'พิพัฒน์' เดินหน้ารับฟังความเห็น จากพรรคการเมือง นักวิชาการ นักการเงินการธนาคาร กองทุนเทมาเส็ก ไอแอลโอ ระดมสมองแก้ปัญหาการล่มสลายของกองทุนประกันสังคม ในอีก 30 ปีข้างหน้า ดีเดย์ 24-25 ตุลาคม 2567 ย้ำให้ความสนใจแก้ปัญหา แม้ยังไม่เกิดตอนนี้ แต่รีบคลายปมก่อนเงื่อนจะมัดแน่น จนแก้ไม่ได้

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของกองทุนประกันสังคม ที่จะเกิดปัญหาในอนาคตข้างหน้า ว่า ข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) มีการคํานวณ และตั้งสมมติฐานไว้ว่ากองทุนประกันสังคมในปี พ.ศ.2567 คาดว่าขนาดกองทุนประกันสังคม มีประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท และในอีก 10 ปีข้างหน้า กองทุนจะมีขนาดไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาท การที่เรามีกองทุนใหญ่ขนาดนี้ คิดว่ายังไงกองทุนประกันสังคมมีความมั่นคง

แต่จากการคํานวณ ประเทศไทยเราเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงวัย แรงงานที่จะเข้าสู่ระบบการทํางานจะลดน้อยลง มีการคํานวณทางคณิตศาสตร์ว่าไม่เกิน 30 ปีข้างหน้า กองทุนประกันสังคม ที่เรามีกองทุนใหญ่ขนาด 4-5 ล้านล้านบาท จะเท่ากับเหลือเป็นศูนย์ นั่นคือถึงการที่จะล้มละลายของกองทุนของประกันสังคม เราจะทําอย่างไร ให้กองทุนคงอยู่ให้ได้นานที่สุด ยาวที่สุดตราบชั่วกาลปาวสาน หรือเป็นอินฟินิตี้ เพราะฉะนั้นผมได้ประกาศว่าหลังจากนี้ในปี 2568 ดอกผลที่กองทุนประกันสังคม มีวงเงินเท่าไหร่ คุณไปลงทุน ต้องมีค่าเฉลี่ยของดอกผลไม่น้อยกว่า 5% แต่อาจจะมีการยืดชีวิตออกไปได้บ้างสัก 3 ถึง 5 ปี แต่สุดท้ายมันก็ถึงการที่ว่า เงินกองทุนจะต้องหมดไป เพราะฉะนั้นเราต้องหาวิธีการอีกหลายๆ วิธี เพื่อมาเป็นการสนับสนุน

นายพิพัฒน์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาว่า 1.การที่จะต้องขยายเพดานในการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนจากปัจจุบันอยู่ที่ 15,000 บาท อาจจะต้องขยายไปเป็น 17,500 บาท ซึ่งแน่นอน ฝ่ายลูกจ้างจ่าย 5% นายจ้างจ่าย 5% ภาครัฐจ่าย 2.75% เป็นไปได้หรือไม่ว่าภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนจาก 2.75 ให้เป็น 5 ทั้ง 3 ขาเท่ากัน 2.พิจารณาการขยายอายุของผู้ทํางาน จาก 55 ปีเป็น 60 ปี ในเบื้องต้น หลังจากนั้นเราอาจจะมีความจําเป็นต้องขยายไปทีละหนึ่งปี จนครบ 65 ปี 3.เราต้องหาวิธีนําแรงงานต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานผู้สูงอายุกลับเข้าสู่ระบบของประกันสังคมให้ได้ ไม่ใช่ว่าอายุ 55 ปีออกไป หรือ 60 ปีเกษียณไปแล้ว แต่ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีมันสมองที่ดี เราควรจะนำแรงงานเหล่านี้กลับมาทำงาน แต่อาจจะทำงานไม่เต็มเวลา จาก 8 ชั่วโมงลดเหลือ 4 ชั่วโมงหรือทํางานพาร์ทไทม์ เป็นบางช่วง

“ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นต้องมีการดึงแรงงานเข้ามาเติมให้กับระบบแรงงานภายในประเทศไทย โดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง นั่นคือเป็นการเชิญชวนให้เพื่อนบ้านของเรา โดยเฉพาะประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ให้เข้ามาทํางานในประเทศไทยเพราะมีรายได้มากกว่า ตรงนี้เราต้องเอาเขาเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 นั่นก็คือเป็นการชดเชย คนไทยที่มีเข้าสู่ยุคผู้สูงวัย และปัจจุบันนี้คนที่เสียชีวิตมีมากกว่าคนที่เกิดใหม่ เพราะฉะนั้นต้องมีการเติมช่องว่างตรงนี้ให้ได้” นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวว่า 4.กองทุนประกันสังคม ในปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2566) เราได้เงินตอบแทน หรือดอกผลจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 2.5 - 2.6% เท่านั้น เป้าหมายของตนในปี 2568 ต้องไม่น้อยกว่า 5% แต่เราต้องพยายามทําให้เป้าหมายตรงนั้นทะลุเข้าไปใน ปี 69 ปี 70 นั่นหมายความว่าเป้าหมายเราต้องมี 7 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ การที่จะนําเงินจากกองทุนประกันสังคมไปลงทุน แต่เกณฑ์ของประกันสังคมเขามีเกณฑ์ของเขา เท่าที่ทราบก็คือบริษัทที่จะไปลงทุน ความน่าเชื่อถือต้องไม่น้อยกว่า BBB+ นั่นเป็นหลักประกันอันหนึ่งที่ว่าบริษัทที่จะไปลงทุน ต้องมีความแข็งแรงมากๆ

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการลงทุนตามกฎหมายคือกองทุนประกันสังคม ลงทุน 60% ในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง อีก 40% สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงได้ แต่ในปีที่ผ่านๆ มา ด้วยความที่ทางผู้บริหารกองทุนประกันสังคมพยายามที่จะทํางานแบบฟิตเซฟตี้ หรือว่าอยู่ในสถานะที่ปลอดภัยคือ 75% อยู่ในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง และสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยงแค่ 25% แต่ถ้าเราทําในลักษณะนั้น แน่นอนจะยังคงแก้ปัญหาอะไรไม่ได้มาก เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนโครงสร้างในปี 2568 เราคงจะต้องกลับไปใช้ตาม พรบ. คือลงทุนในสินทรัพย์ไม่เสี่ยงคือ 60% สินทรัพย์เสี่ยงคือ 40% ตาม พรบ.กองทุนประกันสังคม

“แต่ในอนาคต คงจะต้องหารือกับบอร์ดประกันสังคม ว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าในโลกปัจจุบันมีการวิเคราะห์ที่ดีเราสามารถเอาสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงเหลือ 50% และเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีโอกาสเสี่ยง 50% นั่นคือเป็นการระดมเพื่อนําดอกผล กลับเข้ามาสู่ประกันสังคม” นายพิพัฒน์ กล่าว

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนประกันสังคม ได้มีการเสวนา ระดมสมอง ในครั้งแรก โดยเชิญพรรคการเมืองต่างๆ หน่วยงานต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มาระดมสมองที่จะช่วยกันคิดว่าเราจะเดินทาง และแก้ปัญหาอย่างไร จากการหารือในครั้งแรก เราได้แค่ผลเบื้องต้น แต่ในวันที่ 24 - 25 ตุลาคม 2567 เราจะมีการระดมสมองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งที่ใหญ่กว่าครั้งแรก จะเชิญผู้เชี่ยวชาญทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะผู้บริหารกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ (เทมาเส็ก) ผู้อํานวยการใหญ่ของไอแอลโอ รับปากที่จะเข้ามาบรรยาย และมาพูดให้ฟังว่าการที่จะทําให้กองทุนประกันสังคม มั่นคงถาวร นี่คือเป้าหมายของกระทรวงแรงงานในปัจจุบันนี้

“ผมให้ความสนใจกับกองทุนประกันสังคมมาก ในฐานะที่ผมเคยดูแลเรื่องเศรษฐกิจ ผมอยู่ในภาคธุรกิจมาก่อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่กําลังจะเกิด เราต้องหาวิธีการป้องกัน หาวิธีการแก้ปัญหา นี่คือผู้ที่ผ่านประสบการณ์บริหารธุรกิจ เพราะฉะนั้นเราต้องมองไปข้างหน้าว่าขวากหนามคืออะไร เราจะแก้ปัญหาตรงนั้นได้อย่างไร ไม่ใช่รอเจอปัญหาแล้วเราค่อยไปแก้ ผมคิดว่าเมื่อปัญหามาถึงแล้วเราแก้ไม่ทัน แต่วันนี้กองทุนประกันสังคม กําลังเจริญเติบโต เรารู้ว่าอีกไม่กี่ 10 ปีข้างหน้าอนาคตเป็นอย่างไร วันนี้เราต้องแก้เพื่ออนาคตข้างหน้า แน่นอนผมเป็นคนนําธงในการแก้ปัญหาตรงนี้ เรามองเห็นปัญหาแล้วเราต้องรีบวิ่งเข้าไปหาปัญหาและหาวิธีปลดเงื่อน ปลดปมที่ผูกอยู่ ตรงนั้นให้คลายออกมาให้ได้ แต่รอจนกระทั่งเงื่อนกระชับ จนปลดไม่ได้แล้ว ไม่ทันแล้ว” นายพิพัฒน์กล่าว.

/////////

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"พิพัฒน์" ลุยนครพนม ส่งเสริมเลี้ยงต่อหัวเสือ มอบเครื่องมือทำกินแรงงานอิสระ เพิ่มรายได้ครัวเรือน

วันที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาลกินต่อหัวเสือโลก เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2567

"พิพัฒน์" พลิกโฉมแรงงานรุ่นใหม่ สู่การจ้างงานยุคดิจิทัล Thailand Digital Employer Day 2024 ผนึกเครือข่าย เตรียมคนทำงานสู่อนาคต

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Digital Employer Day 2024 ‘ยกระดับแรงงานดิจิทัล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สู่ความมั่งคั่งและยั่งยืน” พร้อมทั้งกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ

รมว.พิพัฒน์ ห่วงเหตุการณ์ดินถล่มอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ จ.นครราชสีมา สั่งประกันสังคมเตรียมให้การช่วยเหลือสิทธิกองทุนเงินทดแทน 3 แรงงาน โดยเร่งด่วน

จากกรณีเกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ ช่วงคลองขนานจิตร ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นอุโมงค์ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

"พิพัฒน์" ขับเคลื่อนความร่วมมือระดับโลก ปูทางไทยสู่ศูนย์กลางด้านความปลอดภัยในการทำงาน ของกลุ่มประเทศอาเซียน

วันที่ 28 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานสัมมนาด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับนานาชาติ

“พิพัฒน์” ตั้งเป้าลดประสบอันตรายจากการทำงานร้อยละ 1 ห่วงแรงงานไทยเป็นออฟฟิศซินโดรม เร่งหาทางสกัด

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานเสวนา “การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย

'บุญสงค์' เลขาฯ สปส. นำทีมเยี่ยมผู้ประกันตนทุพพลภาพ อ.แม่สอด จ.ตาก

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อตรวจเยี่ยมคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ ในโครงการ “สปส.มอบสุข”