สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน”

9 ตุลาคม 2567, กรุงเทพฯ - สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.)  เตรียมความพร้อมให้ประชาชนก้าวสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ หวังประชาชนทุกคนมีทักษะดิจิทัล และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีร่วมกัน  จับมือเครือข่ายหน่วยงานภาคี จัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุน A Good Digital Citizen“ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน” โดย ดร.ปิยนุช  วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ   เป็นประธานเปิดกิจกรรมสนับสนุน    A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน” โดยมี นายประสาทสุข  อุปัชฌาย์ ผู้ตรวจราชการกรม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมฯ พร้อมกันนี้ยังมี หัวหน้าส่วนราชการ เครือข่ายหน่วยงานภาคี ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ ณ ลาน Semi Outdoor ชั้น G ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ 

โดย นายประสาทสุข  อุปัชฌาย์ ผู้ตรวจราชการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ว่า เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้และมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์อย่างชาญฉลาด เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ รู้เท่าทันและสามารถปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและเตือนภัยออนไลน์ รวมทั้ง สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับพื้นที่ได้  ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567 สำนักงานสถิติจังหวัดทุกจังหวัดซึ่งเป็นตัวแทนของกระดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาค ได้ดำเนินการฝึกอบรมให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับกรอบความฉลาดทางดิจิทัลในระดับพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 529 อำเภอทั่วประเทศ โดยมีประชาชนเข้าร่วมอบรม 35,219 คน ซึ่งเป็นอาสาสมัครดิจิทัล 29,350 คน   ในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 ที่ผ่านมาทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดกิจกรรม Roadshow  ในพื้นที่ภูมิภาค  4 จังหวัด  ได้แก่  ภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ภาคใต้ จังหวัดสงขลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา และภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ซึ่งได้การตอบรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก  และกิจกรรมในวันนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้รับการร่วมมือจาก   หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ, กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ๑  จัดนิทรรศการส่งเสริมความรู้ทางด้านดิจิทัล และร่วมการเสวนาหัวข้อ “Digital-Driven Communities: ปลอดภัย มั่นใจ ยั่งยืน” อีกด้วย

ด้าน ดร.ปิยนุช  วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ประธานเปิดกิจกรรมฯ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทุกท่านได้มาพร้อมกันและเข้าร่วมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ A Good Digital Citizen “ก้าวไปสู่ความเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพไปด้วยกัน” ในวันนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลในระดับประเทศ ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้ขยายผลไปสู่ภาคประชาชน ภายใต้นโยบาย The Growth Engine of Thailand” 3 ด้านสำคัญ คือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Competitiveness) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และการเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital)

กิจกรรมในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมการเป็น A Good Digital Citizen หรือการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของเครื่องยนต์ใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมดิจิทัลของประเทศที่สมบูรณ์ หากประชาชนทุกคนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในด้านดิจิทัลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาการทางดิจิทัลที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งยังช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัยทางดิจิทัล  การเป็น "พลเมืองดิจิทัลที่ดี" หมายถึงการที่เราทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย ชาญฉลาด มีสติ และรับผิดชอบในโลกออนไลน์ โดยคุณสมบัติของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ รับผิดชอบต่อการกระทำในโลกออนไลน์ ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพ ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เคารพความเป็นส่วนตัวและลิขสิทธิ์ของผู้อื่น รวมถึงรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลเพื่อความปลอดภัยและมีจริยธรรมในสังคมออนไลน์ เป็นต้น  ผลของการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพคือการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ขนาดใหญ่ที่ช่วยให้พัฒนาตนเองและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ในทางกลับกันหากเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ไม่มีคุณภาพ จะเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี ดิฉันขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมก้าวไปสู่ความเป็น "พลเมืองดิจิทัลที่ดี" ไปด้วยกัน เชื่อว่ากิจกรรมในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย และขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เราจะสามารถสร้างสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพ มีความเท่าเทียม และปลอดภัยสำหรับทุกคน ไม่เพียงคนในรุ่นของเรา แต่ยังรวมไปถึงคนรุ่นหลังที่จะเติบโตมาในอนาคต

สุดท้ายนี้ ดิฉันขอฝากถึงประชาชนทุกคนว่าในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันเราทุกคนควรให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเองจากภัยทางเทคโนโลยีโดยเริ่มต้นจากการตระหนักรู้และระมัดระวัง ในการใช้อินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่น รหัสผ่าน หรือเลขบัตรประจำตัวประชาชนผ่านช่องทางที่ไม่น่าเชื่อถือควรตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลหรือการติดต่อที่ได้รับ หากไม่แน่ใจให้หลีกเลี่ยงการตอบสนองทันที นอกจากนี้ ดิฉันขอแนะนำให้ ใช้ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันที่มีความปลอดภัย และหมั่นอัพเดตระบบอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งสร้างรหัสผ่านที่ปลอดภัย อย่าใช้รหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดาและอย่าคลิกหรือดาวน์โหลดไฟล์จากอีเมลหรือเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ การป้องกันตัวจากภัยทางเทคโนโลยีเริ่มจากการใส่ใจและเรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อปกป้องตัวเองและครอบครัวอย่าให้ตกเป็นเหยื่อของการล่อลวง ขอให้ทุกคนมีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย

เป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีทักษะดิจิทัล และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีร่วมกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดเสวนาวิชาการ เชิญวิทยากรภาครัฐ-เอกชนร่วมถกประเด็นขับเคลื่อนสังคมด้วยข้อมูลสถิติในยุค AI

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนาวิชาการและนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “DATA is all around us: The New Era of AI-driven Society

'เพื่อไทย' ชี้โพลสนง.สถิติฯ คนถูกใจนโยบายรัฐบาล ไม่ได้หวังแย้งโพลพระปกเกล้า

นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจประชาชนที่พอใจผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน

สำนักงานสถิติฯ เผยไทยมีแรงงานนอกระบบกว่า 21 ล้านคน แถมรายได้ต่ำกว่าในระบบ 2 เท่า

“สถานการณ์แรงงานนอกระบบในปี 2566 ประมาณครึ่งหนึ่งทำงานในภาคเกษตรกรรม และลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานในระบบ”