ดูแลสุขภาพฟันกันเถอะ ! ผู้ประกันตน อย่าลืมใช้สิทธิทันตกรรม 900 บาทต่อปี โดยไม่ต้องสำรองจ่าย

การดูแลรักษาสุขภาพในช่องปากและฟัน ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวัยทำงานที่ต้องพบปะผู้คนในสังคม รวมทั้งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในแต่ละวันอีกด้วย ซึ่งหากเกิดปัญหาในช่องปากและฟัน เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ เสียวฟัน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น หรือแม้แต่โรคปริทันต์ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเช่นกัน และโดยปกติควรพบทันตแพทย์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง จะช่วยยืดอายุให้สุขภาพในช่องปากและฟันแท้มีความแข็งแรงและคงอยู่ต่อไปได้นาน ๆ ดังนั้น การดูแลรักษาช่องปากและฟันให้สะอาดถูกสุขลักษณะอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกันตนต้องใส่ใจและไม่ควรมองข้าม

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สิทธิทันตกรรมเป็นหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพเพื่อผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคมให้การดูแลมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการใช้สิทธิปีต่อปี ไม่สามารถทบไปใช้ในปีถัดไปได้ ดังนั้นหากไม่ใช้สิทธิทำฟันภายในปี จะทำให้เสียโอกาสในการดูแลรักษาสุขภาพฟัน สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ที่จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือน ในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการ จะได้รับสิทธิทันตกรรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าฟันคุด จะได้รับเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปีปฏิทิน ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมได้ทันที โดยไม่ต้องสำรองจ่าย และผู้ประกันตนจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะส่วนเกินจากสิทธิที่ได้รับ

นอกจากนี้ ผู้ประกันตนยังได้รับสิทธิใส่ฟันเทียมได้อีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน 1-5 ซี่ ได้รับเท่าที่จ่ายตริงไม่เกิน 1,300 บาท ถ้ามากกว่า 5 ซี่ จะได้รับเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท ส่วนกรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง จะได้รับเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 2,400 บาท และชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง จะได้รับเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 4,400 บาท ทั้งนี้ กรณีใส่ฟันเทียม สามารถเบิกใช้สิทธิได้ใหม่หลังจากพ้นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม

การเข้ารับบริการ ผู้ประกันตนจะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน เพื่อแสดงสิทธิการเข้ารับบริการทำฟัน ณ สถานพยาบาลที่ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม โดยสังเกตป้ายสติกเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย

อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกันตนเข้ารับบริการทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่ายไว้กับสำนักงานประกันสังคม ผู้ประกันตนสามารถนำเอกสารมายื่นขอรับประโยชน์ทดแทนได้ด้วยตัวเองผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th เพียงแนบไฟล์ ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ และสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้ประกันตน หรือจะยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ โดยผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณี
ทันตกรรมได้ ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบเสร็จและใบรับรองแพทย์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง Line@ssothai และ www.sso.go.th

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"พิพัฒน์" จับมือ ธอส. ปล่อยสินเชื่อซื้อบ้าน ดอกเบี้ยต่ำ 1.59% ต่อปี วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสิทธิประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

วันที่ 26 กันยายน 2567 เวลา 13.30 น. นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

สปส. คุ้มครองผู้ประกันตนกรณีตาย ทายาทได้สิทธิรับค่าทำศพและเงินสงเคราะห์

สำนักงานประกันสังคม คำนึงถึงสิทธิประโยชน์การคุ้มครองชีวิตของผู้ประกันตนทุกคน ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การเกิด แก่ เจ็บและตาย โดยหากผู้ประกันตนประสบเหตุไม่คาดคิดจนทำให้ถึงแก่ความตาย

สปส.แจงข้อเท็จจริง กรณีประเด็นข่าวเรื่องขยายอายุเกษียณ เน้นย้ำแก้กฎหมายขยายอายุ 65 ปี เป็นเกณฑ์แรกเข้าประกันสังคม ม.33

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงสื่อมวลชนประเด็นข่าวเรื่องการขยายฐานอายุผู้ประกันตน มาตรา 33 ในการจ่ายเงินชราภาพ ยืดไปเป็น 65 ปี

ราชกิจจาฯ ประกาศ อัตราค่าบริการ การรักษาพยาบาล 5 ประเภท ของผู้ประกันตน

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคมเรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทาง