“ภูมิธรรม” เคาะ 68 มาตรการ คุมเข้มนำเข้าสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐานและผิดกฎหมายจากต่างประเทศ พร้อมปรับกฎระเบียบรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ปัญหานำเข้าสินค้าและบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน และผิดกฎหมายจากต่างประเทศ ยังคงสร้างปัญหาให้กับผู้ผลิตผู้ประกอบการ ตลอดจนถึงผู้บริโภคชาวไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากร กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฯลฯ ต้องเร่งระดมสรรพกำลังเพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ/แนวทางในการแก้ไขปัญหาและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้ประกอบการในทุกมิติ เช่น ตรวจสอบความถูกต้องของการจดทะเบียนการค้าและใบอนุญาตต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจของต่างชาติ ตรวจสอบคุณภาพสินค้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานได้รับการรับรองจากหน่วยงานของไทย ตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการต่างชาติ และตรวจสอบความถูกต้องของการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกประชุม 28 หน่วยงาน อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เพื่อหารือถึงมาตรการแก้ปัญหาการนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจากต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาสินค้านำเข้าสู่ตลาดที่ไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำ ในการป้องกันและกำกับดูแลทั้งสินค้าและธุรกิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายควบคู่กับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ e-Commerce ไทยปรับตัวได้ในโลกการค้ายุคใหม่ โดยการหารือดังกล่าว เป็นการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐตามมติ ครม.ที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการ แนวทางในการแก้ไขปัญหาและปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ
นายภูมิธรรม ระบุว่า ที่ประชุมได้หารือและมีข้อสรุปร่วมกันสำหรับมาตรการที่หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการ 5 มาตรการหลัก แยกเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที และมาตรการยั่งยืน รวม 63 มาตรการย่อย ดังนี้
1.ให้หน่วยงานบังคับใช้ระเบียบ กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยบูรณาการตรวจเข้มสินค้า ณ ด่านศุลกากร ทั้งในส่วนของการสำแดงพิกัดสินค้า การชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม การตรวจมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า (Full Container Load) เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบของ Cyber Team ตรวจสอบสินค้ามาตรฐานจำหน่ายออนไลน์ในส่วนการประกอบธุรกิจ มีมาตรการเชิงรุกตรวจสอบผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย การป้องปรามการกระทำอันมีลักษณะเป็นนอมินี โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นคนไทยต้องส่งเอกสารที่ธนาคารออกให้เพื่อรับรองหรือแสดงฐานะการเงิน พร้อมกับการขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด
2.ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการค้าอนาคต ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) อยู่ระหว่างจัดทำประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีคุณสมบัติตามกำหนด "ต้องจดทะเบียนนิติบุคคล โดยให้มีสำนักงานในไทย" พร้อมให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคไทย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเร่งเพิ่มจำนวนรายการสินค้าควบคุมภายใต้มาตรฐานบังคับ ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุดไปด้วยอีกทางหนึ่ง
3.มาตรการภาษี โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประมวลรัษฎากรสำหรับการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์จากต่างประเทศ และแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่จำหน่ายสินค้าในไทย ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ขณะเดียวกัน กรมการค้าต่างประเทศเตรียมการจัดอบรมให้ความรู้เชิงเทคนิคกับภาคเอกชนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
4.มาตรการช่วยเหลือ SMEs ไทย โดยได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทุกหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม, กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น เร่งพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้า และการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคการค้าโลกใหม่ โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายการส่งออกผ่าน 9 แพลตฟอร์ม e-Commerce พันธมิตรในประเทศเป้าหมาย
