รณรงค์เปิดพื้นที่..เข้าใจวัยรุ่น ลดปัจจัยเสี่ยงทำร้ายสุขภาวะ

จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่อยู่ที่ 12.7% แม้จะลดจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 15.4% แต่ก็ยังมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยมีตัวเลขระบุว่า ผู้สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี มีจำนวน 211,474 คน ในจำนวนนี้ 73.7% เริ่มสูบบุหรี่ช่วงอายุ 15-19 ปี ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 21.8 เท่า 

สะท้อนให้เห็นว่า เยาวชนในสังคมไทยยังคงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการทำร้ายสุขภาพของตนเอง เพราะแม้ตัวเลขการดื่มแอลกอฮอล์ของกลุ่มอายุ 15-24 ปี มีแนวโน้มลดลงเหลือ 20.9% หรือประมาณ 1.9 ล้านคนในปี 2564 จากเดิมอยู่ที่ 23.5-29.5% ในปี 2547-2558 แต่ปัญหาดื่มแล้วขับ ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารบาดเจ็บและเสียชีวิตยังมีอยู่ถึง 25.09%

นอกจากนั้นยังมีปัญหาการพนัน ที่ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานข้อมูลปี 2566 ว่าพบกลุ่มอายุ 15-25 ปี เล่นพนันออนไลน์ 2.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นนักพนันหน้าใหม่ 739,000 คน

ทั้งบุหรี่ เหล้า และการพนัน นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เยาวชนไทยในวันนี้กำลังเผชิญ ไม่น้อยหน้าไปกว่าปัญหาความรุนแรง จึงเป็นหัวข้อสำคัญในการจัดกิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่้ผ่านมา มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม “WHY? ทำไม? ไม่เข้าใจวัยรุ่น” เพื่อกระตุ้นให้ครอบครัว  ชุมชน และสังคมเข้าใจวัยรุ่น และเป็นการเปิดพื้นที่เพื่อสะท้อนปัญหาและความต้องการของวัยรุ่นผ่านกิจกรรม ตั้งแต่นิทรรศการ บูธฮีลใจให้คำปรึกษา ไปจนถึงละครเวที

นางสาวรุ่งอรุณ  ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) สสส. เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันเยาวชนแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ใหญ่เปิดใจและพยายามทำความเข้าใจธรรมชาติและความเป็นไปของวัยรุ่น และตีแผ่ปัญหาปัจจัยเสี่ยง การดำเนินงานของ สสส.สะท้อนจุดยืนและต้องการสร้างเสริมสุขภาวะในเด็กและเยาวชน ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง ทั้งบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด และการพนัน โดย สสส.ได้จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง ให้บุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วน ให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์สังคมสุขภาวะ

“สสส.อยากให้เด็กและเยาวชนปกป้องตัวเอง เพื่อนและคนรอบข้างให้พ้นจากปัจจัยเสี่ยง ผู้ใหญ่ชอบกำหนดกฎเกณฑ์มากเกินไป อยากให้รับฟังเสียงเยาวชน เปิดพื้นที่ให้เขา โดยผู้ใหญ่มีส่วนร่วมในการสนับสนุน ไม่ใช่สั่งการ เช่นเดียวกับในโรงเรียน ครูผู้ปกครองเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบแนวคิดหลากหลาย ที่ให้คำแนะนำถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เด็กๆ เหล่านี้มาจากโรงเรียนที่หลากหลาย เป็นงานที่ภาคีร่วมกันขับเคลื่อนให้เป็นงานที่สร้างสรรค์”

นางสาวรุ่งอรุณตอกย้ำว่า การดื่มยังเป็นปัจจัย 1 ใน 4 ของความรุนแรงในครอบครัว ส่วนปัญหาการเล่นการพนัน มีผลต่อสมองของเด็ก ยิ่งเล่นยิ่งติดจนขาดความยับยั้งชั่งใจ กลายเป็นคนลักเล็กขโมยน้อยเอาเงินไปเล่นพนัน ซึ่งเข้าถึงง่ายผ่านทางออนไลน์

สำหรับการเปิดเวทีเพื่อให้เข้าถึงเข้าใจวัยรุ่นนั้น เริ่มจาก นางสาวแพท (นามสมมติ) เปิดเผยว่า ตนเริ่มสูบบุหรี่มวนตอนที่อยู่ชั้น ม.ต้น มองกลับไปก็จำไม่ได้แล้วว่าทำไปทำไม เพราะยังเด็กมาก คิดแค่ว่าสูบแล้วรู้สึกดี รู้สึกว่าเป็นกิจวัตรที่ต้องสูบ ไม่ได้คิดสูบบุหรี่ตามพ่อ เพียงอยากทดลองสูบด้วยตัวเอง แล้วยังชักชวนเพื่อนให้สูบบุหรี่ด้วย  ปรากฏว่าครูจับได้ว่าสูบบุหรี่ เชิญพ่อแม่มาที่ รร.หลายครั้ง  แต่ก็เลิกสูบตอน ม.ปลาย เพราะไม่รู้ว่าจะสูบไปทำไม เลยหยุดสูบ แต่พอเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็เริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้า  เพราะเห็นจากสื่อโซเชียลมีเดีย สิ่งแวดล้อม ก็เลยทดลองสูบ ซึ่งหาได้ง่ายมาก มีร้านขายเฉพาะทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ช่วงแรกสูบแล้วรู้สึกแปลก เลยสูบมาตลอด รู้ตัวก็ไม่ทันแล้วเพราะกลิ่นหอมกว่าสูบบุหรี่มวน แต่ต่อมาก็เกิดความรู้สึกแบบเดิมอีก คือไม่รู้ว่าจะสูบไปทำไม แถมราคาค่อนข้างแพง บุหรี่ 1 พอตกินข้าวได้ 2 ชาม ประกอบกับเริ่มรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น หายใจเหนื่อยหอบ ตอนนี้ก็เลยพยายามลดปริมาณการสูบลง เพื่อให้เคยชิน และสามารถเลิกสูบได้อย่างเด็ดขาด

อยากจะบอกเพื่อนๆ ว่าไม่จำเป็นไม่ต้องเข้าไปยุ่ง หรือลองสูบ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่มวน หรือบุหรี่ไฟฟ้าเลย เพราะมันไม่ได้มีผลดี มีแต่ผลเสีย อันนี้พูดจากปากที่ลองมาแล้ว ทำมาแล้ว และตอนนี้ยังทำอยู่ ก็อยากบอกจริงๆ ว่ามันไม่มีประโยชน์”

ปัญหาหลายอย่างของวัยรุ่นมักเกิดจากการขาดความเข้าใจ เช่น น้องธีร์ (นามสมมติ) อดีตเด็กเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กรมพินิจฯ โตมาในชุมชนที่เต็มไปด้วยความรุนแรง พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาให้ ถูกพ่อแม่เปรียบเทียบกับลูกบ้านข้างๆ ซึ่งทำให้เขาเติบโตมาโดยกลุ่มเพื่อนและรุ่นพี่ในการขอคำปรึกษาดำเนินชีวิต ซึ่งหลายครั้งรุ่นพี่เหล่านั้นใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการแก้ปัญหา ความต้องการการยอมรับจากเพื่อนๆ ทำให้เขาต้องทำสิ่งต่างๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเอง รวมถึงการใช้ความรุนแรงจนสุดท้ายถูกจับ ทำให้ต้องเข้าสถานพินิจ “บ้านต้นทาง” โดนคดีจากความรุนแรง ใช้ความรุนแรงเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ก็ใช้ความรุนแรงทำร้ายคนอื่นด้วย

ในโอกาสนี้ ยังมีคำบอกเล่าและเตือนสติจาก นางสาวแอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2565 ที่สะท้อนชีวิตจริงได้อย่างน่าสนใจ โดยเธอเริ่มต้นเล่าว่า ตนเกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อมหน้า พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เรียนชั้นประถมปีที่ 3 และตนอยู่กับพ่อมาตลอด  สำหรับฉายานางงามจากกองขยะ ได้มาจากอาชีพของพ่อ แม่ เป็นพนักงานเก็บขยะของ กทม. ทำงานตั้งแต่ตี 3 จนถึง 7 โมงเช้า ไม่รู้สึกอายหรือต้องปกปิด เพราะคุณค่าของชีวิตอยู่ที่เราเห็นอะไรในตัวเอง ไม่ใช่คนอื่นเห็นอะไรจากเรา ซึ่งตนยอมรับและภูมิใจกับฉายานี้ เพราะถ้าไม่เคยลำบาก เราจะต่อสู้พยายามจนเรียนจบมหาวิทยาลัย และเข้าสู่การประกวดเวทีนางงาม จนประสบความสำเร็จแบบทุกวันนี้หรือไม่

“แอนนารู้จักหน่วยงาน สสส.ตั้งแต่ก่อนประกวดนางงาม เพิ่งจะมีโอกาสทำงานด้วยในครั้งนี้ แอนนาเคยทดลองสูบบุหรี่เมื่ออายุ 20 ปี ขอเตือนเด็กและเยาวชนอย่าริไปทดลองสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เพราะเป็นเรื่องที่อันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก แอนนามีพ่อที่ทั้งสูบและดื่มแล้วยังเลิกไม่ได้ จึงไม่อยากให้ใครเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่และเหล้า ขอฝากถึงเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ ขอให้ตั้งใจ พยายามให้เต็มที่กับทุกหน้าที่ ทุกบทบาทที่ทำ และเปิดรับฟังเสียงวิจารณ์ เพื่อนำมาพัฒนาตนเอง หากเกิดปัญหาขอให้คิดว่า ทุกปัญหามีทางออกให้หลุดพ้นเสมอ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้เจอทางออกของชีวิต”

พื้นที่รับฟังเสียงสะท้อนจากวัยรุ่น และเปิดพื้นที่ฮีลใจ  นับเป็นอีกความพยายามในการรณรงค์ให้ทุกคนในสังคมไทย โดยเฉพาะเริ่มจากครอบครัว ได้ตระหนักรู้ถึงเรื่องจากชีวิตจริงที่แต่ละคนได้เคยเผชิญ และอีกหลายคนกำลังเผชิญ ดังนั้นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และเรียนรู้ที่จะหาทางออก จึงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายเพื่อการสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืนนั่นเอง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวเชียงใหม่อุ่นใจ สสส.-มช. เดินหน้าโครงการ "Chiang Mai Greentopia" ช่วยลดสารเคมีตกค้างในเลือดได้สูง ภายใน 2 ปี ลดเหลือ 66% จาก 90%

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 ม.ค. 2568 ที่สวนผักฮักร้องขุ้ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ตัวแทนเกษตรกร ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ติดตามการดำเนินงานโครงการ Chiang Mai Greentopia : ต้นแบบการสร้างความมั่นคงทางอาหาร

พลังแห่งการเล่น..พาเด็กก้าวข้ามวิกฤต ไทยเปิดตัว"สมาคมการเล่นนานาชาติ"

การเล่นเพื่อเปลี่ยนโลก!! เชื่อว่าผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ มีปุจฉา และต้องการวิสัชนาว่า ทำไม?!? เรื่องเล่นๆ ถึงจะมาเปลี่ยนโลกได้ และท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ

สสส. สานพลัง พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)-Mappa-กสศ.-กทม. จัดเทศกาล 'Relearn Festival 2025' ชูแนวคิด 'Intergeneration ลดช่องว่างระหว่างวัย สร้างความเข้าใจระหว่างกัน' วันที่ 11 ม.ค.-9 ก.พ.68 นี้

เปิดพื้นที่ชวนครอบครัวเปลี่ยนมุมมอง-สร้างทักษะการเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่ ลดช่องว่างระหว่างวัยของเด็ก-ผู้ใหญ่ หลังพบเด็ก 25.6% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงขึ้น 2 เท่า ในรอบ 7 ปี

เด็กไทยป่วยซึมเศร้าทะลุ 2,200 คน ต่อประชากรแสนคน เสี่ยงทำร้ายตัวเอง 17.4% ซ้ำเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต

ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรม “ดูแลวัยเด็กด้วยศิลปะด้านใน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568” ภายใต้โครงการโมเดลวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในเชิงลึกเพื่อขยายชุมชนการเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะเด็กก่อนวัยรุ่น เปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน พ่อแม่

กรมกิจการเด็กและเยาวชน จับมือ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว-สสส. จัดเสวนาสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 68 เสริมแกร่งความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเด็ก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมแมนดาริน กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ชี้คนไทย"พร่อง"กิจกรรมทางกาย สสส.รณรงค์สร้างสุขกระฉับกระเฉง

โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เฉลี่ย 3 แสนคนต่อปี คิดเป็น 75% ของสาเหตุการตายทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูง