วันที่ 8-9 สิงหาคม พ.ศ.2567 – กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA นำโดย นายเพียว สมิธ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ดร.จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทยและผู้แทน UNFPA ประจำประเทศมาเลเซีย นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย และทีมงาน เดินทางไปยังจังหวัดขอนแก่นเพื่อทำงานเชิงรุกสามด้าน ได้แก่ การส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัยเข้าถึงบริการการวางแผนครอบครัวได้อย่างเท่าเทียม การส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก การยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และการพัฒนาประชากรตลอดทุกช่วงวัย เพื่อเตรียมทุกกลุ่มประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย รวมทั้งหารือการขยายขอบเขตความร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมกันผลักดันงานทั้งสามนี้ผ่านความร่วมมือแบบใต้-ใต้และไตรภาคี ซึ่งได้ร่วมทำกับ UNFPA ประจำประเทศไทยมาหลายทศวรรษแล้ว
ในช่วงบ่ายของวันที่ 8 สิงหาคม ทีมงาน UNFPA ประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “SoSafe” แพลตฟอร์มการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย (Life-Cycle Digital Platform) ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเยาวชนมัธยมปลายจากโรงเรียนเทศบาลวัดกลาง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
ทีมงานฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ณ ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลขอนแก่น
ต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม ทีมงาน UNFPA ประเทศไทย ได้ไปเยือนมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยช่วงเช้าได้ร่วมสัมมนาในกิจกรรมสำคัญของ UNFPA ในระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเน้นปัญหาผู้สูงอายุในประเทศในภูมิภาคอาเซียน และร่วมนำเสนอบริบทของประเทศไทย ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากนั้นในช่วงบ่าย ทีมงานฯ ได้ร่วมประชุมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นภาคีของ UNFPA มาอย่างยาวนานในถ่ายทอดความรู้อบรมการผดุงครรภ์ให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านความร่วมมือแบบใต้-ใต้และไตรภาคี (South-South and Triangular Cooperation - SSTC) ร่วมกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (TICA) ทั้งนี้ทีมงานฯ ได้เข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอนของแผนกห้องปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุ และ แผนกผดุงครรภ์ที่มีส่วนอย่างมากในการลดการเสียชีวิตของมารดาที่สามารถป้องกันได้ในประเทศไทยและในประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ภายใต้กรอบ SSTC อีกด้วย
ดร.จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทยและผู้แทน UNFPA ประจำประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า UNFPA ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนทั่วโลก โดยในประเทศไทยนั้น UNFPA ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเพื่อเสริมพลังให้วัยรุ่นเข้าถึงสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ สนับสนุนให้ทุกคนโอบรับแนวทางการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย (Life-cycle approach to ageing) และส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีจัดการและตอบสนองต่อความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ
นอกจากนี้ ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการผดุงครรภ์และลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทั้งยังมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้โลกของเราบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเทศไทยจึงได้แบ่งปันความเชี่ยวชาญนี้กับหลายๆ ประเทศ รวมถึง ภูฏาน ลาว และติมอร์-เลสเต ผ่านความร่วมมือแบบใต้-ใต้และแบบไตรภาคี (SSTC) การแบ่งปันนี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้สนับสนุนแนวหน้าของ ICPD หรือ การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา ซึ่งมีการฉลองครบรอบ 30 ปีในปีนี้
นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดหลักที่ UNFPA ประเทศไทยใช้ในการทำงานทุกพื้นที่ รวมทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ ก็คือ แนวคิดการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย (Life-Cycle Approach to Ageing) โดยแนวคิดนี้สนับสนุนการลงทุนในทุกช่วงวัยของประชากรแต่ละคน เพื่อให้ประชากรทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม สามารถเข้าสู่ภาวะสูงวัยได้อย่างมีความพร้อมและทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ต้องการได้ รวมถึงด้านสิทธิสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ การดำรงชีวิตอย่างปลอดภัย ตามหลักสิทธิและทางเลือกของแต่ละคน
“ในภาวะที่ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยเช่นนี้ UNFPA ประเทศไทยได้เปิดตัวโครงการนำร่อง “Line@SoSafe” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัยแบบดิจิทัล (Life-Cycle Digital Platform) เพื่อช่วยให้ประชากรทุกวัยและทุกกลุ่มมีความพร้อมและสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยได้ โดย SoSafe ถูกออกแบบให้เป็นที่พึ่งพิงที่เป็นทางเลือกที่เสริมและเชื่อมโยงการทำงานของภาครัฐ พร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือประชากรทุกกลุ่มเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคม ในแพลตฟอร์มนี้มีทั้งแชทบอทที่รับแจ้งปัญหาทางสังคมต่างๆ ได้แก่ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว พร้อมให้บริการแล้วในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่องจากทั้งหมด 15 จังหวัด และจะมีการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้” นางสาวสิริลักษณ์ กล่าวแนะนำ
ด้าน นายบุญฤทธิ์ พาณิชย์รุ่งเรือง รองนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า สิ่งที่ UNFPA ประเทศไทยนำมาแนะนำให้กับเยาวชนและวัยรุ่นในจังหวัดขอนแก่นในครั้งนี้คือ SoSafe นวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อช่วยจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ลดความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและความรุนแรงในครอบครัว ตนเชื่อว่า SoSafe จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอนาคต โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนและวัยรุ่นในวันนี้ที่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี
“วันนี้เด็กนักเรียนในจังหวัดขอนแก่นได้ฝึกใช้ Line@SoSafe เพื่อขอความช่วยเหลือ เพื่อรับข้อมูลและสิทธิประโยชน์ เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทางสังคม โดยเฉพาะเมื่อพบกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ผมรู้สึกมีความหวังมาก และเชื่อว่าความร่วมมือในระดับท้องถิ่นนี้จะเชื่อมโยงสู่การช่วยเหลือประชากรทุกคนในระดับประเทศต่อไป” นายบุญฤทธิ์ กล่าว
ขณะที่ แพทย์หญิงวัลลภา บุญพรหมมา ประธานศูนย์พึ่งได้ ณ โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า ในปัจจุบัน ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) ณ โรงพยาบาลขอนแก่น ได้ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเน้นไปที่แนวทางการช่วยชีวิตและความต้องการของผู้เสียหายเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งผู้หญิง เด็กผู้หญิง LGBTQIA+ และกลุ่มเปราะบางจำนวนมากเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องทำงานในเชิงรุกและเพิ่มความเข้มแข็งในการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสังคมที่ปราศจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศอย่างครบวงจร
ส่วน ผศ.ดร. สมจิตร เมืองพิล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา และบริการวิชาการ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ UNFPA ประเทศไทยว่า นอกเหนือจากเรื่องการถ่ายทอดความรู้อบรมการผดุงครรภ์ให้กับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีความร่วมมือด้านการส่งเสริม สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยสำหรับเด็กและเยาวชน และการเตรียมดูแลสุขภาพผู้สูงวัย
“การพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพที่ดี จะเป็นก้าวย่างที่สำคัญในภาคอีสานเพื่อเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นภารกิจที่คณะพยาบาลและ UNFPA ประเทศไทยจะร่วมมือกันต่อไปในการสร้างสังคมสูงวัยที่มีสุขภาพดี ให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ทศวรรษแห่งการสูงอายุอย่างมีสุขภาพ โดยองค์การสหประชาชาติได้ให้นิยามของการสูงอายุอย่างมีสุขภาพหรือ Healthy Ageing ไว้ว่าเป็นกระบวนการของการพัฒนาและการคงไว้ซึ่งความสามารถในการทำงานที่ทำให้เกิดความอยู่ดีมีสุขในการสูงอายุ เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างสังคมเช่นนั้น" รศ.ดร.สมจิตร กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน UNFPA ประเทศไทย ดำเนินแผนงานความร่วมมือ (Country Programme) ฉบับที่ 12 โดยร่วมมือกับรัฐบาลไทยและหลายภาคส่วนในประเทศไทย โดยงานด้านความร่วมมือ South-South and Triangular Cooperation (SSTC) หรือความร่วมมือแบบใต้-ใต้และแบบไตรภาคีมีเป้าหมายเพื่อบรรลุผลภารกิจเพื่อความเปลี่ยนแปลงทั้งสามด้านของ UNFPA (Three Transformative Results) ซึ่งได้แก่ การส่งเสริมให้ทุกคนได้เข้าถึงบริการการวางแผนครอบครัว การลดการเสียชีวิตของมารดาที่ป้องกันได้ และการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ในประเทศไทยซึ่งเน้นการพัฒนาประชากรตลอดทุกช่วงวัยเพื่อเตรียมทุกกลุ่มประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย แผนภารกิจเหล่านี้คือหนทางสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศไทยภายใน พ.ศ.2573
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
UNFPA เปิดตัวรายงาน ICPD30 ประเทศไทย: 30 ปีแห่งความก้าวหน้าด้านประชากรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ผนึกกำลังภาคีผลักดันข้อเสนอแนะพาประเทศไทยไปข้างหน้า
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC) และภาคี จัดการประชุมเปิดตัว “รายงาน ICPD30 ของประเทศไทย: 30 ปีแห่งความก้าวหน้าด้านประชากรและการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ดร. จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย
'คริสติน่า' เยือนเชียงราย กับภารกิจเพื่อเพื่อนมนุษย์
คนค้นฅน Special สัปดาห์นี้ พาไปสัมผัสรสชาติความงดงามของมิตรภาพ ความห่วงใย และพลังใจที่เพื่อนมนุษย์มีให้แก่กัน ใน ภารกิจเพื่อเพื่อนมนุษย์ ของ UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย โดยภาคีหลักอย่าง บริษัท นินจา เพอร์เฟคชั่น จำกัด (NINJA Perfection) จับมือ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด (TVBG) ร่วมสร้างแนวคิดและมุมมองใหม่กับภารกิจครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ในครั้งนี้
'คริสติน่า' เดินหน้าลงพื้นที่สานต่อภารกิจเพื่อสังคม
ถือเป็นความมุ่งมั่นและส่งต่อกำลังใจที่ยิ่งใหญ่อย่างต่อเนื่อง กับศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอุตสาหกรรมเพลงไทย คริสติน่า อากีล่าร์ หลังได้รับการแต่งตั้งจาก UNFPA เป็น Champion of UNFPA คนแรกของประเทศไทย ได้สานต่อและผลักดันให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยตระหนักถึงความเสมอภาคทางเพศ และยุติความรุนแรง
UNFPA ร่วม “ขบวนบางกอกไพรด์ 2023” หนุน 6 ประเด็นรณรงค์ เฉลิมฉลอง “Pride Month” โอบกอดความแตกต่างในเดือนแห่งความภาคภูมิใจความหลากหลายทางเพศ
นางสาวสิริลักษณ์ เชียงว่อง หัวหน้าสำนักงาน UNFPA ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า กองทุนประชากรแห่งสหประชาติ หรือ UNFPA หนึ่งในองค์กรของสหประชาติในประเทศไทยซึ่งมีอยู่ 21 องค์กร
UNFPA ร่วมกับ UNDP และ Thailand Policy Lab จัดนิทรรศการพร้อมเสวนา “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง “Pride Month” เดือนแห่งความภาคภูมิใจความหลากหลายทางเพศ
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ Thailand Policy Lab จัดนิทรรศการและเสวนาหัวข้อ “ครอบครัวยุคใหม่ในนิยามของฉัน” พร้อมเชิญชวนร่วมเฉลิมฉลองความหลากหลายและการโอบกอดความแตกต่างในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ “Pride Month” ณ สยามเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ
'คริสติน่า' ได้รับการแต่งตั้ง เป็น Champion of UNFPA
ถือว่าเป็นความมุ่งมั่นและขับเคลื่อนสังคมอย่างต่อเนื่อง เมื่อ UNFPA กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund) ประกาศแต่งตั้งศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในอุตสาหกรรมเพลงไทย คริสติน่า อากีล่าร์ เป็น Champion of UNFPA คนแรกของประเทศไทย เพื่อร่วมสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ การยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ ส่งเสริมสิทธิสุขภาพทางเพศ-อนามัยการเจริญพันธุ์ และการพัฒนาชีวิตทุกช่วงวัย