5.สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพื่อส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางตลาด e-Commerce ให้เป็นอีกช่องทางในการผลักดันสินค้าไทยผ่าน e-Commerce ไปตลาดต่างประเทศให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมและกระจายสินค้าสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค
นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานรับรายงานทุกสัปดาห์ โดยจะประชุมร่วมกันทุก 2 สัปดาห์ หากมีความจำเป็นก็จะทำงานให้เข้มข้นขึ้น ใอย่างไรก็ตาม ย้ำว่า สินค้าที่จะจำหน่ายในไทยต้องมีคุณภาพ ถูกกฎหมาย ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล และจะตรวจให้เข้มข้นขึ้น ถ้ามีปัญหาอาจเพิ่มความถี่ในการเปิดตู้
ขณะเดียวกัน เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก กฎ ระเบียบที่มีอยู่ แม้จะมีผลบังคับใช้ แต่ก็ต้องมีการ ทบทวนปรับกฎระเบียบเพิ่มเติม เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ มาตรการแนวทางที่จะออกมา จะไม่ถือเป็นการกีดกันทางการค้า แต่จะคำนึงถึงความตกลงทางการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมกับรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม และธุรกิจทุกฝ่ายอย่างสมดุลสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ ซึ่งทุกประเทศมีกลไกดูแลสินค้าผู้ประกอบการในประเทศของตัวเอง
“จากปัญหาความห่วงใยของพี่น้องประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม ที่มีความกังวลในสินค้าจากต่างประเทศที่เข้ามา ทั้งปัญหาที่ไม่ได้มาตรฐานหรือผิดกฎหมาย ครม.ได้มอบหมายให้ผมเป็นประธานในการประชุมแก้ไขปัญหา และให้รายงานคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือนสิงหาคม ผมย้ำว่าสินค้าที่จะจำหน่ายในไทยต้องมีคุณภาพ ถูกกฎหมาย ไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยจะดำเนินการไปพร้อมกับรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม และธุรกิจทุกฝ่ายอย่างสมดุลสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้สามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในโลกการค้ายุคใหม่ ซึ่งทุกประเทศมีกลไกดูแลสินค้าผู้ประกอบการในประเทศของตัวเอง” รมว.พาณิชย์ กล่าว
ส่วนแพลตฟอร์ม TEMU ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่สิงคโปร์ นายภูมิธรรม กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับเอกอัคราชทูตประเทศจีนแล้ โดยทางเอกอัคราชทูต รับทราบถึงข้อกังวลดังกล่าว และจะพยายามให้ทาง TEMU เข้ามาจดทะเบียนตั้งบริษัท และสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งหากไม่ดำเนินการรัฐบาลไทยจำเป็นต้องใช้กฎหมายบังคับต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รมช. สุชาติ” ร่วมเวทีครบรอบ 40 ปี COMCEC กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกมุสลิม มุ่งส่งเสริมการค้าผ่านระบบดิจิทัล
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมประชุม COMCEC ครั้งที่ 40 ณ นครอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า มุ่งกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศมุสลิม
พาณิชย์ติดตามสถานการณ์ข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ของเกษตรกร พร้อมเสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรใน นบข. 8 พ.ย.นี้
พาณิชย์ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ทุ่งกุลาร้องไห้ ติดตามการซื้อขายข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลใหม่ ที่เริ่มทยอยออกสู่ตลาด และพบปะกลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์
ย้อนมติครม.ยุคอภิสิทธิ์ เห็นชอบให้ยกเลิก MOU 2544 ไปแล้ว เตือนรัฐบาลอย่าฝืน
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง อย่าลืมมติคณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เห็นชอบในหลักการ “ให้ยกเลิก MOU 2544” ไปแล้ว มีเนื้อหาดังนี้
เทวดาสคบ.ยิ่งสอบยิ่งเจอ ‘คลัง’ร่วมฟันแชร์ลูกโซ่
"ภูมิธรรม" สั่งฝ่ายกฎหมายเช็กบิล "โฆษก พปชร." ฐานป้ายสีปูดอักษรย่อคนเพื่อไทยเอี่ยวดิไอคอน บี้ส่งรายชื่อจริงมา
'บิ๊กอ้วน' วอนอย่าดราม่าให้สัญชาติไทย 4.8 แสนราย
'ภูมิธรรม' วอนอย่าดราม่า หลัง ครม.ให้สัญชาติผู้อพยพ 4.8 แสนคน ย้ำทุกอย่างมีกระบวนการ กม. หากมองทุกอย่างเป็นปัญหาจะห่อเหี่ยว
'ภูมิธรรม' ให้ฝ่ายกฎหมายเช็กบิลโทรโข่ง พปชร.ปูดปมดิไอคอน
'ภูมิธรรม' ย้ำให้ฝ่ายกฎหมายเช็กบิล โฆษก พปชร. หลังปูดอักษรย่อคนเพื่อไทยเอี่ยวดิไอคอนกรุ๊ป ท้าเปิดชื่อส่งหลักฐานพร้อมคกก.สอบ ขออย่าจินตนาการเบี่ยงเบนประเด็นตัวเอง