“อย่าเพิ่งเชื่อ-อย่าเพิ่งแชร์-อย่าเพิ่งโอน” คาถาป้องกันแก๊ง Call Center

คนไทย 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ถูกหลอกให้ร่วมลงทุน พนันออนไลน์ ด้วยการเปิดบัญชีม้า ซื้อสินค้า-โอนเงิน-กู้เงิน ไตรมาสแรกปี 67 เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท พบผู้สูงอายุโดนหลอกพุ่ง 22% โอกาสทองของมิจฉาชีพที่เข้าถึงตัวเหยื่อได้ทุกที่ทุกเวลา

ทุกวันนี้คนทำงานหาเช้ากินค่ำอย่างพ่อค้าแม่ค้า มนุษย์เงินเดือนที่เป็นข้าราชการ พนักงานห้างร้านเอกชน ใช้ชีวิตไม่โลดโผนอย่างสามัญชนทั่วไป รู้จักการเก็บออมเงินไว้เพื่ออนาคตหลังเกษียณอายุ เพื่อจะหาความสุขให้กับช่วงปลายของชีวิต มีความลงตัวด้านการเงินและสุขภาพ การเป็นนักวางแผนการเงินอย่างชาญฉลาดต้องศึกษาอย่างลึกซึ้งไม่ให้ถูกหลอก แต่บนโลกออนไลน์ในวันนี้ หลายคนต้องตกอยู่ในสภาพของคนอนาถาไปโดยปริยาย เพราะมีความโลภอยากได้เงินแบบง่ายๆ สร้างเส้นทางความร่ำรวยอย่างสุ่มเสี่ยง เพราะหลงเชื่อเหล่ามิจฉาชีพออนไลน์ แก๊ง Call Center เข้าถึงตัวและล้วงข้อมูล  กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอก โอนเงินวันนี้ อีกหลายเดือนถึงรู้ตัว  ชีวิตต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง หนี้สินล้นพ้นตัว กลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว

ความจริงที่แสนเจ็บปวด และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของคนมากมายนี้เอง จึงเป็นวาระสำคัญที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 28 ภายใต้หัวข้อ “Next levels to counter fraud & deepfake: What’s else  should we act? ยกระดับรับมือมิจจี้ภัยการเงิน จากพลเมืองเท่าทันสู่นโยบายสาธารณะในยุคดีพเฟค”  พร้อมระดมความคิดจากนักวิชาการและวิทยากรหลากหลายสาขา ร่วมกันถกปัญหาและหาทางออกด้านการรับมือ และป้องกันภัยมิจฉาชีพการเงินออนไลน์ เมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ชั้นล่างศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการ สสส. เปิดเผยว่า สสส.จะต้องยกระดับการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพออนไลน์แก๊ง Call Center ในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีการปรับตัวในการเข้าถึงตัวเหยื่ออย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี AI คุกคามเหมือนจริงน่าเชื่อถือ เนื่องจากได้รับข้อมูลใหม่จาก We Are Social ดิจิทัลเอเจนซีระดับโลก ระบุว่าคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 63 ล้านคน คิดเป็น 88%  เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ในรอบ 10 ปี แตกต่างจากสมัยก่อนกว่าจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ต้องมีการเลือกสถานที่ และมีผู้ใช้บัญชีโซเชียลมีเดียมากกว่า 49 ล้านคน หรือ 68.3%

ทุกคนต่างมีมือถืออยู่กับตัว ทำให้เป็นโอกาสทองของมิจฉาชีพที่สามารถเข้าถึงตัวได้ทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์การถูกหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์  ภายใต้โครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ปี 2567 โดย สสส.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงออนไลน์และตกเป็นผู้เสียหาย 18.37 ล้านคน โดยผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อเพิ่มสูงขึ้น 22% สาเหตุมาจากผู้สูงอายุไม่เข้าใจกลโกงเหล่านี้ จึงสูญเสียทรัพย์สินเงินทองให้มิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผู้เสียหายยังได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ  เช่น ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปัญหาขาดความเชื่อมั่นต่อการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ และปัญหาสุขภาพจิต

