เทคโนโลยี CCS ความหวังประเทศไทย พิชิตเป้าหมาย Net Zero Emissions 2065

หลายคนน่าจะเคยสงสัยกับคำว่า “Net Zero Emissions” หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เป็นสิ่งที่ทำได้จริงหรือเปล่า หลายประเทศทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาที่จะพิชิตเป้าหมายนี้ด้วยช่วงเวลาที่แตกต่างกันตามความพร้อม โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ปี 2065 หรืออีก 41 ปีจากนี้ ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างอเมริกาตั้งเป้าไว้ที่ปี 2050 ส่วนประเทศจีนตั้งเป้าไว้ที่ปี 2060

สิ่งที่นำมาซึ่งความสงสัยก็คือ ในเมื่อผู้คนบนโลกยังคงบริโภคอย่างไม่หยุดยั้ง และก๊าซเรือนกระจกยังคงถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากกว่า 50,000 ล้านตันต่อปี จะมีทางไหนที่ทำให้กลายเป็นศูนย์ไปได้ ยิ่งถ้าวัดกันจริง ๆ ตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา เปิดสวิตช์ไฟ อาบน้ำ ขับรถไปทำงาน เปิดโน้ตบุ๊ก ทานอาหาร แทบทุกกิจกรรมเราต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก นี่ยังไม่รวมถึงโรงงานที่ผลิตสินค้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ และการคมนาคม ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น

แน่นอนว่า ไม่มีทางที่อยู่ดี ๆ ก๊าซเรือนกระจก 50,000 ล้านตันต่อปีจะหายไปง่าย ๆ แต่หากเราขับเคลื่อนถูกที่ คลายปมถูกจุด Net Zero ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

สิ่งที่ทุกประเทศทั่วโลกมุ่งคือ การทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเต็มรูปแบบให้ได้โดยเร็วที่สุด

ซึ่งหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกสามารถลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้ก็คือ การดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เนื่องจากก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากประชากรโลก 80% คือคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก ซึ่งในที่นี้เราจะกล่าวถึงเทคโนโลยีที่ถูกยกให้เป็นความหวังของโลกในขณะนี้ นั่นคือ เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage) หรือ CCS

CCS เป็นเทคโนโลยีการดักจับและนำคาร์บอนลงไปเก็บไว้ที่ชั้นหินใต้ดิน ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ (1) ดักจับคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรมหรือชั้นบรรยากาศ (2) ปรับความดันให้เหมาะสมสำหรับการขนส่งผ่านทางท่อส่ง ทางเรือ หรือรถบรรทุก (3) นำไปกักเก็บอย่างถาวรในชั้นหินใต้ดินที่มีโครงสร้าง คุณสมบัติ และความลึกเหมาะสม ซึ่งอาจอยู่บนบกหรือนอกชายฝั่งทะเล โดยไม่มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะเดียวกันก็ไม่สร้างมลภาวะแก่บริเวณข้างเคียงและในท้องทะเลด้วย

ในการกักเก็บคาร์บอน จะพิจารณาบริเวณที่มีปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการประเมินความจุของชั้นหินกักเก็บ การประเมินประสิทธิภาพในการกักเก็บของสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาใต้ดิน การประเมินความสามารถในการอัดคาร์บอนลงในชั้นหิน และยังมีขั้นตอนของการติดตามคาร์บอนที่ถูกอัดกลับไปแล้วเพื่อความปลอดภัยด้วย

การนำคาร์บอนไปกักเก็บ ไม่ได้อัดลงไปในครั้งเดียว แต่จะทยอยนำลงไปกักเก็บในอัตราที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการรั่วไหล และจะไม่มีผลกระทบตามมา เมื่ออัดคาร์บอนลงไปแล้ว ยังมีการติดตามสถานะของคาร์บอนด้วยว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนที่หรือไม่ อย่างไร

ส่วนคำถามว่าทำไมต้อง CCS ? เปรียบเทียบง่าย ๆ ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 320 ล้านไร่ มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 320 ล้านตันต่อปี การจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ในปริมาณมาก ถ้าพิจารณาจาก (1) การปลูกป่า ซึ่งการปลูกป่า 1 ล้านไร่ จะช่วยซึมซับคาร์บอนได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แต่หากจะปลูกป่าเพียงอย่างเดียวเพื่อลดคาร์บอนให้ได้ 320 ล้านตัน นั่นหมายถึงจะต้องทำให้พื้นที่ 50% ของประเทศไทยกลายเป็นป่า จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอาศัยวิธีนี้โดยลำพัง (2) การใช้รถไฟฟ้า ประเมินว่าจะช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ประมาณ 30–40 ล้านตันต่อปี ก็จะยังคงเหลือคาร์บอนจำนวนมากที่ต้องจัดการ ซึ่งหากมีการใช้ (3) เทคโนโลยี CCS ก็จะช่วยลดคาร์บอนได้อีก 40 ล้านตันต่อปีภายในปี 2050 และเพิ่มเป็น 60 ล้านตันต่อปีภายในปี 2065

แนวทางผสมผสานของการลดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมี CCS เป็นเครื่องมือหลัก ร่วมกับการใช้รถไฟฟ้า การลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน และหัก‍ลบคาร์บอนส่วนที่เหลือด้วยการปลูกป่า จึงเป็นแนวทางที่เป็นไปได้จริง ที่เชื่อว่าจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสามารถพิชิตเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี 2065 ได้สำเร็จ

จากข้อมูลของ Global CCS Institute พบว่ามีการพัฒนาโครงการ CCS ทั้งในเชิงพาณิชย์และโครงการนำร่องรวมแล้วเกือบ 800 โครงการทั่วโลก เช่น นอร์เวย์ อเมริกา ญี่ปุ่น และยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย–แปซิฟิก

CCS โครงการแรกของโลกที่เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมสามารถขนส่งคาร์บอนและนำไปกักเก็บ เกิดขึ้นที่ประเทศนอร์เวย์ ชื่อว่า “Northern Lights” ซึ่งบริษัทพลังงานระดับโลกอย่าง Equinor, Shell และ TotalEnergies ทำร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนช่วงแรกจากรัฐบาลนอร์เวย์ มีเป้าหมายการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในช่วงแรก ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี เท่ากับการปลูกป่าหลายแสนไปจนถึงล้านไร่เลยทีเดียว เน้นเก็บคาร์บอนจากอุตสาหกรรมซีเมนต์ และอุตสาหกรรมหนักอื่นที่หลีกเลี่ยงการปลดปล่อยคาร์บอนไม่ได้

สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยี CCS ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะบริษัทไทยอย่าง ปตท.สผ. กำลังศึกษาประยุกต์ใช้ CCS ในอ่าวไทยที่แหล่งก๊าซฯ อาทิตย์ เรียกว่าเป็นโครงการนำร่อง ประเมินว่าจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี คาดว่าภายในปีนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่จะเริ่มกักเก็บคาร์บอนได้จริง ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกราว 3 ปี

เทคโนโลยี CCS เป็นเหมือนการย้อนกลับของกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่นำคาร์บอนซึ่งเป็นสารพลอยได้จากการใช้พลังงานฟอสซิล ส่งกลับคืนไปยังชั้นหินใต้ดินที่เคยนำพลังงานฟอสซิลขึ้นมา หรือนำไปเก็บชั้นหินอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมก็ได้

ถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า ถ้านำคาร์บอนไปกักเก็บใต้ทะเล จะเหมือนกับการนำขยะไปทิ้งทะเล หรือสร้างมลพิษในใต้ทะเลหรือไม่ ?

จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี CCS พบว่าการกักเก็บคาร์บอนถาวรด้วยวิธีนี้ ไม่สร้างมลภาวะใต้ทะเล และยิ่งห่างไกลกับคำว่า “นำขยะไปทิ้งในทะเล” มาก เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ใช่สารพิษแต่อย่างใด และอยู่ในลมหายใจออกของเราทุกคน การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปกักเก็บ ก็จะอัดกลับลงไปในหลุมขุดเจาะที่นำก๊าซธรรมชาติออกมาใช้หมดแล้ว อยู่ในชั้นหินที่เป็นตัวปิดทับโพรงกักเก็บไว้ โดยเมื่อคาร์บอนถูกเก็บในชั้นหินใต้ทะเล ก็จะมีการแปรสภาพหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและแรงดันของแหล่งที่กักเก็บ เช่น ละลายลงไปในน้ำที่แทรกตัวอยู่ในรูพรุนของชั้นหินที่เราอัดลงไป เมื่อระยะเวลาผ่านไป คาร์บอนเหล่านี้จะรวมตัวกับสารประกอบอื่น ๆ และตกผลึกเป็นแร่ในสถานะของแข็งอยู่ในชั้นหินเหล่านั้นในที่สุด นอกจากนี้ ในการกักเก็บจะต้องมีวิธีบริหารจัดการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

การทำ CCS เพื่อรองรับคาร์บอนจากโรงงานและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ ทั้งด้านกฎระเบียบ สิทธิประโยชน์ในการลงทุน และรายละเอียดความรับผิดชอบกรณีที่นำคาร์บอนไปเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ หรือในยุโรป ก็มีการออกกฎหมายคาร์บอน (Carbon Law) แล้ว ล่าสุดก็ที่ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม โครงการลักษณะดังกล่าว ต้องใช้งบประมาณลงทุนจำนวนมาก เฉพาะการรับคาร์บอนนำไปเก็บในอ่าวไทย ประเมินว่าต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3,000–4,000 ล้านเหรียญในการก่อสร้างและการติดตามผล จึงต้องอาศัยการร่วมทุนของหลายบริษัท และการสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

ถ้าสำเร็จ CCS จะช่วยรองรับภาคอุตสาหกรรมของไทย เช่น โรงงานปุ๋ย โรงงานเหล็ก โรงงานอะลูมิเนียม และโรงงานปูน ที่หากไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ จะได้รับผลกระทบในการส่งออกจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือ CBAM นี่‍จึงอาจเป็นทางออกสำหรับโรงงานเหล่านี้ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ด้วย

หากประเทศไทยต้องการจะพิชิตเป้าหมาย Net Zero Emissions ในปี 2065 ภายในปี 2040 จะต้องมีการพัฒนาโครงการ CCS ให้สามารถรองรับคาร์บอนจากโรงงานต่าง ๆ ให้ได้ 30–40 ล้านตันต่อปีในปี 2050 และขยายความสามารถให้รองรับได้ถึง 60 ล้านตันต่อปีในปี 2065 ถ้าเราก้าวถึงจุดนั้น มีความเป็นไปได้ว่าเราจะพิชิตเป้าหมาย Net Zero ได้จริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

TOA รุดหน้าพิชิต Net Zero เป็นบริษัทสีรายแรก รับโล่ ‘CALO’ องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก ระดับยอดเยี่ยม ตอกย้ำภารกิจ GREEN MISSION

บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA โดย นายจตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รับโล่ประกาศเกียรติคุณ “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก”

PRINC จับมือพันธมิตร 20 แห่งลงนามร่วมกับ อบก. - ธรรมศาสตร์ เป็นองค์กรนำร่อง มุ่งสู่ Net Zero ด้วยวิธี Science-Based Target

กรุงเทพฯ - บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC ร่วมกับองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นองค์กรนำร่องรวม 20 แห่ง ลงนามความร่วมมือโครงการส่งเสริมการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรม

สร้างเชื่อมั่นมุ่งสู่ Net zero

ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา สถานการณ์ของทั่วโลกเริ่มคลี่คลายจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศไทย เปิดประเทศเต็มรูปแบบเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ด้วยความหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับมาบูมอีกครั้ง