มีความร่วมมือระหว่าง สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) สสส. กับสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาร่างบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ ที่จะแทรกลงในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ความผิดลักษณะ 9 Grooming (Offline&Online) โดยมีการจัดเสวนาการตรากฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดต่อเด็กผ่านสื่อออนไลน์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น
สืบเนื่องจากเด็กและเยาวชนในปัจจุบันเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความต้องการต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็เข้าถึงภัยและความเสี่ยงที่มากับเทคโนโลยีด้วยอินเทอร์เน็ต ทำให้รูปแบบการทารุณกรรมและการแสวงหาประโยชน์จากเด็กและเยาวชนเปลี่ยนแปลงไป คนร้ายใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารสร้างสัมพันธ์กับเด็กและเยาวชน หลอกลวงนัดพบแล้วล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการปลอมแปลงตัวตนบนโลกออนไลน์ เพื่อหลอกเอาภาพหรือวิดีโอลับส่วนตัวของเด็กและเยาวชนไป
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในฐานะคณะทำงานเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ภายใต้กรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา เปิดประเด็นว่า ที่ผ่านมามีการดำเนินการสายด่วนอินเทอร์เน็ตไทยฮอตไลน์ (www.thaihotline.org) ซึ่งเป็นสมาชิกของเครือข่ายฮอตไลน์ สากล INHOPE ทำงานแลกเปลี่ยนรายงานการแจ้งสื่อลามกอนาจารเด็กและการละเมิดทางเพศเด็ก โดยสมาชิกอินโฮป 54 แห่งครอบคลุมกว่า 50 ประเทศทั่วโลก พบว่าจำนวนคดีมากขึ้นทุกปี แต่ละปีได้รับรายงานการแจ้งมากกว่า 1 หมื่น URL หรือจำนวนนับหมื่นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ได้มีแค่เหยื่อเด็ก 1 คน ไม่ได้มีแค่ 1 ภาพ แต่มีเป็นร้อยเป็นพันภาพที่สังเกตว่าในปี 2565 เหยื่อเด็กมีอายุน้อยลงเมื่อเทียบกับเมื่อ 5-10 ปีก่อน ปัจจุบันเด็กอายุ 3-13 ปีมีภาพละเมิดทางเพศเด็กมากกว่าร้อยละ 80 แม้แต่เด็กอายุ 0-2 ขวบก็มีถึงร้อยละ 2 จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก
“ร่างกฎหมายเพื่อปกป้องเด็กและเอาผิดกับคนที่กระทำผิดทางออนไลน์นี้ทำแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตลอดระยะเวลา 7 ปี จัดเวทีเสวนา 30 ครั้ง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ทุกคนเห็นด้วยไม่มีการ say no แต่อย่างใด มีการนำเข้า ครม.ยอมรับหลักการในปี 2565 ครม.สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมเดินหน้า ปีนี้มีการจัดงาน Child Protection ลงนาม MOU จนเกิดเป็นเวทีนี้ คณะทำงานมีความหวังกับทุกรัฐบาล จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้เพื่อรักษาสิทธิเด็กได้รับการปกป้อง ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศบนโลกออนไลน์”
ภาพลามกอนาจารเด็กที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ถูกซื้อขายแลกเปลี่ยนและวนเวียนทำร้ายเด็กไม่มีที่สิ้นสุด เด็กมีบาดแผลทางใจ ทนทุกข์ทรมาน บางคนต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้เป็นเวลาหลายเดือน เป็นปี เมื่อสู้ไม่ไหวก็ทำร้ายตัวเอง ถึงขั้นฆ่าตัวตายเป็นเคสที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เหยื่อหลายคนมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ต้องทำงานหาเงินส่งตัวเองเรียน ลูกกตัญญูทำงานส่งเสียที่บ้าน การที่เด็กอยู่บนสื่อ Social Media ถึงวันละมากกว่า 10 ชั่วโมงก็สร้างปัญหา เด็กจำนวน 31,965 คนในประเทศไทย พบว่าร้อยละ 81 มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเอง และร้อยละ 85 มีความถี่มากบนสื่อ Social Media