“เวทีนักคิดดิจิทัลฯ ที่ สสส.และภาคีเครือข่ายจัดขึ้นครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญคือ การผนึกกำลังภาคีทุกภาคส่วนยกระดับนิเวศสื่อสุขภาวะ เสริมทักษะให้ทุกคนเป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ รวมถึงขับเคลื่อนให้มีมาตรการทางกฎหมายที่ต้องมาควบคุมกำกับดูแล มีบทลงโทษที่ชัดเจน  มีมาตรการทางสังคม และมาตรการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งคนทุกวัยต้องช่วยกันดูแล โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่ให้ถูกหลอกลวงและตกเป็นเหยื่อของมิจจี้ หรือ มิจฉาชีพอีกต่อไป” ดร. นพ.ไพโรจน์ชี้แจง

Dr.Joshua James Regional  Counter-Cybercrime Coordinator  United Nations Office on Drugs and Crime ตั้งข้อสังเกตว่า มิจฉาชีพออนไลน์เป็นพันธมิตรอย่างสมบูรณ์กับประเทศไทย เนื่องจากแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตสูงมากขึ้น 3 เท่าตัวในแต่ละปี ส่งผลให้เกิดการโกงได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งคนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในครัวเรือนสูงหลายแสนล้านบาท เมื่อเหล่าแก๊ง Call Center ออกอุบายอันแยบยลในการหาเงินได้ง่ายๆ เพื่อจะปลดหนี้ก้อนโต ด้วยข้อเสนอ Easy Money อันแยบยล เป็นการล่อเหยื่อให้ตกหลุมพราง โอนเงินข้ามชาติจากประเทศกัมพูชา เยอรมนี แอฟริกา ยิ่งมีเงินคริปโตฯ เงินดิจิทัลทำธุรกรรมการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินก้อนใหญ่ในระดับโลกก็เป็นไปได้ง่าย เกิดกลโกงได้ง่ายขึ้นไปอีก อีกทั้งกฎหมายเทคโนโลยีของไทยล้าสมัยไม่ทันเหตุการณ์ และยังมีขั้นตอนความล่าช้า กว่าจะผ่านเป็นกฎหมายก็ไม่เท่าทันกับกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่พัฒนาก้าวไกลไปเรื่อย การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักใหญ่ ในขณะที่มิจฉาชีพใช้ทุกกลวิธี mindset เพื่อเอาเงินออกจากคนรอบโลก

ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567  พบว่าประชาชนแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ จำนวนไม่น้อยกว่า 400,000 ราย มูลค่าความเสียหายสูงกว่า 60,000 ล้านบาท สูงสุด 3 ประเภทที่มักโดนหลอก  ได้แก่ 1.ถูกหลอกให้ซื้อสินค้าหรือบริการ 41.94% 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 12.85% 3.หลอกให้กู้เงิน 10.95% บางคนเงินออมที่เก็บมาทั้งชีวิตต้องสูญไป ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงต้องจับมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน ที่ผ่านมา ธปท.และสถาบันการเงินได้ยกระดับการป้องกันภัยออนไลน์ผ่านมาตรการต่างๆ ด้วยการใช้นวัตกรรมในแก้ปัญหาให้รวดเร็ว รัดกุม และมีความเท่าทันภัยการเงินที่หลากหลาย แต่ปราการสำคัญอีกส่วนหนึ่ง คือการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนตื่นตัวและรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพ ซึ่ง ธปท., สสส., โคแฟค และภาคีเครือข่ายได้มาร่วมกันเป็นกระบอกเสียงและผลักดัน ให้การสร้างภูมิคุ้มกันภัยการเงินเป็นนโยบายที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)(NCSA) เตือนว่า กลุ่มมิจฉาชีพหลอกเหยื่อให้เราโลภเกินจริง หลอกว่าจะได้ค่าตอบแทนเดือนละ 4 หมื่นบาท มีอาหาร 3 มื้อ เมื่อหลงเชื่อถูกกดดันให้ทำงานกับมิจฉาชีพด้วยการทำยอดเพื่อสร้างรายได้ก้อนโตให้กับมิจฉาชีพ ด้วยการเปิดบัญชีม้า เมื่อถูกจับได้ก็ต้องปิดทุกบัญชีที่มี มาระยะหลังค่าตอบแทนเหลือเดือนละ 2 หมื่นบาท ที่ผ่านมา TikTok  ให้ความร่วมมือกับทางราชการในการจับมิจฉาชีพทางออนไลน์ เพราะโจรออนไลน์ทำให้ TikTok ลดความน่าเชื่อถือ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ในขณะที่แพลตฟอร์มยอดนิยมอันดับต้นๆ ที่คนไทยทั้งประเทศใช้โดยเฉพาะผู้สูงอายุเพื่อทักทายกัน จะให้ความร่วมมือกับราชการน้อยมาก ทำให้เหยื่อถูกหลอกได้ง่าย เพียงแค่กดลิงก์เป็นเพื่อน คุยโต้ตอบกันผ่านทางไลน์ โอนเงินและยากที่จะได้เงินคืน เมื่อทางธนาคารชาติตรวจตราอย่างเข้มงวด มิจฉาชีพเลือกใช้อีกช่องทางหนึ่ง Maxme Pay จ่ายเงินก้อนได้เพียงวันละครั้ง

