ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย

ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจและมีความสำคัญสมควรที่จะได้รับการกล่าวถึงโดยเฉพาะความเห็นที่มีผลต่อประชาชนในกรณีที่เป็นผู้ที่ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ในที่นี้ขอเสนอความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยในกรณีการแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัยกรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัยซึ่งเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าที่มีค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท

ความเห็นเรื่องดังกล่าวมีประเด็นต้องพิจารณาว่า การที่มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งปรับเป็นพินัยและส่งคำสั่งให้ผู้นั้นทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ที่ปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของผู้ถูกกล่าวหาหรือตามที่ได้แจ้งไว้ต่อหน่วยงานของรัฐ แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐพบการกระทำความผิดซึ่งหน้าและผู้กระทำความผิดยินยอมชำระค่าปรับ ณ ที่นั้น หรือผู้กระทำความผิดรับสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและขอชำระค่าปรับเป็นพินัยในทันที เจ้าหน้าที่จะสามารถรับชำระค่าปรับได้โดยไม่ต้องส่งคำสั่งปรับทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่

ในประเด็นนี้คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้ให้ความเห็นในเรื่องเสร็จที่ ๘๔/๒๕๖๗ สรุปได้ว่า กรณีที่ผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมจะชำระค่าปรับเป็นพินัย และเจ้าหน้าที่ของรัฐคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย (กรณีที่กฎหมายกำหนดอัตราค่าปรับเป็นพินัยสูงสุดไว้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท) หากผู้ถูกกล่าวหายอมรับสารภาพและมิได้มีข้อโต้แย้ง ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบันทึกการรับสารภาพและการไม่โต้แย้งนั้นไว้ และให้ผู้กระทำความผิดลงนามไว้เป็นหลักฐาน แล้วออกคำสั่งปรับเป็นพินัยเป็นหนังสือต่อไป ส่วนการดำเนินการตามมาตรา ๒๐ นั้น เป็นการกำหนดสำหรับการส่งคำสั่งปรับเป็นพินัยให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เพื่อให้มีหลักฐานในการส่งคำสั่งปรับเป็นพินัยที่ชัดเจน และป้องกันการโต้แย้งเกี่ยวกับขั้นตอนในการส่งคำสั่งหรือปัญหาการตีความวันที่ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้รับแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย แต่สำหรับกรณีที่ผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมจะชำระค่าปรับเป็นพินัยแล้ว หากตีความบทบัญญัติดังกล่าวโดยจำกัดว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องส่งคำสั่งปรับเป็นพินัยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับก่อน ผู้นั้นจึงจะดำเนินการชำระค่าปรับเป็นพินัยได้ ย่อมเป็นการสร้างขั้นตอนและภาระให้แก่ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทำให้กระบวนการปรับเป็นพินัยต้องล่าช้าออกไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดให้มีมาตรการปรับเป็นพินัยขึ้นใหม่ เพื่อลดขั้นตอนและกระบวนการในการพิจารณาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งปรับเป็นพินัยให้แก่ผู้กระทำความผิดที่ปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมจะชำระค่าปรับเป็นพินัย เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงสามารถส่งคำสั่งปรับพินัยให้แก่ผู้กระทำความผิดซึ่งปรากฏอยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยตรงได้

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยมีข้อสังเกตเพิ่มเติมสองประการ ได้แก่

(๑) ความเห็นดังกล่าวนี้ไม่อาจใช้กับการปรับเป็นพินัยที่อัตราค่าปรับเป็นพินัยสูงเกินหนึ่งหมื่นบาทได้ เพราะเป็นอำนาจขององค์คณะ

(๒) หากจะดำเนินการตามความเห็นนี้ให้รอบคอบ หน่วยงานของรัฐสมควรปรับปรุงแบบคำสั่งปรับเป็นพินัย โดยเพิ่มเติมข้อความในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกปรับเป็นพินัยยอมรับว่ากระทำความผิดจริงและยินยอมชำระค่าปรับ และเพิ่มข้อความว่า “ไม่ต้องแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับอีก” พร้อมลงลายมือชื่อของผู้ถูกปรับเป็นพินัย และต้องมอบคำสั่งปรับเป็นพินัยนั้นให้แก่ผู้ถูกปรับด้วย  ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินงานและเพื่อป้องกันการทุจริต

ความเห็นตามเรื่องเสร็จที่ ๘๔/๒๕๖๗ ข้างต้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยในการขับเคลื่อนการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย โดยช่วยให้หน่วยงานของรัฐมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัยในกรณีที่ผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องส่งคำสั่งปรับเป็นพินัยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังที่อยู่ของผู้ถูกกล่าวหาตามที่กฎหมายกำหนด แต่สามารถแจ้งคำสั่งต่อผู้ถูกกล่าวหานั้นได้โดยทันที ซึ่งเป็นการลดขั้นตอนและภาระทั้งแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน ตลอดจนทำให้กระบวนการปรับเป็นพินัยรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

“Better Regulation for Better Life”

พัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17

Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม

นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในบทบาทผู้ขับเคลื่อนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

การมีกฎหมายที่ดี มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมและยกระดับการพัฒนา ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

'วิรุตม์' สอนมวยกฤษฎีกา ชี้ 'โจ๊ก' ถูกให้ออกจากราชการ ตาม ม.131 ไม่เกี่ยว ม.120

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า กรณีการตอบและตั้งข้อสังเกตตามหนังสือหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี