เด็ก3จังหวัดชายแดนใต้สุดรันทด เผชิญทุพโภชนาการเหลื่อมล้ำสูงสุด

เชื่อหรือไม่? เมืองไทยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศ และติดอันดับการส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยกินข้าวคนละ 195 กก./ปี แต่ปรากฏว่าคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  "ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส" กินข้าวเพียงคนละ 20 กก./ปี หรือกินข้าวเพียง 10% ของคนไทยทั้งประเทศ คนไทยกินไข่ไก่และไข่เป็ดคนละ 267 ฟอง/ปี แต่คนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กินไข่ไก่และไข่เป็ดเพียงปีละ 20ฟองเท่านั้น บางแห่งกินได้เพียง 14 ฟอง/ปี รวมถึงเนื้อสัตว์ที่เป็นแหล่งโปรตีนก็บริโภคได้น้อยมาก

เคยสงสัยไหม?!? ทำไมเด็กถึงซีดเซียวกว่า 40% จากการสำรวจ ทั้งหมดนี้คือปัญหาความเหลื่อมล้ำในเชิงระบบ  ทั้งภาวะความยากจน ภาวะโภชนาการต่ำ สารเคมีตกค้างในอาหาร ความไม่มั่นคงทางอาหารเป็นกุญแจดอกสำคัญ  เพราะส่งผลต่อร่างกายที่แคระแกร็น ไอคิวต่ำกว่าเด็กไทยโดยทั่วไป ตลอดจนมีบางกรณีเยาวชนกลุ่มนี้ต้องหลุดพ้นจากระบบการศึกษาเพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพ

คนในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส กับปัญหาทุพโภชนาการสูงสุดในประเทศ ส่งผลเตี้ยเกินเกณฑ์เกือบเท่าตัว แถมปัญหาไอคิวต่ำ กระทบต่อการเรียนรู้ต้องออกจากระบบการศึกษา สั่งสมเป็นความยากจนเหลื่อมล้ำ 10 อันดับแรกของไทย นับเป็นประเด็นที่ไม่อาจมองข้ามอีกต่อไป

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.), องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 สงขลา และภาคีเครือข่าย จัดเวที Policy Forum  พลังความร่วมมือร่วมใจ ทุกนโยบายห่วงใยระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ “Food system in all policy" ภายใต้โครงการขับเคลื่อนและยกระดับระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในจังหวัดสงขลาและสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่โรงแรมปาร์ค อินทาวน์ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี

โอกาสนี้ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. เปิดเผยว่า อาหารเป็นเรื่องสำคัญ เรากินอะไรก็ย่อมเสียชีวิตจากสิ่งที่เรากิน จะกินมากหรือกินน้อยย่อมส่งผลต่อสุขภาวะ เด็กวัยรุ่นมีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยด้วยอุบัติเหตุเพราะดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ การกินอาหารที่ส่งผลให้อ้วน ก่อโรคให้พิการก่อนวัยเป็นอัมพาต หัวใจ  เบาหวานถึงขั้นต้องตัดขาทิ้ง สถานการณ์ในการกินอาหารที่ขาดเกินไปและมากเกินไป ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาให้กับสุขภาพ

"การขับเคลื่อนงานระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ เป็น 1 ใน 7 ประเด็นการทำงานตามทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปีของ สสส. มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและนำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ" ผู้จัดการ สสส.กล่าว และเปิดเผยว่า

 จากสถานการณ์ด้านโภชนาการพื้นที่ชายแดนใต้ ปี 2565 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ พบว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาทุพโภชนาการติด 1 ใน 5 อันดับสูงสุดของประเทศ พบเด็กอายุ 1-5 ขวบ มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นหรือมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ 20% สูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศอยู่ที่ 13% ซึ่งมีสาเหตุจากการขาดสารอาหารต่อเนื่อง กระทบต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กในระยะยาว รวมถึงส่งผลต่อความไม่มั่นคงของมนุษย์ และเศรษฐกิจประเทศ

“ขณะนี้พื้นที่ปลูกข้าว ป่าไม้หายไป กลายเป็นพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สวนยางพารา ปาล์ม ส่งผลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม สสส.เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้เร่งสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่าย นำร่องพัฒนาตำบลต้นแบบบูรณาการระบบอาหารในพื้นที่ จ.ปัตตานี จนเกิดการยกระดับการทำงานเชิงระบบและเกิดข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน 2.สร้างระบบอาหารปลอดภัยไม่ให้มีสารพิษปนเปื้อน จ.ปัตตานี 3.แก้ปัญหาโภชนาการในกลุ่มเด็กเล็ก วัยเรียน และกลุ่มเปราะบาง จ.ปัตตานี"

การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือจัดทำ Roadmap การขับเคลื่อนและยกระดับระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในจังหวัดสงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะ 3ปี เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลข้อเสนอเชิงนโยบายในพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ผลิตอาหารได้เองเพียง 10% ของความต้องการโดยเฉลี่ย ประกอบกับผลกระทบจากราคาสินค้าผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ส่งผลต่อรายได้และความยากไร้ของประชากร ซึ่งมีสัดส่วนคนจนสูงสุดติด 1 ใน 10 อันดับของประเทศ เกิดภาวะทุพโภชนาการ การกำหนดนโยบายด้านระบบอาหารเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างศักยภาพประชาชนให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เสริมความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจให้คนในพื้นที่ นโยบายด้านระบบอาหารจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการทำงานจังหวัดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ ขยายผลในทางปฏิบัติต่อไป

ผศ. ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ชี้แจงว่า ภาวะทุพโภชนาการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาอนามัยแม่และเด็กมีมายาวนานกว่า 16 ปี แม่เสียชีวิตหลังคลอดสูงกว่าภาคอื่นๆ แม้วันนี้ระบบสาธารณสุขจะดีขึ้น แต่สิ่งที่กังวลเรื่องการวัดไอคิวเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กไทย รวมถึงน้ำหนัก  ส่วนสูงต่ำกว่ามาตรฐาน การเข้าถึงอาหารปลอดภัยรวมทั้งความรอบรู้และพฤติกรรมของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีปัญหาค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่น

สถาบันนโยบายสาธารณะ ม.อ.จึงเร่งบูรณาการทำงานเครือข่ายนักวิชาการทั้งในและนอกพื้นที่ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมการทำงานส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน โดยเพิ่มขีดความสามารถของกลไกหน่วยงานในพื้นที่ ให้เกิดแผนปฏิบัติการจัดการระบบอาหารอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการขยายผลเชิงนโยบาย และเกิดการเรียนรู้ของเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่ อาทิ เครือข่ายตลาดนัดอาหารเช้าโรงเรียน 6 แห่งใน จ.ปัตตานี ให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการ ผลิตอาหารปลอดภัย เพิ่มรายได้ในครัวเรือน ส่งเสริมโครงการปลูกผักยกแคร่ สร้างโรงเรือนปลูกผักในที่สูงป้องกันวัชพืช ทำให้กลไกชุมชนจังหวัดปัตตานี และองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ต้นแบบที่เข้มแข็ง ช่วยสร้างแนวทางการกำหนดนโยบายที่แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

“พฤติกรรมการบริโภคที่เกิดความเชื่อว่าการกินปลาเค็ม น้ำบูดู อีกทั้งพฤติกรรมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว  ยางพารา ปาล์ม ยิ่งต้องเผชิญวิกฤตช่วงโควิด น้ำยางพารากินไม่ได้ การเข้าถึงแหล่งอาหารมีปัญหา รวมทั้งคนที่อยู่ในเมืองมีเงินก็เข้าถึงอาหารไม่ได้ ปกติเด็กกินอาหารกลางวันที่โรงเรียน แต่ในช่วงโควิดเด็กไม่ได้มาโรงเรียน อยู่ที่บ้านบางครั้งก็ไม่ได้รับประทานอาหารมื้อกลางวัน สะสมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาวะทุพโภชนาการ"

 ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องให้เงินแก่ครอบครัว เพื่อจับจ่ายใช้สอยให้เข้าถึงความมั่นคงทางอาหาร ใช้ตัวช่วยเพื่อให้เด็กได้กินอาหารครบ 3 มื้อ ผลจากงานวิจัยอาหารมื้อเช้าสำคัญที่สุด แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่จะรีบเร่ง เลือกอาหารมื้อเช้าให้ลูกอย่างรวดเร็ว ข้าวเหนียวหมูปิ้ง บางครั้งก็ให้เงินเด็กไปซื้ออาหารในโรงเรียน เด็กเลือกซื้อขนมกรุบกรอบ ได้รับสารอาหารที่ไม่ครบหมวดหมู่

นายอรุณ เบ็ญจลักษณ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี ชี้แจงว่า จ.ปัตตานีใช้กลไกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 38 แห่ง ร่วมกับ Thailand Policy Lab สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน ให้สามารถจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อแก้ปัญหา สร้างความรู้ความเข้าใจ  เกิดแนวร่วมในชุมชนให้เห็นพิษภัยของอาหารที่ใช้สารเคมี  ทั้งอาหารแปรรูป ชาไทย ที่มีสีสังเคราะห์ปนเปื้อนในอาหาร และอาหารทะเลที่มีสารฟอร์มาลีน โลหะหนัก สารหนู สารตะกั่วปนเปื้อนในอาหาร โดยส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัย และเสริมสร้างความรอบรู้ให้ผู้บริโภคฉลาดเลือก เนื่องจากผู้ปกครองยังมีทัศนคติที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของอาหารต่อการพัฒนาสมอง และบางส่วนคิดว่าภาวะเตี้ยในเด็กเป็นเรื่องปกติ และการสร้างนิสัยการกินที่ดีเป็นหน้าที่หลักของครู การส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้รับสารอาหารที่เพียงพอเหมาะสมตามวัย และร่วมกันแก้ปัญหาของคนในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่ออนาคตของเด็กและเยาวชน จ.ปัตตานี ที่จะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาบ้านเมือง และเป็นแกนนำสร้างสังคมสุขภาวะยั่งยืน


สุขภาวะแม่และเด็กชายแดนภาคใต้  ปัญหาซุกใต้พรมส่งผลการเรียนรู้

นางกนกรัตน์ เกื้อกิจ ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาวะแม่และเด็กเป็นปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม ส่งผลกระทบต่อมิติทางการศึกษา การเจริญเติบโต คุณภาพชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงต้องมีการกระตุ้นให้เข้าถึงวัคซีน ศอ.บต.ประกาศพื้นที่ 15 ตำบลใน 5 จังหวัด เพื่อให้เด็กอายุแรกเกิด-18 ปี จำนวน 100% ได้รับการฉีดวัคซีนใน รพ.สต. การให้ความรู้ในเรื่องภาวะโภชนาการที่ดี เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา เปิดโอกาสให้เด็กมุสลิมเข้าเรียน รร.ตาดีกา เด็กนำเสนอกิจกรรมความรู้  หนุนการบริโภคพืชผักผลไม้เกษตรอินทรีย์ งานทั้งหมดช่วยลดปัญหาช่องว่างและความขัดแย้ง สิ้นสุดโครงการในปี 2569

ปัญหาภาวะทางโภชนาการของเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าปัจจุบันมีจำนวนกว่า 40,000 คน ที่ประสบปัญหาตั้งแต่ในครรภ์มารดา เมื่อคลอดออกมามีน้ำหนักไม่ถึงตามเกณฑ์ที่กำหนด ขาดสารอาหาร เตี้ย แคระแกร็น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสติปัญญา  ทั้งนี้ด้วยสาเหตุหลักคือ อาจจะมาจากความไม่พร้อมของครอบครัว ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้มาจุนเจือเลี้ยงดู ปล่อยปละละเลย จนทำให้เด็กขาดการดูแลเอาใจใส่ ส่งผลต่อการเรียนการศึกษา รวมถึงการมีงานทำและเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้นทุกหน่วยงานจะต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อย่างเร่งด่วน โดย ศอ.บต.จะเป็นศูนย์กลางในการผลักดันชี้นำแนวทาง หนุนเสริมเติมเต็มเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ลดอัตราของจำนวนเด็กที่ประสบปัญหาให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เปรียบเสมือนลูกหลานของเราเติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีสติปัญญาที่ดี และในภายภาคหน้าสามารถเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการร่วมกันคลี่คลายปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ความยากในการขับเคลื่อนโครงการอยู่ที่หัวใจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการสร้างสันติสุข เด็กจะมีสุขภาวะที่ดีได้ เจ้าหน้าที่จะต้องมีพลังใจในการทำงาน เข้าใจเนื้องานอย่างแท้จริง ไม่เป็นการสร้างเงื่อนไขในการเข้าถึงการให้บริการ  สื่อสารให้เข้าใจง่าย ทั้งนี้ อบต.เป็นหน่วยงานปฏิบัติการขับเคลื่อน ขณะนี้เรายังขาดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้านเด็กและเยาวชน เจ้าหน้าที่ของรัฐภาคประชาสังคม ราชการจะต้องส่งเสริม NGO ในการสร้างความเจริญ มีนักโภชนาการเชื่อมต่อในพื้นที่ เข้าใจวิถีชีวิตของชาวมุสลิม การรักษาสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูเด็กเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร เป็นนักประสานงานที่ดีในพื้นที่

แต่ละพื้นที่มีผู้เชี่ยวชาญที่เติบโตในสายงานโดยเฉพาะ ทำอย่างไรจะดึงผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เข้ามาทำงานในพื้นที่ ก่อนหน้านี้ ศอ.บต.เคยเสนอกรอบงานไปที่หน่วยงาน ก.พ.เสนอตำแหน่งพยาบาล 3,000 อัตรา ด้วยการเปิดคอร์สอบรมพยาบาลวิชาชีพ 6 เดือน ได้ทำงานกับเด็กยากจนเข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะบางครั้งผู้ปกครองไม่สามารถรับมือเด็กเหล่านี้ได้ เด็กที่มีความล่าช้าในการเรียนรู้เป็นความพิการประเภทหนึ่ง เมื่ออยู่บ้านผู้ปกครองต้องให้ความใส่ใจ สังเกตเด็กเป็นพิเศษ เมื่อเด็กกลุ่มนี้เข้าไปในระบบโรงเรียนก็ต้องให้เรียนรู้ในการสะกดคำ อ่านออกเขียนได้ เด็กกลุ่นนี้ต่างไปจากเด็กเป็นเลิศที่เป็นเด็กหน้าห้องเรียนเก่ง แต่เด็กที่มีปัญหาล่าช้าในการเรียนรู้จะต้องส่งเสริมศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถที่จะเรียนรู้ อ่านออกเขียนได้ ยิ่งเด็กได้อยู่กับครอบครัวจะเป็นการเพิ่มทักษะได้อย่างดี ปัญหาการเรียนรู้ช้ามีปัญหาจากพ่อแม่หย่าร้างแยกทางกัน ปีหนึ่งๆ ที่จดทะเบียนหย่าร้างที่อำเภอมากกว่า 600 คู่ ส่งผลให้เมื่อพ่อหย่าแม่ก็หย่าลูกด้วย แม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงลูกหลายคน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อึ้ง! ชาวโลกเผชิญความอดอยาก เกือบ 300 ล้านคน ขาดสารอาหาร 2 ใน 3 อยู่ในเอเชีย น่าห่วง 1 ใน 10 ของเด็กไทยผอมโซ เนื่องในวันอาหารโลก 2567

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 ต.ค. 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดงานประชุมเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคมด้านอาหาร ประจำปี

รณรงค์เปิดพื้นที่..เข้าใจวัยรุ่น ลดปัจจัยเสี่ยงทำร้ายสุขภาวะ

จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่อยู่ที่ 12.7% แม้จะลดจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 15.4% แต่ก็ยังมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

“อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.” ได้รับรางวัล “MEA ENERGY AWARDS พรีเมียม ระดับ PLATINUM”

สุดปัง! สสส. คว้ารางวัลสุดยอดอาคารประหยัดพลังงาน “MEA ENERGY AWARDS พรีเมียม ระดับ PLATINUM” จากการไฟฟ้านครหลวง รับรองเป็นต้นแบบอาคารสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาวะ

เทศกาลกินเจ 2567 สสส. สานพลัง เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ชวนคนรุ่นใหม่ กินเจปลอดภัย ห่างไกล NCDs

น.ส.นิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลแห่งการสั่งสมบุญกุศล ละเว้นเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ ถือเป็นโอกาสดีในการดูแลสุขภาพ แต่อาหารเจส่วนมากมีรสหวาน มัน และเค็มจัด จากการสำรวจการบริโภคโซเดียมในคนไทย ปี 2566 พบว่า

ขับเคลื่อนแอป "เณรกล้า โภชนาดี" แก้ปัญหาทุพโภชนาการ...สามเณร

พระสงฆ์และสามเณร เป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่มีแนวโน้มมีปัญหาสุขภาพมากขึ้น โดยพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคของพระสงฆ์ คือภาวะไขมันในเลือดสูง

“รองนายกฯ ประเสริฐ” ประชุมบอร์ด สสส. นัดแรก เห็นชอบแผนปี 68 มอบนโยบายเคลื่อนสุขภาพ 4 ด้าน “อายุคาดเฉลี่ย-ออกกำลังกาย-ยาเสพติด-ภัยออนไลน์”

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2567 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี