กรุงศรี-ไทยยูเนี่ยน เปิดโรดแมปหนุนเปลี่ยนผ่านสู่การเงิน เพื่อความยั่งยืน บนเวที SX 2024

ในขณะที่องค์กรธุรกิจหันมาให้ความสำคัญในการดำเนินงานภายใต้แนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือ  ESG (Environment, Social, Governance) การเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเพื่อการปรับตัวของภาคธุรกิจสู่การดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ  (Financing the Transition)

พบกับการเสวนาหัวข้อ "Carbon Neutrality Vision and Sustainable Finance Pathway" จัดขึ้นภายในงานมหกรรมด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability Expo 2024  ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ยงยุทธ เสฎฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มาร่วมเปิดวิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก้าวไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

ไพโรจน์ ชื่นครุฑ กล่าวว่า “ขณะนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กำลังจัดทำ Transition Plan สำหรับ 2 อุตสาหกรรมใหญ่ที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนเป็นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการขนส่ง โดยจะแล้วเสร็จในปลายปีหน้า ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายในการนำ ESG Finance เข้าไปช่วยลูกค้าปัจจุบันและลูกค้ารายใหม่ที่จะเข้ามาในสองอุตสาหกรรมนี้ให้สามารถเปลี่ยนผ่านการลงทุนเพื่อความยั่งยืน”

นอกจากนี้ ธนาคารได้ตั้งแผนก ESG Finance ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อสร้างระบบนิเวศในการสนับสนุนลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านการลงทุนได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการให้คำแนะนำ และช่วยหาพาร์ทเนอร์ เพราะกรุงศรีมีพันธมิตรจากหลากหลายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น บริษัทเทคโนโลยี เป็นต้น รวมถึงความเชี่ยวชาญด้าน ESG จากบริษัทแม่ MUFG Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น

"เราวางโรดแมป ESG Finance โดยมุ่งเน้นสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่การเงินเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ  Green Finance ซึ่งธนาคารมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ ESG Finance จำนวน 1 แสนล้านบาท ตั้งแต่ปี 2021 ถึง 2030 เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050" 

ก่อนหน้านี้ กรุงศรีได้ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรียกว่า สินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และกำลังทำงานร่วมกันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ออกมาอีก เช่น Sustainable Link Deleverage ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการขับเคลื่อน ESG ของไทยยูเนี่ยนได้ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน กรุงศรีได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น ESG Academy, ESG Awards และริเริ่ม ESG Symposium ในปีนี้ รวมไปถึงการทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกรุงศรี และธนาคารกสิกรไทย เป็น Co-CEO Sponsor และ Lead Facilitator ในการจัดทำ Industry Handbook เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติของธนาคารต่าง ๆ ในการสนับสนุน ESG Finance สำหรับภาคธุรกิจและภาคประชาชนได้ชัดเจนมากขึ้น

ไพโรจน์ อธิบายว่า “กรุงศรีมีหลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้ทั้งกับองค์กรและบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นกรอบในการพิจารณาให้บริการโซลูชั่นทางการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) ได้อย่างชัดเจน โดยกรอบนโยบายในการพิจารณาการปล่อยกู้จะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ ธุรกิจที่ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อ หรือสนับสนุนการให้สินเชื่อ เนื่องจากเป็นการดำเนินธุรกิจที่มีผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างร้ายแรง เช่น ธุรกรรมในการผลิตหรือขายสารกัมมันตรังสี หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ได้มีแผนลดคาร์บอนไดออกไซด์ โดยมีเป้าหมายลดการสนับสนุนทางการเงินแก่โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินให้เหลือศูนย์ภายในปี 2030 อันดับสองคือ ประเภทธุรกิจที่ต้องมีการพิจารณาความเสี่ยงระดับสูงมาก ๆ เนื่องจากมีผลต่อสภาพแวดล้อมโดยรวม เช่น การสร้างเขื่อน เราจะต้องมีการพิจารณาความเสี่ยงระดับสูงมาก ๆ  อันดับสามคือ ธุรกรรมที่ต้องพิจารณาอย่างใกล้ชิด เช่น เป็นธุรกิจที่จะต้องมีการจัดเก็บสารอันตราย หรือนำไปรีไซเคิล และอันดับสุดท้าย เป็นธุรกิจที่ให้การส่งเสริมอย่างมาก และสอดคล้องกับพันธกิจของกรุงศรี โดยจะให้การสนับสนุน ESG Finance สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนผ่านการเงิน หรือเริ่มดำเนินงานตามหลัก ESG”

ทางด้าน ยงยุทธ เสฎฐวิวรรธน์ กล่าวว่า “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เริ่มวางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2016 โดยระยะแรกให้ความสำคัญกับเรื่องทูน่าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ และแรงงาน จนกระทั่งปี 2023 ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศกลยุทธ์ SeaChange 2030 ขยายขอบข่ายความยั่งยืนไปยัง Scope 3 คือ ครอบคลุมการดำเนินธุรกิจทั้งซัพพลายเชน โดยจะดูไปถึงปลาประเภทอื่น ๆ รวมถึงเรื่อง Aquaculture โดยเฉพาะฟาร์มกุ้งให้มีความยั่งยืนมากขึ้น ปีนี้ ไทยยูเนี่ยน ได้ริเริ่มโครงการ low-carbon shrimp เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า กุ้งที่ส่งออกไปตลาดต่างประเทศเป็นการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ ซึ่งบริษัทต้องไปกระตุ้นให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งหันมาใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และใช้เครื่องมือในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ดีขึ้น”

