"วราวุธ" รมว.พม. ส่งทีม ศรส. กลางดึก รุด ป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้า ย่านบางกะปิ หลังรับแจ้ง คนไร้บ้าน นอนเกลื่อน

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.67 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวกลุ่มคนไร้บ้านอาศัยหลับนอนในเวลากลางคืนบริเวณป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ นั้น ต่อกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะว่าเมื่อท่านเห็นข่าวตามที่ปรากฏในสื่อ ได้โทรมาสั่งการตนทันที และต้องขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในเรื่องกรณีคนไร้บ้าน ซึ่งกระทรวง พม. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด ทั้งนี้ เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 29 ก.ค. 67 เวลา 22.30 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ได้ส่งทีมหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ศรส. จากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตบางกะปิ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลาดพร้าว ลงพื้นที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านบางกะปิ กรุงเทพฯ พบกลุ่มคนไร้บ้านในที่สาธารณะ จำนวน 5 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 2 คน ซึ่งมีผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย 2 คน

นายวราวุธ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ ศรส. ได้พยายามพูดคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านในการเข้ารับความช่วยเหลือคุ้มครองในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง แต่ทั้งหมดประสงค์ไม่เข้ารับความช่วยเหลือคุ้มครอง เนื่องจากมีอาชีพรับจ้างทั่วไปในบริเวณดังกล่าว รายได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้ต้องมาอาศัยป้ายรถเมล์เป็นที่หลับนอน และบางรายเพิ่งพ้นโทษ ไม่รู้ว่าจะขอรับความช่วยเหลือได้อย่างไร ในขณะที่ผู้สูงอายุมีปัญหาครอบครัว ลูกหลานไม่สามารถดูแลได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ ศรส. ได้ย้ำกับกลุ่มคนไร้บ้านว่า หากประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ ขอให้โทรมาแจ้งที่ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. กระทรวง พม. ผ่านสายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และหลังจากนี้ เจ้าหน้าที่ ศรส. ร่วมกับสำนักงานเขตบางกะปิ และ สน.ลาดพร้าว จะลงพื้นที่จัดระเบียบคนขอทานและคนไร้ที่พึ่งอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน

นายวราวุธ กล่าวว่า จากข้อมูลคนไร้ที่พึ่ง ตั้งแต่ปี 2562 มีจำนวน 2,700 กว่าคน แต่พอมาถึงปี 2566 มีจำนวนลดลงเหลือ 2,499 คน และปี 2567 มีจำนวนคนไร้ที่พึ่งเฉพาะในกรุงเทพฯ 500 กว่าคน ซึ่งกรณีคนเร่ร่อน ทางกระทรวง พม. มีสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอยู่ทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ ให้ความดูแลพี่น้องคนไร้ที่พึ่งประมาณ 4,800 - 5,000 คน พบปัญหาส่วนใหญ่ของคนไร้ที่พึ่ง เริ่มจากอาการป่วยทางจิต จากนั้นเมื่อมีอาการทางจิตมากขึ้น หนักขึ้น แล้วจะไม่ยอมกลับเข้าบ้านในที่สุด ดังนั้นส่วนใหญ่เมื่อเราเจอคนเร่ร่อน จะต้องเร่งประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานสังกัดกระทรวง พม. กรุงเทพมหานคร หรือกระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะเชิญตัวเข้าสู่กระบวนการบำบัดทางด้านจิตใจ ถึงแม้ว่าทางเจ้าหน้าที่ พม. จะทำงานกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดอย่างเช่นเมื่อวานนี้ พอตนทราบข่าวคนไร้บ้าน ได้สั่งการให้รีบออกดำเนินการทันที ซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ พม. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเจ้าตัวปฏิเสธในการเข้ารับการคุ้มครอง แต่กฎหมายในปัจจุบันที่มีใช้อยู่ในขณะนี้ ต้องมีมาตรการจูงใจให้มากขึ้น รวมทั้งต้องมีความเข้มงวดหรือว่าเพิ่มความเข้มในบทลงโทษให้มากขึ้น เพราะเมื่อเจ้าตัวปฏิเสธในการเข้ารับการคุ้มครอง หรือว่าเข้ารับการฝึกวิชาชีพต่างๆโดยกฎหมายแล้ว ทางกระทรวง พม. ไม่สามารถที่จะไปจับกุมหรือว่านำตัวออกมาจากสถานที่ได้ ถ้าหากทำเช่นนั้น จะไปเข้าข่ายกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายอุ้มหาย ซึ่งอาจจะเกิดเป็นประเด็นอื่นตามมา ถ้าหากไปดำเนินการพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาจจะใช้กฎหมายอื่นได้สำหรับการดำเนินการกับคนไร้ที่พึ่ง หรือว่าการนอนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ อาจเป็นการกระทำผิดตาม กฎหมายกัดขวางทางเท้าหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การลงโทษเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราว เมื่อคนไร้ที่พึ่งไม่ยอมเข้าสู่ระบบ ซึ่งต้องใช้ความสมัครใจ ถ้าหากว่าเจ้าตัวไม่สมัครใจ จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้วนซ้ำแล้วซ้ำ และมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรืออาการป่วยทางจิต

