ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ เริ่มรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกให้ความสำคัญกับปัญหานี้ตั้งแต่ปี 2528 โดยกำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การขาดแคลนที่อยู่อาศัย ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
ปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม UN – HABITAT กำหนดคำขวัญว่า “ENGAGING YOUTH TO CREATE A BETTER URBAN FUTURE” หรือ “คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาเมือง” ทั้งนี้ที่ผ่านมา ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs ทั่วโลก จะจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกทุกปี เพื่อให้รัฐบาลในประเทศนั้นๆ แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน
เครือข่ายคนจนทั่วประเทศ รวมพลังแก้ปัญหาที่ดินอยู่อาศัยชาวชุมชน
ส่วนในประเทศไทย เครือข่ายคนจนเมือง เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายคนไร้บ้าน 7 จังหวัด เครือข่ายริมราง เครือข่ายชุมชนคลองเตย ขบวนประชาชนที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ กว่า 2,000 คน ร่วมเดินขบวนเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก World Habitat Day ได้รวมตัวกันเดินทางไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่สำนักงาน UN ประจำประเทศไทยและให้กับรัฐบาล
พร้อมกับเดินทางมาที่หน้ากระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รองรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ดินและระบบราง เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง รางคู่ รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน มีชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศที่จะได้รับผลกระทบในพื้นที่ 35 จังหวัด จำนวน 346 ชุมชน รวม 27,096 หลังคาเรือน ในจำนวนนี้หลายชุมชนโดนไล่รื้อแล้ว บางชุมชนอยู่ในระหว่างโดนดำเนินคดี
แถลงการณ์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2567
ตามที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้ “วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ของทุกปี ให้เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day)” เพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญต่อสิทธิที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ที่ขาดมิได้ ในประเทศไทยเองยังมีคนจำนวนมาก ที่ยังไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงที่ อยู่อาศัยที่มั่นคง เนื่องจากปัจจัยสำคัญด้านที่ดินที่มีมูลค่าสูง และรัฐยังไม่มีแนวนโยบายในการจัดการที่ดินในเชิงสิทธิที่ทุกคนต้องเข้าถึงได้ และเนื่องในโอกาสที่วันที่อยู่อาศัยโลก ในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย ประกอบด้วย เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ, เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองและชนบท, เครือข่ายบ้านมั่นคงริมรางรถไฟ, เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม, เครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่, เครือข่ายคนไร้บ้าน 7 จังหวัด, เครือข่ายที่อยู่อาศัยคลองเตย และเครือข่ายแนวร่วมต่าง ๆ จัดให้มีการรณรงค์ โดยมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 2,000 คน เริ่มต้นขบวนรณรงค์ ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ เพื่อติดตามข้อเสนอ และข้อทักท้วงต่อรัฐบาลในการดำเนินนโยบายที่อยู่อาศัย ที่ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลไว้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 โดยขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย ต้องการให้รัฐบาลตระหนักถึงสถานการณ์ปัญหาที่อยู่อาศัย และไม่ดำเนินนโยบายที่เป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์การเข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัย หนักยิ่งขึ้น โดยมีข้อทักท้วง และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
- รัฐบาลควรตระหนักว่า ได้ลงนามในสัตยาบันระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมปี 1966 (International Covenant of Economic, Social and Cultural Rights 1966) เมื่อปี 2539 ซึ่งในมาตรา 11 (1) ของสัตยาบันดังกล่าว ระบุว่า “รัฐที่ลงนามในสัตยาบันนี้ ตระหนักในสิทธิของพลเมืองทุกคนที่จะเข้าถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตเพื่อตัวเอง และครอบครัว ซึ่งประกอบด้วย การมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ และมีการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีพให้ดีขึ้นเสมอ รัฐที่ร่วมลงนามจะดำเนินมาตรการตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม เพื่อให้การรับรองว่าสิทธิจะได้รับการตระหนัก” ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบาย และมาตรการที่ชัดเจนในการแปลงแนวคิดดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการปกป้องผู้ถูกละเมิดสิทธิในที่อยู่อาศัย ผู้ที่ต้องถูกบังคับให้รื้อย้ายเพราะโครงการพัฒนาของรัฐ
- รัฐบาลควรมอบนโยบายที่ชัดเจนให้หน่วยงานที่มีที่ดินจำนวนกมา เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมธนารักษ์ ที่ดินสาธารณะ ให้คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสังคม และที่อยู่อาศัย ไม่ควรคิดแต่เพียงการนำที่ดินให้ภาคธุรกิจเช่า แต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบของประชาชน การนำที่ดินของรัฐเพื่อทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย จะช่วยแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพงได้มาก ดังเช่น ประเทศสิงคโปร์ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดินเพื่อทำโครงการที่อยู่อาศัย ก่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อวัตถุประสงค์อื่น จึงทำให้ชาวสิงคโปร์เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่รัฐอุดหนุนได้มากขึ้น
- รัฐบาลไม่ควรซ้ำเติมปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพง ด้วยการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าถึงที่ดิน ที่เรียกว่า ทรัพย์อิงสิทธิ 99 ปี และ เพิ่มสัดส่วนการถือครองในคอนโดมีเนียมจาก ร้อยละ 49 เป็น ร้อยละ 75 เพราะจะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยราคาแพงขึ้น เพราะมุ่งตอบสนองต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ส่วนคนในประเทศเข้าไม่ถึง และราคาที่อยู่อาศัยข้างเคียงก็จะเพิ่มสูงขึ้น เกิดผลกระทบเป็นลูกคลื่น ปัจจุบัน ราคาที่อยู่อาศัยโดยเฉลี่ยในกรุงเทพมหานครก็สูงกว่า รายได้โดยเฉลี่ย ถึง 21 เท่า ซึ่งสูงมากกว่า กรุงโตเกียว กรุงโซล และสิงคโปร์ เสียอีก สะท้อนว่า ราคาที่อยู่อาศัยปัจจุบันสูงเกินความสามารถของคนทั่วไป รัฐบาลไม่ควรซ้ำเติมปัญหาให้เลวร้ายลงกว่าเดิม
- รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องค่าครองชีพของประชาชน ด้วยการนำค่า FT ออกจากระบบการคิดค่าไฟฟ้า เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
ในวันนี้ขบวนคนจนเมืองเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัย รอฟังรัฐบาลแถลงมาตรการ และนโยบายในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อปัญหาสิทธิที่อยู่อาศัยของประชาชนทั้งประเทศ และเร่งดำเนินการตามข้อเสนอให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว
‘บ้านมั่นคง’ แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนกว่า 1 ล้านครัวเรือน
ประเทศไทยมีครัวเรือนทั้งหมดประมาณ 21 ล้านครัวเรือน ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเกือบ 6 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อยและต้องการที่อยู่อาศัยประมาณ 3.5 ล้านครัวเรือน จากปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยดังกล่าว รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายกว่า 3 ล้านครัวเรือนมีวิสัยทัศน์ “คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”
โดยกระทรวง พม.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. จัดทำแผนดำเนินการ จำนวน 1 ล้าน 5 หมื่นครัวเรือน กลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคงทั่วประเทศ เช่น ชุมชนในที่ดินเช่าหรือบุกรุก และการเคหะแห่งชาติ ดำเนินการประมาณ 2.2 ล้านครัวเรือน ในลักษณะให้ประชาชนเช่า และเช่าซื้อ
พอช. ได้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ ทั้งในเมืองและชนบท เช่น โครงการบ้านมั่นคง โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร โครงการบ้านพอเพียง (สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจน สภาพทรุดโทรม ไม่ปลอดภัย) กลุ่มคนไร้บ้าน ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนริมแม่น้ำ ชุมชนที่โดนไฟไหม้ ไล่รื้อ (บ้านพักชั่วคราว) ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม พอช.ได้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญคือ “ให้ชุมชนที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา ส่วน พอช.ทำหน้าที่สนับสนุน” ถือเป็นการพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่ให้ผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา นำไปสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องอยู่ในที่ดินบุกรุก สภาพแออัด เสื่อมโทรม หรือถูกขับไล่อีกต่อไป
พอช. จะมีบทบาทเป็นพี่เลี้ยงหรือฝ่ายสนับสนุน ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสนับสนุนการรวมกลุ่ม การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ มีสถาปนิกชุมชนให้คำแนะนำการออกแบบบ้านและผังชุมชน สนับสนุนสินเชื่อระยะยาวเพื่อก่อสร้างบ้านหรือซื้อที่ดินแปลงใหม่ สนับสนุนงบด้านสาธารณูปโภคส่วนกลางและเงินอุดหนุนการก่อสร้างบ้าน (บางส่วน) เมื่อก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว พอช.จะสนับสนุนแผนการพัฒนาชุมชน เช่น การพัฒนาอาชีพ การจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
นอกจากจะมีเป้าหมายให้ประชาชนมีที่ดินที่อยู่อาศัยที่มั่นคงแล้ว พอช.ยังสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนต่อไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
10 ภาคีร่วมจัดประกวดองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ศ.ดร.ป๋วย’ ปี 2567
ธรรมศาสตร์ รังสิต / 10 องค์กรภาคีร่วมจัดประกวดรางวัลองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ตามแนวคิดของ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์