ไทยยูเนี่ยน ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 42% ภายในปี 2030 จากฐานปี 2021 (2021 baseline) และการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยปีที่ผ่านมา การดำเนินงานใน scope 1 และ 2 สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 15% จากเป้าหมาย 42% ในปี 2030 ขณะที่ scope 3 ซึ่งเป็นสัดส่วน 90% ของทั้งห่วงโซ่อุปทาน สามารถลดได้ 2% ถือว่ายังไม่เป็นที่พอใจ 

"แน่นอน การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนต้องใช้เงินลงทุน แต่ทำอย่างไรจะช่วยให้เกษตรกรและคนที่อยู่ในซัพพลายเชนสามารถเข้าถึง Sustainable Finance ได้นั้น ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่เรากำลังพิจารณากัน แต่การหาโซลูชั่นจะต้องมีหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) และผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมสร้างความเชื่อมั่นในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งนี้ จะต้องเร่งหาโซลูชั่นให้ได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า"

ยงยุทธกล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะเป็นตัวบังคับให้ภาคธุรกิจต้องเดินหน้าเรื่อง ESG เร็วขึ้น หากองค์กรไหนดำเนินงานตามแนวทางนี้ จะทำให้โอกาสในการเข้าถึงเงินลงทุนจะยิ่งยากขึ้น และมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไทยยูเนี่ยนกำหนดเป้าหมายใช้เงินลงทุนเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืน ปี 2022-2030 เป็นจำนวนถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยน ยังได้ข้อสรุปที่จะริเริ่มดำเนินโครงการ Internal Carbon Fee ในปี 2025 โดยจะมีการตั้งเป้าหมายให้แต่ละโรงงานว่าจะสามารถปล่อยคาร์บอนได้เท่าไหร่ ถ้าไม่บรรลุเป้าหมายก็จะถูกปรับ ในขณะที่ใครทำได้ก็จะได้รางวัลตอบแทน ปัจจุบัน ไทยยูเนี่ยน มีโรงงานผลิตรวมทั้งศูนย์นวัตกรรมและ R&D ใน 17 แห่งทั่วโลก และมีการจ้างงานกว่า 40,000 คน

“เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน” ที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนโลกใบนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมมากมาย พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิด และไอเดียสุดเจ๋งด้านความยั่งยืนกับวิทยากรชื่อดัง ศิลปิน และเหล่าไอดอลจากทุกแวดวง ตื่นเต้นไปกับสุดยอดนวัตกรรมกอบกู้โลกให้คุณได้เรียนรู้ และพร้อมปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในวิถีชีวิตประจำวันยุคโลกเดือดได้อย่างมีความสมดุล ในงาน Sustainability Expo (SX2024) ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของ SX ได้ทาง Facebook Page : Sustainability Expo, และแอดไลน์ @sxofficial  เตรียมพบกับมุมมองดีๆ และต้นแบบสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมกิจกรรมมากมายเพื่อโลก ด้วยกันที่ Sustainability Expo 2024: Good Balance, Better World #good balancebetter world 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชวนหนอนหนังสือร่วมแบ่งปัน และอุดหนุนของบริจาคสภาพดี ที่ SX REPARTMENT STORE ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

SX REPARTMENT STORE 2024 ชวนหนอนหนังสือร่วมแบ่งปันของนอกสายตา และอุดหนุนของบริจาคสภาพดี ที่จุดรวบรวมของบริจาคในงาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 (BOOK EXPO THAILAND 2024)

เดินหน้ายกระดับงาน Sustainability Expo 2025 ผลักดันการลงมือทำเพื่อความยั่งยืน

“เราไม่ได้ปิดงาน แต่เป็นการ Launching Forward ไปสู่ SX2025” คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานอำนวยการ SX2024 กล่าวในการปิดฉากงานมหกรรมด้านความยั่งยืน

“สึนามิน้ำจืด” เสียงเตือนจากธรรมชาติ ท่าน ว.วชิรเมธี แนะป้องกันด้วยการบวชป่า ปลูกป่า บนเวที SX2024

“สึนามิน้ำจืด” คำที่พระเมธีวชิโรดม หรือ ว.วชิรเมธี พระนักเทศน์ใช้เรียกสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงราย และหลายพื้นที่ในปีนี้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหาเกิดจาก “โลภาภิวัตน์” หรือความโลภ หากจะบรรเทาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องเริ่มจากตัวเราเอง

ASEAN Circular Economy Forum : อาเซียน ต้องการผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน และการตระหนักรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาค ในงาน SX2024

“แนวคิดและการทำงานต่าง ๆ เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมีอยู่มากมาย แต่อยู่ในระดับท้องถิ่นและแยกตามอุตสาหกรรม ในขณะที่ในระดับภูมิภาค ยังไม่มีแนวทางหรือกรอบที่ชัดเจนสำหรับภาคเอกชน ตอนนี้มีโครงการริเริ่มมากมายที่พยายามจะเปลี่ยนพฤติกรรม

“Australian Green Economy Mission” เมื่อปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่ไม่มีพรมแดน ความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องของทุกคน ในงาน SX2024

“มันต้องใช้เวลา และทุกคนก็รู้ดีว่าโลกของเรามีเวลาจำกัดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ” ดร. แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย