การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้การลดอัตราการคลอดในวัยรุ่น ช่วงอายุ 15-19 ปี เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่นานาชาติต้องเร่งดำเนินการให้บรรลุผลได้ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยได้กำหนดให้อัตราการคลอดในวัยรุ่นช่วงอายุ 10-14 ปี และอายุ 15-19 ปีมีจำนวนลดลง เพื่อสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพ และส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัย เพราะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไม่เพียงแต่เป็นปัญหาด้านสุขภาพ แต่ยังเป็นปัญหาด้านประชากร ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นๆ เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิแพธทูเฮลท์ และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 ภายใต้แนวคิด "Strong Community for Healthy Sexuality : ชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขภาวะทางเพศ" โดยมีผู้แทนคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด เครือข่ายคนทำงานเรื่องสุขภาวะทางเพศ แกนนำเยาวชน เข้าร่วมงานที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี
โอกาสนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานเปิดงาน ได้ตอกย้ำยืนยันว่า “สุขภาวะทางเพศคือ สุขภาวะของประเทศไทย” พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า สุขภาวะทางเพศมีหลากหลายมิติเกี่ยวพันกับประชาชนทุกเพศทุกวัย การขับเคลื่อนสุขภาวะทางเพศต้องอาศัยความร่วมมือที่เข้มแข็งหนุนเสริมการทำงาน ทั้งเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ การยุติการตั้งครรภ์ ความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก
ขณะนี้มีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือ การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มวัยรุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสในกลุ่มเยาวชนอยู่ที่ 91.2 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 27.9 ต่อประชากรแสนคนในปี 2561 หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่า สอดคล้องกับพฤติกรรมไม่ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทำให้เสี่ยงติดเชื้อ HIV ซึ่งในปี 2565 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 9 พันคน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นเยาวชน
“การจัดการประชุมครั้งนี้เน้นสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาวะทางเพศในระดับชุมชน ซึ่งความมุ่งมั่นในการทำงานของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ใน 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการคลอดในวัยรุ่นของไทยลดลงกว่าเท่าตัวเหลือ 21 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 53.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2555 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันฯ ได้ปรับค่าเป้าหมายให้ท้าทายขึ้น ตั้งเป้าลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นอายุไม่เกิน 15 ต่อประชากรหญิง อายุ 15-19 ปี 1,000 คน ภายในปี 2570 รวมถึงส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพ ความท้าทายในยุคเด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ขณะเดียวกันยังมีเด็กส่วนหนึ่งที่เกิดจากแม่วัยรุ่น และไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม จึงต้องร่วมกันดำเนินงานให้ทุกชีวิตเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” นายสมศักดิ์ชี้แจง
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2548 สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางเพศ ทำงานสร้างทัศนคติเชิงบวกเรื่องเพศ เพื่อลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งการตั้งครรภ์ในวัยเรียนในอดีต ฝ่ายหญิงอาจต้องออกจากการเรียน เมื่อยังไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ ต้นทุนชีวิตไม่มากพอ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่เด็กจะได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสม ทั้งด้านพัฒนาการและด้านจิตใจ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและครอบครัว สสส.จึงเร่งสานพลังร่วมกับทุกหน่วยงาน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสุขอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย ทั้งการรณรงค์ให้วัยรุ่นมีทักษะการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีความรู้ทางเลือกคุมกำเนิด รวมถึงทางเลือกในเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยผลักดัน พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 มาตรา 301 และ 305 ที่เกี่ยวกับเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ลดอันตรายและการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน รวมถึงสนับสนุนให้ 1663 สายด่วนให้คำปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ให้อยู่ภายใต้สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ
“ไทยอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทาย ต้องทำให้วัยรุ่นมีทักษะในการป้องกัน ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่พร้อม ชะลอการเข้าสู่ช่วงเวลาของการเป็นพ่อแม่ในวัยเรียน เพราะการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นส่งผลต่ออนาคต สังคมและชุมชนจึงต้องร่วมสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนได้รับสวัสดิการที่เกี่ยวข้อง กรณีเด็กมีการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ทัศนคติของคนรอบข้างต้องไม่ตีตรา ส่งเสริมให้เข้าถึงการใช้บริการทางเลือกที่เป็นมิตร” นพ.พงศ์เทพชี้แจง
การขับเคลื่อนการประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ จัดขึ้นปีที่ 5 เป็นการทำงานกับชุมชนเชิงรุก สร้างชุมชนต้นแบบเพื่อขยายผล เราต้องช่วยกันยุติแม่วัยใสที่ไม่พร้อมในการเลี้ยงลูกในขณะเรียน เด็กที่เกิดควรจะมีสุขภาพที่ดีทั้งแม่และลูก วัยที่มีความพร้อมเป็นแม่คือวัย 20 ปีขึ้นไป เพราะแม่จะต้องเฝ้าดูแลลูกตลอดเวลา ต้องพร้อมทั้งอารมณ์ อาชีพการงาน ลูกที่เกิดมาจะได้มีคุณภาพ แม่วัยใสจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ชายขอบรอบๆ ประเทศไทย เนื่องจากชาติพันธุ์เน้นการมีครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อยๆ พื้นที่ชนบทห่างไกลในการใช้ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิดหายาก ส่งผลให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในโรงเรียน ปัญหายาเสพติด ต้องหาทางให้เด็กมีความเข้าใจเรื่องเพศ ลดโอกาสที่จะทำให้เด็กอยู่กันเองสองต่อสอง พ่อแม่ควรสอนเรื่องเพศกับลูกตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 4 ไม่ต้องรอให้ถึงม.1 ก็จะสายเกินไป เด็กอายุ 10 ขวบเริ่มให้ความรู้เรื่องเพศได้แล้ว เพื่อความปลอดภัยของตัวเด็กเอง ปัญหากลุ่มเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสก้าวพลาดได้
นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ประธานคณะอนุกรรมการด้านวิชาการการจัดประชุมสุขภาวะทางเพศระดับชาติ ครั้งที่ 4 ชี้แจงว่า การจัดการประชุมครั้งที่ 4 เน้นสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ครอบคลุมประเด็นเรื่องเพศ เอดส์ และท้องวัยรุ่น พร้อมนำเสนอข้อมูล องค์ความรู้ นวัตกรรมเครื่องมือ และบทเรียนการทำงาน ในรูปแบบเวทีเสวนา 23 ประเด็น ตลอด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-16 ส.ค. 2567 จัดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อค้นพบทางวิชาการ รวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้นำไปใช้ประโยชน์ในการทำงานในชุมชนของตัวเอง รวมถึงร่วมกันถอดบทเรียนจากการนำเสนอ กำหนดเป็นนโยบายขับเคลื่อนการทำงานด้านสุขภาวะทางเพศในระดับประเทศ ที่สำคัญ นอกจากองค์ความรู้ เครื่องมือ และบทเรียนการทำงานใหม่ๆ คือประสบการณ์ที่ได้รับ เพื่อพัฒนาให้การดำเนินงานด้านสุขภาวะทางเพศเข้มแข็งยิ่งขึ้น ผู้สนใจข้อมูลหรือต้องการรับชมถ่ายทอดสดทางออนไลน์ สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจและยูทูบ มูลนิธิแพธทูเฮลท์.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง
โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด
เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน
'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน
‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ
จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง
รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น