สศท. จัดใหญ่ “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” มุ่งสืบสานต่อยอดภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ไทยชั้นบรมครูในเวทีระดับสากล

รมช.พาณิชย์ เปิดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” ประกาศเดินหน้าสืบสานภูมิปัญญา รักษา และต่อยอดหัตถศิลป์ไทย ดันเป็นจุดแข็งบนเวทีระดับสากล โชว์ไฮไลท์ “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” จัดแสดง 50 ผลงาน ล้ำค่าของครูศิลป์ฯ ครูช่างฯ หวังสร้างไอเดียต่อยอดแก่คนรุ่นใหม่

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ในการเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” งานแสดงและจำหน่ายงานหัตถศิลป์ไทยชั้นบรมครู พร้อมระบุว่า กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานให้กับประชาชนไทยอย่างต่อเนื่อง
โดยการจัดงานอัตลักษณ์แห่งสยามในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการผนึกกำลังของกระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ร่วมกับภาคเอกชนและพันธมิตร เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักในคุณค่าและภูมิปัญญางานหัตถศิลป์ไทย ให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้วัฒนธรรมในอดีตในรูปแบบศิลปหัตถกรรมและรักษาให้คงอยู่ตลอดไป ภายใต้แนวคิด “สืบสานตำนานหัตถศิลป์ไทย (The Legend of Thai Craft)” อีกทั้ง ยังเป็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางการส่งออก การจัดจำหน่ายให้กับผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย นำจุดแข็งด้านภูมิปัญญาและทักษะเชิงช่างเหล่านี้ ให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับสากล

ขณะเดียวกันในปีนี้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้สร้างสรรค์หัตถศิลป์ไทยได้เกิดความภาคภูมิใจในการอนุรักษ์ คุณค่าภูมิปัญญาทักษะฝีมือเชิงช่างที่อยู่ในตัวบุคคล ที่ถือได้ว่าเป็นสมบัติอันมีค่าไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา และส่ง ต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน สศท. ได้คัดสรรบุคคลที่เป็นที่สุดในการอนุรักษ์ และสร้างสรรค์ผลงานแห่งปีเพื่อมอบโล่ รางวัลเชิดชูเกียรติครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2567 จำนวน 31 ราย จากหลากหลายผลงานหัตถกรรม ได้แก่ ครูศิลป์ของแผ่นดิน 4 ราย อาทิ นายวิษณุ ผดุงศิลป์ งาน หัวโขน, ครูช่างศิลปหัตถกรรม 11 ราย อาทิ นางจันทร์ศรี คำธิยะ งานผ้าทอมือปกาเกอะญอ ย้อมสีธรรมชาติ และ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม 16 ราย อาทิ นางสาวอัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อน งานลายรดน้ำ เป็นต้น

นางพรรณวิลาส แพพ่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า งาน อัตลักษณ์แห่งสยาม ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 15 เพื่อสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ใกล้สูญหาย รักษาภูมิปัญญาองค์ความรู้ของบรรพบุรุษที่มีอัตลักษณ์ และสะท้อนความตั้งใจในการสร้างสรรค์ และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้เป็นที่ประจักษ์ในฐานะมรดกภูมิปัญญาคู่แผ่นดิน สู่การเป็น Craft Power สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างเงินสะพัดภายในงานไม่น้อยกว่า 80 ล้านบาท

สำหรับกิจกรรมภายในงานปีนี้ ออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่หนึ่ง การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง , พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในการวางรากฐานสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมบนผืนแผ่นดิน ส่งเสริมอาชีพด้วยภูมิปัญญา ภายใต้แนวคิด “คือพระหัตถ์สร้างงาน รากฐานงานหัตถศิลป์ไทย” รวมถึงจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ รวมไปถึงส่วนสาธิต อาทิ ทอผ้าจก, จักสานย่านลิเภา, จักสานไม้ไผ่ลายขิด ฯลฯ โดยสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

ขณะเดียวกัน ยังมีไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาด คือ นิทรรศการ “หัตถศิลป์ที่คิดถึง” พื้นที่จัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ล้ำค่าของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ที่หาชมได้ยาก และใกล้สูญหาย กว่า 50 ผลงาน ซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมอันทรงคุณค่า ทั้งที่หาชมได้ยาก และใกล้สูญหาย อาทิ ขันลงหิน-บ้านบุ ครูเมตตา เสลานนท์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552, มีดเหล็กลาย ครูพชร พงศกรรังศิลป์ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559, หัตถกรรมทองเหลืองสาน ครูวนิตย์ ธรรมประทีป ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2553 เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโซนสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมชิ้นเอก ถ่ายทอดเทคนิค กระบวนการกว่าจะมาเป็นงานหัตถกรรม โดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กว่า 25 ราย อาทิ เครื่องประดับมุกโบราณ, งานต้องลายปานซอย (งานฉลุลายโลหะแบบศิลปะไทใหญ่), ลายรดน้ำ, เครื่องเขิน, พวงมะโหตร, แกะสลักไม้, ว่าวเบอร์ฮามัส ฯลฯ และนิทรรศการ “ตำนานบทใหม่ของช่างฝีมือคนไทย” เชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย และทายาทศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2567

ขณะที่กิจกรรมส่วนที่สอง ภายในงานได้จัดพื้นที่เพื่อส่งเสริมคุณค่างานหัตถศิลป์ จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม เพื่อสนับสนุนการจำหน่าย รวมไปถึงเพิ่มโอกาสและช่องทางการตลาดแก่ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมให้กับกลุ่มผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลป์ (Workshop) กว่า 20 กิจกรรม ถ่ายทอดโดยครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม อาทิ หุ่นกระบอกไทยจิ๋ว, สลักดุนโลหะ, ทำหัวโขนแม่เหล็ก และการลงรักปิดทอง เป็นต้น

นางพรรณวิลาส กล่าวทิ้งท้ายว่า งานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15 เป็นงานจัดแสดงผลงานหัตถศิลป์ชั้น บรมครู และจำหน่ายงานหัตถศิลป์ไทยที่ยิ่งใหญ่ มีกิจกรรมภายในงานที่หลากหลายให้ผู้เข้าชมงานได้สัมผัส พร้อมนำเทคนิคในการผลิตชิ้นงานอันทรงคุณค่าเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นผลงานชิ้นงานใหม่ๆ ที่มีเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาไทย โดย สศท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่างานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งนี้ จะเป็นอีกงานที่ทำให้ทั่วโลกได้เห็น ว่างานหัตถศิลป์ฝีมือของคนไทยมีมูลค่าและคุณค่าทางความคิด

โดย สศท. ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมสัมผัสเสน่ห์ และสนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ยังคงอยู่ รวมถึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจให้กับครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ได้สร้างสรรค์งานหัตถกรรมอันทรงคุณค่าให้ยังคงอยู่คู่ประเทศชาติต่อไป ในงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15” สืบสาน ตำนานหัตถศิลป์ไทย (The Legend of Thai Craft) นับว่าเป็นงานที่รวบรวมมรดกของชาติที่หาชมได้ยากไว้ในที่เดียว จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18-22 กันยายน 2567 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุชาติ' ยึดหลัก 'ฝ่าทุกวิกฤต ด้วยวิธีคิดนอกกรอบ' มอบแนวทางประสบความสำเร็จว่าที่ด๊อกเตอร์ม.นอร์ทกรุงเทพ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้บรรยายในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ ”นวัตกรรมองค์การและการบริหารทรัพยากรบุคคล“

ไทย-ตุรกี ชื่นมื่น รมช. สุชาติ จับมือ รมช. การค้าตุรกี ผลักดันเจรจา FTA ต่อ เพื่อสานสัมพันธ์การค้าการลงทุน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนได้พบหารือทวิภาคีกับนายมุสตาฟา ตุซคู (H.E. Mr. Mustafa Tuzcu) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าสาธารณรัฐตุรกี ในห้วงการเดินทางเยือนตุรกี เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการถาวรว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า

“รมช. สุชาติ” ร่วมเวทีครบรอบ 40 ปี COMCEC กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกมุสลิม มุ่งส่งเสริมการค้าผ่านระบบดิจิทัล

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุม COMCEC ครั้งที่ 40 ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า มุ่งกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศมุสลิม

“สุชาติ” เคลียร์ชัด ”มาตรการช่วยเกษตรกร“ เป้าหมายรัฐบาลนายกแพทองธาร “เกษตรกรต้องมีกินมีใช้”

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้แทนท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระทู้ถามด้วยวาจาของท่านเศรณี อนิลบล สมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับประเด็นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ว่า

“รมช.สุชาติ“ หารือเซเนกัล พร้อมเพิ่มปริมาณส่งออกข้าว ย้ำคุณภาพและมาตรฐานของข้าวไทย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายอาบดูแล บาโร เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเซเนกัลประจำประเทศไทย ถิ่นพำนัก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่กระทรวงพาณิชย์

“รมช. สุชาติ” ถก “รมว. การค้าเกาหลีใต้” มุ่งกระชับความสัมพันธ์การค้า-การลงทุน ไทย – เกาหลีใต้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วันนี้ (25 กันยายน) ตนได้เข้าร่วมกล่าวในพิธีเปิดการประชุมเจรจาความตกลง EPA ไทย – เกาหลีใต้ ครั้งที่ 2