เพื่อนหญิง ชูกลไกขับเคลื่อน 4D,5S แก้ปัญหาความรุนแรง

เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างเป็นระบบนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน มูลนิธิเพื่อนหญิง ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 3 หน่วยงานหลักที่มีบทบาทในชุมชนท้องถิ่น ได้แก่  คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ  (พชอ.) อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ดำเนินงานโดยนำหลัก 4D 5S เพื่อลดปัญหาความรุนแรงทั้งในเด็ก สตรี และครอบครัว 4D คือ สมาชิกในครอบครัวต้องมีสุขภาวะที่ดี สุขภาพกายใจดี ปัญญาดี สังคมดี   5S  คือ Social Stereotypes  ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว หากมีพื้นที่ไม่ปลอดภัยทุกคนต้องได้รับการคุ้มครอง Social protection การเข้าถึงระบบการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ ความปลอดภัย ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ ที่เป็นมิตร Social service จัดสรร รัฐสวัสดิการจำเป็นเบี้ยยังชีพ ทุนการศึกษา เงินอุดหนุนต่าง ๆ Social support เยี่ยมบ้าน เฝ้าระวังความรุนแรง ประเมินผล ให้คำแนะนำอาชีพ ทักษะชีวิต Social security จัดให้มีกองทุนเข้าถึงง่าย การออมแห่งชาติ มีเงินสำรองเลี้ยงชีพ  เป็นต้น ทำให้สมาชิกทุกคนเห็นคุณค่าในตนเอง ได้รับการเสริมศักยภาพ มีความเป็นอิสระจากรายรับที่เลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพิงอีกฝ่ายซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการถูกทำร้าย  บางครอบครัวก็สามารถไปต่อได้ บางกรณีถึงแม้จะต้องเลิกลาแต่จะไม่เกิดกรณีกลับมาทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง

ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่คลุกคลีกับการทำงานด้านนี้มากว่า 2 ทศวรรษ ยอมรับว่ากฎหมายให้การคุ้มครองสิทธิผู้หญิงมากขึ้น แต่กลไกการดำเนินงานยังขาดประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันในระดับชุมชน ปัญหาความรุนแรงยังถูกมองเป็นเรื่องภายในครอบครัว ส่งผลให้บางกรณีปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขจนนำไปสู่ความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิต และอีกหลายกรณีเป็นปัญหาที่สะสมภายในชุมชน

“แต่ละวัน เราเห็นข่าวเด็ก สตรี ลูกทำร้ายพ่อแม่ถึงแก่ชีวิตถี่ขึ้น ในพื้นที่ที่เราทำงานในเชิงป้องกัน มีการสำรวจข้อมูลครอบครัวเปราะบางที่เสี่ยงจะมีการใช้ความรุนแรง พบ 375 ครอบครัวในจังหวัดสงขลา อุบล และน่าน เราใช้สูตร 4D 5S ทำให้เราสามารถป้องกันเหตุความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ และ 61 ครอบครัวได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัย ลดการถูกทำร้าย พิการบาดเจ็บ เสียชีวิต

“หากทุกภาคส่วนเข้าใจแนวทางว่า ผู้ว่าฯ นายอำเภอ นายกเทศบาล อบต. มีอำนาจตามกฎหมายในการ คุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวได้ใน 48 ชั่วโมง โดยยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว และมีการปฏิบัติตามภาระหน้าที่ซึ่งแต่ละฝ่ายรับผิดชอบอยู่ โดยมีการวางแผนทำงานเป็นทีมผ่านกลไกของ พชอ.และ ศพค. บูรณาการทำงานทุกมิติเข้าด้วยกัน จะช่วยลดความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้ายังแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าเช่นที่ผ่านมา นอกจากความรุนแรงจะไม่ถูกแก้ไขแล้วยังจะกลับมาเกิดซ้ำอีก” ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าว

ประสบการณ์จริงจากพื้นที่ต้นแบบ

ณัทกร วิทิตถิรานันท์ สาธารณสุข อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี เครือข่ายทำงาน ถ่ายทอดประสบการณ์ในพื้นที่ให้ฟังว่า สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความรุนแรง คือยาเสพติด

“90% ของปัญหาความรุนแรง หรือมีการก่อเหตุ เกิดจากยาเสพติด เคสที่ร้ายแรง สร้างความสลดใจกับคนทำงานอย่างผมซึ่งผ่านเคสมามากมาย ก็คือเคสลูกฆ่าแม่ จากการเสพยาแล้วเกิดอาการหลอน เนื่องจากตัวเองมีอาชีพ ฆ่าวัว-ควาย เราจึงนำประเด็นยาเสพติดมาขับเคลื่อน สร้างกระบวนการทำงานร่วมกับตำรวจ สาธารณสุข ฝ่ายปกครอง ไปจนถึงจนถึงผู้นำชุมชน แบ่งบทบาทความรับผิดชอบกันชัดเจน เมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุ สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ และพยายามหาแนวทางป้องกันต่อเพื่อไม่ให้ปัญหาวกกลับมาอีก ที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปด้วยดี”

น้อย อินทอง หรือ “ป้าน้อย” หนึ่งในอาสาสมัคร จากอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ทำงานเรื่องนี้มากว่า 30 ปี  โดยเป็นทั้งอาสาสมัคร พม. และ อสม.

“พื้นที่ ๆ ทำงานอยู่ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากบางปัญหามีความซับซ้อน ส่งทอดปัญหากันมาจากรุ่นสู่รุ่น จำเป็นต้องใช้เวลา บางครอบครัว ทิ้งลูก ทิ้งหลาน แถมยังมีเหลน ให้ปู่ ย่า ต้องดูแล ซึ่งนอกจากจะมีรายได้น้อย อายุมาก ทักษะที่จะดูแลเด็กวัยรุ่น หรือคนติดยาถือเป็นเรื่องยาก เคสนี้ไม่ง่ายเลย แต่เราก็ไม่ทิ้งเขาไว้ระหว่างทางอย่างแน่นอน”

ในฐานนะอาสาสมัครมืออาชีพ  “ป้าน้อย” ต้องการให้เพิ่มจำนวนอาสาสมัคร พม.ในอำเภอ เนื่องจากเวลาเกิดเคส ไม่ว่า คนเกิด เจ็บ เสียชีวิต หรือได้รับความเดือดร้อนจากความรุนแรง  จะได้ช่วยเหลือให้ทันต่อเหตุการณ์  

นอกจากการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลักแล้ว ป้าน้อยยังสร้างความร่วมมือในระดับชุมชน ด้วยการจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน นำเงินรายได้มาช่วยเคสที่สำคัญและเร่งด่วน เช่นเดียวกับเครือข่ายจาก ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง จังหวัด จังหวัดน่าน

“ทุกปีเราจะตั้งกองผ้าป่าชื่อ คนเชียงกลางไม่ทิ้งกัน เพื่อนำเงินมาสนับสนุน ช่วยเหลือโครงการต่าง ๆ รวมถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว” พัชสิณี อินท์วงค์ รองนายกบริหารส่วนตำบลเปือ กล่าวเสริม

ความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน กฎหมายและกลไกการดำเนินงานในทุกระดับที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็ก ผู้หญิง และคนในครอบครัว จะเห็นผลได้จริง จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจ และความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ในทุกระดับ และที่สำคัญ คนในสังคมต้องปรับฐานคิดด้วยว่า ความรุนแรงในครอบครัว มิใช่เรื่องผัวเมีย หรือเรื่องส่วนตัวที่จะจัดการกันเอง เพราะถ้าพื้นที่ส่วนตัวเริ่มไม่ปลอดภัย สมาชิกทุกคนต้องสามารถเข้าถึงและได้รับการคุ้มครองอย่างเข้าใจ เป็นมิตร และเสริมพลังให้มีชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นอิสระและมั่นคงโดยไม่ถูกกระทำซ้ำอีก

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คัดเลือก Thai Mind Awards องค์กรต้นแบบสร้างสุขภาวะจิต

เพราะ “สุขภาวะทางจิตเป็นเรื่องของทุกคนต้องร่วมมือกัน" ..เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมมือกับ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ม.รังสิต จับมือ สสส. และบริษัทเทลสกอร์ ร่วมพัฒนาหลักสูตร Young Influencer for Social Change

วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท เทลสกอร์ จำกัด

ยกย่ององค์กรต้นแบบรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ สร้างแรงบันดาลใจขับเคลื่อนสังคมพ้นภัย

เทคโนโลยีที่ทันสมัย การสื่อสารไร้ขอบเขต สามารถกลับกลายเป็น "ดาบสองคม" ได้ หากผู้บริโภคหรือผู้รับสื่อ "รู้ไม่เท่าทัน"

ระดมสมองเปิดเส้นทางใหม่ เขียนอนาคต..เด็กและเยาวชน

ในโอกาสที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank, 101 PUB)

วัยโจ๋อุดร หลีกทางสายควันบุหรี่ ไม่เท่แถมคนรอบข้างเหยื่ออันตราย

วิทยาลัยการอาชีพอุดรธานี จ.อุดรธานี จัดโครงการ “กล่องความคิดในความเห็นต่าง” เปิดใจผู้สูบและไม่สูบบุหรี่ เสียงส่วนใหญ่เคาะ “สูบบุหรี่ไม่ได้เท่อย่างที่คิด คนรอบข้างเสี่ยงติดโรคจากควันบุหรี่” สสส. ชวนเยาวชนสร้างสรรค์คอนเทนต์พิษภัยปัจจัยเสี่ยงเหล้า-บุหรี่-อุบัติเหตุ เป็นเครื่องเตือนใจคนรอบข้าง