ผลงานจากการพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

“Better Regulation for Better life” หรือพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วางเป้าหมายในการปฏิบัติงานทั้งในด้านการตรวจพิจารณาและจัดทำร่างกฎหมาย การพิจารณาเสนอความเห็นให้มีการแก้ไข ปรับปรุง หรือยกเลิกกฎหมาย การให้ความเห็นทางกฎหมาย การประสานงานด้านนิติบัญญัติแก้ไขข้อขัดข้องในการเสนอกฎหมายและการช่วยเหลืองานด้านกฎหมายในชั้นรัฐสภา การจัดทำคำแปลกฎหมาย การวิจัย และพัฒนากฎหมาย การพัฒนาหลักกฎหมายปกครอง การทำหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมายกลางผ่านเว็บไซต์สำนักงานฯ และระบบกลางทางกฎหมาย และการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ซึ่งล้วนเป็นภารกิจหลักที่ต้องตอบสนองทุกภาคส่วน เพื่อให้มีกฎหมายที่ดีมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา สอดคล้องกับบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเป็นธรรม ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ และเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน

ในการพัฒนางานด้านกฎหมายของสำนักงานฯ ได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาไปสู่ระบบราชการ 4.0 ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของระบบการทำงานภายในสำนักงานฯ ทั้งในส่วนของระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ การประชุม การสื่อสารผ่าน Microsoft Teams เว็บไซต์สำนักงานฯ (ocs.go.th) และในส่วนของการให้บริการประชาชน ตลอดจนส่วนราชการต่าง ๆ ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (law.go.th) ส่งผลให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้รับรางวัลจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ หลายรางวัล ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงคุณภาพของการทำงานในการพัฒนากฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนี้

  1. รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) ระดับก้าวหน้า (Advance) ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานของรัฐที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการขององค์การ จากผลงานการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในรูปแบบระบบราชการ 4.0 การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อตอบสนองการทำงานในโลกยุคดิจิทัลในการพัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
  2. รับมอบของที่ระลึกเนื่องในการร่วมพัฒนากฎหมายกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาและกระทรวงพาณิชย์ในการร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในการร่วมยกร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และเป็นคณะกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ในการร่วมยกร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
  3. รางวัล “ Friends of Makers Award” จากสมาคมการค้า สตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) ในงาน “Makers United 2024” ในวาระครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้งสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย โดยคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจ Startup ในคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะที่มีบทบาทในการปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจ Startup และมีการพัฒนากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างระบบนิเวศของ Startup ในประเทศไทย
  4. รางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำปี 2566 “DG Awards 2023” เป็นรางวัลจากการดำเนินโครงการสำรวจระดับความพร้อมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทยของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับ “รางวัลหน่วยงานคุณภาพด้านการใช้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance)”
  5. โล่ประกาศเกียรติคุณ ให้แก่ อนุกรรมการศึกษาแนวทางการปรับปรุง หลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจ Startup ในคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จากบทบาทในการปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจ Startup และมีการพัฒนากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างระบบนิเวศของ Startup ในประเทศไทย รางวัลดังกล่าว มอบโดยศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUiHub) ในงาน Chula Deep Tech Demo Day 2023
  6. รางวัล “Recognition of Excellence 2023” ผลงานโครงการระบบกลางทางกฎหมาย (Law Portal) จากนายโมฮิท ซาการ์ CEO และบรรณาธิการวารสาร OpenGov Asia สิงคโปร์ จากงาน Thailand OpenGov Leadership Forum ประจำปี ครั้งที่ 5 โดยโครงการระบบกลางทางกฎหมาย (Law Portal) เป็นระบบแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย ยกระดับการส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการออกกฎหมาย สามารถส่งความคิดเห็นโดยตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านช่องทางออนไลน์ นับเป็นความคิดริเริ่มและความพยายามขององค์กรในระดับแนวหน้าของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยบริการทางออนไลน์ และดิจิทัลที่ทันสมัย (online and digital cutting-edge services)

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการ "Competitive Thailand, Grow Sustainably Together" ในหัวข้อ “ประเทศไทยที่มีการแข่งขัน : การเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน” และหัวข้อ “การออกแบบกฎหมายเพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต – การกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์” ในระหว่างวันที่ 19 - 20 กันยายน 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนของประเทศไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านการพัฒนากฎระเบียบที่ดี (Good Regulatory Practice : GRP) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศสมาชิก OECD รวมตลอดทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

สำหรับในส่วนของผลการปฏิบัติงานในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้รับเรื่องจากคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ มาดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 1,731 เรื่อง แบ่งเป็น 1) ร่างกฎหมาย จำนวน 278 เรื่อง 2) ให้ความเห็นทางกฎหมาย จำนวน 1,453 เรื่อง (ความเห็นทั่วไป 511 เรื่อง และความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 942 เรื่อง)

ไม่ว่าจะเป็นผลการปฏิบัติงานหรือผลงานต่างๆ ที่ได้รับรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รับล้วนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ได้หยิบยกมาสรุปเพื่อบอกเล่าถึงการทำงานในปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยทุกท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของสำนักงานฯ ได้ทางเพจสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เว็บไซต์ ocs.go.th ระบบกลางทางกฎหมาย law.go.th และ YouTube ช่อง Krisdika Connect หรือการติดต่อสำนักงานฯ ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 02 222 0206

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนางานด้านกฎหมายให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกปัจจุบันที่มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมถึงบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีกฎหมายที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

*******************

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวสำคัญของกฎหมายที่ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“Better Regulation for Better Life” หรือพัฒนาให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นวิสัยทัศน์ของสำนักงานฯ ที่ได้ตั้งเป้าหมายในการทำงานไปสู่ปี 2025

พัฒนาการของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์

นับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้ กระบวนการตรากฎหมายของไทยได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสร้างและสนับสนุน

กฤษฎีกากับบทบาทภารกิจการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมาย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐมีหน้าที่หลักในการจัดทำกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับความร่วมมือ OECD เพื่อพัฒนางานด้านกฎหมายของประเทศ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ประเทศไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการนโยบายกฎระเบียบ (Regulatory Policy Committee)

การเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมายที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้จัดทำร่างกฎหมายสำคัญโดยแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ปี 2015 (2015 World Anti – Doping Code : WADC)