เมื่อ “ขยะมีไม่พอ!” สำหรับงานศิลปะ หาคำตอบที่งาน SX2024

ขณะที่คนทั่วโลกกำลังกังวลเรื่องขยะล้นโลก นักออกแบบและผู้นำการเทรนด์การอัพไซเคิล (Upcycle) กลับมองว่าเรามีขยะไม่พอกับความต้องการใช้เพื่อสร้างสรรค์ของใช้และงานศิลปะ

นี่คือมุมมองจาก 3 คนรุ่นใหม่ผู้นำเทรนด์ด้านการอัพไซเคิล ผู้ที่เห็นค่าใน “ขยะ” คือ เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปิน BAB2024 ผู้รังสรรค์งานศิลป์และแฟชั่นจากของเหลือใช้ ชณัฐ วุฒิวิกัยการ หรือ ก้อง กรีน กรีน อินฟลูสายกรีน และสมภพ มาจิสวาลา จาก Recycoex ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ซื้อขายขยะแห่งแรกของไทย มาร่วมพูดคุยเรื่อง “Upcycling Waste ชุบชีวิตขยะเปลี่ยนโลก” กันบนเวทีทอล์คในงานมหกรรมความยั่งยืน Sustainability Expo 2024

ขยะคืออะไร

ก้องกรีนกรีน มองว่า “ผมไม่อยากเรียกว่าขยะ แต่เรียกว่าทรัพยากรที่อยู่ผิดที่ จัดเก็บไม่ถูกต้อง หรือยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ อาจจะเป็นขยะสำหรับบางคน แต่กลับมีประโยชน์สำหรับคนอื่น เพราะบางอย่างอาจจะหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ 100% ด้วยซ้ำ”

เอ๋ วิชชุลดา เห็นใกล้เคียงกันว่า “จริงๆ ไม่มีขยะในโลกนี้ มีแต่ของส่วนเกิน เหลือใช้ หรือยังไม่ทันใช้  ที่สามารถนำกลับมาทำให้มีคุณค่าเพิ่มขึ้น”

ขยะล้น...หรือมีน้อยไป

ด้วยมุมมองเช่นนี้ สำหรับนักอัพไซเคิล ของแทบทุกอย่างจึงมีประโยชน์ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่า “ขยะ” ของคนอื่นที่จะมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผู้ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปนั้น ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีพอจะนำมาใช้ได้

ก้องกรีนกรีนเล่าว่า ในบ่อขยะซึ่งจริงๆ แล้วควรเรียกว่าภูเขาขยะมากกว่า มีขยะทุกชนิดทั้งเศษอาหาร กระดาษ พลาสติก แก้ว ขยะอันตราย ทุกอย่างปนกันหมด และพบว่าทั่วประเทศไทยมีภูเขาขยะมากกว่า 2,000 แห่ง  กรุงเทพมหานครเพียงจังหวัดเดียวต้องใช้งบประมาณปีละกว่า 7,000 ล้านบาทในการจัดการขยะ ซึ่งงบประมาณเท่านี้สามารถสร้างสนามบินนานาชาติสุดทันสมัยได้หนึ่งแห่งสบายๆ

“ถ้าจะนำขยะมาใช้ ต้องทำความสะอาดให้ดีจึงจะรีไซเคิลได้” เอ๋ วิชชุลดา บอก

สมภพ สถาปนิกผู้นำของเหลือใช้เหล่านี้มารังสรรค์ใหม่เป็นวัสดุก่อสร้าง เช่น บล็อกปูพื้น และผู้ริเริ่มแอปพลิเคชันรับซื้อขยะ กล่าวว่า “ปัญหาตอนนี้คือการแย่งขยะ ทุกคนที่ทำเรื่องรีไซเคิล อัพไซเคิล อยากได้ขยะ

เราผลิตวัสดุก่อสร้างจากขวดพลาสติก มีความต้องการขวดพลาสติกมาก แต่ยังมีวัตถุดิบเข้ามาในระบบไม่เพียงพอ เราต้องทำให้ขยะเข้ามาในระบบมากขึ้น”

แยกขยะให้ถูก เพิ่มวัตถุดิบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่

ขยะที่จะนำมาใช้ได้ต้องมีการคัดแยกที่ถูกต้อง เพียงแยกเศษอาหารออกไปจะทำให้การจัดการขยะส่วนที่เหลือได้ง่ายขึ้นมาก แม้ว่าขยะที่เหลือจะมีหลายประเภทและการแยกอย่างถูกต้องจำเป็นต้องมีความรู้ค่อนข้างมาก แต่เพียงแค่เราแยกพลาสติกใส ขาวขุ่น อลูมิเนียม ก็ช่วยได้เยอะ 

สิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือการสร้างจิตสำนึกของทุกคนในการแยกขยะ ปัจจุบันคนไทยโชคดีที่มีพี่ๆ ซาเล้งกว่า 300,000 รายทั่วประเทศที่ขับรถหรือขี่รถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างมารับซื้อและช่วยแยกขยะให้ถึงบ้าน แต่ในอนาคต คนที่อยากทำงานนี้จะมีน้อยลง จำเป็นที่ผู้บริโภคแต่ละคนจะต้องช่วยกันแยกขยะที่ต้นทางให้ถูกต้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะ และช่วยให้มีขยะเข้าสู่ระบบมากขึ้นเพื่อนำไปอัพไซเคิล ผลิตเป็นของใช้อื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น

ชุบชีวิตขยะ

ศิลปินอย่างวิชชุลดาบอกว่า การนำของที่คนอื่นเรียกว่าขยะมาอัพไซเคิลไม่ได้เป็นเรื่องยาก เพียงนำมาชุบชีวิต (Regenerative) “คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบก็ได้ แค่เอาความชอบของเราเข้ามาจัดการก็จะได้ของใหม่ๆ  แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เราต้องมีสติในการบริโภค ต้องมองสิ่งของต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนปลายน้ำว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้คุ้มค่า”

แก้ปัญหาขยะอย่างไร

ขณะที่สมภพมองว่า การปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการคัดแยกและจัดการขยะอย่างถูกต้อง เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันการแก้ไขปัญหาขยะ ขณะที่ความตระหนัก ความรับผิดชอบของผู้บริโภคก็สำคัญ

“กว่าที่ของแต่ละอย่างจะมาเป็นของให้เราใช้ โลกต้องใช้เวลาหลายล้านปีสร้างทรัพยากรขึ้นมา สร้างน้ำมันดิบให้เราขุดขึ้นมากลั่นเป็นน้ำมัน เป็นปิโตรเลียม ก่อนจะนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสติก สำหรับมาผลิตของใช้อย่างถุงพลาสติก แต่เราอาจจะใช้ของนั้นแค่ 2-3 นาทีแล้วก็ทิ้ง” สมภพกล่าว

ผู้นำเทรนด์ทั้งสามคนเห็นพ้องกันว่า จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักเรื่องการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เริ่มจากผู้ผลิตที่ควรคิดถึงปลายทางด้วยว่าจะมีการจัดการอย่างไร เพราะปัจจุบันการซื้อกาแฟ 1 แก้ว ก่อให้เกิดขยะอย่างน้อย 3 ชิ้น คือ แก้ว ฝา และหลอด บางร้านมีถุงใส่ให้อีก เท่ากับมีขยะเพิ่มอีก 1 ชิ้น

“จริงๆ ก่อนที่จะมาคิดกันเรื่อง 3R หรือ Reduce, Reuse, Recycle เราควรเริ่มจาก Refuse คือปฏิเสธที่จะใช้หรือบริโภค เราควรคิดก่อนว่าจำเป็นไหมที่เราจะต้องใช้ผลิตภัณฑ์นั้น อย่าคิดแค่ว่ามันเป็น “สิทธิ” ของเราที่จะใช้ แต่ขอให้ใช้สิทธิที่จะปฏิเสธของที่เกินความจำเป็นก่อน เพื่อช่วยลดขยะ” ก้องกรีนกรีน กล่าวสรุป

“เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของทุกคน” ที่จะมาร่วมกันเปลี่ยนโลกใบนี้ให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมมากมาย พร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิด และไอเดียสุดเจ๋งด้านความยั่งยืนกับวิทยากรชื่อดัง ศิลปิน และเหล่าไอดอลจากทุกแวดวง ตื่นเต้นไปกับสุดยอดนวัตกรรมกอบกู้โลกให้คุณได้เรียนรู้ และพร้อมปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในวิถีชีวิตประจำวันยุคโลกเดือดได้อย่างมีความสมดุล ในงาน Sustainability Expo (SX2024) ได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมของ SX ได้ทาง Facebook Page : Sustainability Expo, และแอดไลน์ @sxofficial  เตรียมพบกับมุมมองดีๆ และต้นแบบสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างยั่งยืน ตลอดจนร่วมกิจกรรมมากมายเพื่อโลก ด้วยกันที่ Sustainability Expo 2024: Good Balance, Better World #good balancebetter world 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชวนหนอนหนังสือร่วมแบ่งปัน และอุดหนุนของบริจาคสภาพดี ที่ SX REPARTMENT STORE ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

SX REPARTMENT STORE 2024 ชวนหนอนหนังสือร่วมแบ่งปันของนอกสายตา และอุดหนุนของบริจาคสภาพดี ที่จุดรวบรวมของบริจาคในงาน มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 (BOOK EXPO THAILAND 2024)

เดินหน้ายกระดับงาน Sustainability Expo 2025 ผลักดันการลงมือทำเพื่อความยั่งยืน

“เราไม่ได้ปิดงาน แต่เป็นการ Launching Forward ไปสู่ SX2025” คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ประธานอำนวยการ SX2024 กล่าวในการปิดฉากงานมหกรรมด้านความยั่งยืน

“สึนามิน้ำจืด” เสียงเตือนจากธรรมชาติ ท่าน ว.วชิรเมธี แนะป้องกันด้วยการบวชป่า ปลูกป่า บนเวที SX2024

“สึนามิน้ำจืด” คำที่พระเมธีวชิโรดม หรือ ว.วชิรเมธี พระนักเทศน์ใช้เรียกสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงราย และหลายพื้นที่ในปีนี้ พร้อมชี้ให้เห็นว่าต้นตอของปัญหาเกิดจาก “โลภาภิวัตน์” หรือความโลภ หากจะบรรเทาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องเริ่มจากตัวเราเอง

ASEAN Circular Economy Forum : อาเซียน ต้องการผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน และการตระหนักรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาค ในงาน SX2024

“แนวคิดและการทำงานต่าง ๆ เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมีอยู่มากมาย แต่อยู่ในระดับท้องถิ่นและแยกตามอุตสาหกรรม ในขณะที่ในระดับภูมิภาค ยังไม่มีแนวทางหรือกรอบที่ชัดเจนสำหรับภาคเอกชน ตอนนี้มีโครงการริเริ่มมากมายที่พยายามจะเปลี่ยนพฤติกรรม

“Australian Green Economy Mission” เมื่อปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นความท้าทายที่ไม่มีพรมแดน ความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องของทุกคน ในงาน SX2024

“มันต้องใช้เวลา และทุกคนก็รู้ดีว่าโลกของเรามีเวลาจำกัดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ” ดร. แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย