คัดเลือก Thai Mind Awards องค์กรต้นแบบสร้างสุขภาวะจิต

เพราะ “สุขภาวะทางจิตเป็นเรื่องของทุกคนต้องร่วมมือกัน" ..เมื่อเร็วๆ นี้​ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (TIMS) ประกาศเปิดรับสมัครองค์กรเพื่อเข้าร่วมคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) ภายใต้โครงการพัฒนากลไกวิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต โดยเปิดรับทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จากภาครัฐและเอกชน ที่มีการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน 

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า สสส.ดำเนินการด้านสร้างเสริมสุขภาพจิต มุ่งเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติฉบับที่ 1 มุ่งเน้นการสร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมิ.ย. 2567 พบว่าวัยแรงงานอายุ 20-59 ปี เข้าขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงเป็นอันดับหนึ่ง รวมกว่า 6,337 สาย จากทั้งหมด 8,528 สาย สะท้อนความต้องการวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิต

ทั้งนี้ สสส.ร่วมกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมการคัดเลือกสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นเชิงบวก ทั้งด้านการงานและด้านจิตใจของบุคลากร นำไปสู่การยกระดับเป็นต้นแบบองค์กรชั้นนำด้านการส่งเสริมสุขภาพจิตของประเทศ ขยายผลปรับใช้เพื่อพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตให้แก่พนักงานองค์กรอื่นๆ ต่อไป “สุขภาวะทางจิตเป็นเรื่องของทุกคนต้องร่วมมือกัน ขอเชิญชวนองค์กรที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards) สร้างระบบงานที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาจิตใจของคนทำงาน

"การพัฒนากลไกทางวิชาการสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อความยั่งยืน การทำงานที่จะต้องมีสุขภาพจิตที่ดีควบคู่กับการทำงานที่ใช้ปัญญาสร้างองค์ความรู้ ให้เกิดเป็นนโยบายแพร่ขยายไปถึงคนไทยที่อยู่ในบ้าน ออฟฟิศ  ชุมชน คนที่อยู่ในวัยทำงานต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพ  ความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้าจนถึงปัญหาฆ่าตัวตาย ทุกองค์กรอยากให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข มีผลงาน  ลดต้นทุน มีการสร้างนวัตกรรมเครื่องมือพัฒนาคัดกรองสุขภาพจิตอย่างเป็นระบบ เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องหยูกยาเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่อยู่นอกมือหมอ สภาวะทางกายภาพ สังคม นโยบายภาครัฐที่ส่งผลกระทบทั่วหน้า เมืองไทยมีองค์กรเป็นแสน แต่ก้าวแรกเราจะขยาย 50องค์กรส่งเสริมสุขภาพจิตต้นแบบ เพื่อผลต่อเนื่องไปยังองค์กรอื่นด้วย" ดร.นพ.ไพโรจน์ตอกย้ำ 

ขณะที่ ดร.เจนนิเฟอร์ ชวโนวานิช รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งสถาบัน TIMS เปิดเผยว่า การสำรวจสุขภาวะของคนทำงานและปัจจัยสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรปี 2566 พบพนักงานมีปัญหาสุขภาพจิต 42.7% ในจำนวนนี้มีภาวการณ์ฝืนทำงานแม้มีปัญหาสุขภาพจิต 27.5% ส่วนใหญ่เกิดจาก 5 สาเหตุ

1.คิดว่าไม่มีใครทำงานแทนได้ 2.มีงานด่วน 3.กลัวผลกระทบกับผลการประเมิน 4.ความจำเป็นด้านการเงิน 5.รู้สึกว่ายังทำไหวไม่จำเป็นต้องหยุดทำงาน ที่สำคัญพบว่า พนักงานต้องการนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน 6 เรื่อง นั่นคือ 1.เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ  41.7% 2.อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 6.7% 3.เพิ่มสวัสดิการการลา 13.1% 4.ส่งเสริมการพูดคุยสื่อสารและรับฟังปัญหา 11.3% 5.สร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร 10.1% 6.เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน (ค่าตอบแทน อาหาร โบนัส) 6%

"ประเด็นที่สำรวจคนทำงาน 40% ต้องการเข้าถึงนักจิตวิทยา จิตแพทย์ เพื่อสุขภาพกายใจ 17% อยากให้มีการจัดอบรมสร้างความตระหนักรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง 13% อยากให้มีนโยบายกิจกรรมส่งเสริม เพราะทุกวันนี้เราทำงานมากกว่า 11 ชั่วโมง/วัน แม้แต่เวลาเรานอนก็ยังฝันเรื่องงาน พนักงานส่วนหนึ่งต้องการไมโครเบรก หยุดพักในระหว่างงานเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือมีเวลางีบหลังอาหารกลางวัน การแลกเปลี่ยนรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน เพราะคนทำงานไม่ใช่เครื่องจักรที่ต้องทำงานตลอดเวลา การพูดจาดีบนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน การเพิ่มเงินเดือน โบนัส หรือการให้สิทธิหลังเลิกงานที่จะไม่ต้องอ่านไลน์ หรือโต้ตอบหลังเวลางานโดยไม่ถูกตัดเงินเดือน" อาจารย์เจนนิเฟอร์เปิดเผยและกล่าวอีกว่า

ข้อที่น่าสังเกตคือ พนักงานบางคนที่ฝืนไปทำงานทั้งๆที่ป่วยทางร่างกาย 50% บางคนฝืนมากกว่า 5 ครั้งในรอบ 1 ปี บางคน 1-2 ครั้งในรอบปี ตัวเลข 20% ฝืนไปทำงานทั้งๆ ที่ร่างกายไม่ไหวแล้ว ด้วยสาเหตุที่ไม่มีใครทำงานแทนได้ บางหน่วยงานเลือก AI มาทำงานในบางเรื่อง งานสำคัญและงานที่จำเป็นต้องใช้คน ถ้าไม่มาทำงานก็จะถูกหักเงินเดือน ไม่ได้รับโบนัส ความรู้สึกที่ผิดอีกทั้งความรับผิดชอบในงาน เมื่อฝืนทำงานต่อไปก็จะส่งผลถึงการหมดไฟในอนาคตได้ ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมองค์กรที่สร้างสุขภาพจิตที่ดีให้กับพนักงาน

ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards กล่าวว่า “เราต้องการให้องค์กรต้นแบบแลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาการเรียนรู้ร่วมกัน นำองค์ความรู้มาแบ่งปันเพื่อพัฒนาสุขภาวะทางจิต การสร้างเครือข่ายร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างปัจจัยทำงานมีผลต่อสุขภาวะทางจิต การเยี่ยมชมองค์กรที่มีความโดดเด่นเพื่อยกระดับองค์กรร่วมกันด้วย ยกย่องการทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่ใช่ทำงาน One Man Show องค์กรให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อส่วนรวม มีการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น หลอมรวมการทำงานให้มีความสมดุล  เมื่อทำงานอย่างมีความสุขก็ส่งผลให้ครอบครัวมีความสุขและสมดุลด้วย”

องค์กรที่สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดคัดเลือกเป็นสุดยอดองค์กรสร้างเสริมสุขภาวะทางจิต (Thai Mind Awards)  ส่งใบสมัครและผลงานเข้าร่วมประกวดมาได้ที่เว็บไซต์ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. ถึง 15 ก.ย. 2567 จำกัดสิทธิ์การรับสมัครเพียง 50 องค์กร โดยจะคัดเลือกผู้ชนะ 5 องค์กรที่มีความโดดเด่นใน 4 มิติภายใต้แนวคิด GRACEและมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงาน ทุกองค์กรที่เข้าร่วมประกวดจะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าร่วม และได้รับผลการประเมินสุขภาวะทางจิตของพนักงานภายในองค์กรของตนเอง ที่ผ่านการวิเคราะห์โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา ทั้งนี้จะประกาศผลวันที่ 15 พ.ย.และจัดงานรับรางวัลช่วงปลายเดือน พ.ย.


5 มิติเสริมสร้างสุขภาวะทางจิต

ผศ.ดร.ประพิมพา จรัลรัตนกุล รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รับผิดชอบโครงการ Thai Mind Awards ชี้แจงว่าการดูแลพนักงานที่ดี ไม่เพียงเฉพาะแค่สิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ (Physical Environment) เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องดูแลสิ่งแวดล้อมทางด้านจิตใจ  (Psychological Environment) ของพนักงานควบคู่ไปด้วย

สิ่งสำคัญของการเสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดี ต้องครอบคลุมมิติทั้ง 5 ด้านที่เรียกว่า “GRACE” ประกอบไปด้วย

G : Growth & Development การสนับสนุนด้านการเติบโตและพัฒนาการ

R : Recognition การแสดงออกและการรับรู้ความสามารถและความสำเร็จ

A : All for inclusion การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม

C : Care for health & safety การดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัย

E: work-life Enrichment การมีนโยบายด้านความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจ ความรู้สึกถึงความสำเร็จ พนักงานรู้สึกว่าสามารถเติบโตได้ ถือเป็นแนวทางการพัฒนาที่เสริมสร้างสุขภาวะทางจิตที่ดีให้แก่พนักงานได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เพื่อนหญิง ชูกลไกขับเคลื่อน 4D,5S แก้ปัญหาความรุนแรง

เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างเป็นระบบนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน มูลนิธิเพื่อนหญิง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ม.รังสิต จับมือ สสส. และบริษัทเทลสกอร์ ร่วมพัฒนาหลักสูตร Young Influencer for Social Change

วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท เทลสกอร์ จำกัด

ยกย่ององค์กรต้นแบบรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ สร้างแรงบันดาลใจขับเคลื่อนสังคมพ้นภัย

เทคโนโลยีที่ทันสมัย การสื่อสารไร้ขอบเขต สามารถกลับกลายเป็น "ดาบสองคม" ได้ หากผู้บริโภคหรือผู้รับสื่อ "รู้ไม่เท่าทัน"

ระดมสมองเปิดเส้นทางใหม่ เขียนอนาคต..เด็กและเยาวชน

ในโอกาสที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank, 101 PUB)

วัยโจ๋อุดร หลีกทางสายควันบุหรี่ ไม่เท่แถมคนรอบข้างเหยื่ออันตราย

วิทยาลัยการอาชีพอุดรธานี จ.อุดรธานี จัดโครงการ “กล่องความคิดในความเห็นต่าง” เปิดใจผู้สูบและไม่สูบบุหรี่ เสียงส่วนใหญ่เคาะ “สูบบุหรี่ไม่ได้เท่อย่างที่คิด คนรอบข้างเสี่ยงติดโรคจากควันบุหรี่” สสส. ชวนเยาวชนสร้างสรรค์คอนเทนต์พิษภัยปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่-อุบัติเหตุ เป็นเครื่องเตือนใจคนรอบข้าง