สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17

Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการบูรณาการระบบเศรษฐกิจ โดยเขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมในแต่ละปี สลับกันระหว่างเขตเศรษฐกิจที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งทวีปเอเชีย เขตเศรษฐกิจที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย และเขตเศรษฐกิจที่ติดมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งทวีปอเมริกา ประเทศไทยเองก็ได้รับเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2565 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครและเชียงใหม่

การประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference หรือ APEC GRP เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม APEC ในความรับผิดชอบของ Economics Committee มีเนื้อหาโฟกัสไปที่ความร่วมมือทางด้านกฎระเบียบ กำหนดแนวทางหรือแนวปฏิบัติในการมีกฎระเบียบที่ดี เพื่อให้อำนวยความสะดวกต่อการค้า การลงทุน การประกอบธุรกิจ และการดำรงชีวิตของประชาชน

สำหรับการประชุมประจำปี 2567 นี้ เป็นการประชุม APEC GRP ครั้งที่ 17 โดยประเทศเปรู ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม APEC ได้กำหนดหัวข้อของการประชุมไว้ในหัวข้อ นวัตกรรมและการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก (Innovation and Digitalisation to Promote Transition to the Formal and Global Economy) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เขตเศรษฐกิจตระหนักถึงความสำคัญของการมีกฎหมายที่ดี พัฒนาระบบการตรากฎหมายให้ครบทั้งกระบวนการ (holistic regulatory lifecycle) และเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ในการนำหลักการดังกล่าวไปปรับใช้ในบริบทของเขตเศรษฐกิจของตน

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะหน่วยงานผู้แทนประเทศไทยในการประชุม APEC GRP ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงร่วมพัฒนาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการมีกฎระเบียบที่ดีของ APEC อยู่เสมอ โดยในการประชุม APEC GRP 17 ณ กรุงลิม่า ประเทศเปรูครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มอบหมายให้ นายณรัณ  โพธิ์พัฒนชัย และนางสาวใจใส  วงส์พิเชษฐ เข้าร่วมในฐานะผู้แทนประเทศไทย เพื่อนำเสนอพัฒนาการการพัฒนากฎหมายของประเทศไทยใน 2 ด้าน

1.ประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการพัฒนาระบบกลางทางกฎหมาย (law.go.th) ในการผลักดัน Digital Transformation ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนและวัฒนธรรมขององค์กรหรือสังคม ซึ่งต้องการทั้งความเข้าใจบุคลากร เข้าใจระบบและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้องการโอกาสที่สนับสนุน รวมถึงนำเสนอความท้าทายในการพัฒนาระบบกลางทางกฎหมายที่เกิดขึ้นมาใหม่ เช่น การยกระดับคุณภาพของการรับฟังความคิดเห็นให้สอดคล้องกับคำแนะนำของ OECD กล่าวคือ หน่วยงานของรัฐมีการนำความเห็นของประชาชนไปปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย ทำให้กฎระเบียบที่บังคับใช้ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาของสังคมได้อย่างแท้จริง

2.ประสบการณ์ของประเทศไทยเกี่ยวกับคุณภาพของกฎหมายและอุปสรรคในการ “เข้าระบบ” หรือ Transition ของภาคธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อยในประเทศ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพกฎหมายผ่านกลไก GRPs เพื่อลดอุปสรรคดังกล่าว โดยนำเสนอกรณีศึกษาใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ซึ่งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ภายใต้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโรงแรม โดยการออกแบบกลไกการกำกับดูแลในลักษณะ risk and size based สอดคล้องกับขนาดและความเสี่ยงของประเภทกิจการที่พักอาศัยชั่วคราว เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกขนาดและประเภทสามารถปฏิบัติตามกฎหมายและเข้ามาอยู่ในระบบการกำกับดูแลของภาครัฐได้ โดยไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎหมายที่สูงเกินความจำเป็น

การผลักดันให้เกิด Digital Transformation และการผลักดันให้ธุรกิจขนาด MSMEs ยินยอมเข้าระบบการกำกับดูแลของรัฐ หรือการ Transition to formal economy เป็นความท้าทายที่ประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจสมาชิก APEC อื่น ๆ กำลังต้องรับมือ  การประชุม APEC GRP ครั้งที่ 17 นี้ จึงชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือ คุณภาพของกฎหมายและคุณภาพของเทคโนโลยีที่นำมาใช้ลดช่องว่างระหว่างรัฐ ธุรกิจ และประชาชน ที่จะช่วยดึงให้ภาคธุรกิจและประชาสังคมยินยอมและสามารถ (willing and able) เข้าสู่ระบบการกำกับดูแลของรัฐได้  เนื่องจากการกำกับดูแลของรัฐ มิได้หมายถึงเพียงเฉพาะการเก็บภาษีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการคุ้มครองด้านการแข่งขันทางการค้า การคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองด้านแรงงาน และการมีมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยในการประกอบอาชีพอีกด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

๙๑ ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา “พัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน

“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน

ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย

ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ

ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม

นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