สัดส่วนคนที่ถูกหลอกทางออนไลน์มากที่สุดเป็นคนวัยทำงานอายุ 30-50 ปี ทั้งๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์เก่ง แต่ถูกหลอกทำงานทางออนไลน์ หลอกลวงให้ลงทุนร่วมกันมีส่วนสัมพันธ์กับพนันออนไลน์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงวัยสูญเสียเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต คนกลุ่มนี้น่าเป็นห่วง เพราะเขาจะทำงานหาเงินเก็บไม่ได้ง่ายแล้ว เหยื่อวัย 70 ปี และ 48 ปี โอนเงิน 34 ล้านบาท ลูกเตือนแม่แล้วไม่ให้โอนเงิน แม่ต่อว่าลูกไม่รู้เรื่อง เขาไม่ได้หลอกแม่เพราะก่อนหน้านี้เคยได้เงินก้อนและได้กำไรกลับคืนมา ไม่ได้บอกใคร เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วแก้ไขยาก ถ้าวันไหนได้สติขึ้นมาเสียเงินก้อนโตหลายครั้ง ก็จะกล่าวหาว่าทำไมรัฐบาลไม่ช่วยเหลือ

ปัญหาดังกล่าวมีรายงานว่า ประเด็นที่ถูกหลอกเพื่อนำเงินไปลงทุนมากกว่าการหลอกซื้อของออนไลน์ ทั้งนี้จากการที่ข้อมูลรั่วเป็นแสนชื่อ มิจฉาชีพรู้ว่าเหยื่อมีเงินฝากเยอะก็เลือกติดต่อ กลายเป็น server ของโจร แต่ละวันมีการร้องเรียนมากกว่า 50 คดี ยอดความเสียหายร้อยกว่าล้านบาท หลายรายไม่ยอมไปแจ้งความ  "เมื่อเรารู้ตัวว่าเรากำลังตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพให้จดแจ้งเบอร์ hotline ของธนาคาร ติดต่อเบอร์ 1441 ให้เร็วที่สุด  ทุกวันนี้ทั้งตำรวจ ธนาคารให้ความร่วมมือเพิ่มคู่สายสายด่วนเพื่อรับการติดต่อให้มากขึ้น ยิ่งติดต่อเร็วเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินกลับคืนมาก็มากขึ้น” พลอากาศตรีอมรเปิดเผย และยังได้มอบไซเบอร์บอร์ดเกมให้โคแฟค Everyone is a fact checker อย่าเพิ่งเชื่อ อย่าเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งโอน เพื่อให้ผู้สูงวัยเล่นเกมรู้เท่าทัน

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) ตั้งข้อสังเกตว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เราอยากให้คนไทยถูกหลอกน้อยลง รู้ทันเบอร์แปลกปลอม มิฉะนั้นคนไทยจะกลายเป็น 1 ใน 4 ที่ถูกหลอกโดยไม่รู้ตัว  จึงต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายให้รู้เท่าทันมากยิ่งขึ้น การสร้าง one stop sevice ยกระดับรับมือให้ทัน อย่าเชื่อ deepfake รายงานสถานการณ์การหลอกลวงจากมิจฉาชีพในประเทศไทยประจำปี 2567 โดยบริษัท โกโกลุก (Gogolook) ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน  Whoscall ร่วมกับองค์กรต่อต้านกลโกงระดับโลก (GASA) และ ScamAdviser พบว่า คนไทย 1 ใน 3 หรือราว 39% สูญเสียเงินให้มิจฉาชีพภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพ และมีเพียง 2% ที่ได้ทรัพย์สินคืนทั้งหมดหลังจากถูกหลอก ถือว่าเป็นการถูกหลอกลวงบ่อยขึ้น มิจฉาชีพหลอกลวงสำเร็จในเวลาสั้น และโอกาสได้เงินคืนน้อยลง ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อคนไทย หลายภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดเพื่อลดความเสียหาย โดยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และสิ่งสำคัญคือ การกระตุ้นให้ประชาชนมีความพร้อมในการรับมือภัยมิจฉาชีพในยุคดีพเฟค

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอแนะต่อสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้มีมาตรการป้องกันและการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่เผชิญปัญหาภัยออนไลน์เพิ่มขึ้น ได้แก่ การจัดให้มีมาตรการหน่วงเงิน (Delay Transaction) เพื่อให้ผู้บริโภคมีระยะเวลาในการตรวจสอบการโอนเงิน การออกมาตรการให้ธนาคารคืนเงินผู้เสียหายที่ประสบเหตุภัยอาชญากรรมทางการเงินที่รวดเร็วและเต็มจำนวนเงินที่สูญเสีย เพื่อคืนความรับผิดชอบกลับไปยังธนาคารในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพผู้รับฝากเงิน ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงจากภัยอาชญากรรมการหลอกลวงทางการเงิน และสุดท้าย คือ ภาครัฐจะต้องจัดทำแพลตฟอร์มแจ้งเตือนภัยเบอร์ต้องสงสัยที่เข้าข่ายภัยมิจฉาชีพ เพื่อให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์โดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ละเอียดยิบ! ครม.รับทราบผลงานปราบอาชญากรรมออนไลน์ในช่วง 30 วัน

นางสาว ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบ ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 5/2567 โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ชวนนักดื่ม “ตรวจตับ-เลิกจับขวด” ฟื้นฟูสุขภาพคืนความสุขครอบครัว

"งดเหล้าเข้าพรรษา" ในระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในเทศกาลสำคัญ ที่มุ่งเน้นให้ชาวพุทธงดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเป็นการรักษาประเพณีและศีลธรรมเท่านั้น

“สุรศักดิ์” รมช.ศธ. เดินหน้าขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ชูโมเดล “ศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย จ.อยุธยา” ของสสส.

วันที่ 18 พ.ย. 2567 ที่ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ภายในงานเวทีสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้รถรับส่งนั

รัฐบาลเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม สกัดมิจฉาชีพโทร-ส่งข้อความหลอกลวง คาดพร้อมใช้ต้นปี 68

นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน

สสส.สานพลังภาคี ขจัดความเหลื่อล้ำกิจกรรมทางกาย ดึงคนไทยสู่เวอร์ชั่นใหม่

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม

สสส.-สคล. ผนึกภาครัฐ เอกชน จัดแข่งฟุตซอลเยาวชนไม่เกิน 15 ปี ชิงถ้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ

สสส. โดยสมาคมเครือข่ายงดเหล้าและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (สคล.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายและภาคเอกชน รวม 7 องค์กร ลงนามความร่วมมือ พร้อมจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