บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ร่วมกับสำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาคมรุกขกรรมไทย และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (กลุ่มบิ๊กทรี) ติดตั้งค้ำยันต้นไม้ FLEXITREE BY KEMREX ภายใต้โครงการการจัดการดูแลต้นไม้ใหญ่แบบบูรณาการ โดยมี นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนรับมอบ เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาต้นไม้โค่นล้ม สร้างความปลดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และอนุรักษ์ต้นไม้ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีร่วมกันอย่างยั่งยืน ณ ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
นายประทีป ธรรมมนุญกุล กรรมการบริหาร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด เปิดเผยว่า เข็มเหล็กมีความยินดีที่ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาคมรุกขกรรมไทย และมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ หรือกลุ่มบิ๊กทรี ดำเนินโครงการการจัดการดูแลต้นไม้ใหญ่แบบบูรณาการ ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ซึ่งมีต้นไม้รวม 466 ต้น 16 ชนิด โดยกิจกรรมภายใต้โครงการนี้ในภาพรวมประกอบไปด้วยการสำรวจและประเมินสุขภาพต้นไม้โดยรุกขกรอาชีพ การค้ำยันต้นไม้เท่าที่จำเป็น การตัดแต่ง ติดตามดูสุขภาพต้นไม้อย่างสม่ำเสมอ และการจัดทำป้ายเล่าเรื่องราวต้นไม้บนถนนวิทยุ
นายประทีป กล่าวต่อว่า การอนุรักษ์ต้นไม้ด้วยวิธีค้ำยันเกิดจากปัญหาต้นไม้ล้ม โดยตัวอย่างต้นไม้ในเขตนี้มีปัญหาเรื่องการล้มเอียง ทางทีมเข็มเหล็กจึงได้ร่วมกับ ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิธีการอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ จนได้ดีไซน์ออกมาเป็นค้ำยันที่ได้มาตรฐานแข็งแรง เนื่องจากต้นไม้ในเขตนี้มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก เทียบเป็นรถยนต์ราวถึง 5-6 คัน เข็มเหล็กได้นำศาสตร์ของรุกขวิศวกรรมร่วมกับวิศวกรเรื่องต้นไม้ และความแข็งแรงของโครงสร้างประกอบกัน เพราะต้นไม้ที่มีน้ำหนักมากหากไม่มีฐานรากที่ลึกลงไปใต้ดินมีโอกาสสูงที่จะเกิดการโค่นล้มอีกครั้ง จึงใช้วิธีการทําฐานรากด้วยเข็มเหล็กสกรูลงไปในดินมากกว่า 2 เมตร รับน้ำหนักได้เกิน 10 ตัน ทําให้มั่นใจได้ว่าตอบโจทย์ทั้งเรื่องของพายุและน้ำหนักของต้นไม้
“โครงการนี้เป็นโครงการนําร่องตอบโจทย์ชุมชน ร่วมแก้ปัญหาสร้างความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นหลัก รวมถึงการอนุรักษ์ต้นไม้ ที่ตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อน ต้นไม้หนึ่งต้นกว่าจะโต เป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากเราจะปล่อยให้ต้นไม้ตายไป ส่วนเรื่องของความร่วมมือในอนาคต เข็มเหล็กเล็งเห็นความสําคัญเรื่องการอนุรักษ์ต้นไม้ ภาวะโลกร้อน โดยมีแผน MOU กับหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึง กทม. เพื่อเดินหน้าและสร้างประโยชน์ให้แก่โลกของเราไปด้วยกัน” กรรมการบริหาร บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด
ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ต้นไม้ที่ถนนวิทยุเป็นต้นไม้ที่มีความสําคัญและปลูกมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน และมีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากถนนกว้างขึ้น ความเป็นเมืองมากขึ้น ทําให้ต้นไม้ที่มีอายุเยอะๆ เริ่มเสื่อมสภาพลง อาจทําให้เกิดอันตรายกับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา การค้ำต้นไม้จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่พบได้บ่อยคือต้นไม้ที่อยู่ริมถนนเมื่อเกิดลมพัดแรงๆ หรือฝนตกหนัก มักจะโค่นล้ม ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการสร้างค้ำยันเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้เหล่านี้ล้ม และสามารถทําได้จริง
“เป้าหมายระยะยาวของเราคือ ต้องการทําให้ต้นไม้ทั้งกรุงเทพฯ มีความปลอดภัย ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ต้นไม้ล้มใส่รถหรือล้มใส่คนอีกต่อไป ซึ่งต้องมีการประเมินอันตรายของต้นไม้แต่ละต้น แต่ต้นไม้ในกรุงเทพฯ มีเยอะเป็นล้านต้น ต้องใช้เวลาในการช่วยกันทํางานต่อไป การที่จะทําให้สําเร็จ ต้องอาศัยความร่วมมือกันจากหลายฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะ กทม. อย่างเดียว ภาคประชาชนอย่างเราหรือว่าหน่วยงานเอกชนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง บริษัทที่มีการทําค้ำยัน หรือบริษัทที่อยู่แวดล้อมในพื้นที่เหล่านี้ก็ต้องลงมาช่วยกันทําเต็มที่ ปัจจุบันเรามีบทบาทในด้านที่ตัวเองถนัด มีความรู้ด้านต้นไม้ ก็มาให้ความรู้ด้านต้นไม้ มีความรู้ด้านค้ำยันก็มาสร้างค้ำยัน ตอนนี้ก็ขับเคลื่อนกันเต็มที่” ผศ.ดร.พรเทพ กล่าว
ด้าน ดร.นครินทร์ ศรีสุวรรณ นักวิจัยสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า วันนี้ตั้งใจมาร่วมทํากิจกรรมเพื่อสังคม เกี่ยวกับการค้ำยันต้นไม้บนถนนวิทยุ เนื่องจากหลายเดือนก่อนก็มีกรณีต้นไม้ล้มทับรถบนถนนวิทยุ จึงมีหน่วยงานต่างๆ ที่มีความร่วมมือกัน ทั้งกรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ร่วมกันเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ที่สัญจรบนท้องถนนและประชาชนที่เดินผ่านบริเวณถนนวิทยุ โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือช่วยในเรื่องของการออกแบบดีไซน์มีการคํานวณน้ำหนักของชุดค้ำยันในทางวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความแข็งแรงปลอดภัย มีความมั่นใจในการใช้งาน โดยใช้หลักการทางวิศวกรรมในการออกแบบดีไซน์ แล้วแจ้งข้อมูลให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้ปรับจุดตําแหน่งต่างๆ ให้สอดคล้องกัน และมีความแข็งแรงสวยงาม
“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นผลประโยชน์ในภาพรวมของทั้งชุมชนและประชาชนที่อยู่ในบริเวณถนนวิทยุ เนื่องจากใกล้กับพื้นที่สวนลุมพินี มีประชาชนจำนวนมากสัญจรและใช้ประโยชน์ในพื้นที่สวนสาธารณะ และการป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับรถที่สัญจรบนท้องถนน ป้องกันอุบัติเหตุต่างๆ หลังจากที่มีโครงการนี้เกิดขึ้นคิดว่าน่าจะมีภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสําคัญในการค้ำยันต้นไม้ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ต้นไม้ความปลอดภัยกับผู้ที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ได้มากขึ้น” ดร.นครินทร์กล่าวย้ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
PM2.5 มาแล้ว พบ ‘กทม.’ ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่
ภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในประเทศอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ พบเกินค่ามาตรฐานในกรุงเทพฯ
อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก
พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว
คนกรุงอ่วม! ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 27 พื้นที่
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับกทม. ชวนสายรักษ์โลกสืบสานประเพณี “ลอยกระทงดิจิทัล 2024” ใจกลางกรุง บนลาน Skywalk วันที่ 14-15 พ.ย.นี้
นางสาวพุทธชาด ศรีนิศากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ร่วมเปิดงาน เทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธี โดยเอ็ม บี เค
สส.รทสช. จี้ ‘ผู้ว่าฯกทม.’ เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อน นอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอด
สส.เกรียงยศ จี้กทม.เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อนนอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอดใกล้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแค่เอื้อม หวั่นชาวต่างชาตินำภาพไปเผยแพร่จะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับเมืองท่องเที่ยว ดักคออย่าโยนให้แต่กระทรวงพม.
พยากรณ์อากาศ 24 ชม. ‘เหนือ’ สัมผัสหนาวต่ำสุด 18 องศาฯ ‘กทม.’ 23 องศาฯ
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน