นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ปี 2567 (กรกฎาคม - กันยายน 2567) หดตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยการผลิตสินค้าเกษตรบางส่วนในไตรมาส 3 ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อย และอากาศแห้งแล้ง และยังได้รับผลกระทบลานีญาที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มีมรสุมและฝนตกหนักต่อเนื่องเกิดอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้สาขาพืชและสาขาบริการทางการเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2 เช่นเดียวกับสาขาประมง หดตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ ยังขยายตัวได้
สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช หดตัวร้อยละ 0.4 จากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเดือนเมษายน 2567 ทำให้สภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืชบางส่วน ทำให้ผลผลิตพืชหลายชนิดลดลง สำหรับสินค้าพืชที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดปัตตาเวีย ปาล์มน้ำมัน ลำไย และมังคุด สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.9 เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าปศุสัตว์เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังอยู่ในระดับสูง สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกร ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไก่เนื้อ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดภายในประเทศและความต้องการนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สินค้าปศุสัตว์ที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ไข่ไก่ ผลผลิตลดลง สาขาประมง หดตัวร้อยละ 3.8 เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาสินค้าประมงลดลง ทำให้เกษตรกรชะลอการผลิต สินค้าประมงที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ กุ้งขาวแวนนาไม ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง และราคากุ้งตกต่ำ ประกอบกับความต้องการของตลาดต่างประเทศชะลอตัว ทำให้เกษตรกรชะลอการปล่อยลูกกุ้ง สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 0.3 เนื่องจากในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกอากาศร้อนและแห้งแล้ง หลายพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง เกษตรกรบางส่วนจึงปล่อยพื้นที่ให้ว่าง ประกอบกับสภาวะลานีญาในเดือนกันยายน 2567 ทำให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วม เกิดความเสียหาย ส่งผลให้กิจกรรมการจ้างบริการเตรียมดินและเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชที่สำคัญลดลง อาทิ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากผลผลิต ไม้ยูคาลิปตัส ครั่ง และรังนก เพิ่มขึ้น โดย ไม้ยูคาลิปตัส เพิ่มขึ้นตามความต้องใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษภายในประเทศ ประกอบกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่นยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล (wood pellet) สำหรับโรงไฟฟ้า ครั่ง เพิ่มขึ้นตามการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอินเดียและญี่ปุ่น รังนก เพิ่มขึ้นจากความต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ขณะที่ไม้ยางพารา ลดลงตามพื้นที่เป้าหมายการตัดโค่นพื้นที่สวนยางพาราเก่าและปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีหรือพืชเศรษฐกิจอื่นของการยางแห่งประเทศไทย และ ถ่านไม้ ลดลง เนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ลดลง
แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.8) – 0.2 เมื่อเทียบกับปี 2566 เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และปรากฏการณ์ลานีญา อย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่มากขึ้นยังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืชในภาพรวม ประกอบกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินหน้าขับเคลื่อนพัฒนาภาคเกษตรทั้งในระยะเร่งด่วน มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร รวมทั้งเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพื่อให้ภาคเกษตรเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หอมกลิ่นความเจริญ! 'ทักษิณ' ประกาศปั้น GDP ประเทศไทยให้ถึง 4-5 %
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษหัวข้อ อนาคตอีสาน โอกาสประเทศไทย ในงานสัมมนา ISAN NEXT : พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับเครือมติชน
โชว์ศักยภาพภาคเกษตรไทยด้านความมั่นคงอาหาร ในฐานะครัวของโลก
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก
สศก. จับมือ กสก. และ อกม. จัดทำข้อมูลกรอบตัวอย่างสำหรับการสำรวจ พุ่งเป้า 77 จังหวัดทั่วประเทศ
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ในฐานะศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศการเกษต
โครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง เพิ่มศักยภาพการผลิต สร้างมูลค่าและขยายฐานตลาดแก่สถาบันเกษตรกร
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง ปี 2567
ปีงบประมาณ 68 เกษตรฯ รับจัดสรรงบ 125,358 ล้านบาท เดินหน้าสร้างรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสภาคการเกษตร
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568