เด็กถูกข่มขู่ ถูกแบล็กเมล์ ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะเด็กบางคนถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัว การใช้วาจา การกระทำความรุนแรงของร่างกายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักไสให้เด็กเชื่อและไว้วางใจคนบนโลกออนไลน์ นำไปสู่การกรูมมิ่ง (Child Offline Grooming) หรือการล่อลวงเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ เวลาเด็กตกเป็นเหยื่อ เด็กมีความกลัว ไม่กล้าบอกพ่อแม่ กลัวถูกตำหนิ กลัวไม่ให้ใช้โทรศัพท์มือถืออีก กลัวสังคมประณามตีความว่าเป็นเด็กเลว เด็กไม่ดี สำส่อน เด็กไม่กล้าบอกใคร เด็กรู้อยู่คนเดียว เมื่อเด็กตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไปแจ้งความขอความช่วยเหลือ เจอระบบการตัดสินแบบไม่เป็นมิตร (Unfriendly Justice System) การละเมิดด้วยวาจา การสอบสวนสัมภาษณ์เด็กกลางสถานีตำรวจซึ่งไม่ใช่ระบบที่ดี เป็นการประจานเด็กซ้ำ ทั้งคนที่มาใช้บริการที่สถานีตำรวจก็จะได้ยินเรื่องราวการละเมิดของเด็กที่ต้องบอกเล่าหลายรอบ เป็นสิ่งที่เราควรต้องจัดการให้ดีขึ้น
ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก พนักงานตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาต่างๆ สำคัญที่สุดก็คือ กฎหมายบ้านเราไม่ทันสมัย ไม่ทันกับเหตุการณ์ กม.จะจัดการได้เฉพาะเหยื่อที่ถูกข่มขืน กระทำชำเรา อนาจาร ต้องพรากผู้เยาว์แล้วเท่านั้นจึงเอาผิดกับคนร้ายได้ แต่ในความเป็นจริงเมื่อทำงานกับตำรวจจับคนร้ายได้ 1 คน แล้วนำโทรศัพท์มือถือมาตรวจดู พบว่ามีการล่อลวงเด็กเป็นสิบคนยังไม่มีโทษอะไรเลย เพราะยังไม่มีการข่มขืน อนาจาร เห็นได้ว่าเป็นความล้าหลังของ กม.ที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด
“จะเห็นได้ว่ามีการแจ้งร้องทุกข์ผ่านฮอตไลน์มากกว่า 1 หมื่นครั้ง เด็กอายุ 8 ขวบขึ้นไปตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ ภาพการละเมิดทางเพศ สื่อลามกอนาจารเป็นร้อยๆ ภาพ การคุกคามทางเพศไม่ได้กระทำต่อตัวเด็กโดยตรง แต่มีการบอกให้เด็กเปิดกล้องแล้วเปลือยตัวเองผ่านหน้ากล้อง ด้วยการใช้คำพูดโอ้โลมปฏิโลมเด็ก เราต้องทบทวนข้อ กม.ของเราที่จะเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เพราะกฎหมายต้องให้มีภาพหลุดถึงตัวเด็กจึงจะลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ทั้งๆ ที่ความผิดนี้ลุกลามกระทำต่อเด็กวัย 5-7 ขวบแล้ว ยังโชคดีว่าแม่มาเห็นภาพการเปิดกล้องทันในขณะที่คุณลุงส่ง Teddy Bear การที่ผู้ใหญ่เปิดกล้องโชว์อวัยวะปกปิด หลอกเด็กว่าจะให้เงินทอง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เด็กรู้แต่ว่าจะได้เงิน รู้ว่าผู้ใหญ่รักเขา เมื่อมีการพูดโอ้โลมเด็กก็ให้ความไว้วางใจ ให้ของที่ตัวเองขาดได้ เรื่องนี้เกิดขึ้นกับเด็กทั่วโลกที่เราแลกเปลี่ยนข้อมูล Hotline ในระดับสากล เราต้องหามาตรการทาง กม.เพื่อลงโทษผู้ทำผิด ก่อนที่จะถึงตัวเด็กแล้วเกิดความเสียหาย ขณะนี้ประเทศสิงคโปร์, มาเลเซีย, จีนมีกฎหมายคุ้มครองเด็กแล้ว เราต้องทำให้ กม.ไทยมีความทันสมัยก่อนที่ผู้ร้ายจะเข้าถึงตัวเด็ก” ดร.ศรีดาเปิดเผย
ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยถึงปัญหาว่า ถ้าแต่ละประเทศไม่มีข้อ กม. เด็กตกเป็นผู้เสียหายถูกละเมิดทางเพศผ่านสื่อออนไลน์ ในปี 2558ประเทศไทยไม่มี กม.สื่อลามกอนาจารเด็ก ต่างชาติมองว่าประเทศไทยไม่มี กม.ฉบับนี้ 100% เมื่อเกิดเคสลามกอนาจารขึ้นมา ยิ่งสถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่งให้พี่น้องประชาชนใช้อินเทอร์เน็ตในการทำงาน ส่งผลให้เกิดอาชญากรรม คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หน่วยงานดีเอสไอรับผิดชอบ ทุกวันนี้ภัยถึงตัวเด็กได้โดยตรงผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ผ่านทางประตูบ้านหรือมีตัวกลาง สมัยก่อนยังมีล่ามแปลภาษา ดีเอสไอพบว่า 80% เด็กถูกละเมิดทางออนไลน์ แต่เด็กไม่กล้าแจ้งความ มีแต่ดีเอสไอบอกเตือนไปยังผู้ปกครองของเด็กว่าลูกหลานถูกละเมิดทางเพศ เพราะเราใช้วิธีการสอบสวนในเชิงรุก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาตัวเลขลามกอนาจารข่มขืนพุ่งสูงขึ้นถึง 68% เชื่อแน่ว่าในไม่ช้านี้จะถึงหลักล้านในเมืองไทย
จุดเริ่มต้นคือการส่งข้อความถึงตัวเด็ก Grooming ติดตามคุกคามเด็กด้วยรูปแบบต่างๆ ดีเอสไอเข้าไปทำงานเจาะข้อมูล จนรู้ว่าเด็กถูกละเมิดขณะนี้เพิ่มแบบทวีจำนวนขึ้นมาก คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กประถม มัธยม และนับวันจะอายุน้อยลงไปเรื่อยๆ รวมถึงเข้าถึงตัวเด็กอนุบาล 3-4 ขวบแล้ว ตราบใดที่เราไม่มี กม. Grooming ในเมืองไทย เด็กจะถูกชักจูงไปในทางที่เสียหายมากยิ่งขึ้น เพราะทุกวันนี้เด็กเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายมาก ดังนั้นเราควรตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ให้คนร้ายเข้ามาถึงตัวเด็กได้ เมื่อเทียบเคียงกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ยุโรป ถ้าคนร้ายพูดคุยในทางที่ไม่ถูกไม่ควร มีการชักจูงเด็กไปในหนทางที่เสื่อมเสีย สามารถจับกุมได้ทันทีก่อนที่จะมีพฤติกรรมข่มขืนอนาจาร
“ภาพลักษณ์ของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ถ้ามีการพูดว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของผู้กระทำความผิด เพราะเราไม่มีกฎหมายที่จะเอาผิดได้ จุดเริ่มต้นการก่อเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาไม่สามารถคาดการณ์ได้ หรือเราจะรอให้เด็กไทยที่ถูกคุกคามนี้เป็นสมาชิกในครอบครัวของเรา เพราะอินเทอร์เน็ตไม่สามารถแบ่งแยกพื้นที่ได้ สมัยก่อนพื้นที่พึงเฝ้าระวังเป็นโซนพื้นที่สีแดง พัทยา เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันเด็กรวย เด็กด้อยโอกาสในสังคมกลายเป็นผู้เสียหายได้ เรื่องนี้ไม่ได้ไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ยิ่ง AI เข้ามามีบทบาทในการ Grooming ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปแล้ว” ร.ต.อ.เขมชาติตั้งข้อสังเกต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“รองนายกฯประเสริฐ” มอบนโยบาย สสส.สั่งด่วนยกระดับสร้างความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน 3 ด้าน “รถบัสปลอดภัย-สวมหมวกนิรภัย-ส่งเสริมวินัยจราจร”
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ สสส.
“อย่าเพิ่งเชื่อ-อย่าเพิ่งแชร์-อย่าเพิ่งโอน” คาถาป้องกันแก๊ง Call Center
คนไทย 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ถูกหลอกให้ร่วมลงทุน พนันออนไลน์ ด้วยการเปิดบัญชีม้า ซื้อสินค้า-โอนเงิน-กู้เงิน ไตรมาสแรกปี 67
รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ สานพลัง สสส. ประกาศความร่วมมือเข้มแข็ง ผสานองค์ความรู้-สร้างนวัตกรรมฐานข้อมูล เตรียมพัฒนาหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพ บรรจุในการเรียนการสอน ม.วลัยลักษณ์
ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิชาการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช
ขับเคลื่อน"กระเป๋านักรบ"สร้างสุขภาวะ Life Long Learning...รู้ป้องกันโรค
นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกคำรบหนึ่ง ในการขยายเครือข่ายส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ของเยาวชน ด้วยการแบ่งปันความรู้ด้านสุขภาวะสร้างวัฒนธรรมการอ่าน
ชู 'อบจ.' ขับเคลื่อนงานฟื้นฟูสมรรถภาพ เชื่อมระบบฟื้นฟูกายใจชุมชนครบวงจร
สสส.ชวน อบจ.เข้าร่วมกองทุนฟื้นฟูฯเกิดขึ้นทั่วประเทศ ขณะที่ นายกสมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป และ นายกสมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยชี้ระบบต้องเชื่อม ฟื้นฟู -กาย -ใจ ชุมชนให้ครบวงจร
อึ้ง! ชาวโลกเผชิญความอดอยาก เกือบ 300 ล้านคน ขาดสารอาหาร 2 ใน 3 อยู่ในเอเชีย น่าห่วง 1 ใน 10 ของเด็กไทยผอมโซ เนื่องในวันอาหารโลก 2567
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 ต.ค. 2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น จ.นนทบุรี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดงานประชุมเวทีบูรณาการและนวัตกรรมสังคมด้านอาหาร ประจำปี