ครบรอบ 9 ปี กยท. จัดใหญ่ “Thai Rubber, The Next Chapter” พร้อมผ่าผลงาน 4 ปี "ณกรณ์ ตรรกวิรพัท"

เมื่อวันที่  15 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา  การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดงานใหญ่ครบรอบปีที่ 9  โชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “RAOT Thai Rubber, The Next Chapter” โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อม Kick off รถ Mobile Unit จัดเก็บ CESS และปิดร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาง Greenergy Shop by RAOT  ณ สำนักงานใหญ่ กยท. บางขุนนนท์  กรุงเทพฯ

อีกมุมหนึ่งในวันเดียวกันเป็นวันที่ นายณกรณ์  ตรรกวิรพัท   ได้หมดวาระในการดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ กยท.  จะต้องสรรหาผู้ว่าการฯคนใหม่ โดยต้องสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติถูกต้องและเหมาะสม ทำประโยชน์แก่ กยท. และวงการยางพาราทั้งระบบ โดยต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ กยท.คนใหม่ ต่อไป

กยท. เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 โดยเกิดจากการควบรวม 3 หน่วยงานด้านยางพารา คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.) ทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบครบวงจร  ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา  และมีผลงานเด่นเป็นที่ประจักษ์หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4 ปีหลังที่นายณกรณ์  ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563  เป็นต้นมา ซึ่งยังอยู่ในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด -19  และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

นายณกรณ์ ก่อนได้รับการสรรหาแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ กยท. ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการ กยท.มาก่อน  ได้มองเห็นโอกาสจากวิกฤตดังกล่าวที่จะผลักดันไทยก้าวสู่ประเทศศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางครบวงจรได้  เพราะโลกเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขอนามัยและการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มาจากยางสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้ดีที่สุด  หากประเทศไทยคว้าโอกาสมาได้ในอนาคตไทยจะกลายเป็น ศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบ อย่างแน่นอน จึงได้การศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมการจัดตั้งเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor of Rubber Innovation: SECri)  ที่จ.นครศรีธรรมราช  โดยขอเวลา 7 ปีที่จะผลักดันโครงการนี้เป็นจริง ซึ่งขณะนี้ก็มีความคืบหน้าพอสมควร มีภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ  ได้ยืนยันมาที่กยท.แล้วว่า จะเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการSECri  แน่นอน มีทั้งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแปรรูปยางคอมปาวด์ ยางผสม  น้ำยางข้น   บริษัทผลิตถุงมือยาง   ถุงยางอนามัย  บริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์   บริษัทพื้นที่รองเท้า  บริษัทผลิตที่นอนและหมอนยางพารา  ตลอดจนบริษัทผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพารา

นอกจากนี้  SECri  ยังจะเป็นเขตส่งเสริมนวัตกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมยางพาราที่มีต้นทุนต่ำ แต่มีประสิทธิภาพสูง  โดยเฉพาะธุรกิจ Start Up รุ่นใหม่เพื่อสร้างนวัตกรรมยางพาราใหม่ๆ อีกด้วย

หากโครงการสำเร็จจะสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมยางครบวงจร  ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าถึง 990,000 ล้านบาท   เพิ่มความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศจากร้อยละ 17 ไปสู่ร้อยละ 23 หรือปริมาณการใช้ยางอยู่ที่ 1.09 ล้านตัน มูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 110,000 ล้านบาท  และเพิ่มมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราเป็น 450,000 ล้านบาท ภายในปี 2570   ที่สำคัญจะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 45,000 คน  กระจายรายได้สู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ประมาณ 56.18%   ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาว สวนยางมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง สามารถช่วยยกระดับรายได้ให้ชาวสวนยางประมาณ 15,675 บาทต่อไร่

โครงการนี้ยังไม่สำเร็จ ผู้ว่าฯณกรณ์ก็หมดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

อีกผลการที่เป็นที่ประจักษ์เห็นผลเป็นรูปธรรมตลอดระยะเวลา 4 ปี นายณกรณ์ได้ลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานองค์กรภาครัฐ-เอกชน ทั้งในและต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การลงนามMOU กับ บริษัท เท็กเซ็ท จำกัด  ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์   ลงนามMOUกับสถาบันวิจัยยางของสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรเขตร้อนของจีน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีคิดค้นใหม่ด้านสวนยางพารา  ลงนาม MOU กับ บริษัทซีซีไอซี (ประเทศไทย) จำกัด และสมาคมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านเศรษฐกิจและการค้าอาเซียน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราและไม้ยางพาราไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานของจีน ลงนาม MOU กับนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อการวิจัยพัฒนาการบริการวิชาการ และความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม   ตลอดจนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพาราตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งสนับสนุนการจัดตั้งSECri

นอกจากนี้ยังลงนาม MOU กับองค์กาบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ในการพัฒนาโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อให้สามารถนำต้นยางพาราที่อยู่ในพื้นที่สวนยางมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้เสริมยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม   ลงนามกับ MOU บริษัท Nomura Jimusho, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องวิทยาศาสตร์ชีวภาพและผลิตภัณฑ์ด้านชีวมวลในระดับโลก ศึกษาวิจัยร่วมการจัดหาเมล็ดยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าแปรรูปเป็นพลังงานทางเลือก สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง นอกเหนือจากการขายน้ำยางอีกด้วย ล่าสุดได้ลงนาม MOU กับบริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาการคำนวณราคายางเพื่อเป็นราคาอ้างอิงของไทย (Rubber Reference Price) สำหรับซื้อขายยางเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ  ที่มีมาตรฐาน  โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานราคาอ้างอิงยางพาราของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลควบคู่ไปด้วย

อีกเรื่องที่ต้องยอมรับวิสัยทัศน์ของนายณกรณ์ จนเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงก็คือ การวางแผนรับมือกฎหมาย EUDR (EU Deforestation-free Products Regulation)      ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท (รวมถึงยางพารา) ที่จะนำเข้าและส่งออกจากสหภาพยุโรป ต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญทั้ง 3 ข้อสำคัญดังนี้ 1.ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า  โดยสินค้าต้องไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า 2.กระบวนการผลิตที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายต่างๆ อาทิ กฎหมายที่ดิน แรงงาน สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และภาษี และ3.ได้รับการตรวจสอบและประเมินสินค้า อาทิ การเก็บรวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน ได้แก่ พิกัดทางภูมิศาสตร์ วันที่และระยะเวลาการผลิต หลักฐานที่แสดงว่าสินค้าไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า และการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า

สรุปให้เข้าใจง่ายๆก็คือ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้า-ออกจากสหภาพยุโรป  ต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า    สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่า ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากยางมาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม

กยท. ไม่ได้พึ่งเตรียมวางแผนรับมือกฎหมาย EUDR ที่สหภาพยุโรปจะนำมาใช้บังคับในตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 นี้เป็นต้นไป แต่ผู้ว่าฯณกรณ์ได้มีวิสัยทัศน์ดำเนินการในเรื่องต่างๆรองรับไว้ล่วงหน้าก่อนหน้านี้  โดยใช้กลยุทธ์ "พลิกวิกฤตเป็นโอกาส" ผลลัพท์ที่ออกมา EUDRจะทำให้ประเทศไทย กลายเป็นผู้นำยางพาราโลกอย่างแท้จริง  เพราะ กยท.ได้โดยดำเนินโครงการต่างๆที่สอดรับกับกฎ EUDR  ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงสวนยางพาราของไทย   ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มอก. 14061 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ยางพารา 20 ปี  ตั้งเป้าให้สวนยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท.ทั่วประเทศทั้งหมดกว่า 20 ล้านไร่ จะต้องเป็นสวนยางพาราที่ได้มาตรฐานของประเทศไทย มอก. 14061 ทั้งหมดเพื่อรองรับตลาดยางพาราโลก ที่ได้มีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นมาตรฐานในการรับซื้อยางและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากยางพารา โดยจะมีตรวจสอบแหล่งที่มาแบบย้อนกลับ  ซึ่ง มอก. 14061  เป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก การดูแล ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของสวนยางพาราในระยะยาว รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและอำนวยประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังได้นำระบบการซื้อขายประมูลยางพารารูปแบบ Digital Platform Thai Rubber Trade (TRT)  มาใช้ในการประมูลซื้อขาย ซึ่งจะสามารถตรวจสอบรายละเอียดในการซื้อขายแต่ละครั้งได้อย่างชัดเจน เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลผลิตของสมาชิกแต่ละรายไว้เป็นระบบ พร้อมนำเทคโนโลยี Block chain  เข้ามาใช้รองรับการการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลแหล่งที่มาของผลผลิตยางพารา จึงสามารถเช็คได้ว่าผลผลิตยางที่ขายไป มาจากสวนยางของสมาชิกรายใด สวนยางตั้งอยู่ที่พิกัดไหน และเป็นสวนยางที่มีประเภทของเอกสารสิทธิ์ที่ดินหรือไม่   นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบใช้งานผ่าน Mobile Platform และ Web Application ช่วยลดระยะเวลาในการทำธุรกรรม  และบริหารจัดการข้อมูลการซื้อขายยางทั้งหมดแบบ Real Time ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อยางที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามความต้องการได้จากทุกตลาดกลางยางพาราและตลาดเครือข่ายทั่วประเทศ   พร้อมทั้งยังนำระบบรับชำระค่าธรรมเนียมส่งยางออกไปนอกราชอาณาจักรทางอิเล็กทรอนิกส์แบบ Single Form และระบบรับคำขอใบรับรองคุณภาพยางทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ  NSW  มาใช้  เพื่อลดขั้นตอน ลดความผิดพลาด ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความสะดวกรวดเร็ว  และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอีกด้วย

การเตรียมความพร้อมรับมือ EUDR ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเป็นเพียง 1 ใน 2 ประเทศผู้ส่งออกยางของโลกเท่านั้น ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ตามกฎระเบียบ EUDR ได้ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า  รมว.กระทรวงเกษตร ที่ให้กยท. ให้ความสำคัญในเรื่อง EUDR เป็นกรณีพิเศษ และกำหนดเป็นนโยบายที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพราะจะทำให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดยางพาราใน EU ได้เหนือกว่าประเทศคู่แข่ง รวมทั้งยังจะทำให้มูลค่ายางพาราที่ส่งออกไป EU มีราคาที่สูงกว่ายางทั่วไปไม่ต่ำกว่า 4-5 บาทต่อกิโลกรัม    พร้อมทั้งได้ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2568 ไทยจะมียางที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ไม่น้อยว่า 3.5 ล้านตัน จากปริมาณยางของไทยที่สามารถผลิตได้ประมาณปีละ 4 ล้านตัน เพื่อรองรับความต้องการของ EU และประเทศอื่นๆ ที่ซื้อยางจากประเทศไทยนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งไปขายในตลาด EU  ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎระเบียบ EUDR เช่นกัน

ล่าสุดได้มีการจัดงานใหญ่เปิดโครงการ Ready for EUDR in Thailand  ภายใต้แนวคิด “RAOT พร้อมก้าวสู่มาตรฐานสากล”   ประเดิม Kick Off  ซื้อขายยางตรวจสอบย้อนกลับผลผลิตได้ โดยวิธีประมูลผ่านระบบดิจิทัล Thai Rubber Trade (TRT) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สำหรับใช้ซื้อขายประมูลยางที่รองรับกฎระเบียบ EDUR   พร้อมทั้งนำเทคโนโลยี Block Chain มาใช้ในการทำธุรกรรม

ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่นายณกรณ์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. ยังได้ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมการทำสวนยางในรูปแบบแปลงใหญ่  พัฒนาเกษตรกรชาวสวนยางสู่การเป็น Smart Farmer  โครงการชะลอการขายยางของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น  ขยายผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ ให้มีขอบเขตการดำเนินโครงการที่กว้างขึ้น   ดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง(ยางแห้ง) ที่รับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง

และยิ่งในรัฐบาลปัจจุบัน กยท.ได้สนองนโยบายในการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราเถื่อนอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้มียางนอกระบบหรือยางเถื่อนเข้ามาในประเทศ ผู้ใช้ยางจะต้องซื้อยางในระบบเท่านั้น  ผนวกกับปริมาณความต้องการใช้ยางทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และขับเคลื่อนนโยบาย 7 ด้านภายใต้แนวคิด "อยู่ได้  พอใจ  ยั่งยืน" ไม่ว่าจะเป็นการสร้างปัจจัยการผลิตแบรนด์ "การยาง"  ติดอาวุธทางความรู้ให้ชาวสวนยาง  บริหารจัดการโรคใบร่วงอย่างจริงจัง   ออก"โฉนดไม้ยาง" สร้างตลาดยางมาตรฐาน ผลิตยางล้อแบรนด์ "Greenergy Tyre” ส่งเสริมสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในการแปรรูปผลิตภัณฑ์  ส่งผลให้ราคายางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคายางแผ่นมควันชั้น 3 พุ่งขึ้นทะลุ 96 บาทต่อกิโลกรัมสูงสุดในรอบ 12 ปี

ผลงานของนายณกรณ์ ในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ กยท. ยังมีอีกมาก จึงไม่แปลกใจเลยในวันสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการฯ พนักงาน กยท.  จะแห่เข้าแถวยาวมากๆ เพื่อมอบดอกไม้ให้กำลังใจ

ผู้ว่าการ กยท.คนใหม่จะเป็นใครนั้น ขณะนี้ทุกอย่างยั่งนิ่งอยู่ แต่การบริหารงานของ กยท.ก็ยังเดินหน้าต่อไป ภายใต้การนำของ รักษาการผู้ว่าการ กยท. นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ธรรมนัส"ฟันธงราคายางครึ่งปีหลังสดใส กยท.เดินหน้ากำหนดราคาอ้างอิงของไทย

“ธรรมนัส" ฟันธงราคายางในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 พุ่ง พร้อมเผย นโยบายด้านยางของรัฐบาลเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม ผนวกความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น และกฎเหล็ก EUDR

ยางล้อ “Greenergy Tyre” ล็อตแรก ยอดขายทะลุ20,000เส้นกยท.สั่งเพิ่มการผลิต ชูจุดเด่นคุณภาพสูง/ราคาถูก/อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

กยท.เปิดตัวยางล้อ “Greenergy Tyre” ประสบผลสำเร็จ ยอดสั่งทะลุ 20,000 เส้น เตรียมขยายการผลิตเพิ่ม ครอบคลุมการใช้งานรถทุกประเภท เผยจุดเด่น

รมว.เกษตรฯ“ธรรมนัส ”ปลื้ม กยท.ดันยางล้อแบรนด์" Greenergy Tyre”ฮิต ออเดอร์แรก 2 หมื่นเส้น

รมว.เกษตรฯ“ธรรมนัส” เป็นประธานเปิดงาน TyreXpo Asia 2024 เผยยางล้อภายใต้แบรนด์ " Greenergy Tyre” ของ กยท.ตลาดผู้บริโภคตอบรับดี เบื้องต้นมีการสั่งซื้อออร์เดอร์แรก 2 หมื่นเส้น

กยท.หนุนนโยบายรัฐบาลเร่งออกโฉนดต้นยาง ชี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการยางทั้งระบบ

กยท.เดินหน้าออกโฉนดต้นยางพาราตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ มั่นใจจะช่วยแก้ปัญหายางทั้งระบบ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับยางอย่างยั่งยืน

กยท.จับมือญุี่ปุ่น แปรรูปเมล็ดยางผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ชาวสวนยาง เตรียมเฮ! มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้/สร้างความมั่นคง

กยท.จับมือเอกชนญี่ปุ่น ขับเคลื่อนขยายผลการแปรรูปเมล็ดยางพาราเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากวัตถุดิบชีวมวล ไร้มลพิษ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรับกระแสโลก

อบก. ไฟเขียว สวนยางพาราขายคาร์บอนเครดิตได้ กยท.เดินหน้าพัฒนาสู่เป็นกลางทางคาร์บอน 20 ล้านไร่

อบก. ไฟเขียว ต้นยางพาราสามารถนำมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ กยท. รับลูก เร่งขับเคลื่อนพัฒนาสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กว่า 20 ล้านไร่ทั่วประเทศ