นายวราวุธ กล่าวว่า ตามกฎหมายหรือว่าตามอำนาจที่กระทรวง พม. สามารถดำเนินการได้นั้นเราทำได้เพียงแค่เชิญตัวเข้าสู่ระบบแล้วมาพัฒนาทักษะฝึกอาชีพ และมีโครงการห้องเช่าคนละครึ่ง พร้อมที่จะหางานให้กับกลุ่มคนไร้บ้านแต่ด้วยสถานการณ์ของประเทศไทยที่พื้นฐานของสังคมไทยที่เป็นสังคมเอื้ออาทร คนไทยนั้นมีจิตกุศล เมื่อเห็นคนลำบากก็จะช่วยเหลือ ดังนั้นกลุ่มคนไร้บ้านรวมถึงกลุ่มคนขอทาน เมื่อเห็นคนใจบุญเช่นนี้ ก็จะใช้โอกาสนี้ สังเกตได้ว่าทุกครั้งในกรุงเทพฯ เวลามีการแจกของ เราจะเห็นคนเข้ามาเยอะมาก บางครั้งเอาของแจกไปขายต่อ อาจเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันพอสมควรเป็นการสนับสนุนให้มีคนไร้บ้าน คนขอทานหรือไม่ สำหรับกรณีเรื่องขอทาน ต้องขออนุญาตเรียนย้ำว่า ผ่านที่เราขอประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนไปอย่างพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่งว่า การขอทานผิดกฎหมาย ดังนั้นสาเหตุเดียวที่ยังมีการขอทาน คือว่า ขอทานยังได้เงิน รายได้จากพี่น้องประชาชน ถ้าหากว่าไม่มีการให้เงินขอทานซึ่ววันนี้ ขอทายมาหลากรูปแบบ อาทิ การนำสัตว์เลี้ยง เด็กเล็ก คนพิการ มาขอทาน ซึ่งบางครั้งคนพิการหรือเด็กเล็กนั้นเป็นผลพวงมาจากการค้ามนุษย์ ดังนั้นต้องขอความกรุณาพี่น้องประชาชนหยุดให้ทานกับขอทาน และถ้าหากเจอคนไร้ที่พึ่งที่ใดหรือว่าคนเร่ร่อนที่ใด ขอให้แจ้งเข้ามาได้ที่ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน หรือ ศรส. ผ่าน สายด่วน พม. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง และขณะนี้ กระทรวง พม. กำลังหารือเกี่ยวกับเรื่องมาตรการทางกฎหมายสนับสนุนให้มีการช่วยเหลือคนไร้บ้านมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ให้มีบทลงโทษที่เข้มงวดมากขึ้นด้วย

#ข่าวพม #esshelpme #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ศรส #ขอทาน #คนเร่ร่อน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายกฯ มอบกายอุปกรณ์คนพิการ 72,000 ชุด เฉลิมพระเกียรติในหลวง ครบ 6 รอบ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบกายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ 72,000 ชุด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

'ชทพ.' ย้ำจุดยืนนิรโทษกรรม ไม่คลุม 3 เรื่อง เชื่อ สุดท้ายไปทิศทางเดียวกัน

'วราวุธ' ย้ำจุดยืนนิรโทษกรรม ไม่คลุม ม.112-อาญาร้ายแรง-คดีทุจริต ระบุ หากพท. จะเอา ค่อยพิจารณาอีกที แต่เชื่อ สุดท้ายไปทิศทางเดียวกัน