อึ้ง! ชาวโลกเผชิญความอดอยาก เกือบ 300 ล้านคน ขาดสารอาหาร 2 ใน 3 อยู่ในเอเชีย น่าห่วง 1 ใน 10 ของเด็กไทยผอมโซ เนื่องในวันอาหารโลก 2567

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 ต.ค. 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดงานประชุมเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคมด้านอาหาร ประจำปี 2567 ว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค. ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร และร่วมกันปกป้องระบบอาหารที่ยั่งยืน สสส. สานพลัง ภาคี จัดงานในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “บูรณาการเครือข่ายอาหาร สู่การบริโภคที่สมดุล ด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน” เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ และขยายผลองค์ความรู้การบริโภคอาหารให้ได้คุณค่าอย่างสมดุลตามหลักโภชนาการ พร้อมเผยแพร่นวัตกรรมการเชื่อมโยงระบบอาหารยั่งยืนตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การผลิต การกระจาย ไปสู่การบริโภค เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของระบบอาหาร สอดรับกับคำขวัญของวันอาหารโลกปี 2567 “Right to foods for a better life and a better future หรือ สิทธิในอาหาร เพื่อชีวิตที่ดี และอนาคตที่ดีกว่า” ซึ่งมีองค์กรร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันอาหารโลกกว่า 150 ประเทศ

นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลรายงานวิกฤตการณ์อาหารโลก ปี 2567 โดย FAO พบประชากรเกือบ 282 ล้านคน ใน 59 ประเทศ เผชิญปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ทั้งหิวโหยเฉียบพลันและเข้าไม่ถึงอาหารตามหลักโภชนาการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 36 ล้านคน ขาดสารอาหาร จนเกิดภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจำนวนกว่า 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย สำหรับเด็กไทยมีภาวะผอม 5 - 10% แม้อยู่ในระดับปานกลางไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่กลับสะท้อนว่ายังมีกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารตามหลักโภชนาการ และขาดความรู้ ความเข้าใจการบริโภคอาหารที่สมดุลและเหมาะสมตามช่วงวัย ที่สำคัญคือ มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามความชอบ ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่มีปัญหาในการเพิ่มปริมาณผลผลิตและการยกระดับรายได้ เนื่องจากขาดต้นทุน ทรัพยากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี จึงทำให้ประชาชนยังมีอัตราการบริโภคผักผลไม้ได้น้อยกว่าปริมาณที่แนะนำขององค์การอนามัยโลก (อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน)

“สสส. เร่งบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อร่วมกันสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนในประเทศ โดยมุ่งเป้าหมายขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 มาตรการ 1.ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและการผลิตอาหารปลอดภัย 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัยและการกระจายอาหารที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตอาหารขนาดเล็ก 3.สนับสนุนการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความหลากหลาย โดยเน้นให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านอาหาร เพื่อนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะได้อย่างสมดุล เพิ่มการบริโภคผักผลไม้ให้ได้ปริมาณที่เพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก และลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีและลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในอนาคต” ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานทั้งในด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการ อาทิ 1.สร้างต้นแบบระบบอาหารในโรงเรียนและชุมชน การใช้นวัตกรรมโปรแกรม Thai School Lunch เพื่อการบริหารจัดการเมนูอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักโภชนาการกว่า 1,000 เมนู และเชื่อมโยงผลผลิตจากเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่มาใช้เป็นวัตถุดิบในการจัดทำอาหารกลางวัน การขับเคลื่อนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการในโรงเรียน เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารและการหมุนเวียนเศรษฐกิจอาหารในท้องถิ่น 2.ผลักดันนโยบายอาหารอินทรีย์ในโรงพยาบาล 780 แห่ง เพื่อจัดจำหน่ายและให้บริการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ 3.ขยายผลพื้นที่การจำหน่ายผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพไปในชุมชนและห้างสรรพสินค้า “ตลาดเขียว” “สถานีเกษตรแบ่งปัน” กระจายทั่วประเทศกว่า 88 แห่ง ช่วยยกระดับรายได้ให้กับเครือข่ายเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจอาหารในชุมชน 4.จัดสภาพแวดล้อมลดอาหาร/เครื่องดื่มลดหวาน “โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและขนมหวาน” “โรงพยาบาลอ่อนหวาน” “ร้านกาแฟหวานน้อยสั่งได้” กว่า 200 แห่งทั่วประเทศ

น.ส.นิรมล กล่าวอีกว่า สสส. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมส่งเสริมการเข้าถึงโภชนาการอาหาร อาทิ 1.คู่มือมาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา เพื่อยกระดับการจัดอาหารในสถานศึกษาให้มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยให้เด็กนักเรียนได้บริโภคอาหารกลางวันที่มีคุณค่าต่อร่างกาย และยังลดภาวะทุพโภชนาการของเด็กวัยเรียน โดยเผยแพร่ไปใช้ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ 2.นวัตกรรมเครื่องมือ Chem Meter ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณโซเดียมในอาหารแบบพกพา 3.Daycare นมแม่และการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการดูแลพัฒนาการเด็กตามวัย รวมถึงการรณรงค์สื่อสารสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการ อาทิ แคมเปญ “หวานน้อยสั่งได้” “เมนู 2:1:1” “ลดหวาน มัน เค็ม” โดยมุ่งสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รณรงค์เปิดพื้นที่..เข้าใจวัยรุ่น ลดปัจจัยเสี่ยงทำร้ายสุขภาวะ

จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่อยู่ที่ 12.7% แม้จะลดจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 15.4% แต่ก็ยังมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

“อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.” ได้รับรางวัล “MEA ENERGY AWARDS พรีเมียม ระดับ PLATINUM”

สุดปัง! สสส. คว้ารางวัลสุดยอดอาคารประหยัดพลังงาน “MEA ENERGY AWARDS พรีเมียม ระดับ PLATINUM” จากการไฟฟ้านครหลวง รับรองเป็นต้นแบบอาคารสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ

เด็ก3จังหวัดชายแดนใต้สุดรันทด เผชิญทุพโภชนาการเหลื่อมล้ำสูงสุด

เชื่อหรือไม่? เมืองไทยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศ และติดอันดับการส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยกินข้าวคนละ 195 กก./ปี

เทศกาลกินเจ 2567 สสส. สานพลัง เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ชวนคนรุ่นใหม่ กินเจปลอดภัย ห่างไกล NCDs

น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลแห่งการสั่งสมบุญกุศล ละเว้นเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ถือเป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ แต่อาหารเจส่วนมากมีรสหวาน มัน และเค็มจัด จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมในคนไทย ปี 2566 พบว่า

ขับเคลื่อนแอป "เณรกล้า โภชนาดี" แก้ปัญหาทุพโภชนาการ...สามเณร

พระสงฆ์และสามเณร เป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น โดยพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคของพระสงฆ์ คือภาวะไขมันในเลือดสูง

“รองนายกฯ ประเสริฐ” ประชุมบอร์ด สสส. นัดแรก เห็นชอบแผนปี 68 มอบนโยบายเคลื่อนสุขภาพ 4 ด้าน “อายุคาดเฉลี่ย-ออกกำลังกาย-ยาเสพติด-ภัยออนไลน์”

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี