เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

สถาพคลองเปรมในอดีตที่ผ่านมา

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย เช่น น้ำเสีย ขยะมูลฝอย และการบุกรุกพื้นที่ ทำให้คลองเสื่อมโทรมลงอย่างมาก การฟื้นฟูคลองเปรมประชากรจึงกลายมาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ปี 2554 นับเป็นหนึ่งในวิกฤตที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อเมืองหลวงของประเทศไทย สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่คือการระบายน้ำในคลองสายหลักไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองทำให้ลำคลองคับแคบและตื้นเขิน ส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำได้เพียงพอ เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำจึงท่วมขังและล้นออกมาในพื้นที่ต่าง ๆ

ในปี 2555 คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้เสนอแผนงานการแก้ไขปัญหาและป้องกันน้ำท่วม โดยมีการสร้างเขื่อนระบายน้ำและขุดลอกคลองในลำคลองสายหลักในกรุงเทพฯ จำนวน 9 แห่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนินการตามแผนที่เสนอมา จนกระทั่งในสมัยรัฐบาล คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยเริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรกในปี 2559 พร้อมกับดำเนินการสำรวจชุมชนริมคลองเปรมประชากร เพื่อจัดทำแผนงานในการแก้ไขปัญหาฯควบคู่กันไปพร้อมๆกัน

การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดำเนินการเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมคลองเหล่านี้ โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพบว่ามีชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในลำคลองและพื้นที่ริมตลิ่งซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่ทั้งหมด 38 ชุมชน รวม 6,386 ครัวเรือนในพื้นที่เขตจตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง และในจังหวัดปทุมธานี

ชุมชนริมคลองเปรมประชากร  ได้ดำเนินการโดยนำหลักการของโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ มาใช้ ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ "ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา" การร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน ร่วมกันออกแบบบ้านและผังชุมชน . โดย พอช. ยังสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละ 147,000 บาท และสนับสนุนสินเชื่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท ผ่อนระยะยาว 20 ปี

คลองเปรมประชากรหลังได้รับการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ปัจจุบัน การก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากรดำเนินการแล้ว 17 ชุมชน  รวม 1,699 ครัวเรือน ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,197 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการ  ส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไป ขณะที่การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมประชากรขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการช่วงที่ 4 ในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยกรุงเทพมหานครก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 3,200 เมตร จาก 10,700 เมตร มีความ การฟื้นฟูคลองเปรมประชากรนี้จะเป็นการฟื้นฟูคลองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 150 ปี ให้กลับมามีความสมบูรณ์อีกครั้ง ให้ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางทั้งทางรถยนต์ รถรางไฟฟ้า ทางเรือ และจักรยานเพื่อการคมนาคมและการท่องเที่ยวชุมชนได้

พี่เปีย  หรือ สุพิชญา สร้อยคำ ประธานชุมชนเปรมประชาสมบูรณ์ ดอนเมือง เล่าว่า เป็นความอดทนอันยาวนานของชาวชุมชนที่จะได้มีทะเบียนบ้านอย่างถูกต้อง ได้มีที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย ไม่เป็นผู้รุกล้ำลำคลอง ซึ่งเราได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากสมาชิกและคณะกรรมการ ก่อนที่จะดำเนินการและจะมีการทำความเข้าใจร่วมกันก่อน โดยเราจะเล่าให้ทุกคนฟังว่า การมีบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะทุกคนในครอบครัวจะใช้อยู่อาศัยได้ตลอดไป

เดิมชุมชนมีสภาพเป็นสลัม  ตั้งอยู่หลังโรงแรมอมารี   เขตดอนเมือง    เมื่อก่อนชาวบ้านจะสร้างบ้านอยู่ริมคลอง  บางหลังก็รุกลงไปในคลอง  ส่วนใหญ่ใช้ไม้อัด  สังกะสีสร้างบ้าน  อยู่กันมานานหลายสิบปี  จนบ้านเรือนทรุดโทรม  เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ ชาวบ้านก็ไม่ได้คัดค้านเพราะอยากจะมีบ้านใหม่  มีชีวิตที่ดีขึ้น  จึงเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.สนับสนุน  รวมทั้งหมด 125 ครอบครัว  เป็นบ้านแถว 2 ชั้น 

ชุมชนเปรมประชาสมบูรณ์ ในปัจจุบัน

เริ่มสร้างบ้านเมื่อเดือนสิงหาคม 2565   แล้วเสร็จทั้งหมดเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ขณะนี้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว  เปลี่ยนสภาพจากชุมชนที่เคยปลูกสร้างบ้านเรือนหนาแน่นแออัด สภาพทรุดโทรม  เป็นชุมชนใหม่ที่ดูสวยงาม  สะอาดตา  มีสภาพแวดล้อมที่ดี   นอกจากนี้  ชาวชุมชนยังร่วมกันสร้าง ‘บ้านกลาง’ ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส 1 หลัง 

“คนจนๆ ไม่มีรายได้ประจำ ถ้าเราจะไปกู้ธนาคารเพื่อจะสร้างบ้าน คงไม่มีธนาคารที่ไหนจะให้กู้แน่ๆ ต้องขอขอบคุณ พอช. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยให้ชาวชุมชนคลองเปรมฯ มีที่อยู่อาศัยที่ถูกกฎหมาย  มีบ้านใหม่ที่สวยงาม  มั่นคง  ไม่ต้องกลัวถูกไล่รื้ออีกต่อไป”   สุุพิชญา ประธานชุมชนเปรมประชาสมบููรณ์ บอกทิ้งท้าย…

พยัพ  เขื่อนขันธ์ 

 ลุงพยัพ  เขื่อนขันธ์  ประธานชุมชนประชาร่วมใจ 1 หลังวัดเสมียนนารี เล่าว่า  ชุมชนประชาร่วมใจ 1 มีชาวบ้านเริ่มเข้ามาบุกเบิกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเปรมประชากรตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  หรือราวปี 2489  โดยบิดาของตนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เป็นครอบครัวแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเปรมฯ

“เมื่อก่อนน้ำในคลองยังใสสะอาด  เพราะแถวริมคลองเปรมฯ ยังมีแต่ทุ่งนา ชาวบ้านยังใช้น้ำในคลองทั้งอาบและกิน  น้ำกินเราจะตักโอ่ง  ใช้สารส้มแกว่งให้ตกตะกอนก็ใช้ได้  ปลาในคลองยังมีเยอะ  กุ้งก้ามกรามตัวโตๆ ยังชุม บ้านผมเมื่อก่อนยังยกยอหาปลาเอาไว้กิน  แต่ตอนหลังๆ ช่วงปี 2530-2531 น้ำในคลองเริ่มจะเสีย  เพราะบ้านเมืองขยายตัว  ทุ่งนากลายเป็นหมู่บ้าน น้ำจากที่ต่างๆ ทางดอนเมือง  หลักสี่  ไหลลงคลองเปรมฯ ทำให้น้ำเน่าเสีย  ช่วงหลังคนจากที่ต่างๆ ก็มาอยู่ริมคลองมากขึ้น  มาปลูกบ้านริมคลองเพราะไม่ต้องเสียค่าเช่า บางครอบครัวก็ขยายบ้านลงไปในคลองเลย  ทำให้กลายเป็นชุมชนแออัดริมคลอง”  ลุงพยัพ บอก

ลุงพยัพ เล่าต่อ  ราวปี 2560  เริ่มมีข่าวการพัฒนาปรับปรุงคลองเปรมฯ มีทหาร  มีจิตอาสาเข้ามาช่วยเก็บขยะในคลอง  ขุดลอกคลอง  มีเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ ให้เหมือนกับคลองลาดพร้าว  ชาวบ้านก็เริ่มกลัวว่าจะโดนไล่ที่  เพราะที่อยู่อาศัยกันมานานหลายสิบปีเป็นที่ดินของหลวง  ถ้าจะสร้างเขื่อนริมคลองตามแบบคลองลาดพร้าว  กว้าง 38 เมตร  ชาวบ้านก็จะอยู่ไม่ได้  ต้องโดนไล่ที่แน่ๆชาวบ้านทั้งชุมชนมีทั้งหมด 283 ครอบครัว  เมื่อรู้ว่าจะได้อยู่อาศัยในที่เดิม  แต่จะต้องขยับบ้านให้พ้นแนวคลอง  แนวก่อสร้างเขื่อน  และร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนทำเรื่องที่อยู่อาศัยโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ พอช.จะสนับสนุน  โดยชาวบ้านร่วมกันออมเงินเป็นรายเดือนครอบครัวหนึ่งตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป  เริ่มออมช่วงปี 2561 เป็นต้นมา

ชุมชนประชาร่วมใจ 1 หลังวัดเสมียนนารี ในปัจจุบัน

เริ่มสร้างบ้านในช่วงกลางปี 2564 จำนวน 283 หลัง ขนาดบ้านมีหลายแบบ  ตามขนาดพื้นที่และจำนวนผู้อยู่อาศัย  เช่น  บ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4×7, 5×6 และ 6×7 ตารางเมตร  และบ้านชั้นเดียว  ราคาประมาณหลังละ 490,000 บาท  ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,800 บาท  ระยะเวลา 20 ปี   สร้างบ้านเสร็จตั้งแต่ปี 2565  ตอนนี้ชาวบ้านเข้าอยู่กันหมดแล้ว  และช่วยกันปลูกต้นทองอุไรริมคลอง  ทำให้ชุมชนดูสวยงาม  ร่มรื่น  มีทางเดินเลียบคลอง  ใช้ขี่จักรยานเลียบคลองเพื่อออกกำลังกายหรือท่องเที่ยวได้

สมร จันทร์ฉุน หรือ พี่สมร ประธานสหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 2 จำกัด เล่าว่า เดิมชุมชนประชาร่วมใจ 2 อยู่กันมามากกว่า 80 ปี ดำเนินชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ลักษณะจะปลูกสร้างแบบพออยู่พอกินตามฐานะของแต่ละครอบครัว ซึ่งมีความทรุดโทรมไม่แข็งแรง ไม่มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย เมื่อมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเข้ามา ชาวบ้านจึงยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาไปพร้อมกัน ประกอบกับเป็นโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณและการอำนวยความสะดวกในการรื้อย้าย ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองของ พอช. โดยรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์และจัดตั้งเป็นสหกรณ์แล้ว ในชื่อ สหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 2 จำกัด ชาวบ้านเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน ทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น และชุมชนมั่นใจว่าโครงการจะสามารถพัฒนาได้สำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับของชุมชนข้างเคียง และดีใจที่จะเป็นชุมชนแรกของคลองเปรมประชากรในการพัฒนาและคาดหวังว่าจะเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับชุมชนอื่น ๆ ริมคลองเปรมประชากร

ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ในปัจจุบัน

พี่สมร เล่าต่อ   ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ถือเป็นชุมชนแห่งแรกในคลองเปรมประชากรที่ชาวชุมชนร่วมใจกันรื้อบ้านออกจากแนวคลองเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบ  โดยรื้อย้ายและก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งหมด 203 หลัง ส่วนแบบบ้านมีหลายขนาดเพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมออกแบบและเลือกให้ตรงกับความต้องการ  รู้สึกดีใจมากเพราะพวกเราอยู่กันที่นี่มา 40-50 ปีแล้ว   ไม่มีใครอยากย้ายไปที่ไหน   ตรงนี้เหมือนเป็นชีวิตและเป็นครอบครัวของเรา  การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้บ้านของเราถูกกฎหมายอยู่ได้โดยไม่หวาดระแวง และหวังว่าเรื่องยาเสพติดจะน้อยลง เพราะว่าเวลาพื้นที่พัฒนาขึ้น  สังคมก็จะพัฒนาขึ้นไปด้วย  

“พอได้บ้านใหม่ตรงนี้  สิ่งที่เรารู้สึกได้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จากแต่ก่อนที่เคยอยู่กันแบบไม่มีระเบียบ  ใครอยากทำอะไรก็ทำ  เพราะเป็นสังคมแออัด  ไม่ค่อยมีความเกรงใจกัน  แต่พอเริ่มสร้างบ้านขึ้นมาใหม่  เราได้มีการวางกฎระเบียบเพื่อรักษาสังคมของเราให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น  ต่อไปสิ่งที่เราอยากจะพัฒนาก็คือ การสร้างอาชีพให้ชุมชนว่าตรงนี้เปรียบเสมือนหัวใจของชุมชน มีลานกีฬา  มีตลาด  เราอยากจะจัดทำตลาดชุมชน  เพื่อในอนาคตเมื่อมีการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน  ชุมชนเราจะได้มีอาชีพ  มีรายได้ที่มั่นคง” พี่สมร เล่าทิ้งท้าย

นี่คือเสียงแห่งความยินดี เสียงแห่งความสุข เพียงแค่บางส่วน จากคนริมคลองเปรมประชากร ยังมีอีกหลายหลายชุมชนที่กำลังดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรซึ่งพวกเขาเหล่านั้น หวังเพียงว่า ได้อยู่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีความมั่นคง อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี อยู่จนชั่วลูกชั่วหลาน พร้อมๆกับการพัฒนาเมืองควบคู่ไป ดังคำว่า  “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง” เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน

ชุมชนหลัก6 หลังวัดรังสิต ปทุมธานี  ในปัจจุบัน

ชุมชนริมคลองเปรมประขากรหลังโรงแรมอัสวิน หลักสี่   ในปัจจุบัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

10 ภาคีร่วมจัดประกวดองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ศ.ดร.ป๋วย’ ปี 2567

ธรรมศาสตร์ รังสิต / 10 องค์กรภาคีร่วมจัดประกวดรางวัลองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ตามแนวคิดของ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ร่วมเวทีพลังองค์กรชุมชน ขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ ระบุความท้าทายที่ขบวนองค์กรชุมชนต้องทำคือสร้างผู้นำและขยายผลรูปธรรมชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่

กทม. : องค์กรชุมชนขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ ร่วมสรุปผลการดำเนินงาน และระดมความเห็นเสนอหน่วยงานที่สนับสนุนชุมชนเข้มแข็งบูรณาการและนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม

พม. จับมือเครือข่าย ปฏิบัติการต่อเนื่อง “พม. ร่วมใจ สานสายใย พี่น้องเปราะบาง ชุมชนริมคลองเปรมประชากร” ยกระดับชาวรังสิตเข้มแข็งถ้วนหน้า

วันที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีปิดปฏิบัติการ

ผู้บริหาร พอช.ลงพื้นที่ร่วมขบวนองค์กรชุมชน จัดทำแผนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือในหลายพื้นที่ พร้อมชูนโยบายแก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน และกำลังไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลางและ กทม.