหะขนาดใหญ่ใส่น้ำมันและสารเคมีทำมาแล้ว 36 ปี องค์กรยั่งยืนได้เมื่อพนักงานทำงานอย่างมีความสุขและลูกค้าก็พอใจผลงานมีความสุข  ข้อคิดที่ว่าถ้าบริษัทร่ำรวยแล้วพนักงานไม่มีความสุข ความร่ำรวยจะเกิดประโยชน์ได้อย่างไร? พนักงานที่นี่แบ่งเป็น 2 ส่วน พนักงานออฟฟิศ พนักงานในโรงงาน ต่างนั่งทำงานไม่ได้ลุกไปที่ไหน ย่อมเกิดปัญหาออฟฟิศซินโดรม  ดังนั้น ทำโครงการเก็บก้าวเดินกับทีมด้วยการออกแบบกิจกรรม เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พนักงานมีอายุงานมากกว่า 30 ปี พนักงานอีกกลุ่มมีอายุงานมากกว่า 20 ปี มีความผูกพันกับองค์กรและผู้บริหาร ให้อิสระทางความคิดในการออกแบบกิจกรรม พนักงานเล่นหวยเงินไม่พอใช้ ออกแบบเงินฝากสร้างขวัญ ซื้อสลากออมสินแทนการเล่นหวย ส่งเสริมพนักงานให้มีบ้านเป็นของตัวเอง ด้วยการลดความทุกข์และเติมความหวังให้พนักงาน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตัดวงจรความรุนแรง เลิกให้โอกาสที่ 2

เรื่องราวของจีจี้ - นางสาวสุพิชชา ปรีดาเจริญ เนตไอดอลชื่อดัง ซึ่งถูกคู่รักทำร้ายหลายครั้ง แต่จีจี้ยื่นโอกาสให้กับฝ่ายชาย สุดท้ายเธอต้องจากไปด้วยน้ำมือของคนที่รัก ก่อนแฟนหนุ่มจบชีวิตตัวเองตาม  ถูกหยิบยกนำมาเป็นบทเรียนราคาแพงเตือนสติคนในสังคมออกจากความสัมพันธ์

ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว

"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น

“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.

วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั

สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม

สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ

สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ

"สิทธิในอาหารเพื่อชีวิตที่ดี" ความตระหนักรู้เสริมสุขภาวะ

เด็กทั่วโลกเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านอาหาร เพราะการบริโภคไม่สมดุล ส่งผลต่อสุขภาวะอ้วนผอม ชาวโลกเผชิญความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน