จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน และกำลังไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลางและ กทม. ในเร็ววันนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่มีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน โดยใช้กลไกของสภาองค์กรชุมชนตำบลและกองทุนสวัสดิการชุมชน ร่วมกับภาคีและหน่วยงานในพื้นที่ และมีกระบวนการช่วยเหลือกันใน 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน มีการเปิดศูนย์ช่วยเหลือ มีการตั้งทำครัวกลางและการจัดทำถุงยังชีพ ของ 6 จังหวัด (แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย) การทำที่อยู่อาศัยชั่วคราว ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ระดมงบประมาณและสิ่งของเพื่อนำไปบริจาคตามบริบทและกลไกของพื้นที่ ระยะฟื้นฟู โดยมีการจัดรีเช็คข้อมูลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ด้านที่อยู่อาศัย พื้นที่ทางการเกษตรเพื่อสำรวจความเสียหายและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อเป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนและลดภาระของพี่น้ององค์กรชุมชนในพื้นที่ พอช. ได้มีการอนุมัติงบประมาณด้านภัยพิบัติเพื่อช่วยเหลือพี่น้องในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 4 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) สนับสนุนศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ รวม 51 ศูนย์ ประกอบด้วย สภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มและองค์กรต่างๆ ในระดับตำบล ตลอดจนหน่วยงานท้องที่ ท้องถิ่น ภาคเอกชน มูลนิธิ ฯลฯ ร่วมเป็นกลไกในการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ เช่น ศูนย์ทำครัวกลาง สนับสนุนเครื่องอุปโภค บริโภค และ อุปกรณ์ทำความสะอาด ฯลฯ และการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนเร่งด่วน จำนวน 20 ศูนย์ และ ศูนย์จัดทำข้อมูล 31 ศูนย์ 2) สนับสนุนกลไกเครือข่ายภัยพิบัติภาคเหนือ เพื่อให้เกิดการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหา และแผนการเตรียมความพร้อม ตลอดจนแผนการป้องกัน ของขบวนองค์กรชุมชนด้านการจัดการภัยพิบัติ ในอนาคต เช่น การสำรวจข้อมูล ความเสียหายด้านที่อยู่อาศัย/ข้อมูลผลกระทบเรื่องสุขภาพ อาชีพ และการวางแผนฟื้นฟูให้การช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยในระยะกลาง ระยะยาว การช่วยเหลือด้านสุขภาพ ยารักษาโรค และเชื่อมโยงการพัฒนาและฟื้นฟูเรื่องอาชีพ หลังสถานการณ์น้ำลด ตลอดจนการประชุมความคืบหน้า เชื่อมโยง ติดตามศูนย์ช่วยเหลือ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม พอช. จะมีการกำหนดเกณฑ์และทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับแกนนำในพื้นที่ผ่านกลไกระดับจังหวัด
ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 ผู้บริหาร พอช. และผู้ปฏิบ้ติงานจากสำนักงานภาคเหนือ และส่วนกลาง ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อเกาะติดสถานการณ์ ให้กำลังใจ และร่วมให้การช่วยเหลือกับพี่น้องขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน มูลนิธิต่างๆ ในพื้นที่ ระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ที่เกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ เครือข่ายองค์กรชุมชนได้มีการช่วยเหลือกันในพื้นที่ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง และ พอช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหนุนเสริมให้ขบวนองค์กรชุมชนได้ลุกขึ้นมาร่วมจัดการปัญหาและภัยพิบัติในรูปแบบเครือข่ายในการช่วยเหลือกัน และมีทิศทางในการส่งเสริมให้ขบวนองค์กรชุมชนมีระบบการจัดการภัยพิบัติโดยองค์กรชุมชนอย่างเป็นระบบ ทั้งพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยพิบัติ พื้นที่เกิดภัยพิบัติซ้ำซาก ตลอดจนพื้นที่รับน้ำ เป็นต้น ซึ่งจากการลงพื้นที่ดังกล่าวมีการร่วมหารือกับผู้แทนในพื้นที่ในการวางแผนในประเด็นดังกล่าว และจะนำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายของ พอช. ต่อไป
ผอ.พอช. ลุยลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ประสบภัยจังหวัดน่านและร่วมรับฟังแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาภัยพิบัติโดยขบวนองค์กรชุมชน
น่าน : วันอังคารที่ 3 กันยายน 2567 นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และผู้ปฏิบัติงานสำนักงานภาคเหนือ พอช. ร่วมแลกเปลี่ยนทิศทางในการเคลื่อนงานที่จะช่วยเหลือในพื้นที่ของขบวนองค์กรชุมชน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมีการหารือแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมด้วยนายกเทศมนตรีเมืองน่าน พมจ.จังหวัดน่าน แกนนำเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดน่าน และเครือข่ายในพื้นที่ ณ เทศบาลเมืองน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน โดยมีการลงพื้นที่ให้กำลังใจ พร้อมมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น ณ บ้านหัวเวียงใต้ และผู้ประสบภัยบ้านสบหนอง - ดอนตัน ตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยมีหน่วยงานในพื้นที่ เครือข่าย และ ทีม พอช. ลำเลียงสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในแต่ละพื้นที่ต่อไป
จังหวัดน่าน ถือเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจและสร้างรายได้ โดยสถานการณ์น้ำท่วมประชาชนในพื้นที่ไม่ทันได้รับมือ ทั้งที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วเพราะคาดไม่ถึง ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 443 หมู่บ้าน 22,442 ครัวเรือน 56,105 คน เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 12 อำเภอ 67 ตำบล ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์ประสานภัยพิบัติในจังหวัดน่าน 7 ศูนย์ เพื่อเป็นจุดประสานงาน และการติดตามข้อมูล เพื่อวิเคราะห์และทำแผนในการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ
นายกฤษดา ผอ.พอช. กล่าวว่า “คณะกรรมการสถาบันได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และได้มีนโยบายด้านการจัดการภัยพิบัติให้เป็นนโยบายและแผนปฏิบัติการของ พอช. ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชน ที่ต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ในวันนี้เราได้ร่วมถอดบทเรียนและเห็นกระบวนการในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน และให้เกิดการผลักดันให้เชิงนโยบาย และเกิดเชื่อมบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้กลไกของสภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนในการลุกขึ้นมาช่วยเหลือในทุกระยะ ทั้งการวางแผนเฉพาะหน้า-เร่งด่วน แผนระยะสั้น และแผนระยะยาว ซึ่งนอกจากได้มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับพื้นที่ที่รับผลกระทบ ในอนาคตได้มองถึงการพัฒนาศูนย์ช่วยเหลือเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพขบวนองค์กรชุมชนและผู้ปฏิบัติงาน พอช. ในการจัดการภัยบัติ ตลอดจนนำไปสู่การขับเคลื่อนประเด็นงานต่างๆ ในพื้นที่ให้เกิดความเข้มแข็งต่อไป”
เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ
จังหวัดพะเยา : วันที่ 2 กันยายน 2567 นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) นายวิเชียร พลสยม ผู้อำนวยการสำนักงานภาคเหนือ และคณะ ร่วมกับนางสาวณิระดา อ่อนน้อม พัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัดพะเยา หัวหน้าสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลเทศบาลตำบลบ้านสาง และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพะเยา ร่วมประชุมปรึกษาหารือแนวทางการส่งเสริมให้องค์กรชุมชนเป็นแกนสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจังหวัดพะเยา โดยที่ประชุมเสนอให้มีการรีเช็คข้อมูลผู้เดือดร้อนในจังหวัดพะเยาทั้ง 3 โซน ซึ่งประกอบไปด้วย ลุ่มน้ำลาวในอำเภอเชียงคำ ลุ่มน้ำยม บริเวณอำเภอปง และลุ่มน้ำอิง บริเวณอำเภอแม่ใจ อำเภอเมือง อำเภอดอกคำใต้ ที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยเหลือตามแนวทางโครงการไฟไหม้ไล่หรือและภัยพิบัติ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เพื่อจะเร่งสำรวจข้อมูลการบูรณาการแผนกับหน่วยงานท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองพะเยา
ในช่วงบ่าย ได้ลงพื้นที่เยี่ยมและให้กำลังใจพี่น้องบ้านมั่นคงที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ณ ชุมชนบ้านมั่นคงวัดเชียงยืน เขตเทศบาลเทศบาลเมืองพะเยา มีผู้อยู่อาศัย จำนวน 22 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังเป็นเวลา 12 วัน ความสูงของน้ำโดยเฉลี่ย 80 เซนติเมตร จากการลงพื้นที่ พบว่า ยังมีผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ 2 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือได้โยกย้ายออกไปเช่าบ้านภายนอกชุมชน ซึ่งหลังจากน้ำลดจะมีการสำรวจความเสียหายเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยต่อไป ส่วนการช่วยเหลือเฉพาะหน้า พอช. จะประสานเรื่องค่าเช่าบ้านสำหรับผู้ประสบภัยตามโครงการไฟไหม้ไล่รื้อและภัยพิบัติเร่งด่วนของ พอช. ต่อไป
หลังจากนั้น ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและให้กำลังใจเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำกว๊านล้นตลิ่ง ที่ชุมชน หมู่ 8 บ้านสันกว๊าน ตำบลบ้านตุ่น เมืองพะเยา ร่วมกับหน่วยงานท้องที่ท้องถิ่น และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพะเยา ซึ่งหลังจากน้ำลดสภาองค์กรชุมชนตำบลและกองกองทุนสวัสดิการชุมชนจะร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านตุ่น สำรวจความเสียหาย และบูรณาการแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะเสนอขอรับการสนับสนุนงบงบประมาณตามโครงการไฟไหม้ไล่รื้อและภัยพิบัติของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนต่อไป สำหรับตำบลบ้านตุ่นมีหมู่บ้านที่น้ำยังท่วมขังอยู่จำนวน 2 หมู่บ้าน บ้านสันกว๊าน จำนวน 68 ครัวเรือน และบ้านทุ่งกิ๋ว จำนวน 82 ครัวเรือน
และในวันที่ 3 กันยายน 2567 นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) และคณะ ร่วมกับ นายสายัณห์ โยธา เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา และประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลศรีถ้อย ร่วมหารือกับคณะผู้บริหารเทศบาลบาลศรีถ้อย ประกอบด้วย นายเทพสงวน ปันสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลศรีถ่อย นายอินจันทร์ ต๊ะมาธง รองนายกเทศมนตรี นายประทีป ภาชนนท์ หัวหน้ากองสวัสดิการชุมชน ณ สำนักงานเทศบาลตำบลศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา ในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำไหลหลากผ่านบ้านประชาชน ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา มีผู้ได้รับผลกระทบ 107 ครัวเรือน และมีบ้านเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 5 หลัง ในท้องที่ หมู่ 7 ซึ่งเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา จะได้ร่วมกันสำรวจความเสียหายร่วมกับเทศบาลต่อไป
จังหวัดอุตรดิตถ์ : วันที่ 2 กันยายน 2567 นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นางสาวสุมล ยางสูง ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกรุงเทพ ปริมณฑลและตะวันออก นางสาวสุภสิตา โชติทวีศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานภาคเหนือ และหน่วยงานภาคีในพื้นที่ ประกอบด้วย ปลัดอำเภอ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พมจ. เกษตรฯ ป่าไม้ และผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลสองคอน ลงพื้นที่ให้กำลังใจ และหารือแนวทางในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ณ บ้านห้วยใส ต.สองคอน อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยเกิดเหตุขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2567สืบเนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านประชาชน เกิดความเสียหายในพื้นที่ จำนวน 5 หมู่บ้าน 79 หลังคาเรือน
หลังจากเกิดอุทกภัย อบต.สองคอน ร่วมกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ ได้ดำเนินการช่วยเหลือในการจัดการขยะ ทำความสะอาดหมู่บ้านและบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งได้มีการจัดตั้งครัวกลางเพื่อแจกจ่ายอาหารให้กับผู้เดือดร้อนทุกครัวเรือน และได้มีการจัดตั้งศูนย์เพื่อรับรายงานความเสียหายจากแต่ละหลังคาเรือน โดยจะแบ่งประเภทความเสียหาย ออกเป็น 3 ส่วนคือ ประเภทเครื่องครัว เครื่องอุปโภคบริโภค และเรื่องที่อยู่อาศัย เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว อบต. จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการในการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอีกครั้ง และจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
ในส่วนของภาพรวมความเสียหายที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน คือ ระบบประปาของหมู่บ้าน ที่ไม่สามารถใช้งานได้ และปัญหาเรื่องห้องน้ำที่เกิดปัญหาท่อเต็มทุกหลังคาเรือน จำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยมีแนวทางการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ในเบื้องต้น อบต.จะประสานงานไปยัง อบจ. เพื่อหาเครื่องสูบน้ำมาช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน โดยจะสูบน้ำจากแหล่งน้ำของหมู่ 4 มาใช้ในหมู่บ้าน และมีแผนบริหารจัดการบ่อน้ำตื้นให้ชาวบ้านได้ใช้ก่อน นอกจากนี้ทาง รพ.สต. จะประสานกับ อบต.ในการที่จะเข้าไปล้างบ่อ และตรวจสอบคุณภาพของน้ำ ก่อนให้ชุมชนนำไปใช้อุปโภคบริโภค
ในส่วน พอช. จะดำเนินการสนับสนุนงบประมาณสมทบครัวกลาง และสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราวกรณีภัยพิบัติ ผ่านกลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลสองคอน โดยให้สภาองค์กรชุมชนฯ สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนทั้งหมด และเสนอโครงการมายังสถาบันฯ เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุน ซึ่ง พอช. จะเร่งดำเนินการอนุมัติและเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 กันยายน 2567 นี้
จังหวัดพิษณุโลก : วันที่ 3 กันยายน 2567 นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นางสาวสุมล ยางสูง ผู้อำนวยการสำนักงานภาคกรุงเทพ ปริมณฑลและตะวันออก นางสาวสุภสิตา โชติทวีศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานภาคเหนือ หน่วยงานท้องถิ่น นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลบางระกำ และผู้แทนสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางระกำ ลงพื้นที่ให้กำลังใจ และหารือแนวทางในการรับมือปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ณ อาคารอเนกประสงค์ประตูระบายน้ำห้วยแก้ว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
พื้นที่เทศบาลตำบลบางระกำ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม จำนวน 5 ตำบล 6 อปท. 1,963 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี หลังจากที่ได้รับเป็นพื้นที่บางระกำโมเดล (ตั้งแต่ปี 2560) ในการรองรับน้ำ เพื่อช่วยชะลอการระบายน้ำลงสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่เทศบาลตำบลบางระกำได้รับผลกระทบหลายด้าน ทั้งขาดรายได้ และที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย ซึ่งการช่วยเหลือจากเทศบาลมีระเบียบข้อจำกัด ทำให้ไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหา จึงต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นเพื่อบูรณาการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
แนวทางในการแก้ไขปัญหา 1. ท้องถิ่นได้ดำเนินการถมดินเพื่อให้เป็นที่อยู่ชั่วคราวให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย 2. ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เดือดร้อน ให้เกิดความยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ เช่น ทำปลาแปรรูป / ผักลอยน้ำ และ 3. ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ข้อเสนอจากผู้เดือดร้อน 1. ต้องการให้มีการชดเชยรายได้ เช่น ชดเชยพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนไร่ หรือรายครัวเรือน 2. ให้ทางภาครัฐเก็บน้ำให้สอดคล้องกับปฏิทินเพาะปลูกของชาวบ้าน 3. ผู้เดือดร้อนบางรายไม่ได้ต้องการย้ายไปอยู่บ้านพักชั่วคราว แต่อยากซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเดิม และต้องการวัสดุอุปกรณ์สำหรับซ่อมแซมบ้าน 4. ต้องการขอการสนับสนุนไม้ยูคา เพื่อทำสะพานไม้ สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้ถนน 5. การส่งเสริมอาชีพ ทางชุมชนขาดทุนในการสร้างอาชีพ/รายได้ ต้องการงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงาน
แนวทางสนับสนุนของ พอช. คือ สนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว กรณีไฟไหม้ไล่รื้อ ภัยพิบัติ และบูรณาการร่วมกับเทศบาลตำบลบางระกำ โดยผ่านกลไกสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางระกำ ซึ่ง พอช. จะเร่งดำเนินการอนุมัติและเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 กันยายน 2567
จังหวัดนครสวรรค์ : วันที่ 2 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) นายวิริยะ แต้มแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันฯ และคณะ ร่วมลงพื้นที่วางแผนรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมภาคเหนือ ร่วมกับ นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครสวรรค์ จาก 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครสวรรค์ อ.ชุมแสง อ.โกรกพระ อ.ลาดยาว และ อ.พยุหคีรี ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยในการรองรับมวลน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือ และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการจัดการน้ำที่แม่น้ำทั้ง 4 สายหลักจากภาคเหนือ ปิง วัง ยม น่าน ไหลมาบรรจบกันเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้มีการเปิดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์น้ำท่วมและบทเรียนการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมของชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านมา พร้อมลงสำรวจพื้นที่ชุมชนที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วม ร่วมกันวิเคราะห์และวางแนวทางการทำงานร่วมกับกับขบวนองค์ชุมชนในการเตรียมความพร้อมรับมือ โดยมีกรอบทั้งการเตรียมแผนการเผชิญสถานการณ์ในระยะสั้น การช่วยเหลือด้านอาหาร การมองถึงที่อยู่อาศัยในช่วงน้ำท่วม รวมไปถึงการร่วมกันวางแผนในระยะยาวทั้งการลดความเสี่ยงการป้องกัน และการฟื้นฟูหลังน้ำลดร่วมกับขบวนองค์ชุมชนในพื้นที่
จังหวัดอุทัยธานี วันที่ 3 กันยายน 2567 นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) นายวิริยะ แต้มแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันฯ และคณะ ลงพื้นที่วางแผนรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมภาคเหนือ ร่วมกับ ตัวแทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อุทัยธานี ตัวแทนชลประทานอุทัยธานี ป้องกันและบรรเทาสาธารภัยอุทัยธานี พร้อมด้วยผู้นำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานี เปิดวงพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์น้ำปัจจุบันที่กำลังเพิ่มระดับขึ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วมภาคเหนือและฝนตกชุกในเขตพื้นที่ต้นน้ำ และสะท้อนบทเรียนการจัดการภัยพิบัติน้ำท่วมของชุมชนท้องถิ่นที่ผ่านมาและลงสำรวจพื้นที่ชุมชนในเขตเมืองอุทัยธานีที่เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมพร้อมทั้งร่วมกันวิเคราะห์และวางแนวทางการทำงานร่วมกันขบวนองค์ชุมชนในการเตรียมความพร้อมรับมือ ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จากวงหารือดังกล่าวมีแนวทางในการเตรียมแผนการเผชิญสถานการณ์น้ำท่วม การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ การจัดเตรียมพื้นที่ที่อยู่อาศัย การทำครัวกลางเพื่อกระจายอาหารที่เป็นแผนระยะสั้นในการเผชิญสถานการณ์เฉพาะหน้า รวมไปทั้งการร่วมกันวางแผนในระยะยาวทั้งการลดความเสี่ยงจากการเกิดภัยน้ำท่วม การป้องกัน และการฟื้นฟูหลังน้ำลดร่วมกับขบวนองค์ชุมชนในพื้นที่ ก่อนนำไปสู่การลงหารือและวางแผนร่วมกันในระดับพื้นที
อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่เพื่อเกาะติดสถานการณ์และให้กำลังใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ แล้วนั้น พอช. จะนำข้อเสนอจากพื้นที่ต่างๆ มาประมวลเพื่อสังเคราะห์เพื่อกำหนดเป็นนโยบายและแผนปฏิบัติการในการส่งเสริมให้ขบวนองค์กรชุมชนมีการจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นระบบต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้
พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ตั้งแต่ 18 พ.ย. อากาศเริ่มเย็นลงอีกครั้ง
กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 15 -24 พ.ย. 67
กรมอุตฯ ประกาศเตือนพายุ 'โทราจี' ฉบับสุดท้าย
นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “โทราจี” ฉบับที่ 10 โดยมีใจความว่า