ฟันไม่ผุ ไม่สัก รักษาแผลให้เร็ว คือคาถาป้องกันโรคหัวใจ ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจแนะนำนอกเหนือไปจากสูตร 3 อ. ที่ประกอบด้วย อาหาร อารมณ์ดี และออกกำลังกายที่เราทราบกันอยู่แล้ว
โดย 2 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจากโรงพยาบาลเมดพาร์ค นพ.สุพิชฌาย์ วงศ์มณี ศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก และ พญ.ศนิสรา จันทรจำนง อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด มาร่วมกันเปิดเผยเคล็ดลับเพื่อสุขภาพหัวใจแข็งแรง ในเวทีเสวนาหัวข้อ “Work-Life” Balance อย่างไรหัวใจไม่พัง” ในงาน Sustainability Expo 2024 มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งคุณหมอได้แชร์เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับตัวโรค การดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
หนึ่งในประเด็นที่ผู้ฟังให้ความสนใจคือ โรคหัวใจที่เกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด นพ.สุพิชฌาย์ เล่าให้ฟังว่า โรคหัวใจจากการติดเชื้อส่วนใหญ่ที่พบมักเป็นการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ซึ่งจะทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นจนหัวใจวายในที่สุด หรือเชื้อที่เกาะเป็นก้อนที่ลิ้นหัวใจอาจหลุดไปอุดกั้นเส้นเลือดหัวใจ สมอง หรือไต ถ้าไปที่ตับจะเกิดตับอักเสบได้
“เชื้อพวกนี้ส่วนใหญ่มาจากการดูแลรักษาฟันไม่ดี มีฟันผุ เชื้อจะวิ่งมาที่หัวใจได้ง่าย อีกกลุ่มคือ คนที่สักตามร่างกาย เข็มไม่สะอาดจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ซึ่งมีเส้นเลือดฝอยเยอะ เชื้อโรคจะเข้าไปในระบบ ไปที่หัวใจได้เร็ว และการมีแผลตามร่างกาย ต้องรีบรักษาให้เร็ว อย่าปล่อยให้เกิดการอักเสบ” นพ.สุพิชฌาย์ กล่าว
พญ.ศนิสรา อธิบายเสริมว่า “เชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคหัวใจมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียหรือไวรัส ถ้าเป็นเชื้อไวรัส ยังไม่มียาที่ฆ่าเชื้อได้โดยตรง หากผู้ป่วยมาด้วยโรคหัวใจที่เกิดจากการติดเชื้อ สิ่งที่แพทย์ทำได้ คือการจำกัดขอบเขตไม่ให้เชื้อทำลายหัวใจของเราต่อ และการดูแลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดยังคงทำงานได้ตามปกติและต่อเนื่อง นอกจากเรื่องการติดเชื้อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านยังชี้ให้เห็นว่าทุกวันนี้คนที่มาหาหมอด้วยโรคหัวใจอายุน้อยลงทุกที ขณะที่คุณหมอสุพิชฌาย์ต้องผ่าตัดทำบายพาสหัวใจให้คนไข้อายุเพียง 32 ปี คุณหมอศนิสรามีคนไข้โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อายุน้อยสุดประมาณ 10 ขวบ”
พญ.ศนิสรา อธิบายว่า โรคหัวใจมีหลายระบบ ทั้งการบีบตัว การนำไฟฟ้า หลอดเลือดหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจ แต่ละโรคแต่ละอาการมีสาเหตุต่างกัน พบในคนช่วงวัยต่างกัน เช่น การนำไฟฟ้าที่ทำให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักพบได้ใน 2 ช่วงอายุ คือ ช่วงวัยรุ่น กับช่วงสูงวัย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหรือกระตุ้นให้เกิดโรคเร็วขึ้น คือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและอาหารการกินที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบันทำให้คนส่วนใหญ่ต้องซื้ออาหารนอกบ้าน ซึ่งไม่มีทางเลือกมากนัก รวมทั้งเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่อร่อยแต่ทำร้ายสุขภาพมีมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ชาไข่มุก เพราะไข่มุกคือแป้งที่สามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาล อาหารปิ้งย่าง ของทอดที่มีการใช้น้ำมันทอดซ้ำ ขนมขบเคี้ยวซึ่งมีเกลือเยอะมาก ซึ่งเกลือมีผลต่อความดัน น้ำตาลจะทำให้เป็นเบาหวานและ
ไขมันในเส้นเลือดสูง เมื่อเพื่อนสนิททั้งสามคือ ความดัน เบาหวาน และไขมันมาพร้อมกัน โรคหัวใจตามมาแน่ “อาหารที่ดีคือ อาหารจืด และไม่อร่อย ไม่ปรุง ไม่กินน้ำซุป” คุณหมอศนิสรา กล่าว
“ตอนที่เรายังอายุน้อย ระบบการเผาผลาญดี ก็จะยังไม่มีปัญหา แต่พออายุมากขึ้นจะเกิดโรคได้ง่ายขึ้น การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพติดต่อกันสัก 10 ปี มักจะมีอาการให้เห็น ซึ่งเดี๋ยวนี้อาจจะไม่ถึง 10 ปีก็ได้” คุณหมอศนิสรา กล่าวเสริม
สัญญาณที่บ่งบอกว่าโรคหัวใจกำลังมาเยือน หลายคนไม่มีอาการ แต่บางคนมีอาการแน่นหน้าอก ปวดร้าวที่แขน เหนื่อยง่าย เหงื่อแตก ใจสั่น ถ้าเริ่มมีอาการเหล่านี้แสดงว่ามีไขมันเกาะเส้นเลือดแล้วอย่างน้อย 50-70%
“ไม่มีหมอคนไหนอยากให้คนไข้มีอาการแล้วค่อยมาหาหมอ เราควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ ดูแลสุขภาพ พยายามใช้ชีวิตให้สมดุล จะช่วยลดความเสี่ยงได้” พญ.ศนิสรา สรุป
“เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน” ปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในวิถีชีวิตประจำวันยุคโลกเดือดได้อย่างมีความสมดุล ในงาน Sustainability Expo (SX2024) ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)
ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของ SX ได้ทาง Facebook Page : Sustainability Expo, และแอดไลน์ @sxofficial เตรียมพบกับมุมมองดีๆ และต้นแบบสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมกิจกรรมมากมายเพื่อโลก ด้วยกันที่ Sustainability Expo 2024: Good Balance, Better World #good balancebetter world
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชนแนะ สร้าง Ecosystem ด้านสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลาง Medical Hub ของอาเซียน
ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการพัฒนา Ecosystem ด้านสุขภาพที่ครบวงจร ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